เหลียวมองการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวในเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่งกับการพัฒนาประเทศของไทยภายใต้ BCG Model
28 Feb 2022
ไฮไลท์
- รัฐบาลจีนใช้แนวคิด “อารยธรรมนิเวศวิทยา” เป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังคำกล่าวของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ว่า “น้ำใสภูเขาเขียวเป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงิน” (绿水青山就是金山银山) “ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นสมบัติอันล้ำค่า เราไม่ควรเสียสละทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแลกกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงชั่วคราว” สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนภายใต้นโยบาย BCG Model ของไทย
- นครเฉิงตูมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวด้วยการสร้างเมืองสวนสาธารณะ เร่งฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่งเสริม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปช่วยให้นครเฉิงตูมีประชากรอาศัยถาวรทั้งสิ้น ๒๐,๙๓๗,๗๕๗ คน เป็นเมืองที่ ๔ ของจีนที่มีประชากรอาศัยถาวรเกิน ๒๐ ล้านคน
- นครฉงชิ่งมุ่งผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือก สนับสนุนการแปรรูปขยะจากเศษอาหาร เพื่อลดปัญหามลพิษ ผลักดันการบริโภคสินค้าทางการเกษตร ใช้อีคอมเมิร์ซยกระดับการค้าท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน
- การพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนภายใต้นโยบาย BCG Model ของไทยมีเป้าหมายสอดคล้องกับการพัฒนา สีเขียวของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยและจีนอาจศึกษาและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติเป็นเลิศระหว่างกัน และพิจารณาแนวทางการพัฒนาสีเขียวของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งเป็นกรณีศึกษา
ปัจจุบันทั่วทุกมุมโลกกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษและภัยธรรมชาติอย่างหนักหน่วง การควบคุมมลพิษและเป้าหมายคาร์บอนต่ำจึงกลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงทั้งในระดับภาครัฐและประชาชน การพัฒนาสีเขียว (Green Development) จึงเป็นเสมือนกุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาและที่สำคัญนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จีนได้มีการผลักดันการพัฒนาสีเขียวอย่างจริงจังมาโดยตลอด ทั้งนี้ นายสีฯ มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑล เจ้อเจียง โดยเมื่อปี ๒๕๔๘ ได้เผยแพร่แนวคิด “น้ำใสภูเขาเขียวเป็นดั่งภูเขาทองภูเขาเงิน” (绿水青山就是金山银山) เป็นครั้งแรก มีความหมายว่า หากอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติก็จะนำความมั่งคั่งสุขสมบูรณ์ มาให้เรา
แนวคิดอารยธรรมนิเวศวิทยา (Ecological civilization) ตามมุมมองของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
อารยธรรมนิเวศวิทยา (Ecological civilization) หรืออารยธรรมสีเขียว เป็นหนึ่งในเป้าหมายการสร้างสังคมอยู่ดีกินดีของจีน เป็นแนวคิดการพัฒนาที่มองว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ควรสร้างวัฒนธรรมและจริยธรรมของมนุษย์ให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ เน้นการผลิตประสิทธิภาพสูง ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้ทรัพยากรต่ำ ก่อให้เกิดมลพิษต่ำ และเน้นการรีไซเคิล
เมื่อประธานาธิบดีสีฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งได้เร่งผลักดันแนวคิดการสร้างจีนที่สวยงาม (美丽中国) และหยิบยกการพัฒนาสีเขียวเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ภายใต้หลักคิดที่ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เป็นสมบัติอันล้ำค่า เราไม่ควรเสียสละทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแลกกับการพัฒนาเศรษฐกิจเพียงชั่วคราว”
แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปปรับใช้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ ๕ ปี ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘) ตลอดจนแผนพัฒนาระดับภูมิภาคของจีน และในโครงร่างการก่อสร้างเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่งได้ระบุไว้ชัดเจนในการนำแนวคิดอารยธรรมนิเวศวิทยาไปปรับใช้โดยเน้นการคุ้มครองระบบนิเวศ นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์เพื่อลดการใช้ทรัพยากรโดยสิ้นเปลือง ตลอดจนการประสานงานระหว่างสองเมืองเพื่อร่วมกันจัดการปัญหามลพิษทางอุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
นครเฉิงตูกับการพัฒนาเชิงนิเวศที่เป็นรูปธรรม
“สีเขียว คาร์บอนต่ำ ชีวิตเรียบง่ายและพอประมาณ” (绿色低碳风尚 ,简约适度生活) คติพจน์สอนใจเหล่านี้ถูกติดประกาศทั่วนครเฉิงตู นครเฉิงตูให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างที่สามารถสะท้อนการพัฒนาสีเขียวของนครเฉิงตูได้อย่างเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดมีดังนี้
(๑) การปลูกฝังให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน นครเฉิงตูมุ่งมั่นที่จะสร้างเมืองแห่งสวนสาธารณะ ปัจจุบัน นครเฉิงตูมีสวนสาธารณะมากถึง ๓๐๐ แห่ง ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ออกกำลังกาย แต่ยังมีกิจกรรมมากมายให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจและให้สมาชิกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน อาทิ ภายในสวนสาธารณะเหรินหมิน มีกิจกรรมน่าสนใจรองรับทุกเพศทุกวัย เช่น การพายเรือ มุมหาคู่ สวนสนุกสำหรับเด็ก โต๊ะสำหรับเล่นไพ่นกกระจอก
อีกหนึ่งโครงการเพื่อการพัฒนาสีเขียวที่นครเฉิงตูให้ความสำคัญคือ การสร้าง “ถนนเทียนฝู่สีเขียว” โดยเชื่อมระหว่างเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและพื้นที่สีเขียวทั่วนครเฉิงตู ปัจจุบันมีความยาว ๔,๖๐๐ กว่ากิโลเมตร ภายใต้ถนนสายดังกล่าว ยังมีการสร้าง “ถนนกลับบ้าน” เพื่อเชื่อมชุมชนกับพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ ร้านอาหารริมทาง และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในระยะทาง ๑ กิโลเมตรสุดท้ายก่อนถึงชุมชน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างถนนกลับบ้านไปแล้วทั้งสิ้น ๗๘๓ สาย
(๒) การปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นครเฉิงตูได้วางแผนกำจัดมลพิษและควบคุมการปล่อยมลพิษมากเกินปริมาณ ในช่วงสามปีที่ผ่านมาได้สั่งปิดสถานประกอบการที่ปล่อยสารปนเปื้อนทั้งสิ้น ๗๘๐ แห่ง มีการจัดการบ่อบำบัดน้ำเสีย ๔๘๔ แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำดำส่งกลิ่นเหม็น ๑๑๔ แห่ง และเพิ่มความสามารถในการบำบัดน้ำเสียเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน/วัน รวมไปถึงการสร้างระบบ “บัญชีขาว” ภายใต้กรอบความร่วมมือกลุ่มเมืองของเขตวงกลมเศรษฐกิจนครเฉิงตู – นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นการลงนามข้อตกลงเพื่อเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามเขตแดนระหว่างนครฉงชิ่งกับมณฑลเสฉวน เช่น แบตเตอรี่ ตะกั่ว แผงวงจรหลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น โดยมีการกำหนดปริมาณของเสียที่สามารถเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนต่อปีไว้อย่างชัดเจน
(๓) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นครเฉิงตูมุ่งมั่นปรับปรุงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ โดยมีศูนย์อนุรักษ์หมีแพนด้า เพื่อการค้นคว้า วิจัยวิธีการเพาะพันธุ์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับวิถีความเป็นอยู่ของแพนด้า
เมื่อระบบนิเวศได้รับการพัฒนา สัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงมีการจัดโครงการสาธิตการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อาทิ กิจกรรมชมนก ชมหิ่งห้อย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สถิติของสมาคมดูนกนครเฉิงตูระบุว่า เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔ มีการพบเจอนกบนภูเขาหลงฉวนมากถึง ๑๒,๑๕๙ ตัว และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนหิ่งห้อยในบริเวณจุดชมวิวภูเขาเทียนไถมีเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนากิจกรรมพักค้างแรมเพื่อรอชมหิ่งห้อยในเวลากลางคืน ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเพิ่มขึ้นทุกปี กิจการโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารในบริเวณจุดท่องเที่ยวมีการบริโภคใช้จ่ายรวมสูงถึง ๑๒๐ ล้านหยวน ด้วยเหตุนี้ นครเฉิงตูจึงได้รับเลือกให้เป็นเมืองสาธิตด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการบริโภค (国家文化和旅游消费示范城市) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ นับเป็น กลุ่มแรกในจีน
(๔) การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด พลังงานไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนที่กำลังถูกจับตามอง
นครเฉิงตูได้นำพลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจนไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมอย่างเต็มรูปแบบครอบคลุม “การผลิต-การจัดเก็บ-การขนส่ง-การเติมเชื้อเพลิง-การใช้งาน” และมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่ถูกนำไปใช้งานในนครเฉิงตูแล้วกว่า ๓๗๐ คัน ทั้งนี้ เมื่อปี ๒๕๖๓ นครเฉิงตูได้รับการจัดอันดับโดย TrendBank ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเกิดใหม่ชั้นนำของจีนให้เป็นเมืองที่มีการแข่งขันและมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนสูงเป็นอันดับที่ ๔ นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๔ โดรน JOUAV CW-25H ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากพลังงานไฮโดรเจนของบริษัท Chengdu JOUAV Automation Tech Co., Ltd. ได้รับรางวัล CES 2022 Innovation Award จากสมาคม CTA (Consumer Technology Association) ด้วย
นอกจากนี้ นครเฉิงตูได้กลายเป็นจุดหมายในการเข้าลงทุนของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเมื่อปี ๒๕๕๘ Tongwei Group ผู้นำอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ ได้จัดตั้งบริษัทสาขา Tongwei Solar ในเขตซวงหลิว และได้กลายเป็นฐานการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดผลึกซิลิคอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ความพยายามในการพัฒนานครเฉิงตูอย่างยั่งยืนเป็นประโยชน์ทั้งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อปี ๒๕๖๔ นครเฉิงตูได้รับการจัดให้เป็น “เมืองชั้นหนึ่งใหม่” (New first-tier cities) ในการจัดอันดับ “Ranking of cities general ability in China 2021” โดย The Wharton Institute of Economics และ ในการจัดอันดับ “Ranking of cities business attractiveness in China 2021” โดย China Business News·New First-tier Cities Research Institute และเมื่อปี ๒๕๖๔ นครเฉิงตูมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครบ ๑๐๐ แห่ง มากเป็นอันดับที่ ๑๐ ของจีน ความเจริญทางเศรษฐกิจดึงดูดให้ผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน ส่งผลให้เมื่อปี ๒๕๖๓ นครเฉิงตูมีประชากรอาศัยถาวรทั้งสิ้น ๒๐,๙๓๗,๗๕๗ คน เป็นเมืองที่ ๔ ของจีนที่มีประชากรอาศัยถาวรเกิน ๒๐ ล้านคน
ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมของนครเฉิงตูได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงสามปีที่ผ่านมาอัตราของน้ำคุณภาพดีในลุ่มแม่น้ำจิ่นเจียงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๖๙ เป็นร้อยละ ๙๗.๖ ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ ๒๐ ปี อัตราการครอบคลุมพื้นที่ป่าในปี ๒๕๖๓ อยู่ที่ร้อยละ ๔๐.๒ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๘ ร้อยละ ๑.๙ เมื่อปี ๒๕๖๔ นครเฉิงตูมีวันที่คุณภาพอากาศดีรวม ๒๙๙ วัน เพิ่มขึ้น ๑๓ วัน เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓ มีค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ ๓๙.๘ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ลดลง ๑.๒ ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรเมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓
นครฉงชิ่งกับการพัฒนาสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางแห่งการพัฒนาสีเขียว
นครฉงชิ่งได้รับเลือกให้เป็น ๑ ใน ๕ นครที่จีนต้องการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการบริโภคระหว่างประเทศ รัฐบาลนครฉงชิ่งจึงให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองที่มีความเป็นสากล เป็นเมืองอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ผ่านมา นครฉงชิ่งได้ดำเนินการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นสากลภายใต้นโยบายการพัฒนาสีเขียว ดังนี้
(๑) การเลือกใช้พลังงานทางเลือก นครฉงชิ่งถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคจีนตะวันตก ในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๔ ผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกผลิตได้จำนวน ๕๒,๐๐๐ คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๑๕ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๓
ในส่วนของรถยนต์อัจฉริยะ นครฉงชิ่งเป็นนครที่สามในจีนที่เริ่มทดสอบการขับขี่อัตโนมัติบนท้องถนน ภายใต้ “แผนปฏิบัติการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกและยานยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๖)” เป็นเขตนำร่องเครือข่ายรถยนต์ระดับชาติ เมืองสาธิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภท Switching mode และเมืองสาธิตรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกลุ่มแรกของจีน
(๒) การส่งเสริมการแปรรูปขยะจากเศษอาหาร นครฉงชิ่งรณรงค์ให้แยกขยะตามประเภท รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมการแปรรูปและกำจัดขยะจากเศษอาหารแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ เมื่อปี ๒๕๖๑ เขตฝูหลิงในนครฉงชิ่งได้สร้างโรงงานแปรรูปขยะจากเศษอาหารแห่งแรก สามารถแปรรูปขยะได้สูงสุด ๑๕๐ ตันต่อวัน โดยเก็บรวบรวมขยะจากหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน และร้านอาหารรวม ๓,๘๘๔ แห่ง โดยมีควบคุมการดำเนินงานจัดเก็บและขนส่งขยะไปยังโรงงานแปรรูปอย่างเข้มงวด มีระบบป้องกันการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง มีการปรับสภาพและหมักขยะแบบไม่ใช้ออกซิเจน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ ๑.๗๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และไบโอดีเซลได้ปีละ ๑,๓๐๐ ตัน นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน การแปรรูปขยะจากเศษอาหารสามารถสร้างรายได้ให้เขตฯ รวม ๒๓ ล้านหยวน และในปี ๒๕๖๔ สามารถลดขยะจากเศษอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเขตฯ เฉลี่ยวันละ ๑๐๒ ตัน
(๓) การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ภายใต้ “แผนปฏิบัติการสร้างเมืองอัจฉริยะรูปแบบใหม่ของนครฉงชิ่ง (พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๕๖๕)” 《 重庆市新型智慧城市建设方案(2019—2022年)》รัฐบาลนครฉงชิ่งวางแผนสร้างเมืองอัจฉริยะ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เช่น หมู่บ้านอัจฉริยะหลี่เจีย (礼嘉智慧小区) เป็นหนึ่งในโครงการหมู่บ้านอัจฉริยะ โดยผู้อยู่อาศัยสามารถติดต่อนิติบุคคลผ่านทางแอปพลิเคชันเพื่อขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ชุมชนฟู่อัน ถนนหลี่เจีย มีศูนย์บริการอำนวยความสะดวกตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยมีหุ่นยนต์อัจฉริยะทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่คอยให้บริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หมู่บ้านแห่งนี้มีแอปพลิเคชัน “บ้านอัจฉริยะ” ซึ่งรวม ๕ ระบบเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ ระบบไฟอัจฉริยะ ม่านไฟฟ้าอัจฉริยะ ระบบควบคุมเครื่องใช้ในครัวเรือนอัจฉริยะ ระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ และระบบตรวจสอบสภาพแวดล้อมอัจฉริยะ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สะดวกสบายและปลอดภัยสำหรับผู้อยู่อาศัย
(๔) การใช้อีคอมเมิร์ซผลักดันการบริโภคสินค้าเกษตรและขจัดความยากจน รัฐบาลนครฉงชิ่งใช้อีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชาวชนบทและพื้นที่ห่างไกล โดยปรับปรุงกลไก ขยายช่องทางการขาย และเพิ่มศักยภาพด้านการบริโภคอย่างต่อเนื่อง
ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๔ ยอดค้าปลีกออนไลน์ในชนบทนครฉงชิ่งมีมูลค่า ๑๖,๒๗๖ ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๐.๘๖ โดยมียอดขายปลีกสินค้าเกษตรออนไลน์มูลค่า ๗,๐๕๔ ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๘.๕ สำนักงานพัฒนาชนบทนครฉงชิ่งเปิดเผยว่า ปี ๒๕๖๔ การบริโภคเพื่อสนับสนุนนโยบายขจัดความยากจนและฟื้นฟูชนบทของนครฉงชิ่งมีมูลค่ารวม ๖,๒๑๓ ล้านหยวน
“เขตซิ่วซาน” ในนครฉงชิ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งได้รับการพัฒนาตามแนวคิด “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งผลิตภัณฑ์” มีศูนย์อีคอมเมิร์ซเพื่อการขจัดความยากจนมากกว่า ๒,๐๐๐ แห่ง มีศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ๑๓ แห่ง ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตทางการเกษตรร้อยละ ๓๐ ช่วยลดต้นทุนลงร้อยละ ๒๐ มีผลิตภัณฑ์ติดอันดับขายดีในแต่ละแพลตฟอร์มถึง ๒๐ ผลิตภัณฑ์ และมีผลิตภัณฑ์ที่มียอดขายต่อปีทะลุ ๑๐๐ ล้านหยวนถึง ๔ ผลิตภัณฑ์ มีการจัดตั้งศูนย์แสดงผลผลิตทางการเกษตรจาก ๔๔ อำเภอและหมู่บ้านที่ยากจนกว่า ๑,๐๐๐ รายการ รวมทั้งการจัดตั้งวิทยาลัยอีคอมเมิร์ซซิ่วซานเพื่อสอนวิชาอีคอมเมิร์ซแบบเต็มเวลาและฝึกอบรมความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ การขายแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง และการบริการหลังการขาย โดยผู้ที่ผ่านการอบรมมีอัตราการได้รับการจ้างงานถึงร้อยละ ๓๕
BCG Economy Model การพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน
BCG Economy Model (Bio-Circular-Green Economy) เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน มีเป้าหมายหลักคือ การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการ “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” ไปสู่การผลิตสินค้าที่ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก”
เป้าหมายของการพัฒนาสีเขียวของจีนกับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนตาม BCG Model ของไทย มีเป้าหมายที่สอดคล้องกันคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องการแก้ไขปัญหามลพิษและการทำลายทรัพยากรธรรมชาติโดยสิ้นเปลือง การทำให้ของเสียเป็นศูนย์ และการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนชนบท ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของนครเฉิงตูและนครฉงชิ่งภายใต้การพัฒนาสีเขียวดังกล่าวข้างต้นจึงมีความสอดคล้องและสามารถนำมาบูรณาการกับการพัฒนา ๓ เศรษฐกิจภายใต้ BCG Model ดังนี้ ๑) เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) การเลือกใช้พลังงานไฮโดรเจนซึ่งเกิดจากพลังงานหมุนเวียนจากธรรมชาติมาเป็นพลังงานทดแทน เนื่องจากสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในเครื่องยนต์ เชื้อเพลิงภายในครัวเรือน หรือใช้ร่วมกับเซลล์เชื้อเพลิงต่าง ๆ ได้โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับพลังงานน้ำมัน ๒) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อุตสาหกรรมการแปรรูปและกำจัดขยะจากเศษอาหารของนครฉงชิ่ง สามารถปรับสภาพขยะไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพและไบโอดีเซลได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดปริมาณขยะ แต่ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนด้วย ๓) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมให้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำเทคโนโลยีมายกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพการจำกัดปริมาณการปล่อยของเสีย ที่ทำลายสภาพแวดล้อม และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการปลูกฝังให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน นับเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ เนื่องด้วยรูปแบบการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยกับการพัฒนาสีเขียวของจีนมีความสอดคล้องกันในหลายด้าน อีกทั้งไทยยังมีความโดดเด่นในด้านการเกษตร การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ไทยและจีนอาจสร้างความร่วมมือเชิงเกษตรและนิเวศวิทยาร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรคุณภาพสูง อันจะนำไปสู่การพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และการมีสภาพแวดล้อมสีเขียวอย่างยั่งยืน
บทสรุป
แนวคิด “อารยธรรมนิเวศวิทยา” เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลจีนในปัจจุบันในการการควบคุมมลพิษและบรรลุเป้าหมายคาร์บอนต่ำ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนตาม BCG Model ของไทย จึงเป็นเครื่องสะท้อนว่านโยบายการพัฒนาของไทยในปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลกในปัจจุบัน และกำลังนำพาไทยให้บรรลุเป้าหมายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมไปในเวลากัน
การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน นโยบายที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ โปร่งใส กฏระเบียบและสถาบันที่มีธรรมาภิบาล ภาคธุรกิจเอกชนที่เข้มแข็ง ประชาชนที่มีจิตสำนึกที่ดี รวมถึงการนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศให้มีการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้าอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ดังเช่นที่ประเทศไทย จีน และอีกหลายประเทศมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันและดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องตระหนัก มีความรับผิดชอบและมีความร่วมมืออย่างจริงจังร่วมกัน ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดการประชุม The ECO Forum Global Guiyang 2021 ที่ว่า “ทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนเชื่อมโยงกัน อารยธรรมเชิงนิเวศควรถูกทำให้เป็นอารยธรรมโลก”