ส่งตรงประสบการณ์ผู้ประกอบการไทยใน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 ออกบูธสินค้ายังไงให้เป๊ะปัง พร้อมส่องเทรนด์ผู้บริโภคหนานหนิง
19 Oct 2023เขียน : นางสาวฉิน อวี้อิ๋ง
เขียนและเรียบเรียง : นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เพิ่งปิดฉากไปหมาด ๆ สำหรับมหกรรมแสดงสินค้าสุดยิ่งใหญ่ของชาวอาเซียนกับ China-ASEAN Expo ซึ่งปีนี้ นอกจากจะครบรอบ 20 ปี China-ASEAN Expo แล้ว ยังเป็นการ come back อย่างยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการต่างชาติ หลังจากที่ห่างหายไปนานกว่า 3 ปีจากนโยบายปิดประเทศป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาลจีน
ในบทความฉบับนี้ บีไอซี จะชวนท่านผู้อ่านไปซอกแซกบรรยากาศงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 พร้อมบทสัมภาษณ์ประสบการณ์ตรงของผู้ประกอบการไทยที่มาร่วมออกบูธในปีนี้ มาดูกันว่า… เทรนด์การบริโภคของชาวหนานหนิง(จีน) เป็นอย่างไรในยุค Post-COVID แล้วเหล่าบรรดาผู้ประกอบการไทยงัดกลยุทธ์ไม้เด็ดอะไร มัดใจนักช้อปชาวหนานหนิง
ต้องบอกว่า… Thailand Pavilion —— เล็กพริกขี้หนู ปีนี้ ประเทศไทยเรามีผู้ประกอบการเข้าร่วม 76 ราย บรรยากาศที่สัมผัสได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปที่ Thailand Pavilion เป็นภาพความคึกคัก แน่นขนัดของหมู่มวลชาวจีนที่หลั่งไหลเข้าไปชนิด ‘มืดฟ้ามัวดิน’
จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่เข้าร่วมออกบูธใน Thailand Pavilion พบสรุปได้ว่า…นอกจากขนมขบเคี้ยวแล้ว สินค้าเกี่ยวกับ ‘สุขภาพ + ความงาม’ เป็นอีกสินค้ากลุ่มที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในนครหนานหนิง การสร้างแบรนด์ Awareness ในจีนด้วย ‘แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีน’ เป็นสิ่งสำคัญ และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ต้องเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับตัวสินค้าของคุณ
คุณอมต ชัยเกรียงไกร ผู้ก่อตั้งแบรนด์ AMT Skincare ให้ข้อมูลว่า ทางแบรนด์เข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo เป็นครั้งแรก แต่บริษัทฯ ลุยตลาดจีนผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีน —— Little Red Book หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “เสี่ยวหงซู” (小红书) ตั้งแต่ปี 2564
Tips… แอปพลิเคชัน Little Red Book เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีนที่เติบโตไวและกำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น(สาว)ชาวจีน มีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านคน โดยกว่า 70% เป็นผู้หญิงที่เกิดในยุค 90’s คอนเทนท์ที่ได้รับความนิยมบน Little Red Book จึงเป็นคอนเทนท์ด้านแฟชั่น กินเที่ยว รวมถึงเครื่องสำอาง โดยอินฟลูเอนเซอร์มากมายจะคอยสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆ ให้ติดเทรนด์ใน Little Red Book อยู่สม่ำเสมอ
ดังนั้น Little Red Book จึงเป็นตัวเลือกที่ช่วยตอบโจทย์ในการสร้างแบรนด์ Awareness สำหรับผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าของ AMT Skincare โดยคุณอมตฯ ให้ข้อมูลว่า บริษัทฯ ทำคอนเทนต์ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอและรูปภาพ เพื่อแนะนำประวัติความเป็นมาของแบรนด์ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ และเกร็ดความรู้ในการดูแลผิวหน้า
คุณอมตฯ ยังได้นำสินค้าตัวอย่าง (sampling) แจกฟรีให้กับ Follower บัญชี Little Red Book ของ AMT Skincare พอลูกค้าได้ทดลองใช้แล้วรู้สึกดี ก็กลับมาซื้อในวันถัดไป
ยังไม่หมดเท่านี้!!! AMT Skincare ยังมีการทำตลาดที่น่าสนใจอย่าง KOL Marketing ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการทำ Digital Marketing ในปัจจุบัน โดยมีโอกาสเข้าร่วมแคมเปญของ Tmall Global (天猫国际) ซึ่งมีการจ้างสตรีมเมอร์ตัวท็อปอย่าง Austin Lee หรือหลี่ เจียฉี (李佳琦) มาไลฟ์แนะนำผลิตภัณฑ์ของ AMT Skincare ด้วย
ณ มิถุนายน 2566 Netizen จีนพุ่งทะลุ 1,079 ล้านคน อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Internet penetration) 76.4% เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 1,076 ล้านคน (หรือกว่า 15 เท่าของประชากรไทยทั้งประเทศ) และเป็นผู้ใช้งาน Live-streaming e-Commerce 526 ล้านคน
——- จาก China Internet Network Information Center หรือ CNNIC
ใน Thailand Pavilion ข้าวตังข้าวแต๋นแบรนด์สุคันธา เป็นหนึ่งในสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีน มีคนแวะเข้าไปลองชิมและซื้อหากลับบ้านอย่างไม่ขาดสาย โดยแบรนด์สุคันธามาเข้าร่วมออกบูธแล้ว 7 ปี
เพื่อสร้างความเป็นที่รู้จัก แบรนด์สุคันธาได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่นครหนานหนิง และเดินสายเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่าง ๆ ในจีนอยู่เป็นประจำ รวมทั้งมีการวางจำหน่ายสินค้าแบรนด์สุคันธาในร้าน Cafe Amazon ในจีนด้วย
นอกจากความอร่อยถูกปากชาวจีนแล้ว จุดขายที่ “ทานแล้วไม่ร้อนใน” ตรงกับค่านิยมการบริโภคของชาวจีน ทำให้ข้าวตังธัญพืชแบรนด์สุคันธาได้รับความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีน
คุณปกรณ์ ตั้งพาณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สุคันธา ไทยสแน็ค จำกัด กล่าวว่า “ปีนี้ขายได้ดีเช่นเคย คนจีนชอบสินค้าที่มีคุณภาพและทำจากธรรมชาติ ส่วนประกอบที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% ไร้ผงชูรส ไร้สารกันบูด และสินค้าที่นำมาจำหน่ายจะต้องมีฉลากภาษาจีน และผ่านการตรวจสอบของศุลกากร”
China-ASEAN Expo ปีนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของคุณปิ่นนภา ช่อเขียว หรือคุณจุ๊บ ผู้ดูแลการตลาดให้กับแบรนด์สุคันธา เปิดเผยว่าสาเหตุที่เลือกจัดตั้งบริษัทที่นครหนานหนิงเพราะว่าตนเองเรียนจบที่นครหนานหนิง จึงมีความคุ้นเคยกับเมืองนี้ และรู้ว่าสินค้าไทยเป็นที่นิยมของเมืองนี้ ยอดขายปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว 30%
ข้าวตังและข้าวแต๋นรสต้มยำกุ้งขายดีที่สุด คนจีนชอบทานสินค้าตัวนี้เป็นเพราะรสชาติถูกปาก ลูกค้ารับรู้ได้ถึงความอร่อยและคุณภาพที่เราคัดสรรหลังจากที่ได้ลองชิม คุณจุ๊บ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางแบรนด์ออกรสชาติใหม่ ๆ ตลอด ปัจจุบัน สินค้าที่ขายในจีนยังมีรสชาติไม่ครบเหมือนที่ขายที่ไทย เธอมีแผนที่นำเข้ารสชาติใหม่ ๆ มาทำตลาดจีน เพียงแต่กระบวนการนำเข้าจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารหลายอย่าง ซึ่งค่อนข้างต้องใช้เวลา
ภายในงานฯ เรายังเห็นคุณจุ๊บใช้ช่องทางไลฟ์สดเพื่อโปรโมทและจำหน่ายสินค้าควบคู่กับการขายสินค้าที่บูธ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น ทำทั้งตลาด B2B (Business to Business) และ B2C (Business to Consumer)
“ปีนี้มีคู่แข่งเยอะ ราคาก็ต่ำกว่าของเราด้วย แต่เราชื่อมันในคุณภาพสินค้าของเรา เน้นว่าหมอนเรามีการใช้ยางพาราธรรมชาติถึง 95.4% ถ้าลูกค้าซื้อแล้วไม่อยากแบกกลับบ้านเอง สามารถเรียกพนักงานรับส่งมาช่วยส่งกลับบ้านได้ ถ้ามีลูกค้าสนใจซื้อเพิ่มสามารถแอด Wechat มาสอบถามและสั่งซื้อได้” —— คุณนัฐติยา จงไกรจักร เจ้าหน้าที่บริษัท ยูวี อินเตอร์ ซัพพลาย จำกัด
ในงาน China-ASEAN Expo มีสินค้าดาวเด่นที่ไม่พูดถึงคงจะไม่ได้ นั่นก็คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนเพื่อสุขภาพที่ทำจากยางพาราไทยมีชื่อเสียงเป็นรู้จักแพร่หลายในหมู่มวลชาวจีน
ชีวิตในสังคมเมืองที่มีความเร่งรีบ การทำงานมีความเคร่งเครียดและความวิตกกังวล และสาเหตุทางกายภาพ อย่างท่านอน ที่นอน และสภาพแวดล้อมในการนอน ล้วนเป็นปัจจัยเร้าที่ส่งผลให้ปัญหาการนอนมีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอน หรือ Sleep Economy ในจีนมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว
ปี 2565 ชาวจีนเกือบ 75% ของทั้งประเทศประสบปัญหาเรื่องการนอน โดยปัญหา ‘หลับยาก’ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของชาวจีน นอกจากนี้ พบว่า ชาวจีนกว่า 300 ล้านคนประสบปัญหา ‘นอนไม่หลับ’ และปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุ 26-45 ปี
———————– จาก Chinese Sleep Research Society
ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องนอนยางพาราก็ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เครื่องนอนที่ทำจากยางพารามีการแข่งขันด้านราคาที่ค่อนข้างรุนแรง คนจีนมีความกังวลในแง่ของ “ของแท้ VS ของปลอม”คุณนัฐติยาฯ ให้ข้อมูลว่า อย่างในแพลตฟอร์ม Taobao และ Tmall พบว่า หมอนยางพาราขายกันในราคา 80-100 หยวนก็มี ซึ่งต่ำกว่าราคาของทางร้านที่ขายอยู่ที่ใบละ 200–300 หยวน
ด้วยเหตุนี้ การซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องนอนยางพาราที่จำหน่ายภายใน Thailand Pavilion ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวจีนว่า… จะได้ “ของแท้” ไม่โดนย้อมแมว ดังนั้น การสร้างแบรนด์ Awareness ในตลาดจีน โดยเริ่มต้นจาก “การเข้าร่วมออกบูธแสดงสินค้า” ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ โดยคุณนัฐติยาฯ ยังได้พูดเรื่องของการแสดงใบรับรองคุณภาพด้วย เพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพของตัวสินค้า
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องการให้บริการติดต่อพนักงานส่งของเพื่อช่วยลูกค้าจัดส่งให้ถึงบ้าน ช่วยลดภาระความไม่สะดวกในการหิ้ว รวมถึงการทำตลาดผ่าน Wechat โดยให้ลูกค้าชาวจีนที่สนใจสามารถเพิ่มเพื่อน หรือแอด Wechat เผื่อในกรณีที่ลูกค้าต้องการสั่งซื้อเพิ่มหรือต้องการสอบถามข้อมูลหลังงาน Expo สิ้นสุด
ในระหว่างการเดินสำรวจใน Thailand Pavilion ต้องบอกว่า…ปรากฎการณ์ ‘จีนมุง’ สามารถพบเห็นได้ทุกครั้งที่
บูธสินค้าน้ำมันนวดสมุนไพรไทย ด้วยชื่อเสียงและสรรพคุณผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดสมุนไพรไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเหลืองและน้ำมันเขียว ตอบโจทย์คนจีน Gen B หรือบรรดาอาแปะอาอี๋วัย 45++ อย่างแท้ทรู
การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรของจีนไปเข้าสู่ ‘สังคมสูงวัย’ หรือ Aging Society ข้อมูลปี 2565 พบว่า คนวัย 65 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนเกือบ 15% ของประชากรจีนทั้งหมด หรือกว่า 209 ล้านคน และคาดว่าจะก้าวเข้าสู่ Super-Aged Society หรือ ‘สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด’ ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2576
———————– จาก Journal of Global Health
รายงานข้างต้นสอดคล้องกับการแถลงข่าวของ National Health Commission of PR.C. ที่ระบุถึงการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุจีน โดยคาดว่าตัวเลขผู้สูงอายุจีนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะทะลุ 400 ล้านคนภายในปี 2578 ซึ่งในแง่ของการตลาดแล้ว ลูกค้ากลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ และมีความต้องการสินค้าและบริการเฉพาะด้าน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบรรเทาและรักษาอาการปวดเมื่อย
คุณศรีวรรณ โหย่จา ลูกชายของผู้ประกอบการบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด กมลเวช ให้ข้อมูลว่า ผู้บริโภคชาวจีนเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทย และก็มีความต้องการยาหม่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ปีนี้ขายดี นอกจากมีลูกค้าทั่วไปมาสอบถามและซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้ว ยังมีภาคธุรกิจประมาณ 20 รายมาติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในจีนด้วย
เมื่อพูดถึงเทคนิคในการขาย คุณศรีวรรณฯ ให้คำแนะนำว่า ในระหว่างการขายจะให้คนมาทดลองใช้ทาถูนวด และยังมีพนักงานช่วยทายาหม่องพร้อมนวดให้ด้วย พอพวกเขารู้สึกสบายแล้วก็จะกลับมาซื้อ
ด้านคุณทัศนีย์ จิรานิธิวัฒน์ เจ้าของร้าน Lovely SPA and Training of Thai Massage เป็นผู้ประกอบการไทยอีกรายที่นำยาหม่อง ลูกประคบสมุนไพร และน้ำมันนวดแบรนด์ Royal Kinnaree มาออกบูธในงานปีนี้
คุณทัศนีย์ฯ ให้ความเห็นว่า แม้ว่าวิกฤติโควิดทำให้เศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศชะลอตัว แต่การจับจ่ายใช้สอยยังคงอยู่ คนก็ยังต้องการซื้อสินค้าที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม คนจีนรู้จักน้ำมันนวดไทยอยู่แล้ว สรรพคุณที่ช่วยดูแลสุขภาพกายบรรเทาอาการปวดศีรษะและกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความเครียดทางอารมณ์ด้วยสุคนธบำบัด หรือที่เราคุ้นหูกับคำว่า อโรมา-เธอราปี เข้ากับแนวคิดการดูแลรักษาสุขภาพของชาวจีน จึงมีลูกค้า/ภาคธุรกิจเข้ามาสอบถามเรื่อย ๆ
ที่น่าสนใจคือ ในระหว่างการพูดคุยกับคุณทัศนีย์ฯ มีเจ้าหน้าที่ของศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน หรือเรียกว่า ศูนย์ CAMEX มาเชิญชวนให้คุณทัศนีย์ฯ นำสินค้าไปวางที่ศูนย์ CAMEX ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า หลังงาน China-ASEAN Expo ผู้ประกอบการสามารถส่งตัวอย่างสินค้าไปวางขายที่ศูนย์ CAMEX หรือออปชันที่ให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์ CAMEX ช่วยขายก็ได้
บีไอซี ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ศูนย์ CAMEX เป็นแพลตฟอร์มต่อยอดงาน china-ASEAN Expo แบบไม่มีวันปิดฉาก ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต่างชาติได้นำสินค้าไปจัดแสดงและซื้อขายกันแบบยาว ๆ สนใจคลิ๊กลิงก์ รู้จักกับ “ศูนย์รวมสินค้าโดดเด่นจีน-อาเซียน”
จากการสัมภาษณ์ของผู้ที่เข้ามาออกบูธของปีนี้ สรุปได้ว่าความต้องการสินค้าไทยและกำลังซื้อของคนจีนยังคงอยู่ ผลิตภัณฑ์ที่เน้นคุณภาพ สุขภาพ และความงามเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน และ China-ASEAN Expo เป็นแพลตฟอร์มที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยในการทดลองตลาด และหาคู่ค้า
สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ในปีถัดไป เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถสอบถามรายละเอียดหรือสมัครได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02-507-8164 โทรสาร 02-547-4282 และอีเมล [email protected]
********************************