เผยศักยภาพ “พลังงานแสงอาทิตย์” ใน YRD.. พื้นที่เป้าหมายร่วมมือกับไทย
30 Oct 2023พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนที่จีนให้ความสำคัญมาโดยตลอด จะเห็นได้จากการที่จีนออกแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบุเป้าหมายให้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างชัดเจน โดยปี 2565 จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์รวม 87.41 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 59.3[1]
นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ระดับโลก ในปี 2565 จีนส่งออกผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์มูลค่า 51,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.3 จากปี 2564 ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta: YRD) ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย นับเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงและศักยภาพการผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ในระดับแนวหน้าของจีน ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการขยายความร่วมมือกับไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย
YRD มุ่งมั่นชัดเจน.. เน้นเพิ่มกำลังผลิตติดตั้งต่อเนื่อง
แต่ละพื้นที่ในเขต YRD ได้กำหนดแผนพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งสอดรับกับแนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนในภาพรวมของจีน
เซี่ยงไฮ้
เมื่อ 15 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปนครเซี่ยงไฮ้ประกาศ “แผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า นครเซี่ยงไฮ้ ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” ซึ่งระบุว่า จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2.7 กิกะวัตต์ โดยจะผลักดันการติดตั้งอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ[2] อาทิ ดาดฟ้าอาคารที่พักอาศัย นิคมอุตสาหกรรม โรงบำบัดน้ำ แปลงเกษตร สถานศึกษา ลานจอดรถและสถานีโดยสาร เป็นต้น
เจียงซู
“แผนงานพิเศษสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมณฑลเจียงซู ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” กำหนดว่า เจียงซูจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกประมาณ 18 กิกะวัตต์ภายในปี 2568 ซึ่งจะทำให้เจียงซูมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวมไม่ต่ำกว่า 35 กิกะวัตต์
เจ้อเจียง
“แผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมณฑลเจ้อเจียง ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” ระบุเป้าหมายว่า เมื่อถึงปี 2568 เจ้อเจียงจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อีกไม่ต่ำกว่า 12 กิกะวัตต์ ซึ่งทั่วทั้งมณฑลจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์กว่า 27.5 กิกะวัตต์
อานฮุย
มณฑลอานฮุยได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์โดยยึดตาม “แผนพัฒนาพลังงานมณฑลอานฮุย ระยะ 5 ปี (ปี 2564 – 2568)” ว่า ภายในปี 2568 จะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์อีก 14.30 กิกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ทั่วทั้งมณฑลมีกำลังผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์รวม 28 กิกะวัตต์
YRD โดดเด่นแนวหน้า.. กำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ติด 1 ใน 10
จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานแห่งชาติจีนพบว่า จนถึงปี 2565 จีนมีกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 392.61 กิกะวัตต์ แบ่งเป็นกำลังการผลิตติดตั้งของเขต YRD เท่ากับ 73.97 กิกะวัตต์ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.84 ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดในจีน) โดยเจ้อเจียง เจียงซู และอานฮุยมีกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ใน 10 อันดับแรกของจีน
YRD ศักยภาพแข็งแกร่ง.. แหล่งรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์
ข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติจีนระบุว่า ปี 2565 จีนมีมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ทะลุยอด 1.4 ล้านล้านหยวน โดยมณฑล 3 อันดับแรกที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด ได้แก่ เจียงซู (615,924 ล้านหยวน) เจ้อเจียง (249,860 ล้านหยวน) และอานฮุย (195,490 ล้านหยวน) ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 75.8 ของมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วทั้งจีน
เจียงซู เจ้อเจียง และอานฮุยนับเป็นพื้นที่ที่มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ที่สมบูรณ์ และมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ๆ ของจีน โดยฐานการผลิตที่สำคัญได้กระจายอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของทั้ง 3 มณฑล ดังนี้
หากประเมินจากมูลค่าการผลิตของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในแต่ละเมืองทั่วทั้งจีนจะพบว่า มีเมืองในเขต YRD ติด 10 อันดับแรกของจีนมากถึง 8 เมือง
จากรายชื่อบริษัทข้างต้นพบว่า มีหลายรายที่ได้ขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศแล้ว เช่น Trina Solar (ไทย เวียดนาม เอกวาดอร์) CHINT (ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อียิปต์ แอลจีเรีย ยูกันดา) Longi (เวียดนาม มาเลเซีย) Jinko Solar (สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เวียดนาม) JA Solar (มาเลเซีย) และ Risen (มาเลเซีย)
YRD ก้าวหน้า.. ต่อยอดพัฒนาพลังงานในไทย
ไทยให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับจีนและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยภาครัฐไทยได้มีแผนพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อาทิ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (AEDP2018) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP2018) เป็นต้น โดยไทยได้ตั้งเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นถึง 12,139 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ภายในปี 2580
ทั้งนี้ เขต YRD เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในฐานะฐานการผลิตอุปกรณ์และส่วนประกอบเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่ครบวงจร (แผงโซล่าเซลล์ โซลาร์เซลล์ แผ่นและแท่งซิลิกอน เป็นต้น) รวมถึงเป็นที่ตั้งของบริษัทที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน เช่น Trina Solar/ Canadian Solar/ Suntech ในมณฑลเจียงซู Risen/ CHINT/ DAS Solar ในมณฑลเจ้อเจียง เป็นต้น จึงนับเป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่ไทยจะสามารถต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย ผ่านการเรียนรู้เทคโนโลยีและ
ขยายความร่วมมือด้านการลงทุนในอนาคตต่อไป
****************
จัดทำโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://mp.weixin.qq.com หัวข้อ 2022年发展回顾及2023年形势展望วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566
2. https://m.thepaper.cn หัวข้อ上海市将指定新长三角议事厅·周报|“风光无限”的长三角可再生能源产业วันที่ 27 มีนาคม 2566
3. www.solarpwr.cn หัวข้อ 上海能源“十四五”规划:力争光伏新增规模270万千瓦วันที่ 16 พฤษภาคม 2565
4. https://mp.weixin.qq.com หัวข้อ安徽十四五规划:新增光伏14.3GW、风电3.88GW วันที่ 8 สิงหาคม 2565
5. www.maigoo.com หัวข้อ 2022各省光伏并网容量排名 วันที่ 23 มีนาคม 2566
6. www.hxny.comหัวข้อ河北9.34GW跃升第一!各省光伏装机数据一览,分布式达51.114GW วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566
7. https://zhuanlan.zhihu.com หัวข้อ最新光伏产业城市版图!วันที่ 5 กรกฎาคม 2566
8. www.mreport.co.th หัวข้อ ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย วันที่ 19 พฤษภาคม 2566
[1] ปี 2565 ทั่วโลกได้เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ 230 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 จากปี 2564 โดยกลุ่มประเทศที่เพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา
[2] เนื่องจากเซี่ยงไฮ้เป็นมหานครที่มีพื้นที่จำกัดและที่ดินมีราคาสูงมาก จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เหมาะที่จะตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ในพื้นที่โล่งแจ้งดังเช่นในหลายมณฑลในจีน จึงติดตั้งแผงโซลาร์ในสถานที่ต่าง ๆ แทน