เมืองหลิ่วโจวโชว์ฟอร์มเด่น “รถยนต์พลังงานทางเลือก” กับโอกาสความร่วมมือของภาคธุรกิจไทย
25 Jan 2022ไฮไลท์
- “เมืองหลิ่วโจว” ของกว่างซี เป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์หลายร้อยตั้งกิจการอยู่ในเมืองแห่งนี้ ซึ่งนอกจากรถยนต์สันดาปที่เป็นรากฐานเดิมของเมืองหลิ่วโจวแล้ว หลายปีมานี้ เมืองหลิ่วโจวได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา “รถยนต์พลังงานทางเลือก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) อีกด้วย
- ปี 2564 อุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองหลิ่วโจวสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ดี ยอดผลิตเพิ่มขึ้น 8.2% และยอดขายเพิ่มขึ้น 4.7% ในส่วนของ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” มียอดผลิต 4.82 แสนคัน เพิ่มขึ้น 157.6% คิดเป็นสัดส่วน 1/7 ของทั้งประเทศจีน โดยค่ายรถยนต์ SGMW (上汽通用五菱) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนชั้นนำรายใหญ่ของเมืองหลิ่วโจว เป็น “ผู้เล่น” ตัวสำคัญในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกของมณฑลและประเทศจีนด้วย
- ในบริบทที่การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และแนวโน้มเทรนด์การใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกกำลังมาแรงและเป็นที่จับตาในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย กอปรกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งประเทศไทยเป็นตลาดนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์อันดับ 3 ของจีน รองจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลง RCEP การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ เพื่อยกระดับตลาดรถยนต์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานทางเลือกได้ในอนาคต
แม้ว่าปี 2564 ตลาดรถยนต์ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนต้องประสบภาวะซบเซา แต่ตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือก (Electric Vehicle: EV) กลับขยายตัวสวนทางกัน โดยเฉพาะในประเทศจีน ความท้าทายจากวิกฤตด้านพลังงานและมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ทำให้จีนต้องเร่งผลักดันนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือก จนทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวได้รับการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีผู้เล่นหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในตลาดจีน รวมถึงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงด้วย
“เมืองหลิ่วโจว” ของกว่างซี เป็น 1 ใน 5 ฐานการผลิตรถยนต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์หลายร้อยตั้งกิจการอยู่ในเมืองแห่งนี้ อาทิ SAIC Motor (上海汽车) Dongfeng Motor Corp. (东风) FAW Group (中国一汽) และ SINOTRUK (中国重汽)
นอกจากรถยนต์สันดาปที่เป็นรากฐานเดิมของเมืองหลิ่วโจวแล้ว หลายปีมานี้ เมืองหลิ่วโจวให้ความสำคัญกับการพัฒนา “รถยนต์พลังงานทางเลือก” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ (emerging industry) อีกด้วย เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลกลางที่หันไปให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม แนวโน้มการพัฒนาในอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนและโลกที่กำลังเปลี่ยนถ่ายสู่ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” รวมถึงความนิยมของผู้ใช้งานที่เริ่มหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น
ตามรายงาน ปี 2564 อุตสาหกรรมยานยนต์ของเมืองหลิ่วโจวสามารถรักษาระดับการขยายตัวได้ดี ยอดผลิตเพิ่มขึ้น 8.2% และยอดขายเพิ่มขึ้น 4.7% ในส่วนของ “รถยนต์พลังงานทางเลือก” มียอดผลิต 4.82 แสนคัน เพิ่มขึ้น 157.6% คิดเป็นสัดส่วน 1/7 ของทั้งประเทศจีน โดยค่ายรถยนต์ SGMW (上汽通用五菱) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนชั้นนำรายใหญ่ของเมืองหลิ่วโจว เป็น “ผู้เล่น” ตัวสำคัญในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจว (รวมถึงในประเทศจีน)
ที่ผ่านมา บริษัท SGMW ได้วิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานทางเลือกออกสู่ตลาดหลายรุ่น และได้รับความนิยมไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น Honghuang MiniEV (宏光MINIEV) Baojun Kiwi EV (宝骏KiWi EV) และ Wuling NanoEV (五菱NanoEV) โดยเฉพาะ Honghuang MiniEV ด้วยขนาดที่กระทัดรัด และราคาที่จับต้องได้ ทำให้รถยนต์รุ่นดังกล่าวทำยอดขายทะลุ 5 แสนคันแล้วนับตั้งแต่เปิดตัวเป็นต้นมา
ในรายงานบิ๊กดาต้าเมืองต้นแบบยานยนต์พลังงานทางเลือกจีน-โมเดลหลิ่วโจว ระบุว่า ช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 2564 เมืองหลิ่วโจวมีรถยนต์พลังงานทางเลือก 1.01 แสนคัน คิดเป็น 10.9% ของรถยนต์ในเมืองหลิ่วโจว และรถยนต์ที่วิ่งสัญจรอยู่ทุกวัน 100 คัน เป็นรถยนต์พลังงานทางเลือก 23 คัน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศจีน อัตราการเติบโตของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสู่ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นจาก 19.9% ในปี 2561 เป็น 31.6% ในปี 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับแผนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกของเมืองหลิ่วโจวในระยะต่อไป จะเร่งสนับสนุนการพัฒนาในห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกให้ครบวงจร พัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกระดับประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2565 เมืองหลิ่วโจวจะมียอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกทะลุ 6 แสนคัน
บีไอซี เห็นว่า การส่งเสริมนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy) และแนวโน้มเทรนด์การใช้รถยนต์พลังงานทางเลือกกำลังมาแรง กลายเป็น key industrial sector ที่น่าจับตามองในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
กอปรกับเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ได้ช่วยเปิดโอกาสในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของสินค้าและบริการในภูมิภาค และลดภาษีนำเข้าระหว่าง 15 ชาติสมาชิกด้วย (อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์)
โดยนายฮิเดฮิโกะ มุโคยามา นักวิเคราะห์อาวุโสจาก Japan Research Institute คาดการณ์ว่า “สินค้าอุตสาหกรรม” เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลประโยชน์จาก RCEP เป็นอย่างมาก อย่างเช่น การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าไปจำหน่ายที่ประเทศจีน ไม่เพียงแต่การนำเข้า-ส่งออกจะมีสะดวกมากยิ่งขึ้น ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 90% จะได้รับการลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ด้วย
ด้านนายฮิโรโตชิ อิโต หัวหน้ากองเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ฝ่ายวิจัยต่างประเทศจาก JETRO ได้แสดงความเห็นว่า “ตัวเลือกห่วงโซ่อุปทาน” เป็นอีกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากกรอบความตกลง RCEP ซึ่งผู้ประกอบการจะสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น บริษัทญี่ปุ่นส่งออกชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศไทย จากนั้นส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีน จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (value added) ให้กับทั้งญี่ปุ่นและไทยได้มากกว่าในอดีต
โอกาสของภาคธุรกิจไทยในตลาดรถยนต์พลังงานทางเลือกในจีน และกรอบ RCEP ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นตลาดนำเข้าชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์อันดับ 3 ของจีน รองจากญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลง RCEP การพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ เพื่อยกระดับตลาดรถยนต์ไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานทางเลือกได้ในอนาคต
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกว่างซีได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานทางเลือกใน 4 เมืองสำคัญของมณฑล ภายใต้โมเดล “การแบ่งงานกันทำตามความถนัด” คือ
- เมืองหลิ่วโจว อัปเกรดอุตสาหกรรมรถยนต์ เพื่อตอกย้ำความเป็นเลิศในอุตสาหกรรมยานยนต์กว่างซี
- เมืองกุ้ยก่าง ปลุกปั้นให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกเบอร์ 2 ของกว่างซี โดยเฉพาะรถโดยสารต่างๆ
- เมืองกุ้ยหลิน ส่งเสริมการคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial vehicle) ที่ใช้พลังงานทางเลือก
- นครหนานหนิง พัฒนาฐานการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกที่เป็นดาวดวงใหม่ของกว่างซี
การพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกในเขตฯ กว่างซีจ้วง นอกจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งจากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของประเทศจีนแล้ว หัวใจสำคัญอยู่ที่การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ที่ล้ำหน้า มีการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้งานตามยุคตามสมัย การปรับตัวในทิศทางเดียวกันในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ปรับตัวมาเป็นซัพพลายเออร์ให้กับยานยนต์สมัยใหม่ และเข้าร่วมพัฒนาชิ้นส่วนและเทคโนโลยีร่วมกับผู้ประกอบรถยนต์ รวมทั้งปรับเปลี่ยนสายการผลิตให้เหมาะสมกับเทรนด์ในอนาคต
สำหรับประเทศไทยนับเป็นจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยในการทำความเข้าใจกับห่วงโซ่อุปทานของตนเองและกว่างซีของจีน เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาแหล่งวัตถุดิบที่แท้จริงของธุรกิจ แสวงหาโอกาสความร่วมมือทั้งด้านการลงทุน การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ การนำเข้ายานยนต์พลังงานทางเลือกและการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการสร้างตัวตนในตลาดให้อีกฝ่ายได้รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยต่อไปด้วย
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 12 มกราคม 2565
เว็บไซต์ www.mreport.co.th วันที่ 6 มกราคม 2565
เว็บไซต์ http://data.cpcaauto.com