อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในนครฝูโจว และโอกาสความร่วมมือกับไทย
3 Nov 2023กระแสความนิยมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้รัฐบาลจีนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าภายในสองทศวรรษ ขณะที่มณฑลฝูเจี้ยนเป็นอีกหนึ่งมณฑลที่มีห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม และมุ่งใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าวพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาโครงการพื้นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการเพิ่มอุปสงค์และอุปทานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีนครฝูโจวเป็นหนึ่งในฐานการผลิตสำคัญของมณฑล
ภาพรวมนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของมณฑลฝูเจี้ยน
ในระหว่างปี 2557 – 2566 หากพิจารณาจากจำนวนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ออกโดยเมืองทั้ง 9 เมืองในมณฑลฝูเจี้ยนแล้ว นครฝูโจว มีการออกนโยบาย/มาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ เมืองหนิงเต๋อและเมืองเซี่ยเหมินตามลำดับ
นครฝูโจวในฐานะเมืองที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของมณฑลฝูเจี้ยนได้มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มูลค่าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของนครฝูโจวสูงถึง 600 ร้อยล้านหยวน และจากสถิติล่าสุดพบว่า ในครึ่งปีแรกของปี 2566 นครฝูโจวประสบความสำเร็จในการดึงดูดวิสาหกิจโครงการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 20 กว่าโครงการ ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านหยวน นับเป็นการลงทุนที่มีเงินการลงทุนมากที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงศักยภาพของการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของมณฑลฝูเจี้ยนที่ น่าดึงดูดสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า บทความฉบับนี้ BIC จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของนครฝูโจวและโอกาสความร่วมมือกับไทย
ภายใต้การสนับสนุนด้านนโยบายจากรัฐบาลท้องถิ่น นครฝูโจว เมืองหนิงเต๋อ และเมืองเซี่ยเหมินถือเป็นฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหลักของมณฑลฝูเจี้ยน โดยมีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าครบวงจร รวมถึงมีเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ อาทิ บริษัท CHINALCO มีการผลิตอะลูมิเนียมผสมโลหะที่ใช้สำหรับการผลิตยานยนต์น้ำหนักเบา และบริษัท XINFUXING GLASS ผลิตกระจกยานยนต์ไฟฟ้าและโซล่าเซลล์ เป็นต้น
ภาพแสดงนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในมณฑลฝูเจี้ยน ตั้งแต่ปี 2557 – 2566
นครฝูโจวมีการออกนโยบาย/มาตรการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถึง 71 นโยบาย มากที่สุดในมณฑลฝูเจี้ยน
แผนการดำเนินการของนครฝูโจวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ดังนี้
1. เป้าหมายการพัฒนา
สร้างนครฝูโจวเป็นเมืองต้นแบบการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้ามูลค่าอุตสาหกรรรมยานยนต์ไฟฟ้าสูงกว่าแสนล้านหยวน ภายในปี 2568 และมุ่งสร้างโครงการนำร่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Smart city และ Smart car ภายใต้โครงการ Double Smart Pilot Project รวมถึงระบบการนำร่องการรายงานจราจรบนท้องถนน
2. แผนการดำเนินการสู่เป้าหมาย
2.1 วางรากฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เน้นการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน (กวางตุ้ง กว่างซี ฝูเจี้ยน เจ่อเจียง และไต้หวัน) เพื่อดึงดูดวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีความโดดเด่นด้านการผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การผลิตแผงวงจรรวมยานยนต์ไฟฟ้า แผนที่ที่มีความแม่นยำสูง เทคโนโลยีการสื่อสาร V2X[1] มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการสื่อสารที่มีความเร็วและแม่นยำสูง มีการใช้ High bandwidth[2] ในการรับส่งข้อมูล อีกทั้งยังมีการสร้างแพลตฟอร์มบริการการจัดการคมนาคมอัจฉริยะ แพลตฟอร์มการบริการศูนย์ข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า บรรลุการประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มแบบผสมผสาน
2.2 สร้างระบบนวัตกรรมยานยนต์อัจฉริยะ สร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทั่วไปของยานยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ (1) ห้องปฏิบัติการหลักของยานยนต์ไฟฟ้า โดยอาศัยโรงเรียนวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งห้องปฏิบัติการเหล่านี้ล้วนมีบุคลากรที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าขั้นสูง และ (2) ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันนครฝูโจวจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทั้งหมด 93 แห่ง และมาตรการอื่น ๆ เช่น การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อสนับสนุนการฝึกอบรมด้านเทคนิค หรือให้คำปรึกษาแก่วิสาหกิจ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อประชาสัมพันธ์ศูนย์การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการแบ่งปันข้อมูลบนท้องถนน สถานีฐานการสื่อสาร และแพลตฟอร์ม IoV[3]
2.3 ส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการขยายนิคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในนครฝูโจว เพื่อรองรับผู้ประกอบที่เกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น การสร้างฝูโจวให้เป็นเมืองต้นแบบสำหรับการขับขี่ยานยนต์อัจฉริยะ รวมถึงการสร้างจุดบริการสำหรับการซ่อมแซมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าครบทั้งห่วงโซ่ ตลอดจนสนับสนุนการใช้ยานยนต์อัจฉริยะในการบริการขนส่งสินค้า การบริการสาธารณะ และการพาณิชย์อื่น ๆ อย่างครอบคลุม
2.4 การปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยของยานยนต์ไฟฟ้า เป้าหมายสำคัญการจัดตั้งกลไก การตรวจสอบอุบัติเหตุบนท้องถนน นิติวิทยาศาสตร์ การรวบรวมหลักฐาน รวมถึงสำรวจการนำร่องระบบ Smart car e-Identification ด้านการจัดการคมนาคมสาธารณะทั่วเมือง และการแนะนำระเบียบและเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับบนท้องถนน เป็นต้น
Internet of Vehicles คือเทคโนโลยีอัจฉริยะซึ่งเชื่อมต่อกับระบบต่าง ๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในยานยนต์ เช่น ระบบความปลอดภัยการนำทาง การรับชมสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์ การประมวลผลภาพ การระบุตำแหน่ง
ปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของนครฝูโจว ได้แก่ นโยบายของภาครัฐจีนมีการส่งเสริมห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งยังส่งเสริมการลงทุนจากวิสาหกิจยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนหลักชั้นนำของจีนและต่างประเทศ รวมถึงเร่งพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านสถาบันวิจัยทางวิทยาศาตร์ อาทิ เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติขั้นสูง (Level 4)[4] เทคโนโลยีการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วและมีความแม่นยำสูง การขยายสถานี/แท่นชาร์จยานยนต์มากขึ้น ทั้งนี้ ตามนโยบายการผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน การบริการสถานีชาร์จยานยนต์สาธารณะของฝูโจว ได้กำหนดแผนเป้าหมายการสร้างสถานีแท่นชาร์จสาธารณะรวม 14,396 สถานี ภายในปี ค.ศ. 2025
ในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของนครฝูโจว อาจกลายเป็นผู้นำการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของมณฑลฝูเจี้ยน จากปัจจัยเกื้อหนุนด้านนโยบายและการเป็นฐานการลงทุนจากวิสาหกิจชั้นนำของจีนและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมามีการลงทุนจากวิสาหกิจชั้นนำรายหลาย อาทิ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ไทยซัมมิท กรุ๊ปส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ในไทย ที่ได้มาลงทุนตั้งโรงงานขนาดใหญ่แห่งแรกที่นครฝูโจว ในชื่อ Fuzhou Ogihara Thai Summit Co., Ltd (ซึ่งถือหุ้นระหว่างบริษัท OGIHARA CORPORATION) ผลิตโครงสร้างรถยนต์ให้กับรถเบนซ์ ประเภทรถตู้ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนจากบริษัทที่ผลิตอะไหล่ยานยนต์จีนอย่าง Fuzhou Juquan Automobile Accessories Limitted Company และ บริษัท GSK Motor Parts (Fuzhou) Co., Ltd. ฯลฯ อีกด้วย
โอกาสและความร่วมมือกับไทย
นครฝูโจวมุ่งส่งเสริมการสร้างอุปสงค์และอุปทานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่และการลงทุนที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย การกระจายสถานี/แท่นชาร์จยานยนต์ให้ครอบคลุมทั่วเมือง เพื่อกระตุ้นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ฝูโจว จึงถือเป็นเมืองหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งไทยสามารถศึกษาและติดตามแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และสำรวจความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือสามฝ่ายระหว่างภาครัฐจีน-ไทย ภาคเอกชน และภาคการศึกษาของไทยและจีน อันจะช่วยตอบสนองการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยด้วย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงว่า ไทยเป็นหนึ่งในฐานการลงทุนด้านอุตสาหกรรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศที่มีความพร้อมสูง โดยที่ผ่านมาบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายรายได้เข้ามาตั้งฐานผลิตและเปิดโรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทยแล้ว เช่น บริษัท Great Wall Motor Company Limited (GWM) ที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาที่จังหวัดระยอง และบริษัท China Changan Automobile Group Co., Ltd. ซึ่งได้ประกาศลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 9,800 ล้านบาท ดังนั้น การส่งเสริมการดึงดูดการลงทุนจากวิสาหกิจขั้นสูงด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนจะช่วยส่งเสริมห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยให้เข้มแข็ง และเป็นการขับเคลื่อนประเทศสู่การบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยในอนาคต
[1] เทคโนโลยี Vehicle-to-Everything (V2X) คือ การเชื่อมต่อระบบภายในยานยนต์ อาทิ การใช้โทรศัพท์บนยายนต์ การรับข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์เพื่อตอบสนองต่อรวมไปถึงการจดจำป้ายจราจรและคำเตือนต่างๆ ฯลฯ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในการใช้ถนนใน Smart city เป็นต้น
[2] High bandwidth หมายถึงปริมาณการรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือ ความกว้างของคลื่นความถี่ โดย bandwidth internet ที่มีค่ามากจะสามารถรับส่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วมากขึ้น
[3] Internet of Vehicle (Iov) นวัตกรรมเพื่อยานยนต์อัจฉริยะ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะเชื่อมต่อยานยนต์อัจฉริยะแต่ละคัน อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อยานยนต์กับสถานที่ต่าง ๆ บนแผนที่แบบเรียลไทม์ ส่งผลให้ผู้ขับขี่สามารถเลือกเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วมากขึ้นโดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับโทรศัพท์
[4] เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติขั้นสูง (Level 4) เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับมีคุณสมบัติในการควบคุมและรับมือกับสถานการณ์บนท้องถนน รวมถึงระบบการเข้าจอดได้เอง
แหล่งที่มา
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1770456824083965014&wfr=spider&for=pc
https://www.sohu.com/a/307147064_266495
https://jxxy.fjut.edu.cn/2022/1004/c4758a203300/page.htm
http://www.fuzhou.gov.cn/zgfzzt/skjj/kjzl/kjzx/kjdt_30059/202204/t20220418_4345899.htm
https://www.posttoday.com/business/501728
http://www.taihainet.com/news/fujian/szjj/2023-08-26/2724043.html
https://www.thansettakij.com/economy/411879
https://www.prachachat.net/motoring/news-1043998
https://www.fuzhou.gov.cn/zcjd/bs/202301/t20230129_4528308.htm
http://m.news.cn/fj/2023-01/19/c_1129300555.htm
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220917201708579