เข้าใจ “สังคมสูงวัย” จีน สู่การคว้าโอกาสธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย (ตอนที่ 2/2)
12 Apr 2024
นางสาวฉิน อวี้ห์อิ๋ง เขียน
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียนและเรียบเรียง
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
คำถามชวนคิดที่ทิ้งไว้ในตอนที่แล้วว่า … จะทำการตลาดยังไงให้กลุ่ม Silver Gen จีนได้รู้จัก มั่นใจ และเลือกเมืองไทยเป็นจุดหมาย เมื่อนึกถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงแพทย์
ในมุมของบีไอซี เห็นว่าเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” การที่เราจะประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับกลุ่ม Silver Gen นั้น เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้เสียก่อน เราต้องลบมุมมองเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของคนสูงอายุที่เดินตบมือเปาะแปะหรือแกว่งแขนออกกำลังกายอยู่แถวหมู่บ้าน
ภาคธุรกิจไทยควรศึกษารสนิยม ความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง โดยการออกแบบสินค้าและบริการเพื่อกลุ่ม Silver Gen จะต้องสื่อสารให้ชัด ไม่โฆษณาเกินจริง ไม่หลอกลวงผู้บริโภค ที่สำคัญ…ต้องไม่ลืมสื่อสารถึง “คนรอบข้าง”ผู้สูงวัยด้วย
ในสังคมที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างจีน ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับไลฟ์สไตล์ของคน Silver Gen ไปมากพอสมควร กลุ่ม Silver Gen จีน โดยเฉพาะกลุ่ม Prepare (50-59 ปี) และกลุ่ม Repair YOLD หรือ Young Old (60-69 ปี) ที่เรียกรวม ๆ ว่ากลุ่มสูงวัยตอนต้น พวกเขายังเดินเหินคล่องแคล่ว ความคิดความอ่านทันสมัยชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ มีความสุขกับชีวิต และมีความกลัวตกเทรนด์ FOMO (Fear of Missing Out) ไม่แพ้ Gen อื่นในสังคม
พวกเขาใช้เทคโนโลยีเก่ง ติดสังคม (มักมีนัดท่องเที่ยวนัดสังสรรค์) มีเวลาเล่นโซเชียลมีเดียมากกว่าคนวัยทำงาน บางคนได้เริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะ Granfluencer หรือบ้างก็เรียก Silvfluencer ที่มีผู้ติดตามนับแสนนับล้านบนแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Douyin (抖音หรือ Tik Tok จีน) ยังไม่นับรวม Kuaishou (快手) / Little Redbook (小红书) / Weibo (微博) และ Wechat
นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นนักช้อปออนไลน์ตัวยง กลุ่ม Silver Gen ที่เป็นผู้สูงวัยตอนต้น เริ่มเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย พฤติกรรมการใช้จ่ายเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายเกี่ยวกับ “สุขภาพ” และ “เพิ่มคุณภาพชีวิต” การใช้จ่ายเพื่อเติมเต็มความรู้สึกตนเอง เน้นสร้างความพึงพอใจ เพิ่มคุณค่าด้านอารมณ์ความรู้สึกและความสุขให้กับตนเอง
—————- จาก China Internet Network Information Center – CNNIC
ณ ธันวาคม 2566 Netizen เกือบ 1 ใน 3 มีอายุ 50 ขึ้นไป (สัดส่วนรวมร้อยละ 32.5) หรือราว ๆ 354.9 ล้านคน ซึ่งเท่ากับ 5.1 เท่าของประชากรไทยทั้งประเทศ ในจำนวนนี้ เป็นสัดส่วนผู้ที่มีอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 16.9 และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 15.6
ข้อมูลบน Taobao และ JD.com แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่ในจีน ระบุว่า นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันแล้ว สินค้าและบริการในกลุ่มอาหารเสริม เสื้อผ้าเครื่องประดับ การท่องเที่ยว เครื่องสำอาง เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์/บริการด้านการออกกำลังกาย สะท้อนให้เห็นการยกระดับของการบริโภค (Consumption Upgrade) ของกลุ่มสูงวัยในจีน
—————- จาก AgeClub ที่ปรึกษาธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงวัย
รู้หรือไม่ว่า… ปัจจุบัน ผู้สูงอายุในเมืองใหญ่จำนวนมากมีความรู้ในการแต่งหน้าและบำรุงผิว ในจำนวนนี้ สัดส่วนร้อยละ 55 เปิดเผยว่ามีการจ่ายเงิน 1,000-4,000 หยวนต่อปีเพื่อเสริมความงาน และร้อยละ 23 มีการจ่ายเงิน 4,000 หยวนขึ้นไปต่อปี
การที่ Silver Gen ใส่ใจกับการดูแลตัวเอง สร้างโอกาสให้กับธุรกิจ Personal Care & Beauty ได้ไม่น้อย ปัญหาสภาพผิว ริ้วรอย มาพร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ Silver Gen ผู้หญิงที่มอง ‘อายุเป็นเพียงตัวเลข’ และถือคติ ‘ผู้หญิงอย่าหยุดสวย’ จึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ Aging Skincareที่ตอบโจทย์ เพื่อการดูแลผิวพรรณ ยกกระชับลดริ้วรอย ชะลอวัย รวมถึงธุรกิจเสริมความงาม สปา และนวดแผนไทย (สมุนไพร น้ำมันหอม น้ำมันนวด)
—————- จาก AgeClub ที่ปรึกษาธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงวัย
ความเกี่ยวโยงของระดับรายได้กับการยกระดับการบริโภค ความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดธุรกิจชะลอวัย (Anti-ageing Market) ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การคาดการณ์โดยอ้างอิงข้อมูลจาก iiMedia Consulting, Qingyan Intelligence, Zion Market Research, Euromonitor คาดว่าปีนี้ (ปี 2567) ตลาดธุรกิจชะลอวัยของจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านหยวน
จะเห็นได้ว่า… การทำตลาดออนไลน์ ‘ไม่ใช่แค่โลกของกลุ่มวัยรุ่นอีกต่อไป’ แต่กำลังกลายเป็นตลาดของกลุ่มคนที่มีอายุหลากหลายมากขึ้น ภาคธุรกิจไทยสามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการเจาะกลุ่มตลาด Silver Gen ในจีน หรือลูกค้าเป้าหมายกลุ่มอื่นด้วยการเลือกจับมือกับ Granfluencer ที่เหมาะกับแบรนด์/งบของตัวเอง
ไม่ว่าจะเป็น Celebrity สูงอายุที่กำลังฮ็อตฮิตติดลมบนในช่วงเวลานั้น ๆ หรือจะเลือก KOL (Key Opinion Leader) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฐานผู้ติดตามเป็นจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม Tik Tok, Kuaishou, Taobao หรือจะเป็น KOC (Key Opinion Customer) ซึ่งเป็นผู้บริโภคทั่วไปที่ใช้ผลิตภัณฑ์แล้วชอบนำมารีวิวผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Little Redbook, Weibo อยู่เป็นประจำจนมีฐานผู้ติดตามในจำนวนหนึ่ง
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของ Aging Society ส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการของผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นและตลาดขยายขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้น รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (ไทย) ที่จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจอาหารพร้อมปรุง (Ready to Cook) อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat)
กล่าวได้ว่า… การ ‘กินข้าวนอกบ้าน’ ‘สั่งเดลิเวอรี่’ หรือการมี ‘อาหารพร้อมปรุงสำเร็จรูป’ ติดไว้ในตู้เย็นที่บ้าน เป็นไลฟ์สไตล์ที่เด่นชัดของสังคมเมือง การให้ความใส่ใจกับลูกค้า Silver Gen นอกเหนือจากรสชาติความอร่อยแล้ว ต้องชูเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบ คุณค่าทางโภชนาการ ลดเค็ม ลดหวาน น้ำมันน้อย รวมไปถึงขนาดของชิ้นอาหารและของใช้บนโต๊ะอาหาร บางทีความช่างสังเกตและใส่ใจที่ส่งผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยสร้างความประทับใจและมัดใจ (Brand Royalty) ลูกค้าให้อยู่กับเรานาน ๆ
***********************