เศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศจีน
8 Jan 2019เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) คือรูปแบบใหม่ในการประกอบธุรกิจ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่นำมาให้บริการผ่านการซื้อหรือเช่า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์นั้น ๆ เช่นการให้เช่าบ้านระยะสั้นของบริษัท Airbnb หรือบริการรับส่ง ของบริษัท UBER เป็นต้น เศรษฐกิจแบ่งปันเกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติการติดต่อสื่อสารทำให้ทุกคนสามารถใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตสามารถเกิดขึ้นได้ สามารถเชื่อมโยงผู้เช่าหรือผู้ซื้อบริการเข้ากับเจ้าของทรัพย์สิน โดยใช้แอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเป็นช่องทาง ไม่ต้องผ่านนายหน้าที่เป็นบุคคล ทำให้ไม่เกิดค่าใช้จ่ายจากการจ้างนายหน้า และสามารถดำเนินการให้บริการได้ทันทีทันใด หรือเรียกว่ารูปแบบ peer to peer (P2P) ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจแบ่งปัน สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมคือ การเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ที่ทำให้การชำระเงินของธุรกิจในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย ทันทีทันใด ทุกที่ ทุกเวลา จึงสามารถกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจแบ่งปัน เป็นสิ่งที่ต่อยอดจากการเกิดขึ้นของการเป็นสังคมไร้เงินสด เกิดเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เกื้อหนุนกัน และเติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่เป็นกลายเป็นผู้นำทั้งด้านเศรษฐกิจแบ่งปัน และการเป็นสังคมไร้เงินสด และยังเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สังคมไร้เงินสดในประเทศจีน
สังคมไร้เงินสดเป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจที่มองว่าเงินสดที่จับต้องได้จะมีความสำคัญน้อยลง และถูกแทนที่ด้วยการใช้เทคโนโลยีจากระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแทน เริ่มแรกเกิดขึ้นจากความนิยมการใช้ บัตรเครดิตและเดบิต ต่อมาจึงมีระบบธนาคารออนไลน์ และระบบจ่ายเงินออนไลน์ (e-payment) แต่หลังจากการปฏิวัติการติดต่อสื่อสาร สมาร์ทโฟนได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คน และกลายเป็นช่องทางใหม่ในการชำระสินค้าและบริการให้สามารถใช้จ่ายได้โดยปลอดภัยมากขึ้น สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการใช้แอปพลิเคชั่น ในสมาร์ทโฟน เป็นช่องทางเข้าถึงบัญชีเงิน แสกนจ่ายผ่านทาง QR Code ได้ทันที ทำให้ได้รับความนิยมมากกว่าการใช้เงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่กลายเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว ผู้คนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่จำเป็นต้องพกเงินสดเลย ไม่ว่าจะเป็นอาหารข้างทางจนถึงการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ก็สามารถชำระผ่านทางสมาร์ทโฟนได้ทั้งหมด
ผู้ให้บริการชำระเงินผ่านทางสมาร์ทโฟนที่ได้รับความนิยมสูงสุดในจีนได้แก่ Alipay หรือจือฟู่เป่า ของบริษัท Alibaba และ Wepay หรือวีซิง ของบริษัท Tencent คิดเป็นสัดส่วนในตลาดรวมกันถึง 93 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่ามากถึง 29.5 ล้านล้านหยวน (ข้อมูลไตรมาสที่สี่ ปีพ.ศ.2560) ปัจจัยที่ทำให้ผู้ให้บริการทั้งสอง บริษัทได้รับความนิยมมาก อย่างหนึ่งคือสามารถใช้แอปพลิเคชั่นจ่ายเงิน ได้แก่ Alipay หรือ Wapay ร่วมกับ แอปพลิเคชั่นอื่นได้เช่น แอปพลิเคชั่นเครือข่ายสังคมออนไลน์ แอปพลิเคชั่นท่องเที่ยว แอปพลิเคชั่นขายสินค้า ออนไลน์ แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร แอปพลิเคชั่นจองที่พัก แอปพลิเคชั่นให้บริการรับส่ง เป็นต้น
การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจแบ่งปันของประเทศจีน
จากข้อมูลของ State Information Center (SIC) ประเทศจีนในปี พ.ศ.2561 เศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศจีนเติบโตขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาห้าปี จะทำให้เกิดโอกาสในสาขาเกษตรกรรม การแพทย์ การศึกษา และการดูแลผู้สูงอายุ และข้อมูลในปี พ.ศ.2560 จาก sharing economy research center of the state information center อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจแบ่งปัน มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึง 4.9 ล้านล้านหยวน ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้น 47.2 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า ผู้ใช้งานมากกว่าเจ็ดร้อยล้านคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของเศรษฐกิจแบ่งปัน ในปีพ.ศ.2560 เพิ่มขึ้นสิบล้านคนจากปีก่อน มีคนถูกจ้างงานในสาขาดังกล่าว เพิ่มขึ้นถึง 7.16 ล้านคน คำนวณจาก 9.7 ตำแหน่งงานใหม่ในพื้นที่เมือง เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนกับประเทศอื่น แล้วประเทศจีนมีสัดส่วนของตลาดเศรษฐกิจแบ่งปันมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์จากทั้งโลก ในปี พ.ศ.2561 (ข้อมูล จาก http://www.iresearchchina.com)
นอกจากนั้นธุรกิจในเศรษฐกิจแบ่งปันของจีนยังเริ่มขยายการให้บริการในต่างประเทศ เช่น บริการให้เช่าจักรยาน mobike หรือการซื้อธุรกิจในตลาดเศรษฐกิจแบ่งปันของจีนซื้อธุรกิจอื่น ๆ ดังเช่นกรณีการ ซื้อ Uber ประเทศจีนของ Didi ทำให้ประเทศจีนเป็นผู้ครอบครองผู้ให้บริการตลาดเศรษฐกิจแบ่งปันรายใหญ่ที่สุด เป็นที่ทดลองและเกิดบริการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จนทำให้ประเทศจีนกลายเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจแบ่งปันของโลก ในปัจจุบัน
ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบ่งปัน
เศรษฐกิจแบ่งปันจะทำให้เกิดประโยชน์แบบพึ่งพากัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ระหว่างผู้สร้างแอปพลิเคชั่น หรือผู้สร้างแพลตฟอร์ม ผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการ ดังนี้
กลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์ คือ ผู้สร้างแอปพลิเคชั่น หรือผู้สร้างแพลตฟอร์ม สามารถใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้เป็นเจ้าของมาสร้างรายได้เพียงวางระบบให้ดี สะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการยกตัวอย่างการส่งของ ผู้สร้างแอปพลิเคชั่นหรือผู้สร้างแพลตฟอร์ม ไม่ต้องจ้างพนักงานส่งของมาเป็นพนักงาน ประจำซึ่งจะทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน แต่สามารถเลือกจ้างคนส่งขอเป็นครั้ง ๆ โดยให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมแทนได้ เป็นต้น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ ๆ หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว และเกิดช่องทางในการสร้างรายได้ใหม่
กลุ่มที่สอง คือ ผู้ใช้บริการ คนกลุ่มนี้จะได้ความหลากหลายที่มากขึ้น พร้อม ๆ กับสิทธิประโยชน์ อื่น ๆ ที่ผู้สร้างแพลตฟอร์มเสนอให้ และยังได้รับบริการใหม่ ๆ ที่มีความต้องการใช้อีกด้วย เช่น สามารถเรียกรถรับส่งได้โดยไม่ต้องเรียกแท็กซี่และสามารถจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้รถที่ดีกว่าหรือได้บริการที่ไวกว่า โดยไม่ต้องออกไปโบกเรียกเอง หรือเมื่อต้องจองโรงแรม สามารถช่วยให้ได้ห้องพักแบบที่อยากได้จริง ๆ ทั้งระดับความของที่พัก ความนิยม กำหนดงบได้เอง เปรียบเทียบที่พักในพื้นที่ได้สะดวก และยังได้แต้มเอาไปแลกเป็นส่วนลดในการใช้บริการครั้งถัดไป
กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มผู้ให้บริการ ทำให้สินค้าและบริการของตนเข้าถึงลูกค้าได้ตรงความต้องการ และเกิดการรับรู้ในสินค้าของตนมากยิ่งขึ้น เช่น ร้านอาหารร้านใหญ่ที่มีความพร้อมในการทำอาหารในช่วงเวลาเร่งได้ แต่ไม่อยากลงทุนเพิ่มเพื่อจ้างพนักงานส่งอาหารก็สามารถใช้บริการส่งอาหารเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าได้ ทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อย ไม่เสียเวลาในการจัดการ เพราะบริการส่งอาหารเป็นผู้จัดการคิวในการจัดส่งให้หมด และยังทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ ได้อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ในเศรษฐกิจแบ่งปันของประเทศจีนที่น่าสนใจ
- DIDI แอปพลิเคชั่นให้บริการรถรับส่ง โดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สามารถเลือกชนิดรถยนต์ เวลาที่ต้องการ และสามารถเรียกรถให้คนอื่นได้
- OFO และ Mobike แอปพลิเคชั่นเช่ารถจักรยาน โดยสามารถแสกน QR Code จักรยานที่ จอดทิ้งไว้ แล้วเมื่อใช้เสร็จ สามารถจอดไว้ที่ใดก็ได้
- แอปพลิเคชั่นเช่าแบตเตอร์รี่สำรอง เจียเตี้ยน สามารถเช่าแบตสำรองจากจุดให้บริการ เคาท์เตอร์ชำระเงิน ร้านอาหาร โรงแรม แล้วไปคืนที่จุดให้บริการอื่นได้เมื่อใช้เสร็จ
- แอปพลิเคชั่นเช่าร่ม ส่วนมากให้บริการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน โดนจะเป็นแท่นวางร่มให้บริการโดpเฉพาะ เมื่อใช้เสร็จสามารถนำมาคืนได้ที่แท่นวางร่มที่ว่างอยู่
- แอปพลิเคชั่นเช่าพี่พัก Tujia บริการให้เช่าพี่พักระยะสั้น โดยเจ้าของบ้านเองจะเป็นคนจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้ ได้รับความนิยมสูง
- แอปพลิเคชั่นเอ้อเลอเมอ บริการส่งอาหาร โดยผู้สั่งสามารถเลือกอาหารและปรับแต่งได้โดยละเอียด ผู้ให้บริการจะเป็นผู้รับชำระเงินจัดคิวและส่ง โดยที่ร้านอาหารไม่ต้องจัดการเอง
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศจีน
- การเกิดขึ้นของสังคมไร้เงินสด ที่ทำให้การชำระเงินสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว สามารถแสกน QR Code เพื่อใช้บริการของธุรกิจในเศรษฐกิจแบ่งปันได้ทันที เช่น บริการเช่ารถจักรยาน จากเดิมที่ต้องทำสถานีและตู้ชำระเงิน แต่ด้วยการลงทะเบียนและชำระเงินผ่านการแสกนด้วย QR Code ทำให้ไม่ต้องใช้สถานีและตู้ชำระเงินอีกต่อไป ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถกระจายจักรยานได้ทุกที่
- การมีแอพพลิเคชั่นกลาง ทำให้ไม่จำเป็นต้องโหลดแอพพลิเคชั่นในการใช้บริการเพิ่ม ทำให้เกิดความสะดวก สามารถใช้บริการหลากหลายได้โดยไม่ต้องเสียเวลาในการโหลดแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ จำนวนมาก เช่น mini program ของ แอปพลิเคชั่น Wechat
- การมีระบบนิเวศที่ใหญ่ มีปริมาณลูกค้าจำนวนมหาศาล มีความต้องการใช้บริการต่าง ๆ สูง และยังมี Big Data ในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้พัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอยู่เสมอ
- มีอุตสาหกรรมไฮเทคจำนวนมาก และมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจ Start up จึงเกิดบริการใหม่ ๆ เกิดการลงทุนและแข่งขันในวงกว้าง จนเกิดธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทำรายได้มหาศาล (Tech Unicorns) หลายราย
- การส่งเสริมจากรัฐบาล โดยเฉพาะการอนุญาตให้ดำเนินเศรษฐกิจแบ่งปันได้อย่างถูกกฎหมาย โดยขอข้อมูลผู้ใช้บริการส่งให้แก่รัฐบาล เช่น บริการเรียกรถรับส่งอย่าง Didi ที่ผิดกฎหมายในหลายประเทศ ทำให้มีการเติบโตที่น้อยกว่า และไม่สามารถให้บริการได้อย่างราบรื่น
ปัญหาที่เกิดจากเศรษฐกิจแบ่งปัน
แม้ว่าเศรษฐกิจแบ่งปันจะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าจากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว เกิดธุรกิจ การจ้างงาน แต่ก็สร้างปัญหาใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย ทำให้เกิดการแย่งลูกค้ากับธุรกิจเดิมที่มีอยู่และดำเนินอย่างถูกกฎหมาย และยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการอีกด้วย ดังกรณีที่เกิดขึ้นจริงต่อไปนี้
- กรณีของบริการเช่ารถจักรยาน mobike และ ofo แม้บริการเช่าจักรยานจะเป็นเหมือนดาวเด่นของเศรษฐกิจแบ่งปัน แต่ก็ทำให้เกิดสุสานจักรยานขึ้นในนครเสิ่นเจิ้น และเมืองใหญ่อื่น ๆ เนื่องจากผู้ใช้บริการจะจอดจักรยานทิ้งไว้ที่ไหนก็ได้ เกิดการแข่งขันในบริการเช่าจักรยานสูงมาก และยังเกิดการขโมยและทำลาย QR Code จึงทำให้เกิดการทิ้งจักรยานเป็นสุสานจักรยานขนาดมหึมา เกิดขยะจากจักรยาน และการรุกล้ำทางเท้ากลายเป็นที่จอด จักรยาน จนกลายเป็นการรบกวนชีวิตประจำวันของผู้คน
- กรณีของบริการเช่าร่ม ภายในนครเซี่ยงไฮ้เกิดการสูญหายของร่มกว่า 300,000 คัน ในระยะเวลาแค่ 3 เดือน เนื่องจากร่มดังกล่าวไม่มีระบบติดตาม หรือ GPS และระบบรักษาความปลอดภัย และจำเป็นต้องยืม-คืนบริเวณที่ตั้งร่ม ต่างจากจักรยานที่จะยืม-คืนที่ใดก็ได้จนทำให้บริการ e- umbrella ต้องปิดตัวลง
- ความปลอดภัย didi แม้ว่า แอปพลิเคชั่นเรียกรถรับส่งอย่าง didi ที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 450 ล้านคน มีการวางระบบความปลอดภัยและตรวจสอบประวัติคนขับแล้วก็ตาม แต่ก็เกิดกรณีที่ผู้ใช้บริการ didi ในระบบคาร์พูลหรือบริการร่วมเดินทาง ถูกฆ่าข่มขืนขึ้นในเมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง ทั้ง ๆ ที่คนขับเพิ่งได้รับการร้องเรียน และผู้ตายจะส่งข้อความขอความช่วยเหลือจากเพื่อนเเล้วแต่บริษัทกลับปฏิเสธจะให้ข้อมูลแก่เพื่อนและครอบครัวของผู้ตาย จนทำให้ต้องหยุดบริการในระบบร่วมเดินทางชั่วคราว
แนวโน้มของเศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศจีน
มีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2568 เศรษฐกิจแบ่งปันมีมูลค่าถึง 335,000 ล้านดอลล่าสหรัฐ และจะคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของประเทศจีน (GDP) เศรษฐกิจแบ่งปันจะขยายตัวขึ้นทุกปี ปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ และจะขยายตัวขึ้นจนเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ทำให้เกิดการซื้อสิ่งของต่าง ๆ น้อยลง โดยเช่าหรือการใช้บริการชั่วคราวจะเป็นเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เหมือนเช่นสังคมไร้เงินสดได้ปฏิวัติ ระบบการจ่ายเงินของคนจีนไปแล้ว ในขณะเดียวกันธุรกิจที่มีอยู่เดิมและถูกกฎหมายอย่างรถแท็กซี่ หรือโรงแรม จะถูกแย่งชิงลูกค้าไป และอาจส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามก็มีผู้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจแบ่งปันอาจจะเพียงแค่กระแสนิยมในระยะหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างของบริการเช่าจักรยานที่มีผู้ให้บริการจำนวนมากแค่ในระยะเวลาหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มปิดตัวตามกัน หรือกรณีของ e- umbrella ที่ร่มสูญหายกว่าสามแสนคันในระยะเวลาแค่สามเดือนจนต้องเลิกให้บริการ จึงเกิดการคาดการณ์ว่าหลังจากหมดกระแสลงจะเหลือบริการแค่ไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถขยายตัวต่อไปได้
เศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศจีน จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ธุรกิจที่เงินได้มาก ลงทุนน้อยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะกลายเป็นกลไกตัวหนึ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศจีนได้ และอาจจะกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้มหาศาลกลับสู่ประเทศในอนาคต อาจมีความท้าทายในด้านความมั่นคงและเสถียรภาพที่จะก้าวข้ามกระแสในการทำธุรกิจไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมหลัก อย่างไรก็ตามประเทศจีนก็ได้ลงทุนครองตลาดส่วนใหญ่ในโลก กลายเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจแบ่งปันรายใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน
ทิศทางของเศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มมีการให้บริการธุรกิจในเศรษฐกิจแบ่งปันแล้ว ได้รับความนิยมในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริการรับส่ง อย่าง GRAB และ UBER แต่ก็ติดปัญหาด้านกฎหมายจนในที่สุด UBER ได้หยุดให้บริการลง เช่นเดียวกับในหลาย ๆ ประเทศ สถานการณ์ของเศรษฐกิจแบ่งปันในประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นผู้บริโภคบริการจากต่างประเทศ
ธุรกิจในเศรษฐกิจแบ่งปันของประเทศจีนอาจจะไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากมี พฤติกรรมการบริโภคที่แตกต่างกัน เช่น บริการเช่าจักรยาน เพราะในประเทศไทนมีทางจักรยานน้อย และคนไม่นิยม เดินทางโดยการขี่จักรยาน เป็นต้น แต่ผู้ให้บริการในประเทศไทยสามารถศึกษารูปแบบ ระบบการให้บริการ รวมทั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการบริหารจัดการจากประเทศจีนได้ จนนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่ เหมาะสมกับคนไทยได้ จึงเป็นโอกาสในการศึกษานำไปสู่การประยุกต์ใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตามการผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในประเทศไทย ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดสินค้าและบริการในเศรษฐกิจแบ่งปันต่อไปได้ในอนาคต และจะมีความท้าทายด้านกฎหมายเป็นความท้าทายหลักที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจแบ่งปันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
จัดทำโดย นายมนตรี วรารักษ์สัจจะ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
อ้างอิง:
http://www.chinadaily.com.cn/business/tech/2017-08/14/content_30576430.htm
http://knowledge.ckgsb.edu.cn/2017/11/06/technology/chinas-sharing-economy-borrowed-time/
http://www.iresearchchina.com/Upload/201708/20170825055803_2531.pdf
https://www.scmp.com/business/banking-finance/article/2141136/chinese-consumers-mostlikely-use-sharing-economy-least
http://fortune.com/2017/05/29/china-sharing-economy-booming/
https://www.weforum.org/agenda/2017/06/china-sharing-economy-in-numbers/
http://www.iresearchchina.com/Upload/201708/20170825055803_2531.pdf
http://www.chinadaily.com.cn/a/201806/04/WS5b14d719a31001b82571e031.html
https://www.scmp.com/business/companies/article/2130400/china-moves-further-towardscashless-society-payment-giants
http://www.bnm.gov.my/documents/conference_vol/2017_PaymentSystem/The%20Growth%20 of%20Digital%20Payment%20Ecosystem%20in%20China.pdf
https://www.businessinsider.com/china-bike-sharing-frenzy-collapsing-2017-11
https://wordpress-575750-3895056.cloudwaysapps.com/thaibizchina/th/china-economicbusiness/result.php?SECTION_ID=479&ID=18759
http://www.chinadaily.com.cn/opinion/2017-05/20/content_29420906.htm
https://www.scbeic.com/th/detail/product/2831
https://brandinside.asia/all-about-sharing-economy-in-china/
รูปภาพจาก:
www.chinadaily.com.cn / www.molpay.com / www.vectorstock.com/19325701 / www.sixthtone.com / www.bloomberg.com