อุตสาหกรรมที่โดดเด่นของมณฑลเจียงซี ตอนที่ 2 : อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ แบตเตอรี่ลิเธียมของมณฑลเจียงซี
19 Feb 2024มณฑลเจียงซีถือเป็นมณฑลที่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในมณฑลที่มีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ โดยนอกเหนือจากอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ ซึ่งได้กล่าวถึงในบทความตอนที่แล้ว มณฑลเจียงซียังมีอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่โดดเด่นเช่นกัน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ที่มณฑลเจียงซีมุ่งพัฒนา
ศูนย์วิจัย Hurun Report[1] ได้ประกาศ 50 อันดับรายชื่อเมืองที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในปี 2023 ซึ่งเมืองอี๋ชุนติด 1 ใน 50 อันดับเมืองที่โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในปี 2023 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เมืองอี๋ชุนถูกคัดเลือก ได้แก่
ปัจจัยที่ 1 ข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศ ทำเลที่ตั้งที่มีทรัพยากรแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์

หากพูดถึงอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมของมณฑลเจียงซี คงหนีไม่พ้นการกล่าวถึงอี๋ชุน เมืองอี๋ชุน เป็นแหล่งกำเนิดแร่ธาตุลิเธียมที่สำคัญของโลก เนื่องจากอุดมไปด้วยทรัพยากรแร่ธาตุที่หายาก อาทิ แร่ลิเธียมไมกาที่มีปริมาณมากที่สุดในเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจีน และมีปริมาณสำรองลิเธียมออกไซด์กว่า 2.6 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 37.6 ของลิเธียมออกไซด์ทั้งประเทศ จึงได้รับการขนามนาม ว่าเป็น “亚洲锂都 หรือ เมืองลิเธียมแห่งเอเชีย”
มณฑลเจียงซีเน้นใช้ประโยชน์จากการเป็นแหล่งทรัพยากรแร่ลิเธียมพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยดึงดูดการลงทุนจากบริษัทแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนและสารประกอบลิเธียมชั้นนำหลายแห่งเข้ามาลงทุน อาทิ บริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 1.3 หมื่นล้านหยวน บริษัท BYD ที่มีมูลค่าการลงทุนโครงการรวม 2.8 หมื่นล้านหยวน บริษัท Ganfeng Lithium ที่มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 3 หมื่นล้านหยวน และบริษัท Guoxuan High Tech ที่มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 2.3 หมื่นล้านหยวน นอกจากนั้น เมืองอี๋ชุนยังได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ อาทิ LG และ Sanyo ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์/เครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำจากเกาหลีและญี่ปุ่นที่ต้องการมาลงทุนอีกด้วย การลงทุนจากบริษัทชั้นนำหลายรายสะท้อนถึงความพร้อมของเมืองอี๋ชุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรม

ทั้งนี้ มณฑลเจียงซียังให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ สร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการ “1269”[2] ซึ่งเน้นการเสริมสร้างและขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตของมณฑลเจียงซีรวม 12 ห่วงโซ่ อาทิ ห่วงโซ่อุตสาหกรรมแร่/เหล็ก อาหาร สิ่งทอ พลังงานใหม่ และสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิต 6 กลุ่ม อาทิ วัสดุทองแดง วัสดุโลหะทังสเตน/โลหะหายาก พลังงานใหม่แบตเตอรี่ลิเธียม/โซลาร์เซลล์ เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วทั้งมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่วิสาหกิจที่ต้องการมาลงทุนมากขึ้น นอกจากนั้น มณฑลเจียงซียังมุ่งพัฒนาเมืองอื่น ๆ ในมณฑลอย่างเมืองซินยวี๋และเมืองก้านโจวให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียม พร้อมทั้งเดินหน้าพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่นครหนานชาง เมืองซ่างเหรา เมืองผิงเซียง และเมืองฝู่โจวควบคู่ไปด้วย

10 อันดับรายชื่อบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2023 ล้วนเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งหมด สะท้อนว่า เอเชียกำลังกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม โดยบริษัทที่มีความโดดเด่น ได้แก่ บริษัท Contemporary Amperex Technology (CATL) ผู้ผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรายใหญ่ที่สุดในโลกจากมณฑลฝูเจี้ยน และมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 34 ของโลก เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่ป้อนให้กับแบรนด์ยานยนต์ชั้นนำ อาทิ BMW Hyundai และ Honda เป็นต้น
ปัจจัยที่ 2 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เมืองอี๋ชุนได้ประกาศแผนการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงในช่วงปี 2021 – 2025 ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ อาทิ
1) การบ่มเพาะอุตสาหกรรม (1) สนับสนุนนโยบาย “หนึ่งอุตสาหกรรม หนึ่งวิสาหกิจ และหนึ่งนโยบาย” เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมและวิสาหกิจหลายด้าน อาทิ การใช้ที่ดิน และทรัพยากรในการผลิต เป็นต้น (2) การมอบเงินสนุบสนุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มูลค่าไม่เกิน 1 ล้านหยวน สำหรับการเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อการตั้งฐานการผลิต และ (3) การมอบเงินสนับสนุนแก่วิสาหกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่สร้างรายได้สูง โดยวิสาหกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่สร้างรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านหยวนครั้งแรกจะได้รับเงินสนับสนุน 1 ล้านหยวน วิสาหกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่สร้างรายได้ทะลุ 5 พันล้านหยวนครั้งแรกจะได้รับเงินสนับสนุน 5 แสนหยวน และวิสาหกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่สร้างรายได้ทะลุ 2 พันล้านหยวนครั้งแรกจะได้รับเงินอุดหนุนมูลค่า 2 แสนหยวน
2) การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (1) การมอบเงินอุดหนุนมูลค่ากว่า 2 แสนหยวนแก่วิสาหกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีในการผลิตยอดเยี่ยมระดับประเทศ และมูลค่ากว่า 1 แสนหยวนในระดับมณฑล (2) การมอบเงินอุดหนุนแก่วิสาหกิจที่อยู่ใน 50 อันดับวิสาหกิจที่มีค่าใช้จ่ายในการวิจัย/พัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมต่อปีมากที่สุด โดยวิสาหกิจลำดับที่ 1- 20 จะได้รับเงินสนับสนุนมูลค่า 1.5 แสนล้านหยวน/ราย (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่คำนึงถึงผลกระทบและปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษ ปล่อยคาร์บอนต่ำ เน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรลิเธียมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ (4) การมอบเงินอุดหนุนมูลค่า 5 แสนหยวนแก่วิสาหกิจอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมที่ได้รับรางวัลมาตรฐานการผลิตระดับนานาชาติ และมูลค่า 2 แสนหยวนในระดับประเทศ นอกจากนั้น ยังสนับสนุนการดึงดูดบุคลากร/ผู้เชี่ยวชาญด้านแบตเตอรี่ลิเธียมมาทำงานในเมืองอี๋ชุน
ความท้าทายและแนวทางในอนาคตของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของไทย
ปัจจุบันแหล่งแร่ลิเธียมของไทยมี 2 แหล่ง คือ แหล่งบางอีตุ้ม และแหล่งเรืองเกียรติ อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเพิ่งมีการพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยหินแร่ที่ถูกพบแหล่งใหม่นี้ มีธาตุลิเธียมปนอยู่ในปริมาณน้อยและยังเป็นแร่ดิบที่ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การถลุงและการปรุงแต่งแร่เพื่อสกัดแร่ลิเธียมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญ (Cell Component Manufacturing) และการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ประเภทต่าง ๆ (Cell Production) และการนำแบตเตอรี่เซลล์มาประกอบเข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำด้วย
อย่างไรก็ดี ไทยยังขาดเทคโนโลยีการถลุงแร่และการสกัดเอาธาตุลิเทียมซึ่งมีขั้นตอนที่ซับซ้อนสูง อีกทั้งยังขาดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันมีเพียงรูปแบบ Cell To Pack และ Cell To Module กล่าวคือ การนำเข้าเซลล์แบตเตอรี่ลิเธียมจากต่างประเทศเพื่อมาประกอบในไทยเท่านั้น โดยที่ผ่านมา ไทยเร่งดึงดูดบริษัทผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี โดยในปี 2566 บริษัท CATL ได้มาลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบ Cell to Pack ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 3.6 พันล้านบาทในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรี ด้วยแล้ว


บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) ภายใต้บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้ร่วมมือกับบริษัท CATL ตั้งโรงงานแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ในไทย ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1.5 แสนคันในปี 2573
ในอนาคตความต้องการแร่ลิเธียมของโลกจะมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นความท้าทายของไทย โดยทั้งภาครัฐหรือภาคเอกชนควรเร่งแสวงหาลู่ทางส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากับวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง รวมถึงอาจพิจารณาศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมของเมืองอี๋ชุน มณฑลเจียงซี การดึงดูดการลงทุนสร้างฐานการผลิตเซลล์แบตเตอรี่และประกอบแบตเตอรี่จากวัตถุดิบต้นน้ำ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีที่การจัดการของเสียและการรีไซเคิลแบตเตอรี่ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเธียมของไทยอย่างยั่งยืน และเพื่อบรรลุเป้าหมายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2573
* * * * * *
แหล่งที่มา
https://m.thepaper.cn/baijiahao_25252826
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1774980757507212880&wfr=spider&for=pc
https://news.bjx.com.cn/html/20230206/1286620.shtml
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1746470616723519511&wfr=spider&for=pc
https://zhuanlan.zhihu.com/p/399009070?utm_id=0
[1] องค์กรวิจัยเอกชน มุ่งเน้นไปที่การวิจัยและจัดอันดับความมั่งคั่งของบุคคล บริษัทและรายงานเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ เช่น การลงทุน การศึกษา และไลฟ์สไตล์ และเศรษฐกิจเมืองต่างๆ ทั่วโลก
[2] แผนปฏิบัติการ “1269” ของมณฑลเจียงซี: แผนการเสริมสร้างและขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตถึง 12 ห่วง และสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิต 6 กลุ่ม เพื่อบรรลุเป้าหมายรายได้เฉลี่ยต่อปีของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วทั้งมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ต่อปี ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่วิสาหกิจที่ต้องการมาลงทุนมากขึ้น โดยมีระยะเวลาแผนปฎิบัติการช่วงปี 2023 – 2026
จัดทำโดย นายกิตติพศ พันธุ์ณรงค์ เจ้าหน้าที่ธุรกิจไทยในจีน ณ เซี่ยเหมิน