อุทาหรณ์ กว่างซีจับกุมและทำลายทุเรียน (ไทย) ที่ลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมาย
27 Aug 2020ไฮไลท์
- เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านสุยโข่วของกว่างซีได้จับกุมทุเรียน (ไทย) ที่นำเข้าแบบผิดกฎหมาย 18.88 ตัน เนื่องจากทุเรียนล็อตดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคพืช และไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) จากประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นภัยต่อผู้บริโภค หากทุเรียนล็อตดังกล่าวเข้าสู่ตลาด
- ผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ การขอและออกใบรับรองสุขอนามัย รวมถึงข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน
- นอกจากนี้ ยังต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของผลไม้ที่ประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้าได้ รวมถึงการส่งผลไม้ไทยผ่านทางบกเข้าไปที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลยูนนาน จะต้องเป็นด่านสากลที่อยู่ภายใต้ พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยกับจีนเท่านั้น และจะต้องติดตามสถานะของด่านด้วยว่าสามารถนำเข้าได้จริงในทางปฏิบัติแล้วหรือไม่
เมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสุยโข่ว ร่วมกับหน่วยสืบสวนและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสิ่งผิดกฎหมาย ได้เข้าจับกุมทุเรียนไทยที่นำเข้าแบบผิดกฎหมาย โดยยึดของกลางน้ำหนัก 18.88 ตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้า 3 แสนหยวน โดยทุเรียนทั้งหมดได้ส่งไปทำลายที่บริษัท Guangxi Nanning Gaosite Technology and Trading Co., Ltd. (广西南宁高斯特科贸有限公司) ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ตามรายงาน ทุเรียนล็อตดังกล่าวไม่ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคพืช และไม่มีใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) จากประเทศต้นทาง แหล่งที่มาไม่ชัดเจน ไม่มีหลักประกันด้านสาธารณสุข มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และจะเป็นภัยต่อผู้บริโภค หากทุเรียนล็อตดังกล่าวเข้าสู่ตลาด
โดยได้นำทุเรียนทั้งหมดไปผ่านกระบวนการทำลายเพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ด้วยการนำไปบดทำลายด้วยเครื่องบด แล้วนำไปผ่านกระบวนการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชด้วยความร้อนสูงจนกระทั่งกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลานานถึง 5-6 ชั่วโมง ได้เป็นปุ๋ยอินทรีย์น้ำหนักราว 5-6 ตัน
ด่านทางบกสุยโข่ว (Shuikou Border Gate/水口口岸) เป็นด่านสากลกับประเทศเพื่อนบ้าน (ด่านทวิภาคี) ที่ตั้งอยู่ในอำเภอหลงโจวของเมืองฉงจั่ว ตรงข้ามกับด่าน Tà Lùng จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ของเวียดนาม เป็น 1 ใน 3 ด่านสากลทางบกที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (General Administration of Customs, PR.C – GACC) ให้สามารถนำเข้าผลไม้ได้ อีก 2 แห่ง คือ ด่านโหย่วอี้กวาน และด่านรถไฟผิงเสียง อำเภอระดับเมืองผิงเสียง ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฉงจั่วเช่นกัน
สำหรับ “การส่งออกผลไม้” การที่ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวสูง เนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศของประเทศผู้นำเข้า เมื่อปี 2552 สำนักงาน AQSIQ (ปี 2561 ได้ควบรวบเข้ากับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติ) ได้นำหลักการกำหนดสิทธิการนำเข้าผลไม้ของด่านมาใช้ กล่าวคือ มีเพียงด่านที่ได้รับอนุมัติให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” และได้พัฒนา “จุดตรวจสอบควบคุมและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้” ให้มีมาตรฐานและผ่านการตรวจรับรองจาก GACC แล้วเท่านั้น จึงสามารถเริ่มนำเข้าผลไม้ได้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขแรกที่ใช้กับด่านนำเข้าทุกแห่งทั่วประเทศจีน
นอกจากนี้ เงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการเป็น “ด่านทางบก” ที่จะนำเข้าผลไม้จากประเทศที่สาม (ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีนอย่างประเทศไทย) คือ ด่านทางบกแห่งนั้นจะต้องเป็นด่านที่ได้รับรองภายใต้ว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน
นั่นหมายความว่า…“ด่านสุยโข่ว” ยังไม่สามารถนำเข้า “ผลไม้ไทย” ได้ เพราะยังไม่ผ่านเงื่อนไขเรื่องพิธีสารฯ นั่นเอง ปัจจุบัน มีด่านทางบกในเขตฯ กว่างซีจ้วง 3 ด่าน ที่อยู่ในพิธีสารฯ โดยมีเพียง “ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน” และ “ด่านรถไฟผิงเสียง” ที่ผ่านเงื่อนไปทั้งหมดและสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้แล้ว ขณะที่ “ด่านทางบกตงซิง” อยู่ระหว่างรอผลการตรวจรับ “จุดตรวจสอบควบคุมและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้” จาก GACC จากนั้นจึงสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้อย่างเป็นทางการ
ดังนั้น ผู้ส่งออกผลไม้ไทยต้องศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนดในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้ การขอและออกใบรับรองสุขอนามัย และข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน ซึ่งอยู่ภายใต้หน้าที่ความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ข้อมูลเพิ่มเติม คลิกลิงก์)
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกผลไม้ไทยยังต้องตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับชนิดของผลไม้ที่ประเทศปลายทางอนุญาตให้นำเข้าประเทศได้ อย่างจีนที่อนุมัติให้มีการนำเข้าผลไม้ไทยได้รับ 22 ชนิด และการส่งผลไม้ไทยผ่านทางบกไปยังเขตฯ กว่างซีจ้วง (ถนน R8 / R9 และ R12) และมณฑลยูนนาน (ถนน R3A) จะต้องใช้ด่านสากลที่อยู่ภายใต้พิธีสารฯ เท่านั้น ปัจจุบัน มีด่านทางบก 4 แห่ง ได้แก่ ด่านทางบกโหย่วอี้กวาน ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านทางบกตงซิงของกว่างซี และด่านโม่ฮานของยูนนาน รวมทั้งต้องติดตามสถานะของด่านสากลดังกล่าวด้วยว่าสามารถนำเข้าได้จริงในทางปฏิบัติแล้วหรือไม่
จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง
ที่มา เว็บไซต์ www.gx.chinanews.com (中新社广西) วันที่ 21 สิงหาคม 2563
ภาพประกอบ www.doa.go.th / www.chinanews.com (中新视频) / www.sohu.com (搜狐)