สามเหตุผลที่กุ้ยโจวกลายเป็น “คลังข้อมูลขนาดใหญ่” ที่สำคัญของจีน
16 Jun 2023หากเอ่ยถึงมณฑลกุ้ยโจว หลายคนอาจนึกถึงเหล้าขาวเหมาไถ พริกคั่วน้ำมันเหล่ากานมา น้ำตกหวงกั่วซู่ และหมู่บ้านแม้วซีเจียง แต่ในความเป็นจริงแล้วนอกเหนือจากสุราและอาหารเลิศรส รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงามแล้ว มณฑลกุ้ยโจวยังมีความโดดเด่นทางเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านบิ๊กดาต้า (Big Data) โดยกุ้ยโจวในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นที่ตั้งของคลังข้อมูลขนาดใหญ่จากบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่งและเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลที่สำคัญของจีน
เหตุใดศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่จากบริษัทหลายแห่งจึงเข้ามาตั้งรกรากในมณฑลกุ้ยโจว ประการแรก คือ การได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายจากภาครัฐทั้งในระดับประเทศและระดับมณฑล เช่น การได้รับอนุมัติให้จัดงานมหกรรมบิ๊กดาต้าเอ๊กซ์โป (China International Big Data Industry Expo) ที่นครกุ้ยหยางเป็นประจำทุกปี ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ และรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจว โดยเริ่มต้นจัดงานมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นงานบิ๊กดาต้าที่จัดขึ้นครั้งแรกในจีน และปัจจุบันกลายเป็นแพลตฟอร์มระดับนานาชาติที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมคลังข้อมูลขนาดใหญ่ของจีน
ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา มณฑลกุ้ยโจวเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้ามาอย่างต่อเนื่อง จนอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าของมณฑลพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและได้รับภารกิจสำคัญจากรัฐบาลกลาง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงกลางปี 2564 มณฑลกุ้ยโจวได้รับอนุมัติให้เป็น 1 ใน 8 “ศูนย์เครือข่ายพลังการประมวลผลแห่งชาติ” ของจีน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าแบบบูรณาการทั่วประเทศเพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากและสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ “ข้อมูลตะวันออก ประมวลผลตะวันตก” (“东数西算”工程) ของจีน ซึ่งโครงการ “ข้อมูลตะวันออกประมวลผลตะวันตก” นับเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกุ้ยโจวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังจากได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่นำร่องบิ๊กดาต้าระดับชาติ (National Big Data Pilot Zone) แห่งแรกของจีนเมื่อปี 2559
ล่าสุด เมื่อต้นเดือนเมษายน 2566 สำนักงานบริหารและพัฒนาบิ๊กดาต้ามณฑลกุ้ยโจวได้ประกาศแผนพัฒนาพลังประมวลผลสามปีของมณฑลกุ้ยโจว (ปี 2566-2568) โดยกำหนดเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 พลังการประมวลผลรวมของมณฑลกุ้ยโจวจะเพิ่มขึ้น 11 เท่า จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 0.81 เอกซะฟร็อปส์ (Exaflops หรือ Eflops เป็นหน่วยวัดสมรรถนะในการทำงานหรือความเร็วในการประมวลผลของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ มีค่าเท่ากับ 1018 ครั้งต่อวินาที) เพิ่มขึ้นเป็น 10 เอกซะฟร็อปส์ รวมถึงเพื่อพัฒนาให้มณฑลกุ้ยโจวกลายเป็นเส้นทาง “ข้อมูลตะวันออก ประมวลผลตะวันตก” ที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของจีน ซึ่งสอดรับกับนโยบายก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ที่มณฑลกุ้ยโจวได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการสามปี (ปี2565-2567) สำหรับการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัล” โดยมีแผนลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านดิจิทัลที่สำคัญมากกว่า 100,000 ล้านหยวน ภายในปี 2567 ขณะเดียวกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าของมณฑลกุ้ยโจวยังสอดคล้องกับเป้าหมายแผนยกระดับการพัฒนาภาคตะวันตกในยุคใหม่ซึ่งประกาศโดยคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นปี 2565 ที่ต้องการให้มณฑลกุ้ยโจวกลายเป็นเขตนวัตกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่แข็งแกร่งของจีน
ประการต่อมา คือ นครกุ้ยหยางถือเป็น “แหล่งภูมิศาสตร์ที่ดี” ของคลังข้อมูลขนาดใหญ่ โดยนครกุ้ยหยางมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ของการเป็นเมืองหุบเขาที่มีความเสี่ยงแผ่นดินไหวต่ำ มีไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดราคาถูก และภูมิอากาศที่มีอุณหภูมิไม่สูงมากตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในนครกุ้ยหยางที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นด้วยการเจาะหุบเขากลายเป็นถ้ำที่สามารถตอบสนองการลดอุณหภูมิลงได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ทำให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อยลงอย่างมาก จุดเด่นเหล่านี้กลายเป็นแรงดึงดูดให้บริษัทที่มีชื่อเสียงทั้งของจีนและของโลกเข้ามาตั้งศูนย์ข้อมูล จนปัจจุบันกลายเป็นที่ตั้งของศูนย์บิ๊กดาต้าขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษรวม 18 แห่ง เช่น Huawei, Tencent และ Alibaba รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ 3 รายของประเทศ ได้แก่ China Mobile, China Telecom และ China Unicom โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท Apple ซึ่งได้ลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลของบริษัทแห่งแรกในจีนที่นครกุ้ยหยาง
ประการสุดท้าย คือ การได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนจีนและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีเขตเมืองใหม่กุ้ยอันเป็น “แหล่งที่ตั้งคลังบิ๊กดาต้าจำนวนมาก” ของมณฑลกุ้ยโจว ก่อนอื่นมาทำความรู้จักเขตเมืองใหม่กุ้ยอันในเบื้องต้นกันก่อน โดยเขตเมืองใหม่กุ้ยอันเป็นเขตเมืองใหม่ระดับประเทศของจีนที่คณะรัฐมนตรีจีนอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อต้นปี 2557 นับเป็นเขตเมืองใหม่ระดับประเทศลำดับที่ 8 จาก 19 แห่งในปัจจุบันของจีน ซึ่งการจัดตั้งเขตเมืองใหม่ขึ้นมานั้นก็เพื่อให้กลายเป็นแหล่งพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน
ในภาพรวม เขตเมืองใหม่กุ้ยอันตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของมณฑลกุ้ยโจวระหว่างนครกุ้ยหยางกับเมืองอันซุ่น มีขนาดพื้นที่ตามที่วางแผนไว้ 1,795 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ระดับอำเภอ 4 แห่ง ได้แก่ เขตฮัวซีและเมืองชิงเจิ้นของนครกุ้ยหยาง รวมถึงเขตผิงป้าและเขตซีซิ่วของเมืองอานซุ่น จำนวนประชากรกว่า 3 ล้านคน จุดเด่นของเขตเมืองใหม่กุ้ยอัน คือ เป็นที่ตั้งของเขตปลอดอากรกุ้ยอัน (Gui’an Comprehensive Free Trade Zone) และเมืองมหาวิทยาลัยฮัวซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอาชีวะที่สำคัญหลายแห่งของมณฑลกุ้ยโจว รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลที่สำคัญของมณฑลอีกด้วย
เขตเมืองใหม่กุ้ยอันนับเป็นแหล่งรวมของศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่พิเศษที่มีบริษัทเข้ามาตั้งรกรากมากที่สุดอีกหนึ่งแห่งของจีน รวมถึงเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าและข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของจีน โดยสามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกจำนวนมากให้เข้ามาลงทุน เช่น Huawei, Tencent และ Apple ที่เข้ามาจัดตั้งศูนย์ข้อมูล โดยเฉพาะบริษัท Huawei Cloud ซึ่งได้เข้าไปตั้งสำนักงานใหญ่ในเขตเมืองใหม่กุ้ยอัน Foxconn ที่ลงทุนจัดตั้งศูนย์บิ๊กดาต้าและการผลิตอุปกรณ์อัจฉริยะ Qualcomm ที่ลงทุนด้านการผลิตไมโครชิพ ตลอดจน Microsoft, IBM และ Inspur ที่ลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้า
นอกจากนี้ เมื่อปลายปี 2564 เขตเมืองใหม่กุ้ยอันยังได้รับอนุมัติจากรัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวให้เป็นที่ตั้งของ “เมืองวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมบิ๊กดาต้าแห่งนครกุ้ยหยาง” ขนาดพื้นที่ 54.8 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบัน มีบริษัทเข้าไปลงทุนแล้ว 487 ราย ซึ่งในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งรวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงเขตสาธิตการประยุกต์ใช้ดิจิทัลที่สำคัญของจีน ทั้งนี้ ในปี 2565 เขตเมืองใหม่กุ้ยอันมีมูลค่า GDP 18,530 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 12.5 อัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 จากเขตเมืองใหม่ทั้งหมด 19 แห่งในปัจจุบันของจีน
ก่อนหน้านี้ราวเกือบทศวรรษ เศรษฐกิจของมณฑลกุ้ยโจวเติบโตโดยอาศัยอุตสาหกรรมเหล้าขาว (เหมาไถ) การผลิตไฟฟ้า และแร่ธาตุเป็นหลัก ต่อมารัฐบาลมณฑลกุ้ยโจวเห็นว่าในระยะยาวหากอุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดการชะลอตัวจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของมณฑลเกิดปัญหา จำเป็นต้องแสวงหาลู่ทางใหม่ เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จึงกลายเป็นที่มาของการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านบิ๊กดาต้าซึ่งมณฑลกุ้ยโจวมีความได้เปรียบทั้งด้านภูมิศาสตร์และต้นทุน เศรษฐกิจดิจิทัลกลายเป็นกำลังสำคัญในการนำมณฑลกุ้ยโจวไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพสูง (high quality development) โดยในปี 2565 กุ้ยโจวมีมูลค่า GDP 2,016,458 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 เท่าตัว (ปี 2557 กุ้ยโจวมีมูลค่า GDP 925,101 ล้านหยวน) ขณะเดียวกัน ขนาดของเศรษฐกิจดิจิทัลเขยิบขึ้นมาติดลำดับที่ 20 จากปี 2559 ที่อยู่ในลำดับ 25 ของประเทศ ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลของมณฑลกุ้ยโจวมีสัดส่วนถึงร้อยละ 36 ของมูลค่า GDP มณฑล และอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับหนึ่งของจีนติดต่อกันเป็นปีที่ 7
****************************************
แหล่งข้อมูล
https://rb.gywb.cn/epaper/gyrb/html/2023-05/04/content_5938.htm#article
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1762162077878043701&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1765492678812644909&wfr=spider&for=pc
https://m.thepaper.cn/baijiahao_18969088