เข้าใจ “สังคมสูงวัย” จีน สู่การคว้าโอกาสธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย (ตอนที่ 1/2)
7 Apr 2024
นางสาวฉิน อวี้ห์อิ๋ง เขียน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียนและเรียบเรียง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
สังคมสูงวัย หรือ Aging Society เป็นเมกะเทรนด์ที่มักถูกหยิบยกมาพูดบ่อยครั้งในช่วงหลายปีมานี้ รวมถึงประเทศจีน กระแสโลกปัจจุบันที่คนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูก กอปรกับวิทยาการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น นั่นหมายความว่า อัตราเด็กเกิดน้อยลดลงกว่าในอดีตค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น
ในแง่ประชากรศาสตร์ “จีน” ได้ขยับเข้าใกล้สังคมสูงวัยเต็มที่ หรือ Super-Aged Society ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก (World Bank) แล้ว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า ในปี 2566 คนวัยเกษียณ (60 ปีขึ้นไป) ในจีนมีจำนวนมากถึง 296.97 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.1 ของประชากรทั้งประเทศ หรือ “1 ใน 5 ของประชากรจีนเป็นผู้สูงอายุ”
ผลการวิจัยด้านประชากรจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง คาดการณ์ว่า “จีน” จะเข้าสู่สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2576
หากมองในแง่เศรษฐศาสตร์ ต้องบอกว่า “จีน” เป็นประเทศที่น่าจับตามอง เพราะด้วยจำนวนประชากรและ กำลังซื้ออันมหาศาล หลายฝ่ายมองว่า “เศรษฐกิจสีเงิน” หรือ Silver Economy จะเป็นโอกาสและความท้าทายใหม่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
ในบทความฉบับนี้ บีไอซี จะขอนำเรื่องราวของสังคมสูงวัยจีนมาเล่าสู่กันฟัง และชวนคุณผู้อ่านคิดต่อถึง “โอกาสทอง” ของภาคธุรกิจไทยที่ซ่อนอยู่ใน “ตลาดผู้บริโภครุ่นใหญ่วัยมั่งคั่ง” ในจีน
หากมองย้อนไปดูเทรนด์การตลาดในอดีต กลุ่มผู้บริโภคสูงวัยมักถูกมองข้าม ทั้งที่ความจริงแล้วกลุ่ม Silver Gen เป็น ‘สายเปย์’ รุ่นใหญ่วัยเก๋ามีอิทธิพลทางการตลาดไม่แพ้คน Gen อื่น เพราะพวกเขามีครบทั้งเวลาและเงินมีความพร้อมในการใช้จ่ายเพื่อความสุขของตัวเอง แถมกลุ่ม Sliver Gen ในจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะเป็นอีกกลุ่มผู้บริโภคที่มีการเติบโตมากที่สุดในจีน
ดังนั้น ภาคธุรกิจ(ไทย)ควรติดตามเทรนด์การเติบโตของ “คนจีนรุ่นใหญ่วัยมั่งคั่ง” นี้ให้ดี เพราะเป็นตลาดที่มีอนาคตไกลจากการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อภาคธุรกิจสามารถปรับตัว (Business Transformation) นำเสนอสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด
“ภายในปี 2593 ศักยภาพการใช้จ่ายของประชากรสูงวัยในจีนจะพุ่งแตะระดับ 106 ล้านล้านหยวน หรือ 530 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP จีน”
——- รายงาน China Report of The Development on Ageing Industry (ค.ศ.2021-2022)
การขยายตัวของ “สังคมเมือง” ในจีนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในหลายมิติ รวมถึงพฤติกรรมการบริโภคของ “กลุ่มสูงวัยในสังคมเมือง” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีอิสรภาพทางการเงิน มีอำนาจซื้อที่เพียงพอจากการเก็บออม เงินบำนาญ และการลงทุนในหลักทรัพย์ทางการเงิน
ในประเทศที่รูปแบบการบริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่าง “จีน” ถือเป็นความท้าทายที่ภาคธุรกิจ (ไทย) จำเป็นต้องปรับมุมมองใหม่ ๆ ในการทำความเข้าใจความต้องการของตลาดผู้สูงวัยให้ละเอียดลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสูงวัยที่เรียกว่า Silver Gen ในจีน
คำนิยามของ Silver Gen ไม่ได้เป็นคำเรียกผู้สูงวัยทั่วไป และใช่ว่าใครจะเป็น Silver Gen ได้ ลักษณะเด่นของ Silver Gen คือ “สูงวัย ใจเกินร้อย” และมอง “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เป็นกลุ่มที่มีบุคลิกเฉพาะตัว (Character) มีไลฟ์สไตล์อินเทรนด์ หัวคิดทันสมัย รักการเรียนรู้สิ่งใหม่ ใส่ใจดูแลภาพลักษณ์ สุขภาพและความงามของตัวเอง ชอบการท่องเที่ยวและกิจกรรมสังสรรค์ พร้อมเติมความสุข สดใสให้กับชีวิต
การบริโภคของผู้สูงวัยไม่ได้จำกัดที่การควักกระเป๋าจ่ายของ “ตัวผู้สูงวัยโดยตรง” เท่านั้น ยังมีการใช้จ่ายของ “คนรอบข้าง” ที่ใกล้ชิดผู้สูงวัยด้วย
การที่ “เศรษฐกิจสีเงิน” ของจีนอยู่ในระยะ ‘ตั้งไข่’ การตลาดสำหรับคนสูงอายุยังไม่ชัดเจน ผู้สูงอายุใช้สินค้าและบริการร่วมกับกลุ่มคนวัยทำงาน การแข่งขันยังไม่รุนแรงมากนัก จึงเป็นโอกาสที่ ‘ผู้เล่น(ไทย)’ สามารถคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กลุ่ม Silver Gen และขยายอิทธิพลของ Made in Thailand ในตลาดจีนได้ เหมือนวลีที่ว่า “ใครเข้าตลาดก่อน ได้เปรียบ”
ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดกลุ่ม Silver Gen ในจีน คือ กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องการใช้ชีวิตและสุขภาพ และต้องตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สังคมเมืองได้ดีอย่างเช่น “อาหาร(เสริม)และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ” (อาหารไทยที่คำนึงถึงผู้บริโภคสูงวัย อาหารปรุงสำเร็จและอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง เครื่องดื่มเสริมอาหาร อาหารเสริม) “สินค้าภูมิปัญญาไทย” (น้ำมันนวด ลูกประคบ ยาสมุนไพรไทย) “อุปกรณ์ทางการแพทย์อัจฉริยะ อุปกรณ์ดูแลและอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงวัย” ซึ่งรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้งานง่าย (User Friendly) และของใช้ที่มีนวัตกรรม เช่น เสื้อกันหกล้ม รองเท้าผู้สูงอายุ แผ่นรองป้องกันแผลกดทับ หมอนช่วยนอนหลับ รวมถึง “เครื่องสำอางประเภทชะลอวัย” (Anti-aging)
ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและความงาม เป็นอีก “โอกาสทอง” ของภาคธุรกิจ(ไทย) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) ซึ่งเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงอย่างมากในขณะนี้ เป็น 1 ใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยให้การสนับสนุนเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต และเป้าหมายการเป็น “ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ” (Medical and Wellness Hub) ของประเทศไทยด้วย
———— Ctrip (携程) แพลตฟอร์มด้านการเดินทางชั้นนำของจีน
ปี 2566 กลุ่มนักท่องเที่ยวอายุ 55 ปีขึ้นไปที่ซื้อทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มเติบโตมากกว่า 5 เท่า โดยการท่องเที่ยวแบบหมู่คณะยังเป็นกระแสหลัก (สัดส่วนร้อยละ 50) ราคาทัวร์เพิ่มขึ้น 3 เท่า ขณะที่การท่องเที่ยวส่วนตัวสุดเอ็กซ์คลูซีฟ มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น 3 เท่า และนักท่องเที่ยวสูงวัยเหล่านี้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์แปลกใหม่ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงคุณภาพการบริการ
“Silver Gen เก๋ายกก๊วน ชวนกันเที่ยว” ต้องบอกว่า Silver Gen จีนชอบสังสรรค์ รักการเดินทาง(ในแบบที่สะดวกสบายต้องมาก่อน) จึงมักหาเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ เพื่อให้ชีวิตไม่เหงา จึงเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับภาคการท่องเที่ยวไทยที่ต้องปรับตัวให้ทัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และการบริการ เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้สูอายุ (Age – Friendly City)
ในบริบทที่ประเทศไทยมีต้นทุนด้านการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง มีชื่อเสียงด้านบริการสุขภาพที่เป็นที่ยอมรับ และมีราคาที่แข่งขันได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจีนที่มีทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอแถมมีราคาแพง ภาคธุรกิจไทยสามารถชู “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” กับ “Soft Power —– ภูมิปัญญาพื้นบ้าน/การแพทย์แผนไทย” ที่สำคัญต้องเข้าใจก่อนว่า… คนที่มาเที่ยวเขาไม่ได้ป่วย แต่เป็น ‘สายเฮลตี้’ ที่อยากเที่ยวแถมได้สุขภาพ
ทริปท่องเที่ยวสามารถสอดแทรกกิจกรรมเสริมสุขภาพ อาทิ อาหารไทยเพื่อสุขภาพ โยคะ นวดประคบอบสมุนไพร หรือกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม (Value Added) อย่างสปาสุคนธบำบัด (Aromatherapy) เชื่อว่า จะช่วยสร้างแต้มต่อให้บ้านเราเป็นดาวเด่นในการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน หรือจัดทริปแบบวัดตัวตัด (Tailor-made) เช่น ทริปตรวจสุขภาพ ทริปศัลยกรรมความงามและยกกระชับฟื้นฟูสภาพผิว
ขณะที่ “การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์” เป็นอีกหนึ่งสาขาธุรกิจที่ตอบโจทย์ตลาดจีนได้ แม้ว่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะมีลักษณะแตกต่างจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่เล็กน้อย เพราะนักเดินทางกลุ่มนี้จะให้น้ำหนักกับการมาใช้บริการทางการแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตรา(วีซ่า) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางจีน เพื่อการรักษาพยาบาลในระยะสั้น 60 วัน และระยะยาว 90 วัน เพื่อให้ผู้เดินทางได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวทั้งสองแบบมีจุดร่วมเดียวกัน คือ “การมีสุขภาพที่ดี” เพียงแต่ภาคธุรกิจไทยต้อง ตีโจทย์ให้แตกว่า..จะทำการตลาดยังไงให้กลุ่ม Silver Gen จีนได้รู้จัก มั่นใจ และเลือกเมืองไทยเป็นจุดหมายเมื่อนึกถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงแพทย์
ร่วมค้นหาคำตอบกันต่อในบทความ….
เข้าใจ “สังคมสูงวัย” – หนทาง “คว้าชัย” ของผู้ประกอบการไทยในตลาดจีน ตอนที่ 2 (ตอนจบ)
***********************