“หลินชาง” เมืองชายแดนยูนนาน-เมียนมาผลักดันการเร่งใช้งาน “เส้นทางจีน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดียสายใหม่”
20 Mar 2023ในระหว่างการประชุมสองสภาของจีนประจำปี 2566 ซึ่งประกอบด้วยการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนและการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน ระหว่างวันที่ 4-13 มีนาคม 2566 นอกจากกิจกรรมสำคัญทางการเมืองประจำปีของจีน กล่าวคือ การแถลงผลงานและการประกาศนโยบายสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการประกาศชื่อผู้บริหารประเทศชุดใหม่แล้ว
ยังมีกิจกรรมคู่ขนานที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมในระดับมณฑลที่ผู้แทนระดับมณฑลจะนำเสนอผลงานและนโยบายของแต่ละมณฑลต่อผู้แทนของผู้บริหารประเทศส่วนกลาง รวมทั้งรับฟังข้อชี้แนะจากผู้บริหารประเทศส่วนกลางด้วย
โดยในส่วนข้อเสนอของผู้แทนเมืองหลินชาง ซึ่งเป็นเมืองชายแดนยูนนาน-เมียนมาได้ชูบทบาท การเป็นศูนย์กลางของจีนในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการพัฒนา “เส้นทางจีน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดียสายใหม่” (China-Myanmar-Indian Ocean New Channel)
“เส้นทางจีน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดียใหม่” ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) ที่มุ่งเชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียผ่านเมียนมา และยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor: NILSTC) ที่มุ่งสร้างบทบาทของมณฑลยูนนานในการเป็นทางเลือกใหม่เพื่อเชื่อมโยงมณฑลตอนในออกสู่ทะเลนอกเหนือจากเส้นทางเดิมจากนครฉงชิ่งผ่านเขตฯ กว่างซี
ศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของเมืองหลินชาง
เมืองหลินชางตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของมณฑลยูนนาน ติดกับเขตปกครองตนเองโกก้าง (Kokang Self-Administered Zone) ในรัฐฉานของเมียนมา โดยมีเขตแดนยาว 290.791 กิโลเมตร มีด่านชายแดนระดับชาติ 1 แห่ง ได้แก่ ด่านชิงสุ่ยเหอ ด่านชายแดนระดับมณฑล 2 แห่งชาติ และด่านจุดผ่อนปรนการค้าชายแดน 19 แห่ง นอกจากนี้ ยังมีเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนระดับชาติ 1 แห่งด้วย
ด่านชิงสุ่ยเหอซึ่งเชื่อมกับเมือง Chinshewhaw ของเมียนมา เป็นด่านชายแดนของจีนที่มีมูลค่าการค้าชายแดน (border trade) กับเมียนมาสูงที่สุด และยังเป็นด่านชายแดนของจีนที่มีมูลค่าการค้าทั่วไปกับเมียนมาสูงเป็นอันดับสอง รองจากด่านรุ่ยลี่
ปัจจุบัน ได้มีการเปิดใช้ทางด่วนตลอดสายจากนครคุนหมิงถึงเมืองหลินชางระยะทาง 521.1 กิโลเมตรแล้ว ขณะที่ทางด่วนจากเมืองหลินชางถึง ด่านชิงสุ่ยเหอยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างแต่มีการเปิดใช้บางส่วนแล้ว
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 มณฑลยูนนานได้เปิดใช้เส้นทางรถไฟต้าหลี่-หลินชาง ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากเส้นทางรถไฟคุนหมิง-ต้าหลี่ ให้บริการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถไฟความเร็วสูงใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงเมืองหลินชางประมาณ 4 ชั่วโมง และขนส่งสินค้าด้วยรถไฟธรรมดา โดยสินค้าสำคัญที่ผ่านเข้า-ออกสถานีรถไฟหลินชาง ได้แก่ เฟลด์สปาร์บดผง เยื่อกระดาษ น้ำตาลทราย แผ่นใยไม้อัด แร่เหล็ก ถ่านหิน ธัญพืช และปุ๋ยเคมี เป็นต้น ซึ่งสินค้าบางส่วนได้มีการขนส่งโดยรถบรรทุกเพื่อนำเข้า-ส่งออกเชื่อมกับเมียนมาผ่านด่านชิงสุ่ยเหอด้วย
หนึ่งในสามของระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมาที่มาช้าที่สุด แต่มาแรงที่สุด
ในภาพรวม ปัจจุบันมณฑลยูนนานกำหนดเส้นทางคมนาคมทางบกและรางเชื่อมโยงกับเมียนมา 3 เส้นทาง ได้แก่
(1) ด่านโหวเฉียว ตั้งอยู่ในเมือง (ระดับอำเภอ) เถิงชงในเมืองเป่าซาน เชื่อมกับเมือง Kanpaikti ในรัฐคะฉิ่นของเมียนมา โดยมีการเปิดใช้ทางด่วน ตลอดสายจากนครคุนหมิงถึงด่านโหวเฉียวระยะทาง 686 กิโลเมตรแล้ว ส่วนระบบรางได้มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟช่วงคุนหมิง-ต้าหลี่-เป่าซานแล้วเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 แต่เส้นทางรถไฟช่วงเป่าซาน-โหวเฉียวยังไม่เริ่มก่อสร้าง
(2) ด่านรุ่ยลี่ ตั้งอยู่ในเมืองระดับอำเภอรุ่ยลี่ เขตฯ เต๋อหง เชื่อมกับเมือง Muse ในรัฐฉานของเมียนมา โดยมีการเปิดใช้ทางด่วนตลอดสายจากนครคุนหมิงถึงด่านรุ่ยลี่ระยะทาง 729.50 กิโลเมตรแล้ว ส่วนระบบรางได้มีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟช่วงคุนหมิง-ต้าหลี่-เป่าซานแล้วตามข้อ (1) แต่เส้นทางรถไฟช่วงเป่าซาน-รุ่ยลี่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ภายในปี 2567
(3) ด่านชิงสุ่ยเหอ ตั้งอยู่ในอำเภอเกิ๋งหม่า เมืองหลินชาง เชื่อมกับเมือง Chinshewhaw ในรัฐฉานของเมียนมา ทั้งนี้ แม้ว่าเมืองหลินชางและด่านชิงสุ่ยเหอจะได้รับการกำหนดบทบาทให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงมณฑลยูนนานกับเมียนมาหลังสุดในบรรดาสามเส้นทางภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) แต่กลับมีพัฒนาการมากที่สุดและมีความคืบหน้าเร็วที่สุด โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าหลายรูปแบบ “ทะเล-ถนน-ราง” ภายใต้แนวคิด “เส้นทางจีน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดียสายใหม่” ที่เริ่มต้นจากการทดลองขนส่งในเส้นทาง “สิงคโปร์-เมียนมา-หลินชาง-เฉิงตู” เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 จากนั้น ได้พัฒนาเป็นเส้นทางการขนส่งหลายรูปแบบทั้ง “ทะเล-ถนน-ราง” และ “ถนน-ราง” ในเส้นทาง “ฉงชิ่ง-หลินชาง-เมียนมา” “เฉิงตู (เต๋อหยาง)-หลินชาง-เมียนมา” และ “เซินเจิ้น-หลินชาง-ย่างกุ้ง-อินเดีย” โดยนับถึงปัจจุบันมีปริมาณการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 1,000 ตู้ TEU
เปลี่ยนเมืองหลินชางจาก “เมืองชายขอบ” เป็น “เมืองศูนย์กลาง” มองไกลถึงยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง
โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) ยังมีแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมา ประกอบด้วย เส้นทาง “รุ่ยลี่ (จีน)-มูเซ (เมียนมา)-มัณฑะเลย์-ท่าเรือจ้าวผิวก์ในรัฐยะไข่” และเส้นทางแยก “มัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง” ซึ่งปัจจุบัน ได้ยื่นผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในช่วง “มูเซ-มัณฑะเลย์” ให้แก่กระทรวงคมนาคมของเมียนมาแล้ว ขณะที่โครงการในช่วง “มัณฑะเลย์-จ้าวผิวก์” ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้
สำหรับเมืองหลินชางเอง หากมีการสร้างเส้นทางรถไฟส่วนต่อขยายช่วง “หลินชาง-ชิงสุ่ยเหอ” รวมทั้งเส้นทางรถไฟเชื่อมเข้าไปในเมียนมาในอนาคตก็สามารถบรรจบกับเส้นทางรถไฟช่วง “มูเซ-มัณฑะเลย์” และเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายเส้นทางรถไฟจีน-เมียนมาได้ต่อไป
แนวคิดการสร้าง “เส้นทางจีน-เมียนมา-มหาสมุทรอินเดียสายใหม่” จะช่วยพลิกบทบาทของเมืองหลินชาง จาก “เมืองชายขอบ” ให้เป็น “เมืองศูนย์กลางการขนส่งระหว่างประเทศ” โดยเป็นเสมือน “แขน” อีกข้างของยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (NILSTC) ในการเชื่อมมณฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งสามารถลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากจีนไปยังจุดหมายปลายทางในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ได้อย่างน้อย 20 วัน หรือคิดเป็นระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งตามเส้นทางดั้งเดิมทางท่าเรือในนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลกวางตุ้ง หรือเขตฯ กว่างซี
ที่มา: http://yn.yunnan.cn/system/2023/03/09/032499181.shtml
http://www.bulletin.cas.cn/zgkxyyk/ch/reader/view_abstract.aspx?file_no=2022Y027&flag=1