เทคโนโลยี Blockchain ของกว่างซีกับโอกาสความร่วมมือของไทย
15 Sep 2020ไฮไลท์
- รัฐบาลจีนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Blockchain ในธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายด้าน รวมถึงการเชื่อมโยง Blockchain กับเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ในประเทศจีน
- ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในศตวรรษใหม่เช่นเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ
- เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลกลางให้เป็น “จุดทดลองแพลตฟอร์มการให้บริการ Blockchain การเงินข้ามแดน” (Cross–border Financial Blockchain Service Platform) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจส่งออกและตรวจสอบเครดิตของภาคธุรกิจ
- ภาครัฐและภาคเอกชนกว่างซีได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ เพื่อวางรากฐานให้การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ในกว่างซีเกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนให้กว่างซีก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล เช่น ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบล็อกเชนจีน-อาเซียน ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบล็อกเชน 5G จีน-อาเซียน ศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนจีน-อาเซียน และสวนนวัตกรรมเทคโนโลยีบล็อกเชนกว่างซี
- ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการและเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เชิงพาณิชย์ของจีน โดยเริ่มต้นจากนครหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งมีปัจจัยพร้อมอยู่แล้ว ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนโยบายส่งเสริมการวิจัยและการลงทุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
วลีที่ว่า “โลกเปลี่ยน เมื่อจีนขยับ” พอที่จะสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของจีนยุคใหม่ในเวทีโลก การแสดงท่าทีสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ของรัฐบาลกลางเมื่อปีที่แล้ว ได้สร้างความตื่นตัวให้กับวงการ Blockchain ทั่วโลกได้ไม่น้อย เนื่องจากบล็อกเชนในจีนเป็นกรณีศึกษาด้านการใช้ Blockchain ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
รัฐบาลจีนได้ชูความสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain การเร่งผลักดันการพัฒนาและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี Blockchain รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ด้วยการเชื่อมโยง Blockchain กับเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแบ่งปันข้อมูล การลดต้นทุนการดำเนินงาน การเพิ่มผลิตภาพทางธุรกิจ และการสร้างระบบที่น่าเชื่อถือ โดยสื่อยักษ์ใหญ่จากอังกฤษอย่าง Financial Times เคยระบุว่า จีนเป็นประเทศที่มีการจดสิทธิบัตรเทคโนโลยี Blockchain จำนวนมากที่สุดในโลก แสดงให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญของเทคโนโลยี Blockchain มากเพียงใด
เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ Blockchain เป็นเทคโนโลยีการเก็บและบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology – DLT) ฐานข้อมูลนี้เรียกว่า “บล็อก” (Block) และฐานข้อมูลเหล่านี้จะถูกแบ่งปัน (Share) ให้กับทุกคนในเครือข่ายเสมือน “ห่วงโซ่” (Chain) การทำธุรกรรมใดๆ ต่อฐานข้อมูล หรือ “บล็อก” จะต้องประกาศให้ทุกคนในเครือข่ายได้รับรู้ และเครือข่ายจะมีระบบตรวจสอบความถูกต้องก่อนตอบรับข้อมูลด้วยการสร้าง “บล็อก” ใหม่และนำไปต่อหลังบล็อกสุดท้าย ฐานข้อมูลนี้มีลักษณะเป็นห่วงโซ่ของบล็อกที่บันทึกธุรกรรมต่างๆ จึงเป็นที่มาของคำว่า “บล็อกเชน” (Blockchain)
ทำไมเทคโนโลยี Blockchain จึงได้รับการจับตามองจากภาครัฐและภาคธุรกิจของจีนและทั่วโลก เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 รัฐบาลจีนได้เปิดตัวเครือข่าย Blockchain ที่มีชื่อว่า Blockchain Service Network หรือ BSN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบ centralized ที่มีเพื่อใช้งานในเชิงพาณิชย์ในลักษณะ one-stop-shop สำหรับบริษัท องค์กร และบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างแอปพลิเคชัน Blockchain และที่สำคัญ เพื่อนำไปใช้จัดเก็บฐานข้อมูลดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้แผนการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart cities) ของจีนอีกด้วย
ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า Blockchain จะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในศตวรรษใหม่เช่นเดียวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) และมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงปฏิรูปกระบวนการทางธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ ด้วยจุดเด่นของ Blockchain ที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสของระบบที่ตรวจสอบได้ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานและลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้อย่างมาก
ความปลอดภัยของฐานข้อมูล การกระจายข้อมูลให้กับเครือข่ายในระบบทำให้ไม่เกิดปัญหาเรื่องระบบล่ม และทำให้การโจรกรรมหรือสร้างข้อมูลปลอมทำได้ยากกว่าการแฮกเครือข่าย Google Cloud หรือระบบของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสียอีก เพราะแฮกเกอร์จะต้องแฮกคอมพิวเตอร์จำนวนมหาศาลของเครือข่ายและต้องเชื่อมห่วงโซ่ทั้งหมดใหม่ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ
สถาบันวิจัยชั้นนำอย่าง International Data Corporation (IDC) ชี้ว่า ในปี 2566 ร้อยละ 40 ของสถาบันการเงินจีนจะหันมาใช้เครือข่าย Blockchain ในการชำระบัญชีการค้าระหว่างประเทศแทนระบบ SWIFT และระบบธนาคารตัวกลางที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และในปีเดียวกัน บริษัทจีนจะลงทุนในบริการ Blockchain เป็นเงินมูลค่ากว่า 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับบริษัทให้คำปรึกษาชื่อดังอย่าง PWC ซึ่งนอกจากธุรกิจการเงินการธนาคารแล้ว เทคโนโลยี Blockchain จะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมการผลิต พลังงาน การแพทย์และการดูแลสุขภาพ ระบบบริหารงานภาครัฐ การค้าปลีก และที่ทุกคนกำลังจับตามองอย่าง “เงินดิจิทัล” (Bitcoin)
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็นหนึ่งในมณฑลแรกๆ ที่รัฐบาลกลางสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain โดยเมื่อปี 2562 รัฐบาลกลาง โดยสำนักงานกำกับดูแลการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange – SAFE) ได้อนุมัติให้มณฑลนี้เป็น “จุดทดลองแพลตฟอร์มการให้บริการ Blockchain ด้านการเงินข้ามแดน” (Cross–border Financial Blockchain Service Platform) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและการตรวจสอบเครดิตของภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain กับการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Financing) ของจีน โดยมีธนาคารกลางและธนาคารท้องถิ่นหลายแห่งได้เข้าร่วมแพลตฟอร์มดังกล่าว
เดิมที ภาคธุรกิจมักประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากความยุ่งยากซับซ้อนที่มาจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย การส่งต่อข้อมูลเอกสารที่เป็นกระดาษ ตลอดจนกระบวนการตรวจสอบที่มักใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยี Blockchain จะทำให้รูปแบบการทำธุรกรรมที่เราคุ้นเคยในทุกวันนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การเข้ามาของเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งใช้วิธีการเก็บข้อมูลอ้างอิงแบบ real time มีการตรวจสอบ และแชร์ข้อมูลให้บุคคลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย ฐานข้อมูลจะมีการอัปเดตเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ต้องส่งต่อข้อมูลเอกสารที่เป็นกระดาษ
ธนาคารสามารถติดตามและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหรือประวัติเครดิตของลูกค้าได้ทันที โดยใช้เวลาตรวจเอกสารการค้าจากเดิม 1-3 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 นาที ธุรกรรมทางการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศทั้งกระบวนการใช้เวลาสั้นลงจากเดิม 1-2 วัน เหลือเพียง 15 นาที ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสให้กับข้อมูลและธุรกรรมต่างๆ ประหยัดต้นทุนเวลา ค่าใช้จ่าย และทรัพยากรบุคคลในการดำเนินการ การสั่งจ่ายเงินของธนาคารและการเข้าถึงเงินทุนของภาคุรกิจ (ผู้ขาย) ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกระบวนการแบบดั้งเดิม
ประเทศฝั่งเอเชียให้การยอมรับเทคโนโลยี Blockchain อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยจะมีการลงทุนรูปแบบใหม่เกิดขึ้นในไม่ช้านี้ เพื่อวางรากฐานให้การพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ในกว่างซีเกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนให้กว่างซีก้าวสู่ความเป็นดิจิทัล องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนในกว่างซีจึงได้ร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District/五象新区) ของนครหนานหนิง
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศจีน-อาเซียน (China-ASEAN Information Harbor – CAIH / 中国—东盟信息港) ร่วมกับสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ชั้นนำหลายแห่งของจีน จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบล็อกเชนจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Blockchain Application Innovative Laboratory/中国—东盟区块链应用创新实验室) เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีแกนหลัก Blockchain และการประยุกต์ใช้จริง รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการแบ่งปันและเชื่อมโยงทรัพยากรภายในเครือข่าย โดยห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาความร่วมมือและการเปิดสู่ภายนอกด้านเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างจีนกับอาเซียน
ห้องปฏิบัติการดังกล่าวมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เข้ากับอินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรม (Industrial Internet) บนแพลตฟอร์มเปิดอย่าง Blockchain-as-a-Service (BaaS) แบบ Plug and Play ที่ให้ผู้ใช้บริการในจีนและอาเซียนสามารถสร้างและติดตั้งระบบ Blockchain ของตนเอง โดยโซลูชันนี้สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์กับ Blockchain สาธารณะและส่วนบุคคล ซึ่งธุรกิจต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลได้ อย่าง Blockchain กับการเงิน Blockchain กับข้อมูลการค้า Blockchain กับการชำระบัญชีระหว่างประเทศ และ Blockchain กับเครดิตของภาคธุรกิจ ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ขจัดอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การบริหารความเสี่ยง และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในเดือนเดียวกัน นครหนานหนิงได้เปิดตัว “สวนนวัตกรรมเทคโนโลยีบล็อกเชนกว่างซี” (Guangxi Blockchain Innovation Technopark /广西区块链科创园) ในเขตนิคมไฮเทคนครหนานหนิง เพื่อเป็นศูนย์รวมบริษัทด้าน Blockchain โดยเฉพาะ และรองรับการขยายตัวในอนาคต ภายในสวนนวัตกรรมแห่งนี้ได้จัดสรรพื้นที่อาคารชุดไว้สำหรับภาคธุรกิจให้เข้าไปจัดตั้งสำนักงาน พร้อมทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ที่สำคัญ ยังมีสิทธิประโยชน์ “ลด แลก แจก แถม” ให้ภาคธุรกิจที่เข้าไปจัดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินรางวัลและเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ การลด/ยกเว้นภาษีเงินได้ การให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายแบบเบ็ดเสร็จ การวางโครงสร้างผู้ถือหุ้น การบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารจัดการและประเมินความเสี่ยง การสร้างแบรนด์ธุรกิจ การฝึกอบรมทักษะความรู้ให้กับพนักงาน การวางแผนด้านภาษีอากร และการเข้าหาแหล่งเงินทุน
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลกว่างซีได้ร่วมกับ INSPUR (浪潮集团) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์รายใหญ่ของจีน จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมบล็อกเชนจีน-อาเซียน” (China-ASEAN Blockchain Innovation Center/中国—东盟区块链创新中心) ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม Blockchain ให้สาธารณชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ สามารถเข้าถึง และนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวาง รวมถึงพัฒนาโซลูชันบริการต่างๆ เช่น การตรวจรับรองมาตรฐานสินค้า การวิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้า และการฝึกอบรมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นอกจากนี้ บริษัท Digital Guangxi Group (数字广西集团) ได้จัดตั้ง “ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมบล็อกเชน 5G จีน-อาเซียน” (China-ASEAN 5G Blockchain Application Innovative Laboratory/中国—东盟5G 区块链应用创新实验室) และร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในสาขาต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในจีน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เข้ากับเทคโนโลยี 5G บิ๊กดาต้า รัฐบาลดิจิทัล เมืองอัจฉริยะ และการอพยพในกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยมีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปสู่ธุรกิจในทุกภาคส่วน
บทสรุป
Blockchain ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผนวกเข้ากับเทคโนโลยีอื่น อาทิปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจไทย จุดแข็งของเทคโนโลยีในเรื่องประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ช่วยให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยน่าเชื่อถือ มีความโปร่งใส่ อัปเดตได้ทันที (Real-time) และสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อต่อยอดทางธุรกิจได้อีก
ปัจจุบัน จีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตร Blockchain และมีบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน Blockchain มากที่สุดในโลก ภาคธุรกิจไทยสามารถพัฒนาความร่วมมือและมีการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เชิงพาณิชย์ของจีน โดยเริ่มต้นจากนครหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งมีปัจจัยความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงนโยบายส่งเสริมการวิจัยและการลงทุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.xinhuanet.com (广西新华网) วันที่ 06 กันยายน 2563 และวันที่ 07 ธันวาคม 2562
เว็บไซต์ www.digitalgx.com.cn (数字广西) วันที่ 04 กันยายน 2563
เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 20-21 กรกฎาคม 2563
เว็บไซต์ www.sohu.com (搜狐网) วันที่ 19 เมษายน 2563
หนังสือพิมพ์กว่างซี เดลี่ (广西日报) วันที่ 30 กรกฎาคม 2563
เว็บไซต์ www.pwc.com
เว็บไซต์ www.idc.com