เทรนด์สุขภาพมาแรง! มณฑลกวางตุ้งจัดตั้งห้องปฏิบัติการศึกษาความชื้น
19 Apr 2021ห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาเกี่ยวกับความชื้นในร่างกาย
รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งร่วมกับหน่วยงานจากรัฐบาลกลางจีน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานการบริหารยาและแพทย์แผนจีน เตรียมเปิดห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาความชื้นในร่างกายตามตามหลักยาและการแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine: TCM) โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะก่อสร้างติดกับ โรงพยาบาลยาและการแพทย์แผนจีนประจำมณฑลกวางตุ้ง (หนานซา) (Guangdong Provincial (Nansha) Hospital of Traditional Chinese Medicine) ตั้งอยู่ในเขตหนานซา นครกว่างโจว โดยคาดว่าจะสร้างเสร็จประมาณเดือน มิ.ย. 65
ห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาความชื้นนับเป็นห้องปฏิบัติการด้าน TCM ที่สำคัญแห่งแรกของจีน ซึ่งจะส่งเสริม TCM ใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) วางแผนและตั้งเป้าหมายในการวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการประยุกต์ใช้ผลการวิจัย (2) บริหารจัดการบุคลากรที่มีศักยภาพ (3) ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้กับ TCM (4) ส่งเสริมการวิจัยด้านการให้การรักษา พัฒนาประสิทธิผลการรักษาด้วย TCM และสร้างสาธารณประโยชน์ (5) พัฒนาด้าน TCM โดยเน้นเรื่องความชื้นในร่างกาย และพัฒนาการรักษาด้วย TCM
มณฑลกวางตุ้งกับความโดดเด่นด้าน TCM
นับตั้งแต่เมื่อปี 2006 มณฑลกวางตุ้งได้เริ่มผลักดันเพื่อก้าวสู้การเป็นมณฑลที่มีความโดดเด่นด้าน TCM ตามแผนของรัฐบาลกลางจีน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หลิ่งหนานหรือจีนตอนใต้ได้กลายเป็นที่ที่มีชื่อเสียงด้าน TCM โดยในมณฑลกวางตุ้งมีผู้ใช้บริการรักษาด้วย TCM มากกว่า 200 ล้านครั้ง และคนในมณฑลมีความคุ้นเคยกับการรักษาด้วย TCM นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งยังนับเป็นแหล่งผลิตและบริโภค TCM ที่สำคัญของจีน อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในเขตความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area: GBA) ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 หน่วยงานด้าน TCM จีน ร่วมกับหน่วยงานพัฒนา GBA และรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ประกาศแผนส่งเสริมความร่วมมือของเมืองใน GBA เพื่อเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้าน TCM โดยจะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และการฝึกอบรมบุคลากรด้าน TCM รวมทั้งส่งเสริมความเป็นสากลของ TCM ซึ่งภายในปี 2565 GBA จะกลายเป็นแหล่งโรงพยาบาลด้าน TCM ที่มีคุณภาพ และช่วยให้แบรนด์ท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดสากล และภายในปี 2568 จะพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของ TCM ในระดับสากล
ความชื้นตามหลัก TCM
หนึ่งในแนวคิดหลักของ TCM คือความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและธรรมชาติ ซึ่งร่างกายจะปรับตัวเพื่อสร้างสมดุลเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน แต่ถ้าร่างกายไม่สามารถปรับตัวตามสภาพแวดล้อมได้ จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งความชื้นเป็นสภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นภายในร่างกายโดยทำให้เกิดเสมหะ ทั้งนี้ ความชื้นสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ได้แก่ ความชื้นจากภายใน และความชื้นจากภายนอก โดยความชื้นจากภายในเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย มักเกิดจากระบบย่อยอาหารที่ทำงานผิดปรกติ ทำให้มีผลต่อระบบหมุนเวียนของของเหลวในร่างกาย อาการจากความชื้นภายในจะทำให้รู้สึกหนักตัว บวมน้ำ มีเสมหะ และท้องร่วง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังทำให้รู้สึกซึม และน้ำหนักขึ้นได้ง่าย ในขณะที่ความชื้นจากภายนอกเป็นความชื้นจากสภาพแวดล้อม อาทิ ช่วงฤดูที่ฝนตกบ่อย หรืออาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดความชื้น ซึ่งความชื้นประเภทนี้จะทำให้รู้สึกวิงเวียน และปวดเมื่อยตามข้อต่อ
ประโยชน์จากการศึกษาเรื่องความชื้นในร่างกาย
ตามหลักของ TCM ธาตุดินสร้างความชื้น และธาตุเหล็กกักเก็บความชื้น ซึ่งอวัยวะที่สัมพันธ์กับธาตุดินคือ กระเพาะและม้าม และอวัยวะที่สัมพันธ์กับธาตุเหล็กคือ ปอดและลำไส้ใหญ่ ซึ่งสำหรับ TCM ความชื้นนับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภายใน ทำให้รักษาให้หายยาก และมีความเชื่อมโยงกับอวัยวะหลายส่วน ปัจจุบัน จึงมีการศึกษาวิธีป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังด้วยการรักษาความชื้นในร่างกาย
โรค COVID-19 ก็นับเป็นโรคที่เกิดจากความชื้น มีความซับซ้อนและอาการไม่แน่นอน ฟื้นตัวจากโรคช้า และหายจากโรคยาก ถึงแม้จะรักษาจนหายแล้ว แต่ยังคงมีผลข้างเคียงของโรคอยู่ ดังนั้น แนวคิดเรื่องความชื้นในร่างกายอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรค COVID-19 ได้ โดยจากเคสการรักษาโรคดังกล่าว ผู้ที่รับการรักษาโดยใช้ TCM มีโอกาสกลับมาพบเชื้อเป็นรอบที่ 2 น้อยลงเนื่องจากการรักษาด้วย TCM เน้นการขจัดเสมหะ ทำให้ผลตรวจเชื้อไม่กลับมาเป็นบวกหากตรวจเชื้ออีกครั้ง นอกจากนี้ จากการทดลองในมณฑลกวางตุ้งซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นสูง พบว่า ผู้ติดเชื้อโรค COVID-19 ร้อยละ 94 ได้รับการรักษาด้วย TCM พร้อมกับการรักษาแบบตะวันตก และพบว่า มีประสิทธิผลถึงร้อยละ 89 ของกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว ทั้งนี้ การรักษาโดยใช้ TCM จะช่วยบรรเทาอาการ เช่น มีไข้ ไอ หายใจติดขัด อ่อนแรง และไม่อยากอาหาร เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ได้รับการรักษาด้วย TCM มีอาการทรงตัวและไม่ทรุดหนักเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ TCM นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว ยังใช้วิธีอื่นด้วย เช่น การฝังเข็ม และการรำไทเก๊ก “ปาต้วนจิ่น” เป็นต้น ซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องการนอนหลับและการฟื้นตัว
อนึ่ง ปัจจุบัน ไทยมีความร่วมมือกับจีนในด้านการแพทย์แผนโบราณ โดยเป็นความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับมหาวิทยาลัยแพทย์แผนจีนนครกว่างโจวและมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น และในอนาคต ไทยอาจขยายความร่วมมือกับมณฑลกวางตุ้งได้มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาความชื้น เนื่องจากไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่คล้ายกับสมุนไพรจีน และมีสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น
——————————
นางสาวสุวิชญา กีปทอง เขียน
5 เมษายน 2564
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1694823536072152589&wfr=spider&for=pc
https://www.cn-healthcare.com/article/20200229/content-531741.html
http://news.southcn.com/nfplus/gdjktt/m/content/2020-07/02/content_191109133.htm https://static.nfapp.southcn.com/content/202103/30/c5029438.html
http://www.gd.gov.cn/gkmlpt/content/3/3246/post_3246346.html#43
https://www.shineholistic.co.uk/blog/dampness-traditional-chinese-medicines-approach/#:~:text=In%20Chinese%20medicine%2C%20dampness%20is,eczema%2C%20allergies%20and%20environmental%20illness
https://www.163.com/dy/article/G5JL5TFC0534AAOJ.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1694987411688390569&wfr=spider&for=pc
https://www.chinadaily.com.cn/a/202002/19/WS5e4d2bfea310128217278c7b.html
https://www.si.mahidol.ac.th/th/sirirajnewsite/hotnewsdetail.asp?hn_id=1916