อีกสักครั้งกับ China-ASEAN Plaza (Nanning) : โอกาส (ที่มาพร้อมกับความเสี่ยง!) ในการเจาะตลาดจีนผ่าน “หัวเมืองรอง”
24 May 2013เมื่อปลายปี 54 ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำนครหนานหนิง (BIC) ได้มีโอกาสไปสำรวจ China-ASEAN Plaza ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (มณฑลกว่างซี)
อภิมหาโครงการที่ทางการจีนหมายมั่นปั้นมือให้เป็นศูนย์การค้าสารพัดอย่างสไตล์ “ตลาดอี้อู” อันเลื่องชื่อของมณฑลเจ้อเจียง (“China-ASEAN Plaza (Nanning)” ช่องทาง “ปักธง” ในตลาดจีนของ SMEs ไทย ที่น่าลอง)
ช่วงนั้น ผู้บริหารโครงการฯ กำลังขะมักเขม้นเดินสายชักจูงผู้ประกอบการของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงพี่ไทยเรา ให้มาเปิดร้านที่ Plaza แห่งนี้
กลยุทธ์ต่างๆ ถูกนำออกมาใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ประกอบการจากอาเซียน รวมถึงการคิดค่าเช่าพื้นที่ราคาถูก ให้ขาย 6 ปีแต่จ่ายค่าเช่า 1 ปี
เกือบ 2 ปีหลังจากการใช้กลยุทธ์ต่างๆ China-ASEAN Plaza ได้เปิดให้บริการไปเมื่อ 28 เม.ย. 56 ที่ผ่านมา
เมื่อต้นเดือน พ.ค. 56 BIC ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมชม Plaza แห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง จึงอยากจะแชร์สิ่งที่ได้ไปพบเห็นมา พร้อมข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายของการมาลงทุนที่ Plaza แห่งนี้
China-ASEAN Plaza ในวันนี้
ขอเท้าความนิดหนึ่งว่า China-ASEAN Plaza เกิดขึ้นภายใต้บริบทของนโยบายการผลักดันให้มณฑลกว่างซี เป็น “ประตูสู่อาเซียนของจีน” โดย Plaza เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ China South City Nanning ซึ่งประกอบด้วยอาคารขายของขนาดใหญ่ 10 อาคาร
โดย China-ASEAN Plaza ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 50,000 ตร.ม. ตั้งอยู่ชั้น 4 ของอาคารหมายเลข 4
ตามแผนงาน ผู้พัฒนาโครงการฯ ตั้งเป้าไว้ว่า เมื่อเปิดบริการ ภายใน Plaza จะมีร้านค้าจากอาเซียนประมาณ 2,000 ร้าน (คำนวณจากพื้นที่มาตรฐานใน Plaza 1 ร้านเท่ากับ 25 ตรม.) โดยในจำนวนนี้ น่าจะเป็นผู้ประกอบการจากไทยไม่ต่ำกว่า 200 ราย ทั้งนี้ หากมีผู้ประกอบการไทยสนใจมากกว่านี้ ผู้พัฒนาโครงการฯ ก็พร้อมจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้
จากการไปสำรวจอีกครั้งหนึ่งเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ปัจจุบัน 4 อาคาร ใน 10 หลัง ก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่เปิดให้บริการเพียง 1 หลัง คือ อาคารหมายเลข 4 และเปิดให้บริการเพียงชั้นเดียวเท่านั้น คือ ชั้น 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “China-ASEAN Plaza”
อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดว่าโซนขายใบชาและโซนเฟอร์นิเจอร์ไม้แดงที่กำลังตกแต่งภายในอยู่ ซึ่งอยู่ที่ชั้น 2 และชั้น 3 ของอาคารหลังนี้เช่นกัน น่าจะเปิดให้บริการได้ในไม่ช้า
แม้เปิดให้บริการแล้ว แต่ภายใน Plaza ณ วันนี้ โซนไทยเป็นส่วนเดียวที่เปิดบริการเกือบเต็มพื้นที่ ขณะที่โซนอื่นที่เปิดบริการแล้วบางส่วน คือ โซนเวียดนาม โซนมาเลเซีย และฟู๊ดคอร์ทอาเซียน ส่วนโซนของประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือยังไม่เปิดบริการ
พูดให้ชัดกว่านี้ก็คือ โซนไทยเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดใน Plaza โดยมีสินค้าไทยวางจำหน่ายแบบ“จัดหนัก” ทั้งประเภทอาหารทานเล่น ของขบเคี้ยว ของขวัญและของแต่งบ้าน ขณะที่โซนเวียดนามและมาเลเซียยังมาแบบไม่ “จัดเต็ม” สักเท่าไหร่
จากการสอบถามผู้ประกอบการ ได้ข้อมูลว่า ร้านค้าที่เปิดให้บริการแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
หนึ่ง ร้านที่ผู้ประกอบการรายย่อยจากอาเซียนมาเปิดบริการเอง ซึ่งยังมีอยู่แบบ “นับหัวได้”
สอง ร้านขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันหลายแผง อาทิ ส่วนที่ขายของแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ของไทย
และสาม ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตสินค้าไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งเป็นแยกกันในแต่ละโซนของแต่ละประเทศด้วย
ปล.ประเภทที่สองและสามนี้ ผู้พัฒนาโครงการฯ และบริษัทพันธมิตรเขาดำเนินการเอง
อ่านแล้วอย่า “งง” ว่า ไหนบอกว่า ใช้เวลาเกือบ 2 ปีไปชักจูงผู้ประกอบการอาเซียนมาเปิดร้านใน Plaza แล้วไฉนผู้พัฒนาโครงการฯ ถึงมาแย่งเปิดร้านเสียเอง
ที่เป็นเช่นนี้ BIC เดาว่าเป็นเพราะ (ยัง)หาผู้ประกอบการจากอาเซียนในจำนวนที่วางแผนไว้มาเปิดร้านไม่ได้หน่ะสิ! แต่มีความจำเป็นต้องเปิดดำเนินการแล้วหลังจากเลื่อนมาหลายครั้งหลายครา
ด้วยเหตุนี้ ในโซนไทย จนถึงปัจจุบัน จึงมีผู้ประกอบการจากไทยเพียง 3 รายที่มาเปิดร้านอยู่ใน Plaza รายหนึ่งขายอัญมณี รายหนึ่งขายผลิตภัณฑ์สปา และอีกรายขายเสื้อผ้าและกระเป๋าสไตล์อีสาน ขณะที่โซนมาเลเซียและเวียดนามก็เช่นเดียวกัน ร้านค้ายังมีไม่มาก โดยส่วนใหญ่เป็นส่วนที่ผู้พัฒนาโครงการฯ ลงทุนเปิดเอง
“โอกาส” ที่มาพร้อมกับ “ความเสี่ยง”
มาถึงตรงนี้ หลายท่านที่เคยสนใจหรืออยากจะมาลองเปิดร้านใน China-ASEAN Plaza แห่งนี้ดูสักตั้ง อาจความรู้สึกว่า โชคดีจังที่ไม่ได้มาลงทุน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลประกอบการของ Plaza และผู้ประกอบการแต่ละราย เป็นเช่นไร BIC ไม่อยู่ในสถานะที่จะเข้าถึงข้อมูลนั้นได้
แต่ที่แน่ๆ ข้อสังเกตประการสำคัญที่ BIC ได้จากการไปสำรวจครั้งนี้คือ Plaza เป็น “โอกาส” ที่น่าสนใจ ในขณะเดียวกัน ก็มี “ความเสี่ยง” สูงด้วยเช่นกัน
หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่กำลังสนใจจะบุกตลาดจีนผ่าน “หัวเมืองรอง” อย่างนครหนานหนิง กว่างซี ก็ขอให้ท่านพิจารณาประเด็นจุดแข็งและจุดอ่อนของ Plaza ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ให้ดี เพื่อจะได้วางแผนธุรกิจได้อย่างรอบคอบและรอบด้าน
1 ใน 3 สถานที่จัดงาน CA-EXPO
จุดแข็งประเด็นแรก เป็นเรื่อง “มหภาค” ในเชิงนโยบาย คือ Plaza ได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลกลางของจีน และรัฐบาลมณฑลกว่างซี
นายกรัฐมนตรีจีนถึงขนาดเคยประกาศในเวทีประชุมระหว่างประเทศเมื่อปลายปี 54 เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการจากอาเซียนมาลงทุนใน Plaza แห่งนี้กันเลยทีเดียว ขณะเดียวกัน ทางการกว่างซีก็ประกาศให้ Plaza เป็น 1 ใน 3 สถานที่จัด China-ASEAN Expo งานช้างประจำปีของหนานหนิง
หากจะพูดว่า จุดเด่นประการที่สอง เกิดจากการเปิดสู่ภายนอกไม่นานนักของกว่างซีเอง หลายท่านคงแปลกใจว่า เอ๊ะ! หมายความว่าอะไร
พูดง่ายๆ ก็คือ การเปิดสู่ภายนอกช้าและเป็น “หัวเมืองรอง” ทำให้ ตลาดในกว่างซียังไม่ “เต็ม” และการแข่งขันยังไม่ดุเดือดเท่ากับในหัวเมืองหลักอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หรือกว่างโจว
จุดเด่นนี้มีประโยชน์มากสำหรับ SMEs ที่สายป่านอาจจะไม่ได้ยาวเท่าไหร่ อีกทั้งยังช่วยชดเชยข้อด้อยด้านต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงในการนำสินค้าจากอาเซียนเข้ามายังกว่างซี
ยกตัวอย่างเช่น หากท่านมีผลิตภัณฑ์กีฬามวยไทยจะมาลองขายในจีน และเลือกไปลงทุนเปิดร้านที่กว่างโจวหรือเซี่ยงไฮ้ ท่านจะต้องเจอคู่แข่งที่หลากหลายที่เข้าตลาดมาก่อนแล้ว แต่หากท่านมาที่ China-ASEAN Plaza ของกว่างซี ท่านก็จะเป็นเจ้าแรก ซึ่งจะทำให้ช่วงชิงพื้นที่และส่วนแบ่งตลาดได้ไม่ยาก หากรู้จักวางแผนการตลาด รวมถึงการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)
จุดแข็งประการที่สาม คือ โปรโมชั่นและมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ที่ผู้บริหารโครงการChina-ASEAN Plaza งัดมาจูงใจผู้ประกอบการอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าพื้นที่ราคาถูก การให้ทางเลือกการลงทุนแบบร่วมทุนกับผู้บริหารโครงการฯ (joint venture) เพื่อแชร์ความเสี่ยงทางธุรกิจ และการให้บริการเสริมแบบน้องๆ One Stop Service อาทิ บริการโกดัง ชิปปิ้ง (ขนจากท่าเรือไทยจนมาถึงแผงที่ Plaza) และงานด้านโลจิสติกส์อื่นๆ
ที่นี้ มาดู “จุดอ่อน” ของ Plaza กันบ้าง
ประการแรก เช่นเดียวกับการเป็นจุดแข็ง การที่กว่างซีเปิดสู่ภายนอกได้ไม่นานนักก็เป็นจุดอ่อนเช่นกัน
พูดให้เห็นภาพก็คือ กว่างซียังมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างและศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ software ของการจะเป็นประตูสู่อาเซียน อาทิ การมีผู้ทำการค้ากับต่างประเทศน้อยรายและเป็นรายเล็ก และความไม่สะดวกด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้ากับอาเซียน
นอกจากนี้ สินค้าอาเซียนหลายอย่างก็ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนกว่างซี แม้ว่าจะมีความสนใจและความอยากลองของใหม่ตามการเติบโตของชนชั้นกลางของกว่างซีก็ตาม
เช่น การนำเครื่องปรุงสำเร็จรูป “แกงเขียวหวาน” มาวางขาย อาจมีความสนใจจะซื้ออยู่บ้าง แต่เชื่อแน่ว่าชาวกว่างซีหลายคนยังไม่รู้ว่าซื้อไปแล้วจะปรุงอย่างไร ต้องซื้ออะไรเพิ่ม ฯลฯ
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สนใจจึงต้อง “ทำการบ้าน” มาพอสมควร เพื่อ “สร้างดีมานด์” และเจาะตลาดท้องถิ่น
ฝากไว้เป็นข้อคิดว่า ในหัวเมืองรองอย่างหนานหนิง การมาเปิดร้านใน Plaza นั้นผู้ประกอบการจะต้องเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาลูกค้าเอง ซึ่งแตกต่างจากการไปเปิดร้านในห้างของหัวเมืองหลักที่ลูกค้ามักจะวิ่งเข้ามาหาเอง ประมาณว่าเป็นมาบุญครอง แพลทตินั่มประตูน้ำ หรือสวนจตุจักร
ทำเลที่ตั้งของ “China South City”
จุดอ่อนประการที่สอง เป็นเรื่อง “ทำเลที่ตั้ง” ซึ่งเป็นปัญหาทางกายภาพของ Plaza เอง กล่าวคือ China-ASEAN Plaza นี้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหนานหนิง ซึ่งค่อนข้างไกลจากเขตเมือง การคมนาคมยังไม่ค่อยสะดวก และปัจจุบัน ยังถือเป็นพื้นที่ชนบทที่ประชาชนมีกำลังซื้อไม่มาก อย่างไรก็ดี จุดอ่อนนี้ น่าจะค่อยๆ หมดไปตามกาลเวลาอันเนื่องมาจากการพัฒนาเมือง
ข้อด้อยประการสุดท้าย เป็นข้อจำกัดของ Plaza ที่ทำให้ไม่เหมาะกับสินค้าที่มีอายุการวางขายสั้น (Shelf Life) พูดง่ายๆ ก็คือ ปัจจุบัน Plaza ยังไม่มีคนไปจับจ่ายมากนัก ขณะเดียวกันระบบการขนส่งสินค้าจากอาเซียนไปที่นั่นก็ยังไม่สะดวกมากนัก ไหนจะต้องเจอกับระเบียบและขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้าที่ค่อนข้างจะเข้มงวดและใช้เวลาของจีนอีก
ดังนั้น หากใครคิดว่าจะนำสินค้าปริมาณมากๆ แต่ shelf life สั้นไปวางขายใน Plaza โดยเฉพาะอาหาร ก็คงไม่เหมาะ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การมาเปิดร้านที่ Plaza และนำสินค้าเข้ามาในปริมาณไม่มากนัก เพื่อเป็น “หน้าร้าน” และสร้างความน่าเชื่อถือในการมาทำตลาดในท้องถิ่นน่าจะเหมาะสมกว่า
บทส่งท้าย
ตอนนี้ คงยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่า China-ASEAN Plaza (Nanning) จะรุ่งหรือจะร่วง เพราะเพิ่งเปิดมาได้ไม่ถึงเดือน
จากการประมวลข้อมูลต่างๆ BIC มองว่า Plaza แห่งนี้ เป็น “โอกาส” ทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการบุกเบิกตลาดใหม่ๆ ของจีนที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก ทว่า “ความเสี่ยง” ก็สูงพอๆ กับแคลเซี่ยมในนมวัวด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่จะมาต้องมีความพร้อมและศักยภาพที่เพียงพอ รวมถึงแผนธุรกิจที่ชัดเจน
ซึ่ง BIC พร้อมให้บริการเป็นคำปรึกษาเบื้องต้น หากสนใจ ติดต่อมาหลังไมค์ได้ที่ [email protected]
แม้ไม่ใช่หมอลักษณ์ แต่ BIC ขอฟังธงว่า China-ASEAN Plaza ไม่น่าจะเจ๊ง เพราะกว่างซีเองมีประชากรกว่า 52 ล้านคน และยังมีตลาดซื้อขายขนาดใหญ่ (ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ด้วย) ไม่มากนัก
ดังนั้น ไม่ว่าจะยังไง BIC เชื่อมั่นว่า ผู้พัฒนาโครงการฯ จะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อทำให้ตลาดแห่งนี้อยู่รอด
พูดง่ายๆ ก็คือ หากในท้ายที่สุด ยังไม่มีผู้ประกอบการอาเซียนมาในจำนวนที่มากขึ้น ผู้พัฒนาโครงการฯ ก็พร้อมจะปรับกระบวนท่า ทำให้ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งซื้อขายที่คึกคักของคนในท้องถิ่น อาทิ การปรับ Plaza เป็นตลาดค้าขายสินค้าขึ้นชื่อของมณฑลต่างๆ ของจีน เช่น ตลาดไม้แดง และตลาดชา (แทนตลาดสินค้าอาเซียน) หรือการให้พ่อค้าจีนเป็นผู้ขายสินค้าจากอาเซียนเอง
หากเป็นเช่นนั้น ก็น่าเสียดายว่า พี่ไทยเราจะเป็นได้เพียง “คนผลิตสินค้า” ที่ไม่มีโอกาสในการกำหนดเงื่อนไขการค้าต่างๆ ในตลาดจีน รวมถึงการต้องรับราคาที่ถูกกำหนดโดยพ่อค้าจีนด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่(ยัง)แก้ไม่ตกที่เกิดกับผลไม้ส่วนใหญ่ของไทยที่ขายในจีนในปัจจุบัน!