ส่องโอกาสสตาร์ทอัปไทย เมื่อนครหนานหนิงรุก ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เปิดตัวนิคมดาวเทียมและภูมิสารสนเทศเชิงพาณิชย์
3 Feb 2023
เขียนโดย นางสาวเนตรนภา บุญมา
เรียบเรียงโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
หลายท่านอาจยังไม่รู้จักหรือทราบว่า… เทคโนดลยีเหนือพื้นโลกได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตและการทำงานของเราได้มากขนาดไหน บทความฉบับนี้ บีไอซี จะขอนำผู้อ่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ Space Economy ในภาคส่วนเทคโนโลยีดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ และโอกาสของสตาร์ทอัปไทยในเวทีจีน (นครหนานหนิง) – อาเซียน
ต้องบอกว่า… หลายปีมานี้ ‘เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ไม่น้อย ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศอยู่บนพื้นที่สื่อและกล่าวถึงในวงการเทคโนโลยีอยู่บ่อยครั้ง
โดยทั่วไปแล้ว หลายท่านคงจะคุ้นชินกับบริการถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียม การดูรายการโปรดต่างประเทศผ่านดาวเทียม และการใช้ระบบนำทาง GPS แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า.. ปัจจุบัน บริษัทขนาดใหญ่ได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเข้ากับนวัตกรรมทางดิจิทัลที่ประยุกต์ใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ทั้งในภาคการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง อากาศยานไร้คนขับ โทรคมนาคม การแพทย์และการรักษาพยาบาล การขนส่งและโลจิสติกส์ การสำรวจ และการก่อสร้าง ซึ่งช่วยให้เกิดการวิจัยพัฒนาและการลงทุนด้านการใช้เทคโนโลยีดาวเทียม และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ยกตัวอย่าง บริษัท ไทยยูเนี่ยน มีพัฒนาโครงการนำร่องด้วยการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลพื้นฐานสำคัญของฟาร์มกุ้ง ร่วมกับเทคโนโลยีการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสนับสนุนการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลเกี่ยวกับผลผลิตกุ้ง สุขภาพกุ้ง การปนเปื้อน และอื่นๆ โดยข้อมูลที่ประมวลขึ้นด้วยระบบอัตโนมัติ สามารถตรวจสอบได้ มีต้นทุนที่เหมาะสม และเพิ่มความมั่นใจตลอดห่วงโซ่อุปทาน
แรงผลักด้วยเทคโนโลยี (Technology Push) กับแรงดึงจากดีมานด์ของผู้ต้องการใช้งาน (User Demand Pull) ที่บรรจบกัน ทำให้ ‘เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ มีแนวโน้มการพัฒนาและขยายการใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและสังคมในแขนงต่างๆ มากขึ้น
นครหนานหนิง ได้เล็งเห็นถึง ‘เทรนด์เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศ’ ที่จะทวีบทบาทสำคัญและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคต และสอดรับกับยุทธศาสตร์ของนครหนานหนิงที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ในปี 2564 จึงได้เริ่มโปรเจกต์ ‘นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน’ (China-ASEAN Geographic Information and Satellite Application Industrial Park/中国-东盟地理信息与卫星应用产业园) และเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
บีไอซี จึงขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ ‘นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน’ ในนครหนานหนิง
พิกัด : เขตเมืองใหม่อู่เซี่ยง (Wuxiang New District/五象新区) นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ข้อมูลโครงการ : เป็น 1 ในโครงการสำคัญภายใต้กรอบการดำเนินงาน China-ASEAN Information Harbor (中国-东盟信息港) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ และเป็น 1 ในโครงการสำคัญในเขตทดลองการค้าเสรีจีน(กว่างซี)พื้นที่ย่อยหนานหนิง ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 33 ไร่ พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง 2.23 แสน ตร.ม. ใช้เงินลงทุนราว 1,434 ล้านหยวน ประกอบด้วย 9 อาคารหลัก เพื่อใช้เป็นสำนักงาน สถานที่วิจัย หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (Incubator) ที่พักอาศัยสำหรับผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ประชุมและการพาณิชย์ และศูนย์อำนวยการ โดยเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมบริการนำร่องและพิกัดดาวเทียม อุตสาหกรรมสารสนเทศเชิงนวัตกรรมเป็นหลัก
ฟังก์ชันหลัก : เป็นนิคมอุตสาหกรรมสารสนเทศที่เน้นข้อมูลเชิงพาณิชย์ด้านการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม (Satellite Remote Sensing) และข้อมูลด้านภูมิสารสนเทศเป็นพื้นฐาน มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดาวเทียม ภูมิสารสนเทศ 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรมด้านต่างๆ อาทิ เมืองอัจฉริยะ ขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทะเลและฟาร์มปศุสัตว์ การพัฒนาแม่น้ำ(ซีเจียง) การเกษตรอัจฉริยะ รวมไปถึงความมั่นคงตามแนวชายแดน
พันธกิจ : พัฒนาให้ ‘นครหนานหนิง’ เป็นพื้นที่คลัสเตอร์/ฐานธุรกิจ/ฐานการวิจัยและการแปลงงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงรูปธรรมของอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมและข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนทั้งด้านวิชาการและการซื้อขายผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ และเป็นฐานบ่มเพาะบุคลากรระหว่างจีนกับ ‘อาเซียน’ รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
เป้าหมาย 6 ศูนย์กลาง : ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล ศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Information) ศูนย์กลางการวิจัยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ศูนย์กลางการให้บริการระบบนำทางด้วยดาวเทียมเป๋ยโต่ว (BeiDou Navigation Satellite System) ศูนย์กลางการบ่มเพาะผู้เชี่ยวชาญ (Talent) และศูนย์กลางนวัตกรรมร่วม (Collaborative Innovation Center)
ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ มีองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันวิจัยระดับชั้นนำทยอยเข้าไปดำเนินงานด้านภูมิสารสนเทศ การสำรวจรังวัด การสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียม บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์แล้ว อาทิ สถาบันการสำรวจรังวัดภูมิสารสนเทศ บริษัท Twenty First Century Aerospace Technology ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้บริการข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านการสำรวจระยะไกลด้วยดาวเทียมและข้อมูลเชิงพื้นที่ (Spatial Information) และบริษัท Feima Robotics ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านอากาศยานไร้คนขับที่ใช้ในงานสำรวจระยะไกล ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 2567 จะดึงดูดองค์กรชั้นนำในห่วงโซ่อุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศได้ 260 ราย และมีมูลค่าการผลิตเกิน 10,000 ล้านหยวน
ในบริบทที่ประเทศไทยให้การผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศ พร้อมทั้งเพิ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย บีไอซี เห็นว่า นิคมอุตสาหกรรมภูมิสารสนเทศและการประยุกต์ใช้ดาวเทียมจีน-อาเซียน เป็นอีกแพลตฟอร์มทางเลือกสำหรับภาคธุรกิจและสตาร์ทอัปไทยที่จะเข้าไปพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการค้าและการลงทุนใน ecosystem รวมถึงการสร้างคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและแอปพลิเคชัน หรือดึงดูดให้องค์กรในกว่างซีเข้ามามีส่วนร่วมในซัพพลายเชนอุตสาหกรรมดาวเทียมและอวกาศของไทย
ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาวิจัย นโยบายและสิทธิประโยชน์ และการให้บริการข้อมูลแบบเปิด ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ตลอดจนการลดข้อจำกัดในการใช้งาน จะช่วยสร้าง ‘โอกาส’ ให้กับธุรกิจสตาร์ทอัปไทยในการนำเครื่องมือและข้อมูล Insight ที่มีประสิทธิภาพไปศึกษาต่อยอดและพัฒนาโซลูชัน แอปพลิเคชัน และบริการต่าง ๆ ป้อนสู่ตลาดปลายน้ำ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานที่หลากหลายระหว่างไทยและจีน
…ในอนาคต ศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและอวกาศยังคงเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย…..