หลากมุมมองกับโอกาสสินค้าไทยบนเส้นเศรษฐกิจ “R3A+” กรุงเทพฯ- คุนหมิง-เฉิงตู ตอนที่ 2
22 Jan 2016เข้าสู่ไทยที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย เข้าพบ สำนักงานพาณิชย์ฯ และหอการค้าฯ จังหวัด
ในที่สุด คณะฯ ได้เดินทางมาถึงปลายทางของการสำรวจลงพื้นที่เส้นทางขนส่ง R3A นั่นก็คือ“ด่านเชียงของ” จ.เชียงราย (โดยนั่งรถข้ามสะพานมิตรภาพไทยลาวที่ 4) ซึ่งเป็นประตูทางออกของไทยในการส่งออกสินค้าไปจีน และเป็นประตูทางเข้าสู่ไทยในการนำเข้าสินค้าจากจีนผ่าเส้นทาง R3A ปัจจุบัน ด่านศุลกากรเชียงของมีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานด้านการตรวจคนเข้าเมืองได้อย่างดี
|
คณะฯ เดินทางถึง จ.เชียงราย และเข้าพบเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการค้าการลงทุน ได้แก่ สนง.พาณิชย์ จ.เชียงราย และหอการค้า จ.เชียงราย เพื่อหารือโอกาสในการผลักดันสินค้าไทยคุณภาพไปจีนโดยใช้เส้นทางขนส่ง R3A
นางณัฐพร มหาไพบูลย์ รอง ผอ.พาณิชย์ จ.เชียงราย กล่าวว่า “เชียงรายเป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของไทย เป็นประตูชายแดนที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ และปัจจุบันเชียงรายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของไทยบนเส้นเศรษฐกิจ R3A เราจึงต้องอาศัยความได้เปรียบจากจุดนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
“สินค้าเกษตรของจังหวัดเชียงรายที่มีศักยภาพส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวออร์แกนิก ชา กาแฟ ลำไย และสัปปะรดภูแล สำหรับสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีน คือ ข้าวหอมมะลิและสัปปะรดภูแล ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงรายใช้เส้นทางขนส่งทางบก R3A เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าไปจีน เพราะสะดวก รวดเร็วและคุ้มค่า”
“เส้นทาง R3A นอกจากจะสร้างประโยชน์ทางด้านการส่งออกให้กับจังหวัดเชียงรายแล้ว ยังช่วยผลักดันภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายให้เฟื่องฟู โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนเริ่มใช้เส้นทาง R3A เพื่อเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น และต้องผ่านจังหวัดเชียงรายของเราก่อนที่จะไปท่องเที่ยวจังหวัดอื่นๆ”
นายเกษม เตชไตรรัตน์ เลขาธิการหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า “หลังจากเส้นทาง R3A เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงรายส่วนใหญ่หันไปทำธุรกิจด้านขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าไปจีนโดยเส้นทางขนส่ง R3A อาทิ บริษัทขนส่งเกวลี บริษัทขนส่งดอยตุง (สองบริษัทขนส่งโลจิสติกส์รายใหญ่ของไทย) ซึ่งสินค้าไทยที่ขนส่งไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรที่มาจากทั่วทุกภาคของไทย เช่น กล้วยไข่จากจังหวัดจันทบุรี ส้มโอจากจังหวัดพิจิตร ลำไยจากจังหวัดเชียงใหม่”
“ปัจจุบันเส้นทาง R3A ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์ การคมนาคมขนส่งสะดวกและรวดเร็ว ไม่เป็นปัญหาต่อผู้ประกอบการในการขนส่งสินค้าไปจีน แต่ทว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้ประกอบการพบเจอคือ คู่ค้าที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ มีกลโกงแยบยลทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยถูกฉ้อโกงจนเกิดความเสียหาย”
ภาพบน คณะฯ ประชุมหารือกับ สนง.พาณิชย์ จ.เชียงราย
ภาพล่าง คณะฯ ประชุมหารือกับ หอการค้า จ.เชียงราย
สัมภาษณ์ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงราย ผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปนครเฉิงตู
นายพศิน อุตวงค์ เจ้าของแบรนด์ “Mandarin Best (蜜桔)” นักธุรกิจหนุ่มที่มีมุมมองแนวทางการทำธุรกิจที่น่าสนใจ นับเป็นอีกหนึ่งคลื่นลูกใหม่แห่งวงการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยคุณพศินฯ ให้สัมภาษณ์กับทางคณะฯ ว่า
“หลังจากที่ผมจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเสฉวนประมาณครึ่งปี ผมจึงตัดสินใจรับไม้ต่อธุรกิจของครอบครัวและเริ่มลงมือประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างไทย-จีนด้วยตนเอง โดยมีคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจและผู้ให้คำปรึกษา”
“ผมเริ่มต้นด้วยการส่งออกเผือกและมังคุดไปตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจว (ขนส่งทางน้ำ) ต่อด้วยการส่งออกส้มโอและลำไยไปตลาดซื่อหม่าเฉียว (ปัจจุบันคือตลาดเหมิงหยาง) นครเฉิงตู (ขนส่งทางบก R3A+ กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู) ขณะเดียวกันได้นำเข้าส้มแมนดารินจากจีนไปจำหน่ายในประเทศไทย (ขนส่งทางบก R3A) โดยตลอด 4 ปีที่ประกอบธุรกิจพบเจอกับปัญหานานาประการ ทั้งขาดทุน สินค้าบอบช้ำไม่ได้คุณภาพ โดนฉ้อโกงราคาสินค้า ฯลฯ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ได้กลับมาคือประสบการณ์อันล้ำค่าที่ไม่มีในตำราเรียน”
“ปัจจุบันตลาดจีนมีความต้องการผลไม้ไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่เศรษฐกิจเติบโตและประชาชนค่อนข้างมีฐานะ ได้แก่ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว รวมทั้งตลาดที่มาแรงในจีนตะวันตกอย่าง ‘นครเฉิงตู’ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2558 ผมได้เข้าร่วมงาน “สัปดาห์ผลไม้ไทย” นครเฉิงตู 2558 ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง นครเฉิงตู และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการผลไม้ไทยขึ้นกล่าวบนเวที”
ต่อข้อสักถามเกี่ยวกับปัญหาของการขนส่งสินค้า คุณพศินฯ ให้ข้อมูลว่า “การขนส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาว จำเป็นต้องผ่านกระบวนการเปิดตู้คอนเทนเนอร์เพื่อสุ่มตรวจสินค้า และรอขนถ่ายสินค้าหรือเปลี่ยนหัวรถที่ลานใกล้ด่านบ่อเต็น บางครั้งส่งผลให้เกิดความไม่คล่องตัวในการขนส่งสินค้าและเป็นสาเหตุก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา ได้แก่ ปัญหาต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นเนื่องจากต้องจ้างแรงงานมาขนถ่ายสินค้า การเสียเวลาในการขนถ่ายสินค้า และที่สำคัญคือในระหว่างการขนถ่ายสินค้าอาจทำให้สินค้าบอบช้ำซึ่งส่งผลกระทบถึงคุณภาพของสินค้า”
สำหรับมุมมองที่มีต่อตลาดนครเฉิงตู คุณพศินฯ มองว่า “นครเฉิงตู เป็นเมืองที่ไม่เคยหยุดการพัฒนา เป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่และมีศักยภาพที่สุดในจีนตะวันตก กอปรกับการเปิดใช้เส้นทางขนส่ง R3A และต่อไปยังนครเฉิงตู ซึ่งกลายเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่ผู้ส่งออกของไทยใช้ขนส่งสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้เข้าสู่จีนตะวันตกโดยตรง สร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกทั้งชาวไทยและชาวจีน”
“ผู้บริโภคชาวเฉิงตูกล้าใช้เงิน มีกำลังซื้อสูง ชอบสินค้าคุณภาพและรสนิยมต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก โดยธุรกิจการส่งออกผลไม้ไทย (ส้มโอและลำไย) มายังตลาดเฉิงตูของผมโดยใช้เส้นทาง R3A และต่อไปยังนครเฉิงตู ถือว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ และในตอนนี้ผมกำลังเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในตลาดเฉิงตู เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดแห่งนี้ยังมีความต้องการผลไม้ไทยอีกเป็นจำนวนมาก”
“สมัยนี้ การทำธุรกิจยากขึ้น เนื่องจากคู่แข่งทางการค้ามีมากขึ้น เราจึงต้องตื่นตัวและปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอยู่ตลอดเวลา โดยผมให้แนวทางการประกอบธุรกิจกับตัวเองไว้ว่า ‘อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ’ ต้องไปลงพื้นที่จริงและพยายามเรียนรู้ภาพรวมของตลาดเป้าหมายให้มากที่สุด นอกจากนี้ ต้องนำมุมมองความคิดทางธุรกิจของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่มาบูรณาการเข้าด้วยกัน จึงจะเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ของตนเองที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ”
ภาพซ้าย คุณพศินฯ เป็นตัวแทนนักธุรกิจไทยขึ้นกล่าวในงาน “สัปดาห์ผลไม้ไทย” นครเฉิงตู 2558
ภาพขวา คณะฯ สัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับน้องพศินฯ
จากการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของ จ.เชียงราย พบว่า ผู้ประกอบการไทยเริ่มรู้จักและให้ความสนใจตลาดนครเฉิงตูมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนครเฉิงตูมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในทุก ๆ ด้าน อีกทั้งผู้บริโภคชาวเฉิงตูต่างมีกำลังทรัพย์และมีศักยภาพในการซื้อ นครเฉิงตูจึงเป็นเป้าหมายใหม่ในการขยายธุรกิจของไทย โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไทย ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐของไทยก็พยายามประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับนครเฉิงตูอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งจากไทยสู่จีนตะวันตก (กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู) เพื่อให้ภาคเอกชนและผู้ประกอบการของไทยมีความเข้าใจ และสร้างโอกาสให้กับสินค้าไทยคุณภาพส่งออกสู่ตลาดเฉิงตูมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ผู้แทนหอการค้าเชียงรายได้แสดงความสนใจในตลาดนครเฉิงตู โดยให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ทางเชียงรายมีโครงการร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ทำวิจัยและศึกษาแนวทางส่งข้าวไปยังนครเฉิงตู และในอนาคตจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทอื่นด้วย เนื่องจากเชียงรายมีสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปหลายรายการซึ่งน่าจะตรงกับความต้องการของชาวจีน
เดินทางมุ่งหน้าสู่ จ.เชียงใหม่ เมืองพี่เมืองน้องของนครเฉิงตู เข้าพบ ผู้แทน สนง.พาณิชย์ฯ และหอการค้าฯ จังหวัด
คณะฯ ได้เข้าพบกับผู้แทน สนง.พาณิชย์ จ.เชียงใหม่ และผู้แทนหอการค้า จ.เชียงใหม่ เพื่อหารือถึงโอกาสในการขยายการค้าและขยายลงทุนผ่านเส้นเศรษฐกิจ R3A ให้กับผู้ประกอบการของไทย
นางขวัญนภา ผิวนิล ผอ.สคร.จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “เส้นทางขนส่ง R3A ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรทั้งชาวไทยและชาวจีน ซึ่งอาศัยเส้นทางสายนี้เป็นหลักในการขนส่งแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน
“ปัจจุบัน ผู้ประกอบการจังหวัดเชียงใหม่มีการส่งออกสินค้าเกษตรจำนวนมากไปจีนโดยผ่านเส้น R3A ไปถึงที่นครคุนหมิง และมีการขนส่งสินค้าจำนวนหนึ่งผ่านเส้นทาง R3A และต่อไปยังนครเฉิงตู สู่ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง นครเฉิงตู สำหรับสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพของ จ.เชียงใหม่ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ลำไย ลิ้นจี่ มะขาม มะม่วงน้ำดอกไม้ รวมทั้ง ผลไม้กระป๋องและสินค้าเกษตรแปรรูป”
“จีนมีประชากรจำนวนมาก ทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะที่ นครเฉิงตูและจังหวัดเชียงใหม่ได้สถาปนาเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน ซึ่งเราจะอาศัยความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นสื่อกลางในการผลักดันสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าจากจังหวัดเชียงใหม่ให้ไปปรากฎและเป็นที่รู้จักต่อชาวเฉิงตูมากขึ้น เพื่อโอกาสและช่องทางการส่งออกสินค้าไทยไปจีนในอนาคตโดยใช้เส้นทางขนส่ง R3A (กรุงเทพฯ-คุนหมิง) และต่อไปยังนครเฉิงตู”
นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานกรรมการหอการค้า จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า “ผู้ประกอบการ จ.เชียงใหม่ส่วนใหญ่ส่งออกสินค้าบริโภคเป็นหลัก โดยหลายปีที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกสินค้าไปจีนสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทข้าวและผลไม้ซึ่งขนส่งผ่านเส้นทางบก R3A ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนยังคงมีปริมาณที่ค่อนข้างน้อย”
“ตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยไปจีนสูงขึ้น เป็นผลมาจากการเปิดใช้เส้นทางขนส่ง R3A ที่สะดวกและรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาจากเส้นทางการขนส่งสายนี้ เช่น สินค้าไทยถูกกักที่ด่านตรวจเป็นเวลานานทำให้สินค้าสดเกิดความเสียหาย รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่มีความรู้ด้านขนส่งโลจิสติกส์ยังไม่เพียงพอ จึงถูกกลโกงทำให้การขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้าและต้องเสียค่าชดเชย”
“ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่และนครเฉิงตู ได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกัน จึงเป็นโอกาสที่ดีของจังหวัดเชียงใหม่ในการผลักดันภาคการค้าระหว่างประเทศผ่านเส้นเศรษฐกิจ R3A (กรุงเทพฯ-คุนหมิง) และต่อไปยังนครเฉิงตู เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยในนครเฉิงตู รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวตลาดจีนที่มีศักยภาพสูงโดยใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A เช่นเดียวกัน”
ข้อมูลเพิ่มเติม จ.เชียงใหม่และนครเฉิงตูได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 โดยมีนายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น และนายถัง เหลียงจื้อ นายกเทศมนตรีนครเฉิงตูและรองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์นครเฉิงตู เป็นผู้แทนร่วมลงนาม |
จากการพูดคุยกับผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จ.เชียงใหม่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์กับนครเฉิงตูในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจาก ปัจจุบัน จ.เชียงใหม่และนครเฉิงตูได้สถาปนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง ทำให้การส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น สำหรับภาคเอกชนเชียงใหม่รู้จักตลาดเฉิงตูในระดับหนึ่ง และผู้ประกอบการหลายรายเคยไปออกร้านแสดงสินค้าที่เฉิงตูมาบ้างแล้ว ปัจจุบัน หอการค้าเชียงใหม่มีกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง และกำลังสนับสนุนนักธุรกิจรุ่นใหม่ให้มามีบทบาทในการค้าระหว่างประเทศ และต้องการให้หน่วยงานไทยที่ตั้งอยู่ในเฉิงตูประชาสัมพันธ์ข่าวการแสดงสินค้า หรือหาแนวทางที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่จัดกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในนครเฉิงตูให้มากขึ้น
|
ภาพบน คณะฯ ประชุมหารือกับ ผู้แทนสนง.พาณิชย์ จ.เชียงใหม่
ภาพล่าง คณะฯ ประชุมหารือกับ ผู้แทนหอการค้า จ.เชียงใหม่
ในการหารือกับภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย นางจิตนิภา หวังเชิดชูวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ ณ นครเฉิงตู ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเฉิงตูว่า “เฉิงตูเป็นตลาดใหม่ที่ใหญ่และมีศักยภาพมากที่สุดในจีนตะวันตก ชาวเมืองชอบจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่างประเทศ สินค้าไทยได้รับความนิยมหลายรายการ เช่น ผลไม้ ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ขณะนี้ สำนักงานฯ กำลังผลักดันสินค้าสุขภาพ สินค้าออแกนิกส์เข้าสู่จีน เพราะจีนกำลังให้ความสนใจกับสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องมีความพร้อมด้านใบรับรองสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำแพ็คเกจสินค้าให้สวยงาม เมื่อสินค้ามีคุณภาพและมีแพ็คเกจที่สวยงามแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนจะให้ความสนใจอย่างแน่นอน หากมีโอกาสนำสินค้าไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จีนจะดีมาก เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองและจะได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน รวมถึงได้มีช่องทางหาคู่ค้าและสร้างพันธมิตรกับชาวจีนด้วย”
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ศูนย์ฯ ยินดีให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการไทยที่สนใจตลาดนครเฉิงตู โดยที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้พยายามเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยรายใหม่ ๆ ได้เข้ามาลองตลาดในนครเฉิงตู ผ่านงานเทศกาลไทยซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี และผู้ประกอบการหลายรายประสบความสำเร็จในการต่อยอดการจำหน่ายสินค้าจากงานนี้”
จากการหารือกับภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่มีการปรับตัวและกระตือรือร้นอย่างมากที่จะ “ก้าวออกมา” แสวงหาโอกาสทางการค้าโดยใช้ประโยชน์ตามเส้นทาง R3A+ กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยยังคงห่วงกังวลคือ การหาคู่ค้าที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้ รวมทั้งได้รับการชี้แนะช่องทางการค้าและการส่งเสริมจากภาครัฐด้วย
นอกจากนี้ คณะฯ ได้เดินทางไปพบกับ ดร.ณพศิษฎ์ จักรพิทักษ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ม.เชียงใหม่ อาจารย์ดนัยธัญ พงษ์พัชรธรเทพ อาจารย์ ม.เชียงใหม่ ผู้ที่เคยศึกษาและลงพื้นที่สำรวจเส้นทางขนส่ง R3A และต่อไปถึงนครเฉิงตู และนายวินิตย์ ขันดี เจ้าของบริษัท 10.ดี.อินเตอร์ฟู้ด ผู้ประกอบการส่งออกลำไยรายใหญ่ของ จ.เชียงใหม่ เพื่อเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์เกี่ยวกับการนำเข้าผลไม้ไทยผ่านเส้นทาง R3A
อาจารย์ดนัยธัญฯ ให้ความเห็นว่า “เมื่อ 3 ปีก่อนผมได้เดินทางสำรวจการขนส่งผลไม้ผ่านเ้ส้นทาง R3A และเมื่อปีที่ผ่านมาผมได้สำรวจอีกครั้งแต่เป็นการขนส่งข้าวไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือ ด่านตรวจสอบสินค้าบ่อหาน (จีน) มีระบบการตวจสอบสินค้าที่สะดวกคล่องตัวมากกว่าเดิม และปัจจุบันบริษัทด้านขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มจำนวนมากขึ้น”
“R3A มีจุดเด่น 3 ประการ คือ 1) เส้น R3A เป็นเส้นทางขนส่งระหว่างไทยและจีนที่สั้นและรวดเร็วที่สุดในการขนส่งผลไม้สดจากไทย ซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพของผลไม้สดได้ดีที่สุด 2) มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตลาดเป้าหมายตามการเปลี่ยนแปลงของราคาและความต้องการผลไม้สดของตลาด และ 3) ครอบคลุมทั้งตลาดจีนตอนใต้บนเส้น R3A มีนครคุนหมิงเป็นศูนย์กลางและตลาดจีนตะวันตกบนเส้นกรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู ซึ่งมีนครเฉิงตูเป็นจุดศูนย์กลาง”
“จุดด้อยของเส้น R3A คือ การเปลี่ยนหัวรถและเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ลานเปลี่ยนถ่ายสินค้าด่านบ่อเต็น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพของผลไม้ อีกทั้งเพิ่มต้นทุนค่าขนส่งเนื่องจากต้องจ้างแรงงานในการขนถ่ายสินค้า และสิ้นเปลืองเวลาส่งผลกระทบถึงราคาผลไม้ที่อาจเปลี่ยนแปลง”
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของเส้นทาง R3A ผมมองว่า “รัฐบาลทั้งไทยและจีนจะร่วมกันหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเส้นทาง R3A ตลอดจนหาวิธีการขจัดปัญหาและอุปสรรคทั้งในเชิงกายภาพและกฎระเบียบต่างๆ ให้หมดไป เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งบนเส้นทาง R3A และส่งเสริมภาคการค้าระหว่างประเทศไทย-จีนให้เติบโตขึ้น”
ภาพ คณะฯ ประชุมหารือกับอาจารย์ ม.เชียงใหม่ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย
นายวินิตย์ ขันดี เจ้าของบริษัท 10.ดี.อินเตอร์ฟู้ด ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองว่า “ผมดำเนินธุรกิจส่งออกลำใยไปจีนมากว่า 20 ปี พบเจอการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดคือ การเปิดตัวของเส้นทางขนส่งทางบก R3A ที่วงการผู้ประกอบการส่งออกของไทยต่างให้ความสำคัญและยอมรับศักยภาพของเส้นทางขนส่งสายนี้”
“หลายปีมานี้ ผมขนส่งผลไม้ไปจีนโดยใช้เส้นทาง R3A สู่นครคุนหมิงเป็นหลักซึ่งทั้งสะดวกและรวดเร็ว (เส้นรองคือขนส่งทางน้ำไปที่ตลาดเจียงหนาน นครกว่างโจว) อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของเส้นทางขนส่ง R3A คือ ค่าภาษีและค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ปัจจุบัน การขนส่งโลจิสติกส์ไม่ใช่ปัญหาของการค้าระหว่างประเทศ ตอนนี้นักธุรกิจต้องแข่งขันกันในด้านของผลิตภัณฑ์ แพ็กเก็จและคุณภาพของสินค้า ทำอย่างไรจึงจะให้ผู้บริโภคพอใจและได้รับสินค้าที่ดีที่สุด และทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้การค้าโดยวิธีใหม่ ๆ เช่น อี-คอมเมิร์ช ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
คุณวินิตย์ฯ มองว่า “เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง กอปรกับ เส้นทางการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ส่งออกสินค้าจีนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้โอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดสินค้าไทยในจีนยังคงเปิดกว้าง โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไทย”
เส้นทาง R3A+ ประหยัดเวลาและสะดวกในการขนส่งสินค้ามานครเฉิงตู
มังคุด ทุเรียน กล้วยไข่ ลำไย มะพร้าว เป็นส่วนหนึ่งของผลไม้ไทยที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในนครเฉิงตูที่ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง นครเฉิงตู ผ่านเส้นทาง R3A+ ปัจจุบัน เส้นทาง R3A+ เป็นช่องทางการขนส่งสินค้าเกษตรจากไทยและสินค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนที่สำคัญสู่นครเฉิงตู และจะกระจายสินค้าต่อไปยังเมืองอื่นในภาคตะวันตกและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ระยะทางการขนส่งประมาณ 918 กม.ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากไทยมาถึงนครเฉิงตูประมาณ 3-5 วัน
|
ก่อนหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูจะจัดคณะฯ เดินทางสำรวจเส้นทางขนส่ง R3A นั้น เมื่อวันที่ 7-15 กรกฎาคม 2558 คณะกรรมการพาณิชย์นครเฉิงตู ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการสินค้าปลีก นครเฉิงตู ศูนย์การจัดแสดงสินค้าเกษตรนานาชาติ มณฑลเสฉวน และสมาคมผู้ผลิตและผู้ค้าผัก เมืองเผิงโจว มณฑลเสฉวน จัดงาน“สัปดาห์ผลไม้ไทย ณ นครเฉิงตู 2558” ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู เป็นหน่วยงานสนับสนุน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเส้นทางโลจิสติกส์ R3A+ ในการขนส่งสินค้าเกษตรของไทยและสินค้าอื่น ๆ ตลอดจนผลักดันการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือของผู้ประกอบการสินค้าเกษตรของไทยและจีน สร้างเวทีร่วมมือทางการค้าโดยอาศัยอานิสงส์จากเส้นทางโลจิสติกส์ R3A+ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในโอกาสนี้ เรือโทโกเมศ กมลนาวิน กงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดงานฯ และขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดงานฯ ด้วย
เจ้าหน้าที่ของกรมพาณิชย์นครเฉิงตู ต่างยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทาง R3A+ ถือว่าคุ้มค่าและประหยัดเวลามากทีเดียวและจะทำให้ผลไม้ไทยและผลไม้จากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีวางจำหน่ายมากขึ้นในตลาดนครเฉิงตู อีกทั้งผลไม้ดังกล่าวยังจะสามารถกระจายจำหน่ายไปทั่วจีนได้อีกด้วย ซึ่งระบบเส้นทางโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า R3A+ จะเป็นช่องทางการเชื่อมโยงระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด
“การขนส่งผลไม้ไทยผ่านเส้นทาง R3A+ (กรุงเทพ-คุนหมิง-เฉิงตู) จะประหยัดต้นทุนการขนส่งกว่าการขนส่งทางอากาศถึง 30% และประหยัดเวลากว่าการขนส่งทางน้ำถึง 15-17 วันเลยทีเดียว”
|
สินค้าเกษตรไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นในนครเฉิงตู
ผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ไทยชาวจีนรายหนึ่งในนครเฉิงตูให้ข้อมูลว่า “ผลไม้ไทยมีมากมายหลายชนิดและที่สำคัญมีจำหน่ายอยู่ตลอดทั้งปี อีกทั้งมียอดการจำหน่ายที่มั่นคง ซึ่งหลังจากเส้นทางขนส่งสินค้า R3A เปิดใช้บริการ ต้นทุนการขนส่งผลไม้และสินค้าอื่นๆ จากไทยลดลงกว่า 30% ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 8-9% และเวลาการขนส่งสินค้าที่สั้นลงทำให้ผลไม้คงคุณภาพและความสดใหม่ซึ่งถือเป็นเป็นปััจจัยสำคัญดึงดูดผู้บริโภคให้มาเลือกซื้อมากขึ้น”
“นอกจากนี้ ผลไม้ไทยที่ขนส่งมายังนครเฉิงตูยังสามารถกระจายจำหน่ายไปยังมณฑลและเมืองที่ใกล้กับนครเฉิงตู ได้แก่ เมืองเหมียนหยาง เมืองอี๋ปิน นครฉงชิ่ง นครกุ้ยหยาง นครซีอันและนครหลายโจว เป็นต้น ทำให้นครเฉิงตูเลื่อนระดับขึ้นกลายเป็นศูนย์กลางจำหน่ายและกระจายสินค้าเกษตรแห่งจีนตะวันตก”
สถิติของกรมพาณิชย์นครเฉิงตู ระบุว่า สถิติการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศไทยในปี 2557 มีมูลค่าทั้งสิ้น 12,560,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 72% ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 10,880,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ถึง 75% และมีมูลค่าการนำเข้า 1,690,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 52%
ตั้งแต่เดือน ม.ค.- พ.ค.2558 การนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างนครเฉิงตูกับประเทศไทย มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 8,810,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 77% ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 6,790,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 41% และมีมูลค่าการนำเข้าที่ 2,020,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 85%
|
ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรเหมิงหยาง ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรที่ใหญ่สุดในจีนตะวันตก ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปี 2557 ตลาดค้าส่งฯ ได้จำหน่ายผลไม้นำเข้าทั้งสิ้น 244,000 ตัน โดยเป็นผลไม้นำเข้าจากประเทศไทยมากถึง 53,000 ตัน คิดเป็น 21.5% ของปริมาณการจำหน่ายผลไม้นำเข้าทั้งหมด และคิดเป็น 66% ของปริมาณการจำหน่ายผลไม้นำเข้าที่มาจากประเทศในอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าจำหน่ายราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2558 มีการจำหน่ายผลไม้นำเข้าประมาณ 150,000 ตัน ซึ่งเป็นผลไม้ไทยจำนวน 48,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนที่ 32% และมูลค่าการจำหน่ายทั้งสิ้น 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดกันว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 จะมียอดการจำหน่่ายผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศไทย
ผู้รับผิดชอบในกรมพาณิชย์นครเฉิงตู วิเคราะห์ว่า “จากสถิติตัวเลขการนำเข้าผลไม้ต่างชาติของนครเฉิงตูในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 ขยายตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลไม้ไทยที่ชาวเฉิงตูโปรดปรานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ กล้วยไข่ รองลงมาได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุดและส้มโอ”
“นครเฉิงตู คือ หนึ่งในจุดพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของนโยบาย One Belt-One Road ของจีน ดังนั้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A+ (กรุงเทพ-คุนหมิง-เฉิงตู) ให้มากที่สุด โดยรัฐบาลนครเฉิงตูตั้งเป้าที่จะสร้างระบบการขนส่งสินค้าเกษตรข้ามประเทศผ่านเส้นทางบกโดยใช้เส้นทาง R3A+ เป็นจุดศูนย์กลาง เพื่อยกระดับให้นครเฉิงตูกลายเป็นเมืองหน้าด่านของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอนาคต” ผู้รับผิดชอบในกรมพาณิชย์นครเฉิงตูย้ำ
บทส่งท้าย
จากการสำรวจและสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องตามเส้นทางขนส่ง R3A+ (กรุงเทพฯ-คุนหมิง-เฉิงตู) ทำให้เราเห็นว่า R3A+ จะมีบทบาทการเป็นเส้นทางขนส่งทางบกที่มีความสำคัญทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือตอนบนของไทยกับจีนตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งเส้นทาง R3A+ กำลังขยายบทบาทมากยิ่งเพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์ “One Belt-One Road” ของจีน ซึ่งนครเฉิงตูพยายามสร้างบทบาทให้โดดเด่นในการเชื่อมโยงกับไทยผ่านเส้นทาง R3A+ ภายใต้นโยบายนี้
จะเห็นได้ว่า นครเฉิงตูมีความพร้อมกระตือรือร้นและพร้อมรับการนำเข้าสินค้าไทยผ่าน R3A+ ดังนั้น R3A+ จะเป็นอีกเส้นทางการค้าทางบกที่มีศักยภาพในการช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าคุณภาพของไทยโดยเฉพาะผลไม้ไปยังจีนตะวันตก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถใช้เส้นทางโลจิสติกส์ดังกล่าวขนส่งสินค้าเข้าไปขยายตลาดสินค้าไทยในภาคตะวันตกของจีน โดยนครเฉิงตูเป็นจุดศูนย์กลางที่มีตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง และจุดกระจายสินค้าไทยไปยังเมืองรองอื่น ๆ ในมณฑลเสฉวน รวมถึงมหานครฉงชิ่ง และมณฑลตอนในของจีน
นอกจากนี้ เส้นทาง R3A+ จะเป็นเส้นทางที่ช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของไทย โดยประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวเฉิงตูและชาวนครฉงชิ่ง
หลายคนเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “สินค้าจะเดินหน้าต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง” ตอนนี้ระบบขนส่งโลจิสติกส์เชื่อมไทยกับนครเฉิงตูพร้อมแล้ว ผู้ประกอบการไทยทุกท่านเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง
จัดทำโดย นายธวัช มหิตพงษ์
นางสาวหฤทัย ใจน้อย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครเฉิงตู
แหล่งที่มา การลงพื้นที่สำรวจเส้นทางขนส่งสาย R3A+ (นครเฉิงตู-จ.เชียงใหม่)
ระหว่างวันที่ 16 – 23 กันยายน 2558