ออกบูธ – ช่องทางสร้างธุรกิจไทยในแดนมังกร ประสบการณ์ตัวอย่างจาก China-ASEAN Expo (Video)
6 Nov 2019จัดทำโดย…นางสาววัชราภรณ์ พรหมพินิจ
เรียบเรียงโดย…นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
“ถนนทุกสายมุ่งสู่จีน” วลีคุ้นหูที่อธิบายได้ชัดถึงโอกาสทางการค้าและการลงทุนในประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคนแห่งนี้ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ธุรกิจไหนๆ ก็อยากเข้าไป “ขุดทอง” ในตลาดปราบเซียนอย่างจีน
แม้ว่าการสิ้นสุดยุค “ของถูก ค่าแรงถูก” จะส่งผลให้บทบาท “โรงงานโลก” (World’s Factory) ของจีนดูจะเลือนลางลงในสายตาพ่อค้าและนักลงทุนต่างชาติ แต่ก็เป็นอีกแรงผลักให้นักลงทุนเหล่านี้ต้องปรับกลยุทธ์และนำพาตนเองให้ก้าวผ่านยุค ‘Made in China’ สู่ยุค ‘Made for China’
สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ที่กำลังมองหาลู่ทางเจาะตลาดจีน แพลตฟอร์มหนึ่งที่เป็นจุดนัดพบระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อสินค้าก็คือ “งานแสดงสินค้า” หรือที่เรียกติดปากว่า “งานแฟร์” เพราะเป็นกิจกรรมทางการตลาดที่เห็นผลตอบรับ (และผลตอบแทน) ที่ชัดเจน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) จึงขอนำเสนอ Tips & Tricks ที่น่าสนใจในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศจีน กรณีตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วม “งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน” หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เพื่อนำมาปรับใช้และเตรียมตัวเข้าร่วมงานแฟร์ต่างๆ ในจีนอย่างมั่นใจและได้ผล
ทำไมต้องออกบูธต่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ นอกจากเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักแล้ว การออกบูธเป็นโอกาสที่เราจะได้สำรวจตลาดและพฤติกรรมลูกค้า (พร้อมศึกษาคู่แข่งไปในตัว) คุณสามารถสร้างฐานข้อมูลลูกค้า เก็บข้อมูล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อสร้างความแตกต่าง (uniqueness) รวมทั้งพัฒนาสินค้าและกลยุทธ์การตลาดให้โดนใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ประกอบการที่เก๋าเกม การออกบูธเป็นเวทีที่พวกเขาจะได้อวดศักยภาพสินค้าและบริการ และเป็นโอกาสที่จะได้พบปะพูดคุยและหาคู่ค้าทางธุรกิจ
หลังจากที่ได้คำตอบแล้วว่า ทำไมต้องไปออกบูธต่างประเทศ ก็มาถึงจุดที่เราต้องเตรียมตัวก่อนออกบูธ การเลือกและศึกษารายละเอียดของงานแฟร์เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเพื่อให้ได้งานแฟร์ที่ตอบโจทย์ประเภทสินค้าและกลุ่มเป้าหมายของเรา อย่างงาน China-ASEAN Expo จะเป็นในรูปแบบ B2C หรือเน้นค้าปลีกมากกว่า B2B (ประหนึ่งตลาดนัดสินค้าต่างประเทศ) เป็นงานแฟร์ที่ผู้ประกอบการไทยให้คะแนนความพึงพอใจเต็มสิบ เพราะผู้คนล้นหลามและสินค้าไทยก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
โดยทั่วไป การเข้าร่วมงานแฟร์ในจีนของผู้ประกอบการไทยนอกจากจะต้องเตรียมสินค้าและศึกษากฎระเบียบและข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าที่จะนำมาออกบูธแล้ว ยังมีการบ้านที่ต้องทำอีก เช่น การศึกษาไลฟ์สไตล์และกำลังซื้อของคนท้องถิ่น การเตรียมพร้อมทางด้านภาษา เพราะว่าคนจีนไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ (ล่ามจีน-ไทยหาง่ายมาก เพราะกว่างซีเป็นมณฑลที่มีชาวจีนเรียนภาษาไทยมากที่สุดในจีน) เพื่อให้การติดต่อซื้อขายเป็นไปอย่างราบรื่นและเกิดมิตรภาพจากเพื่อนคู่ค้าใหม่
การจัดบูธต้องใช้พื้นที่ให้คุ้มค่า ชัดเจนในการนำเสนอสินค้า และสะดุดตาผู้เข้าชมงานที่เดินผ่าน (เพื่อให้)สามารถเข้าใจได้โดยง่ายว่า ขายสินค้าอะไร สินค้ามีจุดเด่นอย่างไร ให้คำตอบกับลูกค้าให้ได้ว่า ทำไมถึงต้องเข้าบูธของคุณ
การเตรียมพร้อมด้านการเงินก็เป็นสิ่งสำคัญในยุคสังคมไร้เงินสด คนจีนส่วนใหญ่นิยมใช้ Wechat pay หรือ Alipay ในการชำระเงินมากกว่าการชำระด้วยเงินสด ดังนั้น คุณจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและติดต่อธนาคารผู้ให้บริการในประเทศไทยให้เรียบร้อย แต่ก็ควรเตรียมอุปกรณ์ตรวจธนบัตรปลอมเผื่อไว้ด้วยในกรณีที่ต้องรับเงินสด
มาถึงช่วงการออกบูธ หากจะพูดให้เห็นภาพการออกบูธในงาน China-ASEAN Expo ก็เหมือนการออกรบ ภาพบรรยากาศที่ผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาซื้อหาสินค้าไทยที่คุณต้องขายกันมือเป็นระวิง แต่คุณอย่ามัวนับตังค์จนเพลิน สิ่งสำคัญคือ คุณต้องพยายามเก็บข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์และปรับปรุงให้สินค้าตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น หรือเก็บไว้เพื่อติดต่อกับลูกค้าหลังจบงาน รวมทั้งหาเวลาไปเดินสำรวจรอบๆ เพื่อดูคู่แข่งและใช้เป็นแนวทางในการออกบูธในปีต่อๆ ไป
กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า นอกจากการตบแต่งหน้าร้านแล้ว การเตรียมเทคนิคการนำเสนอหรืออธิบายสินค้าที่ชัดเจน การทำโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมเล็กๆ น้อยๆ เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า หรือการให้ลูกค้าได้ชิมหรือทดลองสินค้าตัวอย่างเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้เข้าชมงานตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น ในยุคที่คนจีนติดโซเชียลค่อนข้างมาก ไม่แน่ว่าร้านหรือสินค้าคุณอาจโด่งดังชั่วข้ามคืนจากการแชะ(ภาพ)และแชร์ในโลกโซเชียลก็เป็นได้
แล้วก็มาถึงตอนอวสานกับภารกิจหลังจบงาน ลองตั้งคำถามว่าสิ่งแรกที่ควรทำหลังจบงานคืออะไร คิดว่าหลายคนคงตอบว่านับตังค์ ไม่ผิดถ้าคุณตั้งธงไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะมาขายของและหอบเงินกลับบ้าน แต่หากมองกันยาวๆ ต้องใช้คำว่า “งานจบ ธุรกิจไม่จบ” รีบสรุปข้อมูลลูกค้าทั้งหมดเพื่อทำเป็นฐานข้อมูล แบ่งระดับความสำคัญในการติดต่อกลับ ส่งอีเมลหรือโทรศัพท์ติดต่อเพื่อนัดหมายพูดคุยดีลธุรกิจกันต่อ และสรุปผลการเข้าร่วมงานว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์หรือไม่ ประสบปัญหาอะไร และมีอะไรที่ควรต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นสำหรับการออกงานในปีถัดไป เพียงแค่นี้ ความสำเร็จในการออกบูธ ทั้งการสร้างยอดขายและสร้างการตระหนักรู้ให้กับสินค้าของคุณในตลาดจีนคงไม่ใช่เรื่องยาก
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ท่านสามารถศึกษาข้อมูลและเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่นๆ โดยสอบถามเงื่อนไข/ข้อกำหนดในการเข้าร่วมงานและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-507 8381
ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องเป็นสมาชิกของกรมฯ ก่อน โดยกรมฯ จะดำเนินการคัดเลือกตามความเหมาะสม ช่วงเวลาสมัครตั้งแต่มกราคม-เมษายนของทุกปี หรือสมัครโดยตรงกับสำนักเลขาธิการงาน CAEXPO ผ่านทางเว็บไซต์ www.caexpo.org (ภาษาจีน/ภาษาอังกฤษ)