อัพเดทความคืบหน้าการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ “สามพื้นที่สำคัญ” ของมณฑลหูหนาน
20 Apr 2023ยุทธศาสตร์ “สามพื้นที่สำคัญ” เป็นยุทธศาสตร์ที่กำหนดทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาของมณฑลหูหนานในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568) ซึ่งถูกนำเสนอให้กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญหลังจากการเยือนมณฑลหูหนานของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยมีเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้มณฑลหูหนานกลายเป็นพื้นที่สำคัญใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) พื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง (Advanced Manufacturing) ที่สำคัญของจีน (2) พื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน และ (3) พื้นที่ตอนในของจีนที่ปฏิรูปและเปิดกว้างสู่ภายนอก
พื้นที่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงที่สำคัญของจีน
ในช่วงสองปีมานี้ มณฑลหูหนานผลักดันการพัฒนา “สามพื้นที่สำคัญ” จนเห็นผลความคืบหน้าอย่างชัดเจน เริ่มต้นในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง โดยในปี 2565 ขนาดมูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตของหูหนานมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 28.2 ของมูลค่า GDP มณฑล ในจำนวนนี้ราวร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งเป็นมูลค่าของอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูง สิ่งสำคัญคือ เมื่อปลายปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติจีนได้ประกาศรายชื่อ “คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงแห่งชาติจีน” รวม 45 กลุ่ม ในจำนวนนี้มณฑลหูหนานได้รับการคัดเลือก 4 กลุ่ม สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน ซึ่งเท่ากันกับมณฑลเจ้อเจียง โดยเป็นรองจากมณฑลเจียงซู และมณฑลกวางตุ้ง สำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทั้งสี่กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างนครฉางซา คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอุปกรณ์คมนาคมระบบรางเมืองจูโจว คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กเมืองจูโจว และคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบการคำนวณอัตโนมัติรุ่นใหม่นครฉางซา
สำหรับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างของนครฉางซานั้น มีจุดเด่น คือ (1) นครฉางซาได้ฉายาว่า “เมืองแห่งเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้าง” และรายได้ของกลุ่มอุตสาหกรรมแตะระดับแสนล้านหยวนมาตั้งแต่ปี 2553 กลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมระดับแสนล้านหยวนกลุ่มแรกของมณฑลหูหนาน (2) มูลค่าการผลิตของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างของมณฑลหูหนานคิดเป็นหนึ่งในสามของมูลค่าการผลิตของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างของทั้งประเทศ (3) มูลค่าทรัพย์สิน รายได้ และกำไรของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างของมณฑลหูหนานล้วนสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันเป็นปีที่ 12 และในปี 2565 นครฉางซามีบริษัทติดอันดับ “บริษัทเครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้างยอดเยี่ยม 50 ลำดับแรกของโลก” จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท Sany บริษัท Zoomlion บริษัท China Railway Construction Heavy Industry บริษัท Sunward และบริษัท Sinoboom สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐอเมริกา และกรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่น
คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอุปกรณ์คมนาคมระบบรางของเมืองจูโจวถือเป็นฐานการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การขนส่งทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงเป็นฐานการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมูลค่าการผลิตในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งทางรางของเมืองจูโจวสามารถสร้างรายได้ในระดับมากกว่าแสนล้านหยวนมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบัน ขนาดของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมีมูลค่ามากกว่า 140,000 ล้านหยวน และมีบริษัทตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเกือบ 400 แห่ง บริษัทที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้นำในด้านนี้ ได้แก่ CRRC Zhuzhou ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ระบบรางของเมืองจูโจวส่งออกไปทั่วโลกกว่า 70 ประเทศ โดยครองส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์รถจักรไฟฟ้า (Electric Locomotive) ราวร้อยละ 27 ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลก
คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กเมืองจูโจว โดยเมืองจูโจวถือเป็นแหล่งกำเนิดเครื่องยนต์เครื่องบินเครื่องแรกของจีน ซึ่งผลิตขึ้นเมื่อปี 2497 ปัจจุบัน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กเมืองจูโจวกลายเป็นเขตวิจัยและผลิตเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กที่ใหญ่ที่สุดในจีน และยังเป็นเขตอุตสาหกรรมเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กเพียงแห่งเดียวของจีน รวมถึงเป็นแหล่งรวมห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร โดยมีบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น บริษัท AECC South Industry บริษัท Sunward และบริษัท AECC Hunan South Astronautics Industry ขณะเดียวกัน คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กเมืองจูโจวยังครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องยนต์เครื่องบินขนาดกลางและขนาดเล็กราวร้อยละ 90 ของจีน และครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องบินแบบ Light-Sport Aircraft ร้อยละ 75 ของจีน รวมถึงครองส่วนแบ่งตลาดเครื่องยนต์กังหันก๊าซ เช่น Turboshaft engine และ Gas turbine engine มากกว่าร้อยละ 75 ของจีน นอกจากนี้ ภาครัฐของมณฑล เช่น สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) มณฑลหูหนาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลหูหนาน และกรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมณฑลหูหนาน ยังร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมอุตสาหกรรมการบินนานาชาติมณฑลหูหนาน (Hunan International General Aviation Industry Expo) ทั้งที่นครฉางซาและเมืองจูโจวคู่ขนานกันไป เพื่อประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมการบินทั่วไปของมณฑลและดึงดูดบริษัทที่เกี่ยวข้องเข้ามาลงทุน โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อปี 2564 และต่อเนื่องในปี 2565
ในส่วนของคลัสเตอร์สุดท้าย อุตสาหกรรมระบบการคำนวณอัตโนมัติรุ่นใหม่และความปลอดภัย หมายถึง การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการคำนวณขั้นสูงเข้ากับการรักษาความปลอดภัยให้กับระบบสารสนเทศ โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประเภทนี้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบดาวเทียมนำทางเป๋ยโต่ว บล็อกเชน (Blockchain) 5G อินเทอร์เน็ตอุตสาหกรรม (Industrial Internet) และวงจรรวม (Integrated Circuit) ทั้งนี้ ในปี 2564 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบการคำนวณอัตโนมัติรุ่นใหม่และความปลอดภัยของนครฉางซามีมูลค่าการผลิตรวม 135,000 ล้านหยวน ครองส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นหนึ่งในสามของทั้งประเทศ และก้าวขึ้นสู่อุตสาหกรรมระดับแสนล้านหยวนอีกหนึ่งกลุ่มของมณฑลหูหนาน โดยมีบริษัทกว่า 1,100 รายในนครฉางซา บริษัทชั้นนำ เช่น บริษัท China Electronics Corporation (CEC) บริษัท China Electronic Technology Group Corporation (CETC) บริษัทฉีอันซิ่น (Qi-Anxin) บริษัทหัวเหว่ย (Huawei) บริษัท Phytium Technology และบริษัท Jingjia Micro
สำหรับก้าวต่อไปของการพัฒนา กรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมณฑลหูหนานได้ประกาศ “แผนพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงมณฑลหูหนานภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (ปี 2564-2568)” โดยจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความเป็นอัจฉริยะ ความเป็นดิจิทัล ความเป็นสีเขียว และความผสมผสาน รวมถึงมุ่งเน้นยกระดับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม 3 ประเภท ได้แก่ (1) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงระดับโลก 3 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้าง อุปกรณ์คมนาคมระบบราง และเครื่องยนต์การบินขนาดกลางและขนาดเล็ก (2) คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงระดับประเทศ 3 กลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ วัสดุใหม่ และพลังงานใหม่ (3) ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตดั้งเดิมควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของมณฑล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ 5G และการพิมพ์สามมิติ (3D Printing)
พื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน
ผลสำเร็จสำคัญในช่วงสองปีของการผลักดันให้มณฑลหูหนานกลายเป็นพื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขัน คือ การคว้าอันดับ 8 “ความสามารถทางนวัตกรรมของจีนประจำปี 2565” สูงขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 11 จากการประกาศของคณะทำงานด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมณฑลหูหนานเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรเพื่อรองรับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมถือได้ว่ามณฑลหูหนานไม่เป็นสองรองใคร โดยในปี 2565 มณฑลหูหนานมีเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระดับประเทศรวม 9 แห่ง สูงเป็นอันดับ 5 ของจีน และอันดับ 2 ในภาคกลางของจีน บริษัทด้านเทคโนโลยีขั้นสูงขนาดใหญ่รวม 13,910 บริษัท บริษัทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดเล็กรวม 19,476 บริษัท และมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงขยายตัวร้อยละ 12.7 มากกว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่า GDP มณฑล ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.5 รวมถึงมณฑลหูหนานยังได้เปิดตัวศูนย์ทดสอบขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ทดสอบเยว่ลู่ซาน มุ่งเน้นการวิจัยทางการเกษตร ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมเยว่ลู่ซาน มุ่งเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ศูนย์ทดสอบเซียงเจียง มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ และศูนย์ทดสอบฝูหรง มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการแพทย์และสุขภาพ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมณฑลหูหนานได้ประกาศ “แผนดำเนินงานส่งเสริมบุคลากรด้านนวัตกรรม (2565-2568)” โดยมุ่งเน้นสนับสนุนและบ่มเพาะความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรระดับสูง 3 ประเภท ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์เชิงกลยุทธ์ บุคลากรชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเยาวชนผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมแก่บุคลากรและทำให้หูหนานมีบุคลากรด้านนวัตกรรมเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นแหล่งรวมของบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มณฑลหูหนานสามารถบ่มเพาะบุคลากรจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในระดับมณฑลและระดับประเทศรวมกว่า 3,100 คน
ปัจจุบัน มณฑลหูหนานกำลังก่อตัวกลายเป็นพื้นที่วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่มีความสามารถทางการแข่งขันของจีน โดยกำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในหลายสาขา ยกตัวอย่างเช่น มณฑลหูหนานเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการประยุกต์ใช้ระบบสัญญาณนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่วที่สำคัญของจีน โดยมีฐานอุตสาหกรรมเป๋ยโต่วขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใน 3 เมือง ได้แก่ นครฉางซา เมืองจูโจว และเมืองเยว่หยาง รวมกันเป็นระบบอุตสาหกรรมที่ครบวงจรทั้งด้านการผลิตชิป อุปกรณ์ในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่รับและส่งข้อมูล (Computer Terminal) และการบริการระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่วที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนครฉางซาได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน 8 “เมืองอุตสาหกรรมเป๋ยโต่วระดับประเทศ” ของจีน และถือเป็นหนึ่งในสาม “เขตสาธิตการประยุกต์ใช้ระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่วขนาดใหญ่ของจีน” โดยมีการประยุกต์ใช้ระบบเป๋ยโต่วผนวกเข้ากับสาขาต่าง ๆ เช่น การขับขี่อัจฉริยะ การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เครื่องจักรกลเพื่อการก่อสร้าง การขนส่งพัสดุ และขนส่งมวลชน ปัจจุบัน นครฉางซามีบริษัทด้านอุตสาหกรรมเป๋ยโต่วรวมกว่า 120 บริษัท นอกจากนี้ ในปี 2564 หูหนานยังได้ริเริ่มจัดงานการประชุมสุดยอดนานาชาติว่าด้วยการประยุกต์ใช้ระบบสัญญาณนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่ว ครั้งที่ 1 (1st International Summit on BeiDou Navigation Satellite System (BDS) Applications) ต่อมาในปี 2565 ได้จัดงาน 2022 BDS Application Summit Forum
อุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicles: ICV) ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่มณฑลหูหนานให้ความสำคัญ โดยหูหนานนับเป็นแหล่งอุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะที่สำคัญของจีน มีเขตเมืองใหม่เซียงเจียงซึ่งตั้งอยู่ที่นครฉางซาเป็น “พื้นที่ทดสอบรถยนต์อัจฉริยะแห่งชาตินครฉางซา” (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) ที่ผ่านมามีรถยนต์อัจฉริยะหลายประเภทเข้าไปทดสอบภายในพื้นที่ดังกล่าว เช่น รถแท็กซี่อัจฉริยะ รถบรรทุกอัจฉริยะ รถเมล์อัจฉริยะ และรถทำความสะอาดถนนอัจฉริยะ นอกจากนี้ นครฉางซายังเป็น “เขตนำร่องอินเทอร์เน็ตของรถยนต์” (Internet of Vehicles: IoV) ระดับประเทศแห่งที่ 3 ของจีน ต่อจากเมืองอู๋ซี (มณฑลเจียงซู) และเขตซีชิง (นครเทียนจิน) รวมถึงนครฉางซายังได้รับเลือกเป็นศูนย์ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพรถยนต์อัจฉริยะแห่งชาติ โดยเป็นเมืองในล็อตแรกของจีนที่สามารถอนุมัติแผ่นป้ายทะเบียนรถให้กับผู้ผลิตรถยนต์อัจฉริยะเพื่อทดลองวิ่งบนถนนแบบเปิด ทั้งนี้ ในช่วง 6 ปีของการพัฒนารถยนต์อัจฉริยะ นครฉางซาได้ผสมผสานการพัฒนารถยนต์อัจฉริยะเข้ากับการขนส่งอัจฉริยะ รวมถึงดึงดูดบริษัทที่มีชื่อเสียงเข้ามาร่วมลงทุนและบ่มเพาะบริษัทของมณฑลให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น บริษัท Apollo ของ Baidu บริษัทแชฟฟ์เลอร์ (Schaeffler) บริษัท CiDi (Changsha Intelligent Driving Institute) และบริษัท GoFurther.AI (Changsha Xingshen Intelligent Technology) ปัจจุบัน นครฉางซากลายเป็นแหล่งรวมของบริษัทรถยนต์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (เช่น ชิป (Chip) อัลกอริทึม (Algorithm) บิ๊กดาต้า (Big Data) การสื่อสาร และระบบนำทาง) รวมกว่า 360 บริษัท มูลค่าการผลิตมากกว่า 20,000 ล้านหยวนต่อปี และกำลังก่อตัวกลายเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรถยนต์อัจฉริยะที่สำคัญของจีน
ในด้านวิทยาศาสตร์ทางการเกษตร มณฑลหูหนานเป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวผสม (Hybrid Rice) ที่สำคัญของจีน โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวผสมระดับประเทศที่มีชื่อว่า “China National Hybrid Rice R&D Center (CNHRRDC)” ซึ่งสามารถวิจัยพันธุ์ข้าวผสมให้มีผลผลิตโดยเฉลี่ยสูงกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไปมากกว่าร้อยละ 20 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน จีนมีพื้นที่ปลูกข้าวลูกผสมคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ได้มีการก่อตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีข้าวทนดินเค็ม (Sea-rice) แห่งชาติ” ขึ้นที่นครฉางซา เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวทนดินเค็มให้มีผลผลิตต่อหมู่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน จีนมีพื้นที่ดินเค็มราว 1,500 ล้านหมู่ หรือประมาณ 625 ล้านไร่ จะเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์การเกษตรของมณฑลหูหนานมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารของจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรซึ่งมีมากกว่า 1,400 ล้านคน
พื้นที่ตอนในของจีนที่ปฏิรูปและเปิดกว้างสู่ภายนอก
ในช่วงปี 2564-2565 การค้าระหว่างประเทศของมณฑลหูหนานขยายตัวโดยเฉลี่ยปีละกว่าหนึ่งแสนล้านหยวน โดยในปี 2563 หูหนานมีมูลค่านำเข้า-ส่งออก 487,450 ล้านหยวน ปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 598,850 ล้านหยวน และเพิ่มเป็น 705,820 ล้านหยวน ในปี 2565 ทะลุหลักเจ็ดแสนล้านหยวนเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกัน การค้ากับอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของมณฑลก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างสดใส โดยในปี 2564 หูหนานมีมูลค่าการค้ากับอาเซียน 97,490 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ครองสัดส่วนร้อยละ 16.3 ของมูลค่านำเข้า-ส่งออกทั้งหมดของมณฑล และในปี 2565 การค้าหูหนานกับอาเซียนมีมูลค่า 149,695 ล้านหยวน เติบโตถึงร้อยละ 53.5 และครองสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 21.2 ของมูลค่านำเข้า-ส่งออกทั้งหมดของมณฑล
ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การค้าต่างประเทศของมณฑลหูหนานเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือ การพัฒนาช่องทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยขณะนี้ มณฑลหูหนานมุ่งเน้นดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาช่องทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 5 เส้นทาง ได้แก่ (1) การขนส่งสินค้าทางอากาศ (2) การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟไปยุโรป (3) การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือเฉิงหลิงจี (ด่านท่าเรือบนแม่น้ำแยงซีในเมืองเยว่หยาง) ซึ่งเชื่อมโยงแม่น้ำกับทะเลทางภาคตะวันออกของจีน เช่น นครเซี่ยงไฮ้ (4) การขนส่งสินค้าระบบ “ราง+ทะเล” เช่น การขนส่งสินค้าระหว่างมณฑลหูหนานกับมณฑลกวางตุ้ง (5) การขนส่งสินค้าจากเมืองหวยฮั่วสู่อาเซียน ผ่านระเบียงการค้าระหว่างประเทศบก-ทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) หรืออ่าวเป่ยปู้ของเขตฯ กว่างซี รวมถึงเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ทั้งนี้ ในปี 2565 ช่องทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งห้าแห่งต่างขยายตัวด้วยดี โดยรถไฟขนส่งสินค้าหูหนาน-ยุโรปเปิดเดินรถ 1,063 ขบวน สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน ท่าเรือเฉิงหลิงจีเมืองเยว่หยางมีตู้คอนเทนเนอร์ (ขนาดมาตรฐาน 20 ฟุต) เข้า-ออกรวมกว่า 1 ล้านตู้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.1 รถไฟขนส่งสินค้าระบบ “ราง+ทะเล” ระหว่างมณฑลหูหนานกับมณฑลกวางตุ้งเดินรถ 274 ขบวน และรถไฟขนส่งสินค้าเมืองหวยฮั่ว-อาเซียนเดินรถ 151 ขบวน
อีกหนึ่งปัจจัยที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของการค้าต่างประเทศ คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมณฑลหูหนานได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าและการลงทุนกับกลุ่มประเทศในอาเซียนและแอฟริกาโดยเฉพาะ เช่น การจัดงานเจรจาคู่ค้าสินค้าเกษตรสีเขียวเมืองหวยฮั่ว-อาเซียน ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2565 รวมถึงงานนิทรรศการเศรษฐกิจและการค้าจีน-แอฟริกา (China-Africa Economic and Trade Expo: CAETE) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยจัดมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในปี 2562 และในปี 2564 สำหรับครั้งที่สามคาดว่าจะจัดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566 การส่งเสริมการค้าระหว่างมณฑลหูหนานกับแอฟริกาที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2565 การค้าหูหนาน-แอฟริกามีมูลค่า 55,664 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึงร้อยละ 42.8 และเพิ่มขึ้นจากปี 2561 (ก่อนมีการจัดงานนิทรรศการเศรษฐกิจและการค้าจีน-แอฟริกา) กว่าสามเท่า
ในช่วงสองปีมานี้ มณฑลหูหนานได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง (High Quality Development) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของจีน โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ผนวกเข้ากับ “ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ตลอดจนการพึ่งพาตนเองควบคู่ไปกับการเปิดกว้างสู่ต่างประเทศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลให้เติบโตอย่างมั่นคง โดยในปี 2565 หูหนานมีมูลค่า GDP 4,867,037 ล้านหยวน สูงติดอันดับ 9 ของจีน และ GDP ขยายตัวร้อยละ 4.5 สูงเป็นอันดับ 3 ของจีน การขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลหูหนานที่เป็นไปอย่างสดใสแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การระบาดของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นว่า ในบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการเติบโตของผลผลิตและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
**********************************
แหล่งข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1759129718577330863&wfr=spider&for=pc
http://app.huarong.gov.cn/hrx/33159/37006/37008/37041/37291/content_1921335.html
https://news.cri.cn/n/20221201/4b957948-4bb8-5f52-b754-bc40ff4dbbe5.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1759129152524492511&wfr=spider&for=pc
https://www.cnr.cn/hunan/yw/20230309/t20230309_526176611.shtml
https://cj.sina.com.cn/articles/view/1784473157/6a5ce64502002oek5