เตือนภัยธุรกิจไทยในจีน : ช็อก!! พลาดทีเสียท่า.. ได้รับสินค้าไม่ตรงตามสั่งซื้อ (ชี้ปัญหา.. ชี้ข้อสังเกต.. ชี้แนวทางแก้ไข)
3 Apr 2013ในยุคที่ค่าครองชีพและค่าแรงงานในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมในไทยจำนวนไม่น้อยล้วนได้รับผลกระทบจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศหลายรายที่ต้องควบคุมต้นทุนสินค้าเริ่มหันมานำเข้าวัตถุดิบจากจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับชื่อว่าโรงงานที่สำคัญของโลก สะท้อนได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 18 ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความร้อนแรงของการนำเข้าสินค้าจากจีนได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ในมูลค่าการค้าการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าวนั้น ยังมีผู้นำเข้าไทยหลายรายต้องเสียรู้ให้กับกลลวงการค้าในจีนโดยไม่ทันระวังตัวกับเทคนิคที่คาดไม่ถึง ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานไทยที่สนับสนุนด้านการค้าไทยในจีนต่างได้รับแจ้งกรณีปัญหาการค้าการนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกรณีได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ความเสียหายทางการค้าแต่ละรายล้วนมีมูลค่าสูงถึงตัวเลข 6 – 7 หลัก!! โดยที่ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมกลับมาต้องเสียทั้งเวลาค่าใช้จ่าย และมีโอกาสประสบความสำเร็จที่เลือนลาง หนทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเวลานี้ คือ การเรียนรู้วิธีการป้องกันสำหรับไล่ตามทันเล่ห์เหลี่ยมทางการค้า เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อรายต่อไปของมิจฉาชีพในคราบบริษัทส่งออกสินค้าของจีน
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน (BIC) ประจำนครเซี่ยงไฮ้ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการค้าระหว่างไทย – จีนที่เกิดขึ้นจริง!! จัดทำเป็นบทความเตือนภัยธุรกิจไทยในจีน ตอน“ช็อก!! พลาดทีเสียท่า.. ได้รับสินค้าไม่ตรงตามสั่งซื้อ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงปัญหา ข้อสังเกตเพื่อตัวเตรียมให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าจากจีน และแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อจะเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะนำเข้าสินค้าจากจีน
กรณีที่ 1 : ความเหมือนที่แตกต่าง.. ซื้อสารเคมีบางอย่างแต่กลับได้รับผงแป้ง!!
บริษัท AAA จากประเทศไทยสนใจสั่งซื้อสารเคมีจากโรงงานผู้ผลิตในประเทศจีนเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต จึงได้ค้นหารายชื่อผู้ผลิต/ผู้ส่งออกสินค้าจีนบนอินเทอร์เน็ตจากหน้าเว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อผู้ส่งออกในจีนทั่วไป เมื่อบริษัทไทยได้ตกลงใจซื้อสินค้าตามราคาที่ได้เจรจาไว้ บริษัทผู้ขายชาวจีนก็ได้ส่งใบรับรองตัวอย่างสินค้าที่ออกโดยบริษัทผู้ขายเองให้ทางอีเมล์ เพื่อยืนยันให้บริษัท AAA ได้มั่นใจว่าสินค้าล็อตที่สั่งไว้ตรงตามคุณภาพที่ต้องการ บริษัทไทยจึงได้โอนเงินล่วงหน้าเป็นค่ามัดจำสินค้าไว้ร้อยละ 30 และโอนเงินส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 70 ของราคาสินค้าให้ก่อนที่สินค้าจะทำการบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งมายังประเทศไทย
หลังจากที่บริษัท AAA ได้รับสินค้าที่ผู้ขนส่งส่งมาถึงหน้าโรงงาน เมื่อเปิดกล่องบรรจุสินค้าพบวัตถุเป็นผงสีขาว ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกับสารเคมีที่สั่งซื้อไว้ แต่เมื่อนำผงดังกล่าวไปใช้งานจริงกลับพบว่า สิ่งของที่ได้รับไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ จึงนำส่งไปตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าสิ่งของที่ได้รับเป็นเพียงผงแป้งที่ไม่มีมูลค่าแต่อย่างใด ขณะที่ผู้ขายปฏิเสธความรับผิดชอบและหายตัวไปในแบบที่ติดต่อไม่ได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน
กรณีที่ 2 : ตรวจเช็คก่อนขนสินค้า.. แต่ยังได้กลับมาเสมือนความว่างเปล่า!!
บริษัท BBB จากประเทศไทย สั่งซื้อผ้าห่มจากโรงงานแห่งหนึ่งในมณฑลเจ้อเจียงที่รู้จักผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเมื่อดูข้อมูลในเว็บไซต์พบว่าผู้ขายเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตและมาตรฐานระดับโลก บริษัท BBB จึงตัดสินใจซื้อสินค้าจากบริษัทจีนดังกล่าว โดยชำระเงินมัดจำล่วงหน้าผ่านการโอนเงินทางธนาคารร้อยละ 30 ของราคาสินค้าให้กับผู้ขายในจีนโดยตรง จากนั้นเพื่อความมั่นใจว่าจะได้รับสินค้าตามที่ต้องการ บริษัทไทยจึงได้เดินทางไปควบคุมการบรรจุสินค้าลงตู้คอนเทนเนอร์ด้วยตัวเองที่หน้าโรงงานและใช้ซีลล็อคมาตรฐานที่ระบุรหัสเฉพาะ เพื่ออ้างอิงว่าสินค้าจะไม่มีการเปิดออกก่อนหากพบซีลล็อครหัสเดียวกันปรากฏขณะที่รอรับสินค้า ณ ปลายทาง อีกทั้งมีการบันทึกหมายเลขประจำตู้คอนเทอร์เนอร์เพื่อไม่ให้ได้รับสินค้าผิดตู้ด้วย
ลำดับต่อมา เมื่อบริษัทผู้ขายชาวจีนได้ส่งเอกสารใบขนสินค้าทางทะเล Bill of Lading (B/L) ที่ระบุชื่อสินค้าและปริมาณถูกต้องกลับมาให้บริษัท BBBเพื่อยืนยันว่าสินค้าดังกล่าวได้พร้อมจัดส่งแล้ว บริษัท BBB จึงได้โอนเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือร้อยละ 70 ให้บริษัทผู้ขายจีนทางธนาคาร
หลังจากบริษัท BBB ได้รับสินค้าที่บริษัทชิปปิ้งได้จัดส่งมาให้ถึงหน้าโรงงาน เมื่ดเปิดกล่องสินค้าพบว่า ได้รับผ้าห่มไม่ตรงตามประเภทที่ต้องการ อีกทั้งในกล่องบรรจุสินค้าหลายใบยังมีปริมาณสินค้าไม่ถึงร้อยละ 10 ของพื้นที่กล่อง บริษัท BBB จึงรีบติดต่อกับผู้ขายชาวจีนเพื่อถามหาความรับผิดชอบ แต่แล้วก็ได้รับการปฏิเสธและผู้ขายก็หายตัวไปในเวลาต่อมา
กรณีที่ 3 : เปิด L/C เพื่อความชัวร์.. ซื้อแท่งตะกั่วแต่ได้ก้อนอิฐ!!
บริษัท CCC จากประเทศไทย สั่งซื้อตะกั่วจากบริษัทแห่งหนึ่งในนครหางโจว ซึ่งเป็นการซื้อขายสินค้าครั้งแรกจากประเทศจีน โดยการเจรจาซื้อขายเป็นไปอย่างราบรื่น บริษัท CCC จึงได้ตกลงสั่งซื้อสินค้าโดยวางมัดจำไว้ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าทั้งหมด และยืนยันการสั่งซื้อสินค้าในใบสั่งซื้อสินค้าที่บริษัทจีนส่งมา โดยบริษัทไทยตกลงจะจ่ายเงินส่วนที่เหลือร้อยละ 90 ด้วย Letter of Credit ผ่านทางธนาคารที่มีเงื่อนไขชำระเงินเมื่อได้รับสินค้า (L/C At Sight) โดยเมื่อบริษัทได้รับเอกสารใบขนสินค้า Bill of Lading (B/L) ที่ระบุชนิดและปริมาณสินค้าถูกต้อง แต่เมื่อเปิดดูสินค้าถูกขนส่งมาที่หน้าโรงงานพบว่า แท่งตะกั่วที่ได้สั่งซื้อไว้กลับกลายเป็นก้อนอิฐที่ไร้มูลค่า
โชคดีที่ว่า การยืนยัน Swift code ระหว่างธนาคารทั้งสองเกิดติดขัดทางเทคนิคเล็กน้อย จึงทำให้ผู้ขายยังไม่สามารถเบิกเงินออกมาได้ บริษัท CCC จึงต้องการจะระงับการจ่ายเงินตาม L/C ของธนาคารจีน แต่ธนาคารจีนชี้แจงว่าจำเป็นจะต้องชำระเงินให้กับเจ้าของบัญชี หากเอกสารที่นำมาขึ้นเงินครบถ้วนตรงกับที่ระบุใน L/C ทั้งหมด ทั้งนี้ บริษัท CCC พยายามหารือกับคู่ค้าให้ส่งสินค้ามาให้ใหม่หรือขอยกเลิก L/C แต่คู่ค้าจีนพยายามถ่วงเวลาโดยคิดว่าพอเวลาล่วงเลยไป ธนาคารจีนก็จำเป็นจะต้องชำระเงินให้ตนเอง เนื่องจากเอกสารทั้งหมดถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว บริษัท CCC ก็ต้องแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อติดตามการระงับจ่ายเงินของธนาคารจีนต่อไป
ระวัง!! อย่าพลาดท่าเสียที… เตรียมตัวดี “ปัญหา” ไม่เกิดขึ้น
กรณีซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับของตรงตามที่ต้องการนั้น อาจโทษความผิดว่าเป็นของผู้ขายจีนฝ่ายเดียวก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก หากผู้ซื้อฝ่ายไทยมิได้พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าใดๆ
สำหรับกรณีสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการตามตัวอย่าง 3 กรณีที่ยกมาข้างต้นนั้น หากผู้ซื้อสามารถรู้ทันกลลวงทางการค้าของฝ่ายจีนได้ในเบื้องต้น และสามารถสังเกตความผิดปรกติได้ตั้งแต่ก่อนตกลงซื้อแล้วนั้น ปัญหาการสูญเสียเวลาและทรัพย์สินก็คงจะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ศูนย์ BIC เซี่ยงไฮ้ขออนุญาตชี้ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ซื้อฝ่ายไทยเข้าใจเจตนาที่แท้จริงของผู้ขายได้ชัดเจนยิ่งขึ้นก่อนที่จะตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า ดังนี้
1. จัดทำ “สัญญาการค้า” (สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม)
จากกรณีตัวอย่างการนำเข้าสินค้าจากจีนของบริษัทไทยทั้ง 3 รายนั้น ล้วนแต่ไม่ได้ทำสัญญาทางการค้าที่เป็นทางการกับฝ่ายจีน มีเพียงอีเมล์ที่แสดงเจตนาตกลงซื้อขายสินค้าและเอกสารใบสั่งซื้อ Purchasing order ที่ระบุเงื่อนไขทางการค้า (Incoterm) เท่านั้น ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัท CCC จะมีการเปิด L/C กับฝ่ายจีน แต่ก็เป็นเพียงรูปแบบเงื่อนไขในการชำระเงินอย่างหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทั้งสองฝ่ายจึงควรมีการตกลงกันอย่างชัดเจนด้วยสัญญาการค้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งควรมีเนื้อหาระบุครอบคลุมถึงเงื่อนไขและความรับผิดชอบในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้
ทั้งนี้ ไม่ว่าการซื้อขายจะมีมูลค่ามากหรือน้อยเพียงใด การมีสัญญาการค้าย่อมเป็นการแสดงถึงเจตนาทางการค้าที่จริงใจอย่างหนึ่ง ซึ่งสัญญาการค้าที่ดีจะช่วยรักษาผลประโยชน์ของคู่ค้าได้ โดยหากมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาในภายหลัง ก็สามารถอ้างอิงความรับผิดชอบตามสัญญาการค้าที่ได้ตกลงกันไว้ได้ หรือเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งในการดำเนินคดีตามกฎหมาย
2. ตรวจสอบ “ข้อมูลคู่ค้า” ก่อนสั่งซื้อ (อย่าวางใจคารมของผู้ขาย)
โดยตัวอย่างทั้ง 3 กรณีนั้น ผู้ซื้อพิจารณาข้อมูลของผู้ขายจากเนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของบริษัทเท่านั้น (ล้วนเป็นคำพูดที่ผู้ขายเขียนบรรยายขึ้นมาเอง) ซึ่งอาจจะพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น การซื้อขายกันเป็นครั้งแรกจึงควรมีการตรวจสอบความน่าเชื่อของคู่ค้าอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจสั่งซื้อ
ทั้งนี้ การตรวจสอบสถานะของบริษัทคู่ค้าจากเอกสารจดทะเบียนบริษัทแต่เพียงอยางเดียว อาจไม่ใช่สิ่งที่สามารถยืนยันความน่าเชื่อถือของบริษัทได้เสมอไป เนื่องจากยังมีบริษัทจีนที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องอีกมากที่พร้อมจะปิดตัวลงได้ทุกเมื่อ (ตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อทำการหลอกลวงเป็นการเฉพาะ) ดังนั้นจึงควรจะตรวจสอบข้อมูลจากหลากหลายทาง เช่น การตรวจดูเว็บไซต์อย่างละเอียด เพื่อสังเกตสิ่งผิดปกติที่อาจพบเห็นได้ (เช่น รหัสพื้นที่ของหมายเลขโทรศัพท์ไม่ตรงกับที่ตั้งของบริษัท การใช้เทคนิคตัดต่อภาพที่ดูไม่สมจริง รายละเอียดใบรับรองมาตรฐานสินค้าไม่สมเหตุผล ฯลฯ) หรือการค้นหาข้อมูลชื่อบริษัทด้วยภาษาจีนบนเว็บไซต์ (หากเป็นบริษัทใหญ่ที่มีศักยภาพจริง มักจะมีเนื้อหาข้อมูลและข่าวสารของบริษัทที่มีรายละเอียดระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีข้อมูลปรากฏบนเว็บบอร์ดหรือเว็บไซต์ทางการจีนด้วย) ทั้งนี้ หากการตรวจสอบเว็บไซต์แล้วไม่พบข้อมูลภาษาจีนใดๆ อาจตั้งข้อสันนิฐานได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อล่อลวงบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ หากเป็นมูลค่าการซื้อขายที่ค่อนข้างสูง ผู้ซื้ออาจพิจารณาเดินทางเข้าเยี่ยมสถานที่จริงของบริษัทหรือโรงงาน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าบริษัทนั้นๆ มีศักยภาพในการทำธุรกิจระหว่างประเทศจริง
3. ศึกษาเงื่อนไขการชำระเงินอย่างรอบคอบ (หลีกเลี่ยงโอนเงินทั้งหมดล่วงหน้าหากไม่จำเป็น)
จากกรณีปัญหาการค้ากับผู้ขายฝ่ายจีนส่วนใหญ่พบว่า ผู้ซื้อ (บริษัทต่างชาติ) มักจะโอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้า (ทั้งรูปแบบจ่ายมัดจำส่วนหนึ่งและจ่ายเต็มจำนวน) ให้กับผู้ขายฝ่ายจีน โดยหลังจากที่บริษัทฝ่ายจีนได้รับเงินแล้วก็มักจะเกิดผลลัพธ์ 2 แบบ คือ 1) ส่งสินค้ามูลค่าต่ำมาก / คุณภาพแย่มากให้กับผู้ซื้อ 2) หอบเงินหนีไปแบบที่ไม่ส่งสินค้าอะไรกลับมาให้ผู้ซื้อเลย ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการโอนเงินค่าสินค้าล่วงหน้ามีความเสี่ยงสูงมาก!!
สำหรับกรณีการสั่งซื้อสินค้าจากจีนของบริษัท CCC ที่หลีกเลี่ยงการชำระเงินล่วงหน้าเต็มจำนวน โดยชำระเงินมัดจำเพียงร้อยละ 10 และใช้เงื่อนไขการชำระเงินส่วนที่เหลือร้อยละ 90 ด้วย L/C เพื่อลดความเสี่ยงในการโอนเงินส่วนที่เหลือก่อนได้รับสินค้า สิ่งถือเป็นวิธีการที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงน้อยกว่าวิธีการอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การชำระเงินด้วยวิธี L/C เป็นรูปแบบการชำระเงินรูปแบบหนึ่งที่มีธนาคารในประเทศผู้ซื้อและประเทศผู้ขายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งธนาคารทั้งสองจะตกลงโอนเงินค่าสินค้าโดยยึดตามหลักฐานที่อ้างอิงใน L/C ทั้งนี้ผู้ขายจะส่งสินค้าคุณภาพแบบใด หรือผู้ซื้อจะได้รับสินค้าตรงตามที่สั่งซื้อหรือไม่ ธนาคารไม่สามารถเข้ามามีบทบาทก้าวก่ายได้ และต้องทำตามหลักกฎเกณฑ์สากลของระบบธนาคาร กล่าวคือ จะต้องชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขาย หากผู้ขายมาเบิกเงินโดยนำเอกสารที่อ้างอิงตาม L/C มาถูกต้องและครบถ้วน โดยหากเกิดปัญหาทางการค้าขึ้น คู่ค้าก็จะต้องดำเนินการทางคดีแพ่งต่อไป ดังนั้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจและลดความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ นอกจากใบขนสินค้า Bill of Lading (B/L) ที่มักระบุเป็นเงื่อนไขการรับเงินใน L/C แล้ว ยังควรระบุเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายด้วย อาทิ เอกสารรายงานความถูกต้องของสินค้าที่ออกโดยบริษัทตัวกลางที่รับตรวจสอบสินค้าก่อนการบรรจุลงตู้คอนเทนเนอร์ เอกสารรับรองคุณภาพมาตรฐานของสินค้า เอกสารรับรองปริมาณของสินค้า เป็นต้น ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงเงื่อนไขร่วมกันระหว่างการจัดทำ L/C
4. ตรวจสินค้าก่อนส่งออกจากจีน (ไม่ควรประหยัดต้นทุนแล้วต้องแบกรับความเสี่ยง)
โดยทั่วไปการสั่งซื้อสินค้าจากจีนอย่างเป็นประจำนั้น บริษัทต่างชาติจำนวนมาก (ยุโรป/อเมริกา) นิยมจัดตั้งทีมงานของบริษัทประจำที่จีน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าทุกล็อตที่สั่งซื้อก่อนขนส่งออกจากท่าเรือ/ท่าอากาศยานของจีน ซึ่งถือเป็นวิธีที่ค่อนข้างลดความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อได้ดีที่สุด
สำหรับกรณีตัวอย่างของบริษัท BBB นั้นได้มีการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกจากจีนเช่นกัน แต่เป็นการตรวจ ณ โรงงาน ซึ่งยังมีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน เนื่องจากยังต้องมีช่วงเวลาการขนส่งจากโรงงานไปยังท่าเรือ ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ว่าสินค้าจะถูกสับเปลี่ยนระหว่างทางก่อนที่จะถึงท่าเรือส่งออกของจีน
ทั้งนี้ การตรวจสอบสินค้าควรจะเป็นการตรวจสอบระหว่างการปิดตู้คอนเทนเนอร์ครั้งสุดท้ายก่อนการขนส่งออกจากจีน โดยอาจใช้บริษัทรับตรวจสอบสินค้าซึ่งเป็นคนกลางเข้ามาช่วยตรวจสอบ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงเรื่องความถูกต้องของสินค้า โดยปัจจุบันมีบริษัทคนกลางรับตรวจสอบสินค้าก่อนบรรจุลงตู้คอนเทนเนอร์ที่น่าเชื่อถือในจีนจำนวนมากที่มีบริการตรวจเช็คทั้งชนิด จำนวน และคุณภาพสินค้าตามรายละเอียดที่ได้สั่งซื้อไว้ โดยค่าบริการเริ่มต้นตั้งแต่ 200 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีการจัดทำรายงานรับรองการตรวจสอบและบรรจุสินค้าเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจก่อนการโอนเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือได้ ตลอดจนสามารถนำเอกสารรับรองดังกล่าวใช้อ้างอิงกับบริษัทผู้ตรวจสอบสินค้าหากสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่ได้รับรองไว้อีกด้วย
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา… ควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร?
แน่นอนว่า คงไม่มีผู้ซื้อรายได้ต้องการเปิดตู้คอนเทนเนอร์แล้วเกิดอาการอึ้ง/ช็อก!! แต่ในเมื่อความโชคร้ายได้บังเกิดขึ้น สินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อแล้ว ก็จำเป็นจะต้องเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้
1. ติดต่อคู่ค้าในทุกช่องทางที่สามารถทำได้ เพื่อแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในโอกาสแรก และพยายามไกล่เกลี่ยต่อรอง พร้อมทั้งหาข้อสรุปของปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน (ในกรณีที่ไม่เป็นผลหรือคู่ค้าหายตัวไป ก็จำเป็นต้องดำเนินการแจ้งความและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป)
2. ประสานงานหน่วยงานตรวจสอบสินค้าที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น บริษัท Inspection ที่มีความน่าเชื่อถือ หรือกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อทำการตรวจสอบและออกเอกสารรับรองรายละเอียดของสินค้าที่ได้รับ ทั้งนี้ ในกรณีที่ตรวจพบความผิดปรกติของสินค้าในระหว่างที่ผ่านพิธีการนำเข้าสินค้า ณ ท่าเรือในประเทศไทย สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ประจำท่าเรือ เพื่อออกบันทึกแสดงเป็นหลักฐานรายละเอียดสินค้าตามที่ปรากฏจริง ซึ่งสามารถใช้อ้างอิงต่อการดำเนินการขั้นต่อไปได้ เช่น การแจ้งความ การยื่นฟ้องร้องศาล เป็นต้น
3. รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายทั้งหมด (รวมถึงเอกสารในข้อ 2) สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการเข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจไทย เพื่อลงบันทึกว่าสินค้าที่ได้รับมาเป็นไปตามเอกสารการตรวจสอบที่ปรากฏจริง และได้รับความเสียหายจากการฉ้อโกงทางการค้า
4. ขอรับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านการค้าของไทยในจีน กล่าวคือ สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอาจสามารถช่วยติดต่อประสานงานกับหน่วยงานจีนที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี โดยสำนักงานฯ จะแบ่งเขตความรับผิดชอบตามแต่ละมณฑลของจีน ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับเขตความรับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaitradechina.cn/en/
5. พิจารณาจัดจ้างสำนักงานกฎหมายในจีน เพื่อให้คำแนะนำหรือช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยกับคู่ค้า ตลอดจนช่วยดำเนินเรื่องแจ้งความกับตำรวจจีนในพื้นที่ หรือดำเนินการยื่นฟ้องร้องต่อศาลท้องถิ่นต่อไป (ในกรณีที่ไม่สามารถยอมความกันได้) โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายชื่อสำนักงานกฏหมายในพื้นที่ได้โดยตรงที่ฝ่ายกฏหมายของสภาส่งเสริมการค้าและการลงทุนของจีน China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) ประจำท้องถิ่นนั้นๆ หรือที่เว็บไซต์รวบรวมรายชื่อสำนักงานกฏหมายในจีนที่มีบริการสำหรับธุรกิจต่างชาติ http://www.lawtime.cn (เว็บไซต์ในหน้าย่อยคดีด้านการค้าระหว่างประเทศ จะรวบรวมรายชื่อทนายความด้านการค้าระหว่างประเทศโดยตรง)
ทั้งนี้ การจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมายอาจมีความจำเป็นในหลายกรณี ซึ่งจะเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกและดำเนินเรื่องที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นกรณีของบริษัท CCC ที่ธนาคารจีนยังไม่จ่ายเงินให้กับผู้ขายสินค้า โดยบริษัทที่ปรึกษากฎหมายช่วยดำเนินการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งดำเนินการรวบรวมหลักฐานและยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลออกหมายระงับการจ่ายเงินไปยังธนาคารจีน ดังนั้น หากคุ้มค่ากับมูลค่าความเสียหาย ผู้ประกอบการก็อาจพิจารณาจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเพื่อช่วยดำเนินการต่างๆ โดยควรเจรจาอัตราค่าบริการให้ชัดเจนก่อนใช้บริการ
บทสรุป
ความโชคดีดังเช่นกรณีของบริษัท CCC ที่คู่ค้าจีนยังไม่สามารถเบิกเงินออกจากธนาคารแล้วหลบหนีไป อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก แต่ความโชคร้ายก็อาจเกิดขึ้นได้ยากหากมีการตั้งข้อสังเกตอย่างระแวดระวัง ศูนย์ BIC นครเซี่ยงไฮ้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลในกรณีตัวอย่างปัญหาการค้าไทย – จีนข้างต้นจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะติดต่อทำการซื้อขายกับจีน ได้เพิ่มความละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อสินค้าใดๆ ในจีน โดยหากสามารถทำได้อย่างดีแล้ว เชื่อว่าทรัพย์สินและเวลาอันทรงคุณค่าจะไม่สูญเสียไป และคำว่า“ไม่น่าเลย” จะไม่เกิดขึ้นในใจของผู้ซื้อสินค้าอย่างแน่นอน
ลิงค์บทความที่เกี่ยวข้อง
2. เตือนภัยธุรกิจในจีน : เผยกลลวง “ฤๅษีแปลงสาส์น”.. สูญเงินเป็นล้านเพราะไม่ทันระวังตัว
5. เตือนภัยธุรกิจในจีน (เซี่ยงไฮ้)…. เมื่อสินค้าตนถูกฟ้องว่าไปทำปลอม และสินค้าปลอมถูกอ้างว่าเป็นของจริง
————————————–
จัดทำโดย นางสาวเทพรัตน์ ตันติกัลยาภรณ์ เรียบเรียงโดย นายโอภาส เหลืองดาวเรือง
ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีนประจำนครเซี่ยงไฮ้
แหล่งข้อมูล :
1) คำร้องเรียนปัญหาการค้าของผู้ประกอบการไทยต่อสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
2) ข้อมูลจากการอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน ประจำปี 2556 โดยผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2556