เลาะรั้ว “กว่างซี” – รู้จักพื้นที่น่าลงทุน เมื่อ “หนานหนิง” พร้อมแล้ว ธุรกิจไทยพร้อมหรือยัง
8 Feb 2023หลายปีมานี้ ม้านอกสายตาอย่าง “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” กำลังได้รับการจับตามองจากนักลงทุนจากต่างมณฑลและต่างประเทศ นอกจากจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดกับอาเซียนแล้ว คงเป็นเรื่องของ ‘นโยบายหรือฟังก์ชันพิเศษ’ ที่รัฐบาลกลางมอบให้กับมณฑลแห่งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของมณฑลแห่งนี้ และเป็น ‘โอกาสใหม่’ ของนักลงทุน(ไทย)
สำหรับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยขนาดพื้นที่กว้างใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศไทย แล้วที่ไหนในกว่างซีที่เป็น ‘คำตอบ’ ของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงไทย
ในฐานะเมืองเอกของกว่างซี —– “นครหนานหนิง” เป็นเมืองที่มีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ข้อมูลของกรมสถิติกว่างซี ชี้ว่า ช่วง 11 เดือนแรก ปี 2565 เงินลงทุนจริงจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่นครหนานหนิงมีสัดส่วนสูงถึง 44.67% ของทั้งมณฑล ขยายตัวสูงถึง 168.7% แล้วที่ไหนใน “นครหนานหนิง” ที่เป็น ‘จุดปักหมุด’ ของนักลงทุน
“นครหนานหนิง” ได้วาง positioning ของตนเองไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็น ‘พื้นที่แห่งโอกาส’ ในการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่อาเซียน และเป็น ‘สถานีกลาง’ (interchange station) ของการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับอาเซียน โดยมี “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง’ (Wuxiang New District/五象新区) เป็นจุดหมาย(ใหม่)ที่น่าจับตามอง
สังเขป “เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง” เป็น Central Business District แห่งใหม่ของนครหนานหนิง เป็นเขตที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยและครบวงจรที่สุดในกว่างซี และเป็นพื้นที่ ‘ยำใหญ่ใส่สารพัดฟังก์ชัน’ เพื่อใช้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิง”
เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) พื้นที่ย่อยหนานหนิงให้น้ำหนักกับการบริการเชิงการผลิต (producer services) เป็นแก่นหลัก และผลักดันการบูรณาการเชิงลึกระหว่างอุตสาหกรรมการบริการสมัยใหม่กับอุตสาหกรรมการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร โดยเฉพาะในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมทางการเงิน และโลจิสติกส์
ปี 2565 ที่ผ่านมา เขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง มีบริษัทจดทะเบียนรายใหม่มากกว่า 16,000 ราย เป็นบริษัทต่างชาติรายใหม่มากกว่า 120 ราย มูลค่าเงินลงทุนจริงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 180% เงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าพื้นที่ย่อยหนานหนิงมีสัดส่วนมากกว่า 70% ของทั้งนครหนานหนิง มูลค่าการค้าต่างประเทศ 65,200 ล้านหยวน (สัดส่วนมากกว่า 40% ของทั้งเมือง)
ทำไมเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)จึงเป็นจุดหมายของนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ ในมุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักในเรื่องนโยบาย/สิทธิประโยชน์ทางการค้าการลงทุน ซึ่งเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)มีสิทธิและประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะนโยบายการลด/ยกเว้นภาษี การใช้ที่ดิน การให้เงินรางวัล/เงินอุดหนุนต่างๆ ตลอดจนการอำนวยความสะดวกด้านระเบียบ/ขั้นตอนการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐที่เน้นความกระชับฉับไว (ข้อมูลสังเขปด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตทดลองฯ พื้นที่ย่อยหนานหนิง คลิ๊กที่นี่)
ตามทัน “เศรษฐกิจดิจิทัล” เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ปัจจุบัน มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่ย่อยหนานหนิงรวมมากกว่า 4,500 ราย นครหนานหนิงเริ่มต้นเส้นทางเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการก่อสร้าง “ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Information Harbor (CAIH) ด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐบาลกลาง เป็นผู้ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีสำหรับภาครัฐ (e-Government) และภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามแดนที่มุ่งสู่อาเซียน
“เศรษฐกิจดิจิทัล หากจะพูดในเชิงเทคนิค ครอบคลุมเทคโนโลยีเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Big Data, Cloud Computing, Internet of Things (IoT), Block Chain, Artificial Intelligence (AI) และ 5G หากพูดในแง่ของการประยุกต์ใช้งานแล้ว ตัวแทนสำคัญ ก็คือ New retail และ New manufacturing”
ในส่วนของการดำเนินการเชิงรุกเพื่อเชื่อมโยงกับ “แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025” หรือ ASEAN Digital Master plan 2025 (ADM 2025) นั้น ศูนย์ CAIH เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาโปรเจกต์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ที่ขณะนี้มีอยู่เกือบ 20 โปรเจกต์ใน 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ Smart Nation ของสิงคโปร์ Cloud-first ของมาเลเซีย รวมถึง Digital Thailand และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีจีน-อาเซียนในไทยด้วย
พัฒนาการด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงที่ห้วงที่ผ่านมา มีหลายโปรเจกต์ที่เปิดดำเนินธุรกิจ อาทิ China Mobile (Guangxi) Data Center Phase I, Inspur Group ASEAN Operation Headquarter และอีกหลายโปรเจกต์ที่วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง อาทิ China-ASEAN Artificial Intelligence Computing Center, Cloud South China and ASEAN Headquarter
นอกจากนี้ ได้เริ่มใช้งานดาวเทียมสำรวจระยะไกล Nanning No.1 การเปิดดำเนินธุรกิจของ China-ASEAN Geographic Information and Satellite Application Industrial Park (ข้อมูลสังเขป คลิ๊กที่นี่) และเปิดป้ายสถานีรับส่งสัญญาณภาคพื้นดินดาวเทียมสำรวจระยะไกลซีหนาน และ China-ASEAN Satellite Remote Sensing Application Center (ศูนย์รับส่งสัญญาณภาคพื้นดิน)
ในทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีภาคบริการเป็นพื้นฐาน ทำให้แนวคิดด้าน “นวัตกรรมทางการเงิน” ได้รับการจับตามองจากทุกภาคส่วน เพราะเป็น ‘ฟันเฟือง’ ชิ้นสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม
ในบริบทของการเป็น Financial Gateway for ASEAN ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลกลางเช่นเคย โดยรัฐบาลกลางมุ่งหวังให้เขตฯ กว่างซีจ้วงพัฒนาเป็นจุดนำร่องนโยบายการปฏิรูปภาคการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย โดยเฉพาะการทำธุรกรรมการชำระบัญชีการค้าข้ามแดน และธุรกรรมสินเชื่อสกุลเงินหยวนข้ามแดนกับอาเซียน โดย “นครหนานหนิง” เป็นพื้นที่นำร่องสำคัญของจีน
“เขตฯ กว่างซีจ้วง ยังคง ‘ยืนหนึ่ง’ มณฑลที่มียอดการการรับ-ชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศด้วยสกุลเงินหยวนมากที่สุดในบรรดา 8 มณฑลชายแดนและ 12 มณฑลในภาคตะวันตกของประเทศจีน โดยกว่า 60% เป็นธุรกรรมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และ ‘นครหนานหนิง’ มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของทั้งมณฑล”
พื้นที่นำร่องสำคัญในนครหนานหนิงอยู่ตรงไหน คำตอบ คือ “ย่านการเงินจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Financial Town เป็นคีย์โปรเจกต์ และเป็น subset ฟังก์ชันพิเศษของเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง/เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง ปัจจุบัน ย่านดังกล่าวมีสถาบันการเงินและประกันภัยชั้นนำในประเทศและต่างประเทศเข้าไปจัดตั้งสำนักงานแล้ว 411 ราย เป็นสถาบันการเงินรายใหม่ที่เข้าจัดตั้งธุรกิจ 126 ราย (ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับย่านการเงินจีน-อาเซียน คลิ๊กที่นี่)
นวัตกรรมทางการเงินของนครหนานหนิงในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของความก้าวหน้าในนโยบายนำร่องการทำธุรกรรมการเงินสกุลเงินหยวนข้ามแดน การขอสินเชื่อสกุลเงินหยวนในโปรเจกต์นอกประเทศจีน รวมถึงการทำธุรกรรมการเงินต่างประเทศสำหรับบัญชี Non-Resident Account (NRA) ซึ่ง “นครหนานหนิง” เป็นเมืองแรกที่ทำตั๋วแลกเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไปยังบัญชี NRA ของผู้ค้าในต่างประเทศได้สำเร็จ เป็นผลิตภัณฑ์การเงินชิ้นโบว์แดงของ Guilin Bank ขณะที่ศูนย์บริการประกันภัยอาเซียนของบริษัท Taiping Insurance (มีสาขาในประเทศไทย) ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์การประกันภัยในอาเซียนด้วยการเปิดกรมธรรม์คุ้มครองเงินหยวนเป็นรายแรกในแวดวงธุรกิจประกัน
ไฮไลท์สำคัญด้านการเงินเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2565 นครหนานหนิง เป็น 1 ใน 26 เมืองในจีนที่ได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลกลางให้เป็น “จุดทดลองดิจิทัลหยวน(มุ่งสู่อาเซียน)” โดยให้ผนวกจุดทดลองดิจิทัลหยวนเข้ากับคีย์เวิร์ดที่เป็น ‘อัตลักษณ์กว่างซี’ อย่างประตูสู่อาเซียน เขตทดลองการค้าเสรี และการค้าชายแดน โดยพื้นที่นำร่องก็อยู่ที่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง” เช่นเดียวกัน โดยแบงค์ชาติจีนสาขาหนานหนิงต้องไปศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายที่ชัดเจน โดยบีไอซีจะติดตามความเคลื่อนไหวมานำเสนอให้กับผู้อ่านต่อไป
อีกหนึ่ง ‘ฟันเฟือง’ สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นเรื่องของ “การขนส่งและโลจิสติกส์” ในพื้นที่เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง/เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง เป็นที่ตั้งของเขตสินค้าทัณฑ์บนแบบครบวงจรหนานหนิง และสวนโลจิสติกส์นานาชาติจีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ เรียกสั้นๆ ว่า CSILP ซึ่งตอบโจทย์ด้านการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศได้อย่างเต็มที่ ได้ทราบว่าเมื่อเดือน ก.ย. 2564 บริษัท ทิฟฟ่า จำกัดของไทย ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในโครงการศูนย์โลจิสติกส์ CSILP กับทางบริษัท Singapore-Guangxi Integrated Developments Pte. Ltd. ในการดำเนินธุรกิจด้านโลสิติกส์และกระจายสินค้าไทยในประเทศจีนในอนาคตแล้วด้วย
ในบริเวณสวนโลจิสติกส์ CSILP มีสวนอัจฉริยะสินค้าทัณฑ์บนสิงคโปร์-จีนไว้บริการด้านโลจิสติกส์ที่ทำงานด้วยระบบอัจฉริยะแบบครบวงจร และธุรกิจ Cross-border e-Commerce ด้วย สวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาเซียนไว้รองรับการลงทุนของธุรกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีการแพทย์ ธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจด้านการบ่มเพาะและศึกษาวิจัยโครงการด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในห่วงโซ่อุปทานสมัยใหม่ และศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า CAMEX หรือ China-ASEAN Mercantile Exchange (中国—东盟特色商品汇聚中心) ที่เพิ่งเปิดดำเนินธุรกิจเมื่อเดือนกันยายน 2565 ซึ่งจะเป็น ‘ประตู’ บานใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะก้าวเข้าไปขยายตลาดในประเทศจีนด้วย (ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน คลิ๊กที่นี่)
นอกจากนี้ นครหนานหนิงยังผลักดันโครงการสำคัญอื่นๆ เพื่อยกระดับให้พื้นที่ย่อยนครหนานหนิงเป็นพื้นที่นำร่องการค้าการลงทุนกับอาเซียน อาทิ การให้บริการของศูนย์ธุรกิจจีน-อาเซียน (China-ASEAN Business Center – CABC) แพลตฟอร์มการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation) แพลตฟอร์มการค้าสินค้าโภคภัณฑ์จีน-อาเซียน และศูนย์แลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมจีน-อาเซียน การพัฒนาความร่วมมือในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศข้ามแดนจีน-อาเซียน และห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ข้ามแดนจีน-อาเซียน
ไขข้อกังวลสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลกว่างซีได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ โดยได้ปรับปรุงนโยบายรัฐให้มีความยืดหยุ่นและเอื้ออำนวยต่อนักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับแก้ระเบียบ ลดขั้นตอน ลดข้อจำกัดของทุนต่างชาติในการเข้าสู่ตลาด รวมถึงปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติ ความเสมอภาคและความทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน และการคุ้มครอง/สิทธิประโยชน์ทางการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) ได้จัดตั้งกลไก “พี่เลี้ยง” ไว้คอยให้บริการและติดตามความคืบหน้าในการลงทุน และคุ้มครองผลประโยชน์นักลงทุนต่างชาติด้วยความเสมอภาคและความทัดเทียมทางกฎหมาย การแข่งขัน อย่างการจัดตั้งเคาน์เตอร์รับเรื่องร้องเรียน (Customer Service & Support) และอนุญาโตตุลาการเพื่อช่วยเหลือไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำหรับนักลงทุนต่างชาติ
ภาคธุรกิจไทยที่กำลังมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ในจีน บีไอซี เชื่อว่า ‘นครหนานหนิง’ จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะเจาะตลาดจีนตะวันตกซึ่งมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีพลวัตสูง โดยภาครัฐและภาคเอกชนไทยสามารถผูกโยงโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเข้ากับโปรเจกต์ต่างๆ ในเขตฯ กว่างซีจ้วงแบบสองทาง ทั้งการเชิญเข้ามา และการก้าวออกไป เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของสองฝ่าย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ http://gx.people.com.cn (人民日报客户端广西频道) วันที่ 13 มกราคม 2566
เว็บไซต์http://tjj.gxzf.gov.cn(广西统计局) วันที่ 13 มกราคม 2566
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中国新闻网) วันที่ 11, 19, 20, 24 มกราคม 2565
เว็บไซต์ https://www.cnfin.com (新华财经网) วันที่ 18 กันยายน 2565
เว็บไซต์ http://www.haiwainet.cn (海外网) วันที่ 06 เมษายน 2565
เครดิตภาพ 南宁俯瞰 และ www.csilp.com