เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) เวอร์ชั่น 2.0 เน้น “เปิดกว้างสู่อาเซียน” มากยิ่งขึ้น
6 Jun 2023
เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี) —- “ของขวัญ” ชุดใหญ่ที่รัฐบาลกลางมอบให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐและสังคม และการเปิดสู่ภายนอกของกว่างซี โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับประเทศสมาชิกอาเซียน
รู้จัก “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ประกอบด้วย 3 พื้นที่ย่อย ได้แก่ นครหนานหนิง (เมืองเอก) เมืองชินโจว (เมืองท่า) และเมืองฉงจั่ว (เมืองชายแดน) ซึ่งมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน โดยได้รับนโยบายพิเศษด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และเป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้นำเข้าสินค้าได้แบบปลอดภาษี รวมถึงการนำเข้าสินค้าสำหรับการแปรรูปเพื่อส่งออก เหมือนกับ “เขตทดลองการค้าเสรีนครเซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกในประเทศจีน
นับตั้งแต่ “เขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” ได้รับการอนุมัติให้มีการจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลกลางเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจจุบัน เขตทดลองแห่งนี้ได้สร้างผลงานทางเศรษฐกิจที่ ‘เยี่ยมยอด’ อย่างต่อเนื่อง
“แม้ว่า..เขตการค้าเสรีจีน(กว่างซี)จะมีพื้นที่เล็กๆ เพียง 0.0001% ของทั้งกว่างซี ไตรมาสแรก ปี 2566 เขตการค้าเสรีจีน(กว่างซี)มีมูลค่าการค้าต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 39.05% และมีมูลค่าการลงทุนจริงจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วน 63.4% ของทั้งมณฑล —- จิ๋วแต่แจ๋ว”
กรมพาณิชย์เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เปิดเผยว่า ไตรมาสแรก ปี 2566 เขตทดลองการค้าเสรี(จีน)กว่างซีมีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกรวม 65,510 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 103.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) และมีมูลค่าการลงทุนจริงจากต่างประเทศ 2,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 484% (YoY) มีบริษัทเข้าจัดตั้งธุรกิจสะสม 90,000 ราย
เพื่อส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือเปิดสู่ภายนอกที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูง เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลกว่างซีได้ประกาศ “แผนงานการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” หรือ Plan for Further Deepening the Reform and Opening up of the China (Guangxi) Pilot Free Trade Zone ซึ่งถือเป็นแผนปฏิรูปเขตทดลองฯ เชิงลึก เวอร์ชัน 2.0 และจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาเขตทดลองฯ ในช่วง 3 ปีนับจากนี้ หรือระหว่างปี 2566-2568
“ยกระดับ ‘ความสะดวกเสรี’ ในหลายด้าน อาทิ การลงทุน การค้า เงินทุนข้ามแดน การขนส่ง ทรัพยากร การเดินทางเข้า-ออกของบุคคล ตลอดจนกระแสข้อมูลที่มีความปลอดภัยและเป็นระเบียบ เพื่อพัฒนาสู่พื้นที่ทดลอง/นำร่องการเปิดกว้างด้านกฎระเบียบ (Institutional opening up) และเป็นพื้นที่แกนกลาง (core area) ที่มีความสะดวกเสรีในการรองรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Dual Circular Market)”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตาม “แผนงานการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตฯ กว่างซีจ้วงได้รับมอบหมายหน้าที่ความรับชอบและทำงานเชิงบูรณาการ เพื่อเร่งพัฒนาให้เขตทดลองฯ เป็น 4 พื้นที่แกนกลาง (Core area) คือ พื้นที่นำร่องด้านการพัฒนาและปฏิรูปกฎระเบียบ พื้นที่นำร่องเศรษฐกิจแบบเปิด พื้นที่คลัสเตอร์โครงการสำคัญเชิงสัญลักษณ์ และพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยอดเยี่ยมที่สุด ผ่านการผลักดันการทำงานในโครงการสำคัญ (Key project) 10 สาขา ได้แก่ การค้าข้ามแดน การเงินข้ามแดน การขนส่งข้ามแดน แรงงานข้ามแดน ท่องเที่ยวข้ามแดน การพัฒนาระหว่างพื้นที่แนวร่วมภาคี การส่งเสริมการลงทุน แพลตฟอร์มสินค้าโภคภัณฑ์ เศรษฐกิจดิจิทัล และการกระจายอำนาจของหน่วยงานภาครัฐ
ไฮไลท์สำคัญของ “แผนงานการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” อาทิ
(1) การพัฒนาและปฏิรูปด้านกฎระเบียบและมาตรฐานให้สอดคล้องกับสากลมากยิ่งขึ้น ทั้งในกรอบความตกลง RCEP และความตกลง CPTPP อาทิ การนำร่องความร่วมมือกับชาติสมาชิก RCEP ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเชื่อมโยงระบบการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการบริการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการผลิต / การแสวงหาแนวทางการพัฒนาและปฏิรูปกฎระเบียบภายใต้ความตกลง CPTPP ในสาขาต่างๆ อาทิ การเปิดเสรีทางลงทุน การค้าบริการ การเปิดกว้างทางการเงิน เศรษฐกิจดิจิทัล และการจัดซื้อจัดหาของภาครัฐ รวมถึงความเป็นกลางทางการแข่งขัน (Competitive Neutrality) อย่างการทดลองนำกฎข้อกำหนด 3 ปลอด (ปลอดภาษีนำเข้า ปลอดกำแพง และปลอดเงินอุดหนุน) มาใช้ในอุตสาหกรรมแผงวงจรรวมร่วมกับชาติสมาชิกอาเซียน
(2) การลงทุน อาทิ การยึดถือหลักปฏิบัติเยี่ยงคนชาติตั้งแต่ก่อนเข้ามาลงทุน (pre-entry national treatment) สำหรับสาขา/กิจการลงทุนที่อยู่นอก Negative List อย่างรอบด้าน และการเปิดกว้างอย่างค่อยเป็นค่อยไปในสาขาโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต การศึกษา วัฒนธรรม การแพทย์ และการให้บริการเส้นทางขนส่งทางเรือ การพัฒนา International Investment Single Window ผ่านระบบดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เป็นไปตามกลไกตลาด/ชอบด้วยกฎหมาย/เป็นสากล เช่น การปฏิรูประบบงานราชการที่มีความกระชับ การพัฒนากลไกการไกล่เกลี่อข้อพิพาททางธุรกิจที่เป็นสากล
(3) การค้า อาทิ การยกระดับมาตรฐานการค้า การพัฒนาจุดทดลองธุรกิจ Remanufacturing และตรวจสอบซ่อมแซมในสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง/มูลค่าเพิ่มสูง รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเชิงบูรณาการระหว่างการค้าดิจิทัลกับอุตสาหกรรมอื่น / การพัฒนาการค้าชายแดน การส่งเสริมการนำเข้าสินค้าเพื่อแปรรูปในท้องถิ่น การขอเพิ่มประเภทสินค้าที่สามารถนำเข้าในระบบการค้าชายแดน และการทดลองนำเข้าสินค้าเพื่อแปรรูปในท้องถิ่นผ่านรูปแบบการขนส่งที่หลากหลาย / การพัฒนาการค้ารูปแบบใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ซข้ามแดน การซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Offshore trade) การค้าดิจิทัล โดยเฉพาะการเร่งจัดตั้งคลังสินคาอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศและบริเวณชายแดน คลังสินค้าทัณฑ์บน รวมถึงฐานซื้อขาย สำรอง และขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์
นอกจากนี้ การบ่มเพาะและพัฒนาแพลตฟอร์มการค้า ศูนย์ China-ASEAN Business Center หรือ CABC (中国-东盟经贸中心) ศูนย์ China-ASEAN Mercantile Exchange Center หรือ CAMEX (中国—东盟特色商品汇聚中心) รวมถึงตลาดซื้อขายสินค้าที่มุ่งสู่อาเซียน อาทิ ผลไม้ สมุนไพรจีน และสินค้าโภคภัณฑ์ / การพัฒนาด่านอัจฉริยะ เช่น การพัฒนาโมเดลการขนส่งไร้คนขับและการผ่านด่านแบบไร้เจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชม. บริเวณชายแดนจีน(กว่างซี)-เวียดนาม การพัฒนาการบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของด่านต่างๆ การพัฒนากระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า และการขยายผลการปฏิบัติพิธีการศุลกากรภายใต้ความตกลงยอมรับร่วมกัน
(4) การเงิน/ประกันภัย อาทิ การทดลองระบบบัญชีธนาคารสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศแบบบัญชีเดียว การต่อยอดบริการในย่านการเงินจีน-อาเซียน (China-ASEAN Financial Town) ในเขตเมืองใหม่อู่เซี่ยงนครหนานหนิง การนำนวัตกรรมทางการเงินมาทดลองใช้ในนิคมอุตสาหกรรมจีน(ชินโจว)-มาเลเซีย การส่งเสริมการใช้เงินหยวน การชำระบัญชีด้วยสกุลเงินท้องถิ่นโดยตรงกับชาติสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมให้สถาบันการเงินสร้างนวัตกรรมการเงินข้ามแดนและการเงินนอกประเทศ (Offshore finance) และการทดลองพัฒนาและซื้อขายคาร์บอนป่าไม้ (Forest Carbon) รวมถึงการพัฒนาสนามทดสอบแนวคิดทางธุรกิจ (Regulatory Sandbox) และการพัฒนานวัตกรรมการประกันภัย เช่น ประกันการลงทุนในต่างประเทศ ประกันการก่อสร้าง ประกันด้านเทคโนโลยี และประกันการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multi-modal Transportation)
(5) การขนส่ง อาทิ การพัฒนาโครงข่ายงานขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในทุกมิติให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น การพัฒนาจุดทดลองการใช้ตู้สินค้าร่วมกันของการขนส่งทางเรือ+รถไฟ การบูรณาการข้อมูลด้านโลจิสติกส์ทางบกระหว่างประเทศ การปรับปรุงและพัฒนางานบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ เส้นทางขนส่งทางทะเล ศักยภาพการขนส่ง และการส่งเสริมการดำเนินงานของแพลตฟอร์มด้านขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น นิคมโลจิสติกส์จีน(หนานหนิง)-สิงคโปร์ ศูนย์โลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น ท่าสถานีรถไฟระหว่างประเทศหนาหนิงและผิงเสียง (รถไฟขนสินค้าจีน-เวียดนาม)
(6) ทรัพยากร อาทิ การยกระดับความร่วมมือกับชาติสมาชิกอาเซียนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุใหม่ด้านเคมี (New Chemical Materials) การแปรรูปสมุนไพรจีน แร่อลูมิเนียม รถยนต์และรถยนต์พลังงานทางเลือก รวมถึงการแปรรูปสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์อาเซียน ธุรกิจบริการสมัยใหม่ เช่น การสร้างสรรค์วัฒนธรรม การแปลภาษานอกกลุ่มภาษาหลัก ตลอดจนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านวิทยุและโทรทัศน์ การจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมจากต่างประเทศ การจัดอบรมทักษะวิชาชีพและการร่วมพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะสาขาที่จำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้อนห่วงโซ่อุตสาหกรรม แพลตฟอร์มความร่วมมือเฉพาะด้าน อาทิ การบ่มเพาะตลาดซื้อขายทันที (Spot Market) และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Market) ตลาดออฟไลน์และออนไลน์
(7) การเข้า-ออกนอกประเทศ อาทิ การนำร่องนโยบายสนับสนุนสำหรับหัวกะทิชาวต่างชาติ (High-end Talents) เช่น การเข้า-ออกนอกประเทศ การจัดเก็บภาษี การเข้าเรียนของบุตร และการสนับสนุนทางการเงิน / การยอมรับร่วมในคุณสมบัติของบุคลากรวิชาชีพกับฮ่องกง มาเก๊า และอาเซียน การจัดตั้งจุดทดลองความร่วมมือด้านแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดน รวมถึงระบบประกันสำหรับแรงงานต่างชาติ
(8) การไหลเวียนของข้อมูล อาทิ การยกระดับศักยภาพการให้บริการของภาครัฐผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Services) และแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความปลอดภัยของข้อมูล การส่งเสริมบทบาทของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศจีน-อาเซียน หรือ China-ASEAN Information Harbor การบ่มเพาะและพัฒนาตลาดซื้อขายข้อมูลจีน-อาเซียนและกลไกการบริหารจัดการซื้อขายข้อมูลข้ามแดน การกระชับความร่วมมือกับชาติสมาชิกอาเซียนในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ตลอดจนการขยายตลาดพลังประมวลผล (Computing Power) และธุรกิจโลกเสมือน (Metaverse) ในอาเซียน
บีไอซี เห็นว่า “แผนงานการปฏิรูปเชิงลึกและเปิดกว้างของเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)” เป็นอีกความเคลื่อนไหวสำคัญที่สะท้อนให้เห็นทิศทางการพัฒนาที่เปิดกว้างและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ โดยคีย์เวิร์ดยังคง “มุ่งสู่อาเซียน” เช่นเคย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยจะได้ศึกษาความเกี่ยวโยงในแผนงานปฏิรูปที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อการ “เริ่มต้น” “ต่อยอด” หรือ “ขยายผล” สู่การพัฒนาความร่วมมือหรือแสวงหาโอกาสที่เหมาะสมกับประเทศไทยต่อไป
จัดทำโดย : นางสาวหยาง อีเต๋ (杨依嵽) นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี
เรียบเรียงโดย : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา : เว็บไซต์ http://www.gx.chinanews.com.cn (中新网广西) วันที่ 11 พฤษภาคม 2566
เว็บไซต์ https://gxrb.gxrb.com.cn (广西日报) วันที่10 พฤษภาคม 2565
เว็บไซต์ www.gxnews.com.cn (广西新闻网) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
เว็บไซต์ www.gxzf.gov.cn (广西政府网) วันที่ 08 กุมภาพันธ์ 2566