ส่องตลาด “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” ในจีนกับโอกาสของภาคธุรกิจไทย
17 Jan 2022เขียนโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
ในประเทศจีน “กุ้งเครย์ฟิช” (Crayfish) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “กุ้งก้ามแดง” ได้รับความสนใจในฐานะสัตว์น้ำเศรษฐกิจดาวรุ่งตัว(ไม่)ใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และเป็นเครื่องมือ “แก้จน” ให้พื้นที่ชนบท ด้วยหน้าตาที่ละม้ายคล้ายกุ้งล็อบสเตอร์จากทะเล จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ล็อบสเตอร์น้ำจืด” และชาวจีนเรียกกุ้งชนิดนี้ว่า “เสี่ยวหลงเซีย” (小龙虾) หรือกุ้งมังกรน้อย
ด้วยรสชาติที่อร่อย เนื้อสัมผัสที่คล้ายเนื้อกั้งผสมเนื้อปู เมื่อปรุงสุกเปลือกจะมีสีแดงสดสวยงาม ทำให้ “เสี่ยวหลงเซีย” เป็นเมนูอาหารที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน ทั้งในร้านอาหาร รวมถึงเหล่าพ่อบ้านแม่บ้านที่นำกลับไปปรุงเองที่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ตอนกลาง ภาคตะวันตก รวมถึงพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกไล่ยาวลงมาถึงตอนใต้ ยิ่งไปกว่านั้น ยักษ์ใหญ่ในวงการฟาสต์ฟู้ดโลกอย่าง KFC, Pizza Hut ก็ยังต้องสรรหาเมนูใหม่ “เสี่ยวหลงเซีย” ไว้ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีน
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมกุ้งเครย์ฟิชในประเทศจีนมีแนวโน้มเติบโตแบบ “พุ่งพรวด” ในรายงาน China Crayfish Industry Development Report (2021) ของกระทรวงเกษตรและชนบทจีน ระบุว่า ปี 2563 ประเทศจีนมีพื้นที่เพาะเลี้ยงราว 4.96 ล้านไร่ การผลิตในห่วงโซ่อุตสาหกรรมมีมูลค่ารวม 3.44 แสนล้านหยวน ได้ผลผลิตรวมกว่า 2.39 ล้านตัน เป็นสัตว์(น้ำจืด)เศรษฐกิจอันดับที่ 6 ของประเทศจีน (5 อันดับแรกเป็นปลาน้ำจืด) เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเกษตรที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มหาศาล
การขยายตัวของตลาดผู้บริโภคที่ชื่นชอบเมนูเสี่ยวหลงเซีย ความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นของผลิตภัณฑ์เสี่ยวหลงเซีย ความก้าวหน้าของตลาดแบบดิจิทัล โดยเฉพาะเทรนด์การช้อปปิ้งผ่านไลฟ์สด (Live-streaming) ตลอดจนความรวดเร็วทันสมัยของระบบงานโลจิสติกส์และห่วงโซ่ความเย็น ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรม “เสี่ยวหลงเซีย” เติบโตอย่างรวดเร็ว โดย “เสี่ยวหลงเซีย” ตามท้องตลาดส่วนใหญ่จะมีขนาดลำตัวยาว 3-5 นิ้ว ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณความต้องการของตลาดจีนจะยังคงรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า “เสี่ยวหลงเซีย” เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีอนาคตสดใสในจีน
การที่กุ้งชนิดนี้มีความทนทานตค่อสภาพแวดล้อมและสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่างๆ มีอัตราการรอดสูง เจริญเติบโตเร็ว ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมาก และขยายพันธุ์หรือเพาะลูกพันธุ์ได้โดยไม่ต้องใช้น้ำเค็ม การเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชในประเทศจีน จึงนิยมทำในรูปแบบของการเกษตรแบบผสมผสานด้วย “การเลี้ยงกุ้งในนาข้าว” (สัดส่วน 86.61%) เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่มีลักษณะเกื้อกูลกัน ต้นข้าวที่ปลูกเป็นตัวช่วยบำบัดของเสียและก๊าซแอมโมเนียที่เกิดจากการเลี้ยงกุ้ง มีการพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชในนาข้าว ทั้งการปรับปรุงแปลงนา การเพาะเลี้ยง การคัดพันธุ์ การสร้างแบรนด์ และการทำตลาด
การเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิช “ใช้เวลาสั้น ให้ผลตอบแทนกลับมาเร็ว” แถมผลตอบแทนที่ได้ สูงกว่าการปลูกข้าวถึง 10 เท่า!!! ทำให้การเลี้ยงกุ้งในนาข้าวกลับกลายเป็นรายได้หลักอีกทางที่ทำร่วมกับการปลูกข้าวแบบเดิม กำไรต่อล็อตหลังจากหักต้นทุนแล้ว อยู่ที่ไร่ละ 4,800 – 7,200 หยวน รายได้สุทธิอยู่ที่ 12,000 หยวน/ไร่/ปี
ราคากุ้งเครย์ฟิชในจีน จะขายได้ราคาสูงในช่วงต้นฤดูในเดือนมีนาคม – เมษายน และช่วงปลายฤดูในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ขณะที่ช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงกลางฤดูที่กุ้งเครย์ฟิชออกสู่ตลาด จะได้ราคาค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ขนาดของกุ้งเป็นตัวกำหนดราคาของกุ้งเครย์ฟิช กุ้งขนาดกลาง-ใหญ่จะมีราคาสูงเป็นพิเศษ และมักมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงเป็นโอกาสสำหรับฟาร์มกุ้งเครย์ฟิช(ไทย)ในการวางแผนการผลิตและส่งออกกุ้งเครย์ฟิช นอกฤดูหรือต่างฤดูเพื่อป้อนตลาดจีน
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลท้องถิ่นในหลายมณฑล รวมถึงเมืองกุ้ยก่างของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จึงมุ่งมั่นพัฒนาโครงการเพาะเลี้ยง “กุ้งเครย์ฟิชในนาข้าว” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ “แก้จน” ให้พื้นที่ชนบท โดยรัฐบาลเมืองกุ้ยก่างได้เล็งเห็น “จุดแข็งด้านทรัพยากรในท้องถิ่น” จากการเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยแร่เซเลเนียม (Selenium) มาเป็นกิมมิกเพื่อสร้างจุดขายอย่าง “กุ้งเครย์ฟิชเซเลเนียมสูง” ซึ่งเป็นการอัปคุณค่าอัปราคาของสินค้า ซึ่งแร่ชนิดนี้มีประโยชน์ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง และการต่อต้านอนุมูลอิสระ จนได้รับการขนามนามเป็น “แร่อายุวัฒนะ” แม้ว่าตลาด “กุ้งเครย์ฟิชเซเลเนียมสูง” จะดูเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือนิชมาร์เก็ต (Niche Market) แต่มีการแข่งขันน้อยกว่าตลาดทั่วไป ซึ่งมีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดอยู่แล้ว
อีกทั้ง ลูกค้าในกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพของชาวจีนอีกด้วย การที่ชาวจีนมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้บริโภคพร้อมจะจ่ายเพื่อ “เลือกสรร” ในสิ่งดีที่สุดสำหรับตัวเองมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า แนวโน้มตลาดสินค้า(เกษตร)เพื่อสุขภาพในจีนกำลังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะใน “กลุ่มผู้บริโภคตามหัวเมืองหลักและรอง” ที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับกลางถึงสูง เพราะคนมีสตางค์ไม่ได้เอาเหตุผลด้านราคามาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อนั่นเอง
แนวทางการสร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวสินค้าที่สอดประสานจุดแข็งในท้องถิ่นไว้ ยังเป็นการกรุยทางไว้ให้กับการพัฒนา “สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า GI (Geographical Indication) ในอนาคตด้วย คำว่า GI ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่หากพูดถึง “ทุเรียนเมืองนนท์ ส้มโอนครชัยศรี ไข่เค็มไชยา กาแฟดอยช้าง หมูย่างเมืองตรัง ข้าวสังข์หยดพัทลุง” ทุกคนคงถึงบางอ้อ เพราะสินค้าเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับภาคธุรกิจไทยที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยเพื่อสร้างการจดจำและนำไปเจาะตลาดจีนได้เช่นกัน
กลับมาที่รายงาน China Crayfish Industry Development Report (2021) สาระสำคัญส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมกุ้งเครย์ฟิชและ “ช่องว่าง” ที่แฝงไว้ด้วยโอกาสที่ผู้เล่น(ไทย)สามารถนำไปต่อยอดการเรียนรู้หรือเข้าไปดำเนินธุรกิจได้
ในรายงานฯ ระบุว่า การเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกกุ้งยังคงเป็นจุดอ่อนในห่วงอุตสาหกรรมกุ้งเครย์ฟิชในจีน ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยให้ขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ ฟาร์มเพาะและขยายพันธุ์กุ้งยังมีจำนวนไม่มาก ส่งผลให้คุณภาพพันธุ์กุ้งถดถอย กุ้งมีขนาดเล็กลง อัตราการรอดต่ำลง และผลผลิตลูกกุ้งไม่แน่นอน โดยช่วง 2 ปีมานี้ ในหลายพื้นที่ได้พยายามส่งเสริมให้มีการแยกการเพาะพันธุ์กับการเลี้ยงกุ้งออกจากกัน รวมถึงการปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์และคัดเลือกลูกพันธุ์คุณภาพ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์กุ้งเครย์ฟิชพันธุ์ดี จึงเป็นโอกาสสำหรับฟาร์มกุ้งเครย์ฟิช(ไทย)ในการส่งออกลูกกุ้งที่เป็นพันธุ์คุณภาพได้
ด้วยรูปแบบการเลี้ยงที่เป็นอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น อย่างโมเดลการเกษตรแบบ “บริษัท+เหล่าเกษตรกร” ส่งผลให้ความต้องการใช้ “อาหารเลี้ยงกุ้ง” เพิ่มมากขึ้น (เดิมเป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ กุ้งมีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน) จากข้อมูลปี 2563 มีผู้ผลิตอาหารกุ้งเครย์ฟิชทั่วประเทศจีนเพียง 200 กว่าราย ส่วนใหญ่มีกำลังการผลิตประมาณ 1,000 ตัน มีกำลังการผลิตรวม 1.1 ล้านตัน ขณะที่ตลาดจีนมีความต้องการอาหารกุ้ง คาดการณ์ว่าอยู่ที่ราว 1.5 ล้านตัน (ขาดตลาดราว 4 แสนตัน)
การที่แนวโน้มของตลาดกุ้งเครย์ฟิชที่ขยายตัวได้ดี ส่งผลให้ความต้องการใช้อาหารกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่มีเพิ่มมากขึ้น กอปรกับอุตสาหกรรมกุ้งเครย์ฟิชในจีนมีการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งร่วมกับการพัฒนาวิธีการเลี้ยงแบบปลอดสารเคมี เพื่อให้กุ้งเครย์ฟิชมีความปลอดภัย จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตอาหารกุ้งและอาหารเสริมเครย์ฟิช(ไทย) รวมถึงการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งแบบโพรไบโอติก (สอดคล้องกับเทรนด์รักสุขภาพของชาวจีน)
การต่อยอดอุตสาหกรรมเป็นแนวทางการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร นอกจากกุ้งมีชิวิตแล้ว ปัจจุบัน กุ้งเครย์ฟิชในจีนถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย ในรายงาน China Crayfish Industry Development Report (2021) ระบุว่า ปี 2563 ในประเทศจีนมีโรงงานแปรรูปกุ้งเครย์ฟิชขนาดใหญ่ (ปีละ 100 ตันขึ้นไป) จำนวน 123 ราย มีกำลังการผลิตรวม 8.8 แสนตัน มูลค่าการแปรรูปรวม 48,070 ล้านหยวน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ 5 แหล่งผลิตสำคัญ คือ มณฑลหูเป่ย มณฑลเจียงซู มณฑลอันฮุย มณฑลหูหนาน และมณฑลเจียงซี
ผลิตภัณฑ์กุ้งเครย์ฟิชแปรรูป เน้นการแปรรูปขั้นต้น 3 ประเภท คือ กุ้งแกะเปลือกไว้หาง กุ้งแกะเปลือกถอดหาง และกุ้งทั้งตัว เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำ และตอบโจทย์ผู้บริโภคในการนำกลับไปปรุงอาหารที่บ้าน ทำให้ “กุ้งเครย์ฟิชแกะเปลือกไว้หาง” ได้รับความนิยมจากร้านอาหารและผู้บริโภคมากที่สุด ยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์กุ้งเครย์ฟิชพร้อมปรุงหรือพร้อมรับประทานที่ได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน อาทิ กุ้งผัดปรุงรสหมาล่าและกุ้งผัดพริกแห้งสไตล์หูหนาน กุ้งปรุงรสต้มยำกุ้งสไตล์ไทย หรือสุกี้หม้อไฟ
อานิสงส์จากการเติบโตของตลาดช้อปปิ้งออนไลน์ ร้านดิลิเวอร์รี ร้านฟาสต์ฟู้ด การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับการรักษาความสดใหม่ของกุ้ง และความก้าวหน้าของระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น ที่ช่วยให้การจัดส่งถึงมือผู้บริโภคด้วยความรวดเร็ว ผลิตภัณฑ์ยังคงความสดใหม่ อร่อย และได้คุณภาพ
ที่สำคัญ เทรนด์การบริโภคกุ้งเครย์ฟิชในจีนยังช่วยให้ธุรกิจ “เครื่องปรุงอาหาร” สำหรับกุ้งเครย์ฟิชเติบโตตามไปด้วย ข้อมูลปี 2563 ชี้ว่า โรงงานผลิตเครื่องปรุงรสสำหรับกุ้งเครย์ฟิชมีอยู่เกือบ 100 รายทั่วประเทศ บนพื้นฐานที่ “อาหารไทย” ได้รับความนิยมแพร่หลายจากชาวจีน จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตเครื่องปรุงรสไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสสไตล์ไทย ควบคู่กับการสร้างสรรค์เมนูอาหารไทยที่มีกุ้งเครย์ฟิชเป็นส่วนประกอบหลัก ให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เข้าใจและเข้าถึงกรรมวิธีการปรุงในแต่ละเมนู
นอกจากนี้ ยังการค้นคว้าวิจัย อย่างการสกัดสารไคตินจากเปลือกกุ้ง เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง ซึ่งนับเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำในนาข้าว ไปจนถึงปลายน้ำเป็นเมนูบนโต๊ะอาหาร แถมยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุตสาหกรรม ทำให้ “กุ้งเครย์ฟิช” กลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าแสนล้านหยวน และอาชีพการเลี้ยงกุ้งจะกลายเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรได้ด้วย
บีไอซี เห็นว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมกุ้งเครย์ฟิช และแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรในจีน เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาสำหรับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนไทย ที่จะนำมาปรับใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และแสวงหาลู่ทางทางการค้ากับประเทศจีน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีตัวสินค้าและมีความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดจีนไว้แล้ว สามารถเริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำสินค้าไปทดลองตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือการหาพันธมิตรทางธุรกิจช่วยทำตลาดหรือเข้างานแสดงสินค้า
สิ่งสำคัญ คือ สินค้าที่ต้องการเจาะตลาดจีน ต้องมีคุณภาพน่าเชื่อถือและมีลูกเล่นที่แตกต่าง เพราะชาวจีนชอบของแปลกใหม่ และมีค่านิยม มีความเชื่อมั่นต่อสินค้านำเข้าสูง (มากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ) กอปรกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนพร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงเป็นโอกาสที่สินค้าเกษตรของไทยจะเข้าไปเจาะตลาดจีนได้ไม่ยาก
******************