ส่งออกผลไม้เข้าจีน “ทางรถไฟ” ได้แล้ว
6 Mar 2020จัดทำโดย…นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
ไฮไลท์
- หากพูดถึงการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ผู้ค้าไทยคงต้องรู้จัก “อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเพราะเป็นที่ตั้งของด่านทางบกที่นำเข้าผลไม้มากที่สุดของจีน โดยเกือบ 50%ของผลไม้นำเข้าทั้งหมดและเกือบ 3/4 ของผลไม้จากอาเซียนที่จีนนำเข้าทั้งหมดเป็นการนำเข้าผ่านด่านในเมืองผิงเสียง
- ทราบหรือไม่ว่า…เมืองผิงเสียงยังมีด่านนำเข้าผลไม้ทางบกที่เป็นด่านสากลอีกแห่ง นอกจากด่านทางบกโหย่วอี้กวาน นั่นก็คือ“ด่านรถไฟผิงเสียง” ซึ่งเป็นด่านทางรถไฟเพียงแห่งเดียวในประเทศจีนที่เปิดให้นำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ(เวียดนาม)ได้อย่างเป็นทางการแล้ว
- “ด่านรถไฟผิงเสียง”เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยที่ต้องการส่งสินค้าเข้ามาขยายตลาดในประเทศจีน เพราะมีจุดเด่นเรื่องความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดต้นทุนเวลาและค่าใช้จ่าย และสามารถกระจายสินค้าไปทั่วประเทศจีนได้ทันที (ไม่ต้องเปลี่ยนรถเปลี่ยนตู้สินค้า) และเชื่อมไปไกลถึงเอเชียกลางและยุโรป
- ความท้าทายของ “ผู้ค้าไทย” ในการใช้ประโยชน์เพื่อขนส่งสินค้าทั่วไปจากเส้นทางรถไฟสายนี้คือ จำนวนเที่ยวขบวนรถไฟที่ให้บริการในช่วงแรกยังมีไม่มาก ทำให้ผู้ส่งออกจำเป็นต้องแย่งจับจองพื้นที่ในการขนส่งด้วยรถไฟ
- สำหรับการส่งออกผลไม้ไทยทางรถไฟ คาดหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งผลักดันให้ด่านแห่งนี้สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ในอนาคตอันใกล้และ “ด่านรถไฟผิงเสียง” จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ส่งออกผลไม้ไทยและช่วยระบายความแออัดของรถบรรทุกที่ด่านโหย่วอี้กวานในช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก
ในแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน หากพูดถึง “อำเภอระดับเมืองผิงเสียง” ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงคิดว่าคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะเป็นที่ตั้งของด่านทางบกที่มีการนำเข้าผลไม้มากที่สุดของจีน โดยเกือบ 50%ของผลไม้นำเข้าทั้งหมดและเกือบ 3/4 ของผลไม้จากอาเซียนที่จีนแผ่นดินใหญ่นำเข้าทั้งหมดเป็นการนำเข้าผ่านด่านในเมืองผิงเสียงโดยมี“ด่านโหย่วอี้กวาน” (Youyiguan Border/友谊关口岸) เป็นประตูการค้าสำคัญ ทำให้ผู้ค้าผลไม้ยกให้เมืองผิงเสียงเป็น“เมืองแห่งผลไม้จีน-อาเซียน”
ท่านทราบหรือไม่ว่า…นอกจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานแล้ว เมืองผิงเสียงยังมีด่านนำเข้าผลไม้อีกแห่งที่เป็นด่านสากล นั่นก็คือ“ด่านรถไฟผิงเสียง”(Pingxiang railway port/凭祥铁路口岸) ซึ่งปัจจุบันเป็นด่านทางรถไฟเพียงแห่งเดียวในประเทศจีนที่สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ (เวียดนาม) ได้อย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563ขบวนรถไฟที่ 24502ซึ่งบรรทุกแก้วมังกรน้ำหนัก 156 ตันในตู้ Reefer จำนวน 6 ตู้ ได้วิ่งออกจากประเทศเวียดนามมาถึงด่านรถไฟผิงเสียงนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการนำเข้าผลไม้ทางรถไฟเป็นครั้งแรกของประเทศจีน ซึ่งหลังจากผ่านการตรวจปล่อยแล้ว ได้กระจายแก้วมังกรต่อไปยังกรุงปักกิ่ง นครเจิ้งโจว นครฉงชิ่ง และนครซีอาน
ทำไมถึงต้องเพิ่ม“ด่านรถไฟ”เพื่อนำเข้าผลไม้อีกด่านด้วยแนวโน้มปริมาณการนำเข้าผลไม้อาเซียนที่ “พุ่ง” สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ด่านโหย่วอี้กวานมีการจราจรคับคั่งและปริมาณงานล้นเกิดผลเสียต่อการพัฒนาการค้ากับต่างประเทศและความสดใหม่ของผลไม้นำเข้าในบริบทที่เมืองผิงเสียงมีพื้นฐานความพร้อมของ
ขบวนรถไฟที่วิ่งให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าโภคภัณฑ์กับฝั่งเวียดนามอยู่แล้ว ดังนั้น ด่านรถไฟผิงเสียงจึงเป็นทางออกในการระบายความแออัดและแบ่งเบาภาระงานของด่านโหย่วอี้กวาน รวมทั้งช่วยขยายขีดความสามารถในงานขนส่งและโลจิสติกส์ของเมืองผิงเสียง
แน่นอนว่าในแง่นโยบาย “ด่านรถไฟ” ถูกโยงเข้ากับยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) และโครงข่ายการคมนาคมแบบหลายมิติในยุทธศาสตร์“เส้นทางการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่” (ILSTC) ดังนั้น “ด่านรถไฟผิงเสียง” จึงเป็นอีกตัวจักรที่ช่วยขับเคลื่อนให้เขตฯ กว่างซีจ้วงเป็น Hub การขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่เชื่อม“อาเซียน-จีน(กว่างซี)-เอเชียกลาง-ยุโรป”ให้ใกล้กันมากยิ่งขึ้น
ด่านรถไฟผิงเสียงตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสถานีรถไฟผิงเสียง (สถานีเดิมใช้สำหรับผู้โดยสารข้ามแดน)โครงการเฟสแรก ประกอบด้วยรางขนส่งสินค้า 2 ราง (Track)ชานชาลา โกดังสินค้า ลานพักสินค้าเนื้อที่ 40,000 ตร.ม.และพื้นที่สนับสนุนงานตรวจปล่อยสินค้า อาทิ อาคารตรวจร่วมห้องปฏิบัติการตรวจสอบและกักกันโรค และอาคารกำจัดศัตรูพืชด้านกักกันพืช
โอกาสของการขนส่งสินค้า(ผลไม้)ในเส้นทาง“เวียดนาม(ฮานอย)-จีน(ผิงเสียง)” มีดังนี้
- เป็นโมเดลการขนส่งแบบ Door to Door จากสถานีต้นทางถึงสถานีปลายทางโดยไม่ต้องโยกย้ายตู้สินค้า หลีกเลี่ยงความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นจากการขนย้ายและระหว่างทางขนส่ง ประหยัดต้นทุนเวลา ค่าใช้จ่ายและแรงงาน ค่อนข้างตรงเวลา มีความปลอดภัยสูง ซึ่งตู้สินค้าผ่านแดนนี้สามารถวิ่งต่อไปยังกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง โดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้เปลี่ยนหัวรถ
- มีศักยภาพรองรับงานขนส่งในปริมาณที่มากกว่ารถบรรทุกขนส่งสะดวก และสามารถกระจายสินค้าไปทั่วจีนได้ทันที (ไม่ต้องเปลี่ยนรถเปลี่ยนตู้สินค้า)เพราะโครงข่ายเส้นทางรถไฟผิงเสียงสามารถเชื่อมต่อกับ 9 เส้นทางรถไฟสายหลักของจีนช่วยให้ผู้ค้าสามารถขยายช่องทางการค้าได้มากยิ่งขึ้น
- สามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับเส้นทางรถไฟข้ามทวีปจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) ซึ่งเป็นช่องทางใหม่สำหรับผู้ค้าในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างอาเซียน-จีน-ยุโรปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว(กว่าทางเรือ)ทั้งตู้คอนเทนเนอร์ปกติและตู้คอนเทนเนอร์เย็น (Reefer)
- การตรวจปล่อยสินค้าทำได้รวดเร็วถึง 30 โบกี้ในครั้งเดียว ด้วยบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one stop service) ซึ่งเป็นผลสำเร็จของการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานจีน โดยการควบสำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคแห่งชาติจีน (AQSIQ) เข้ากับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีนเมื่อ 1 สิงหาคม 2561
- ในระยะแรกมีบริการสัปดาห์ละ 2-3เที่ยว โดยจะเพิ่มเป็นวันละ 1 เที่ยวทุกวันในระยะต่อไปนอกจากนี้ บริษัท CRCT สาขาหนานหนิง (中铁集装箱南宁分公司)ผู้ให้บริการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟยังมีแผนพัฒนาความร่วมมือกับเวียดนามในการขยายเส้นทางรถไฟให้สามารถวิ่งลงใต้ไปถึงนครโฮจิมินห์ และเชื่อมกับรถไฟข้ามทวีป China-Europe Railway Express
ความท้าทายของ “ผู้ค้าไทย” สำหรับการขนส่งสินค้าทั่วไปในช่วงที่เที่ยวขบวนรถไฟมีให้บริการอยู่ไม่มาก ผู้ส่งออกจำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์ที่มีความสัมพันธ์ชนิดซี้ปึกกับผู้ให้บริการเพื่อจับจองพื้นที่การขนส่งสินค้า เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วและต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก ทำให้ช่องทางการขนส่งใหม่นี้กำลังเป็นที่สนใจของภาคธุรกิจอย่างมาก
แต่สำหรับ “การส่งออกผลไม้” นั้นโดยที่ผลไม้เป็นสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวสูงเนื่องจากเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่เป็นภัยต่อระบบนิเวศของประเทศผู้นำเข้าเมื่อปี 2552 สำนักงาน AQSIQ (ในตอนนั้น)ได้นำหลักการกำหนดสิทธิการนำเข้าผลไม้ของด่านมาใช้
กล่าวคือ มีเพียงด่านที่ได้รับอนุมัติให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้” เท่านั้น จึงสามารถนำเข้าผลไม้ได้ หลังจากได้รับการอนุมัติ ด่านแห่งนั้นจะต้องไปพัฒนาระบบและอุปกรณ์การตรวจกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชในผลไม้นำเข้าให้ได้มาตรฐานและต้องผ่านการตรวจรับรองจากส่วนกลางแล้วเท่านั้นจึงสามารถเริ่มนำเข้าผลไม้ได้ซึ่ง “ด่านโหย่วอี้กวาน” และ “ด่านรถไฟผิงเสียง” ได้ปีนข้ามกำแพงชั้นนี้ไปแล้ว
แต่เงื่อนไขที่ยากไปกว่านั้น คือ การเป็น “ด่านทางบก” ในการนำเข้าผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้จากประเทศที่สามอย่างประเทศไทย (ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีน) เพราะด่านแห่งนั้นจะต้องเป็นด่านที่อยู่ภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการตรวจสอบและกักกันโรคสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยซึ่ง “ด่านรถไฟผิงเสียง” ยังปีนข้ามกำแพงชั้นนี้ไปไม่ได้
นั่นหมายความอะไร…“ผลไม้ไทย” ยังไม่สามารถใช้การขนส่งทางรถไฟเข้าไปประเทศจีนได้ เพราะยังไม่ผ่านเงื่อนไขที่สอง (ด่านรถไฟผิงเสียงยังไม่ได้อยู่ในพิธีฯ)
แล้วทางออกอยู่แห่งหนใด… พิธีสารฯ เป็นใบเบิกทางสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยเข้าจีนด้วยรถไฟ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย ในฐานะโต้โผใหญ่ในการเจรจาและผลักดันความคืบหน้ากับรัฐบาลท้องถิ่น และขยายผลในการลงนามพิธีสารฯ กับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน เพื่อรับรองให้ “ด่านรถไฟผิงเสียง” สามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้
เช่นเดียวกับ “ด่านทางบกตงซิง” ของกว่างซี ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามจังหวัดม๊องก๋าย (Mong Cai) ของเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นก็ได้แสดงความกระตือรือร้นที่จะผลักดันร่วมกับฝ่ายไทยเพื่อพัฒนาให้ด่านตงซิงเข้าไปอยู่ในพิธีสารฯ เพื่อนำเข้าผลไม้ไทย
สรุปคือ ผู้ส่งออกไทยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสายนี้ในการขนส่งสินค้าทั่วไปเข้าไปยังประเทศจีนได้ (ยกเว้นผลไม้) และสามารถขยายช่องทางการค้าไปถึงเอเชียกลาง และยุโรปได้อีกด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้ “ด่านรถไฟผิงเสียง” จะเป็น“ประตู” อีกบานที่ผู้ส่งออกผลไม้ไทยสามารถใช้ประโยชน์โดยเร็ว โดยเฉพาะการระบายสินค้าในช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดจำนวนมาก เพื่อหลีกหนีความแออัดของด่านโหย่วอี้กวาน
******************************