สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ เมืองเซี่ยเหมิน สวมเกราะเหล็กแก่ธุรกิจไทยสู่ตลาดจีน ในงานสัมมนาการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการยื่นขอ อย. ในจีน
12 Oct 2016ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน นำทีมโดยนายธัชไท ถมังรักษ์สัตว์ (กงสุลใหญ่) พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในจีน ซึ่งบินตรงจากมณฑลฝูเจี้ยนมาให้ความรู้แก่นักธุรกิจไทย ในงานสัมมนาหัวข้อเรื่อง “การยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า และการยื่นขอใบรับรองความปลอดภัยด้านอาหารและยา (อย.) ในจีน” ณ ห้องมิ่งเมือง โรงแรม Twin Towersกรุงเทพฯ เป็นงานที่เจาะจงผู้ประกอบการที่สนใจจะส่งออกสินค้าในกลุ่มอาหาร เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ และสินค้าสปา เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงจากผู้บริโภคชาวจีน แต่เสี่ยงต่อการถูกลอกเลียนแบบและปลอมแปลง ไม่ว่าจะเป็น ฉลากตราสินค้า บรรจุภัณฑ์ และรสชาติ บ่อยครั้ง สินค้าหลายประเภทซึ่งผลิตและวางจำหน่ายโดยชาวจีน ใช้ภาษาไทยในการตีตราสินค้า ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า นี่คือสินค้าจากประเทศไทย ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย เพราะสินค้าเหล่านั้นมักไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน
งานดังกล่าวประสบความสำเร็จและได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพึงพอใจ มีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฟังเกือบ 300 ราย ทั้งนี้ ศูนย์ BIC ณ เมืองเซี่ยเหมิน ขอสรุปสาระสำคัญของวิทยากรแต่ละท่านที่มาบรรยายในงาน ดังนี้
1. การบรรยายเรื่องการยื่นขอจดทะเบียนการค้า โดย Mr. Xu Fushu (Director, Trade Mark Registration)
Mr. Xu Fushu กล่าวว่า หน่วยงานรับผิดชอบด้านการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้แก่ 1.) Trademark Bureau รับผิดชอบงานด้าน จัดการและการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั่วประเทศจีน 2.) Trademark Review Committee รับผิดชอบงานด้าน การจัดการกรณีพิพาทเรื่องทะเบียนเครื่องหมายการค้า 3.) The State Administration of Industry and Commerce of China และกระทรวงพาณิชย์ของไทย จะมีการเซ็นต์บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกัน ซึ่งจะมีการหารือแผนความร่วมมือกันทุกๆ 2 ปี
สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไทยและจีนใช้ข้อตกลงร่วมกันคือ “ข้อตกลง Nice ประเภทนานาชาติว่าด้วยเรื่องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ใช้สำหรับสินค้าและบริการ” (Nice Agreement Concerning the International Classification of Goods and Services for the Purposes of the Registration of Marks) ซึ่งหลังจากยื่นใบสมัครจะมีการตรวจสอบและอนุมัติ โดยเครื่องหมายการค้าที่จะถูกปฎิเสธการจดทะเบียน ได้แก่ เครื่องหมายการค้าที่ซ้ำกับของผู้อื่น หรือใช้จดทะเบียนสินค้าเกิน 9 ชนิด หรือเป็นสินค้าที่ขาดลักษณะพิเศษ ทั้งนี้ Trademark Bureau จะใช้เวลาไม่เกิน 9 เดือนในการตรวจสอบ และส่งต่อให้ Trademark Review Committee ตัดสินการอนุมัติภายในเวลาไม่เกิน 9 เดือนเช่นกัน ทั้งนี้ ทะเบียนเครื่องหมายการค้า จะมีอายุ 10 ปี หลังจากได้รับอนุมัติ ในกรณีต้องการเปลี่ยนแปลง/แก้ไขข้อมูล ผู้จดทะเบียนสามารถขอเปลี่ยนชื่อผู้จดทะเบียน ที่อยู่ หรืออื่นๆ ได้
นอกจากนี้ Mr. Xu Fushu ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และปิดช่อง กล่าวคือ หาก ผปก. ไทยคิดจะนำสินค้าของตนเองเข้าลองตลาดจีน ก็ควรจะนำสินค้าของตนไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีนเสียก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะโดนแย่งลิขสิทธิ์ เพราะการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในไทย ไม่ได้มีความคุ้มครองทางกฎหมายในจีน และการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ควรจะระบุประเภทให้ครอบคลุมสินค้าที่จะจดทะเบียน เพื่อป้องกันผู้ลอกเลียนแบบนำไปใช้กับสินค้าประเภทอื่น และควรจะจดลิขสิทธิ์ ข้อความ รูปภาพ ตัวอักษร ตัวเลข โลโก้ 3 มิติ สีสัน สัญลักษณ์ ฯ ของเครื่องหมายการค้าด้วย เพื่อปิดช่องโหว่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้
2. การบรรยาย โดย Mr. Li Jingsong (Fujian Jinxiang Intellectual Property Co.,Ltd )
Mr. Li Jingsong กล่าวว่า กลยุทธ์ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีดังนี้
1.) สืบค้นข้อมูลก่อนสมัคร เช่น องค์ประกอบเชิงสัญลักษณ์ของเครื่องหมายการค้า เว็บไซด์ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า (www.ctmo.gov.cn) และข้อมูลเครื่องหมายการค้าประเภทเดียวกัน
2.) สมัครก่อนได้ใช้สิทธ์ก่อน
3.) แยกประเภทสินค้าที่สมัคร เพื่อลดความเสี่ยง ง่ายต่อการใช้งาน หากโดนละเมิดสามารถเรียกร้องค่าเสียหายขั้นสูงสุดได้ แต่ค่าธรรมเนียมการสมัครประเภทนี้จะค่อนข้างสูง
4.) ป้องกันการถูกแย่งลิขสิทธิ์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในทรัพย์สิน และหากเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ได้ใช้งานเครื่องหมายการค้าติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร บริษัทหรือบุคคลอื่น สามารถยื่นให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นๆ กับกรมการเครื่องหมายการค้าได้
5.) จดทะเบียนภาษาโฆษณาหรือสโลแกนสินค้า และสร้างความโดดเด่นให้แก่เครื่องหมายการค้า เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ
6.) จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 3D และเสียง (Sound & 3D Trademark) เป็นสิ่งจำเป็นในยุคดิจิทัล ซึ่ง เครื่องหมายการค้า 3 มิติถือเป็นลักษณะสิทธิบัตรที่มีสิทธิประโยชน์เสริม
7.) จดทะเบียน business name และ domain name
กลยุทธ์สำคัญเพื่อการเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง มีดังนี้
1.) ไม่นำ business name มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า
2.) ไม่นำ domain name มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า
3.) ห้ามนำไปคัดลอก เลียนแบบ หรือแปล เนื่องจากกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ข้อ 13 วรรค 2 กล่าวว่า ผู้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีการคัดลอก เลียนแบบหรือแปลมาจากเครื่องหมายการค้าชื่อดัง (สินค้าประเภทเดียวกัน) ที่เคยมีการขึ้นทะเบียนมาแล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสน จะไม่อนุญาติให้จดทะเบียนและนำไปใช้งาน
4.) กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า ข้อ 13 วรรค 3 กล่าวว่า ห้ามนำเครื่องหมายการค้าที่เคยมีการขึ้นทะเบียนในสินค้าประเภทหนึ่งแล้ว ไปคัดลอก เลียนแบบ หรือแปล เพื่อนำไปใช้กับสินค้าอีกประเภทหนึ่ง เพื่อหลอกลวงประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายในทรัพย์สินแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น จะไม่อนุญาติให้จดทะเบียนและนำไปใช้งานเด็ดขาด
5.) ห้ามนำตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง ไปใช้บนผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจ ตู้สินค้า โฆษณา งานแฟร์หรือกิจกรรมทางธุรกิจ หากละเมิดจะถูกหน่วยงานบริหาร อก. และพาณิชย์ท้องถิ่นออกคำสั่งดำเนินการแก้ไข และปรับ 1 แสนหยวน
3. การบรรยายโดย Mr. Li Zong (ผอ. ศูนย์ Fujian Food & Drug Certification & Review)
Mr. Li Zong กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าประเภทอาหาร อยู่ในความดูแลของหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพและกักกันโรคสินค้าเข้า-ออกแห่งชาติ (AQSIQ) ซึ่งจะตรวจสอบดูแลมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าจำพวกอาหารนำเข้า สารปรุงแต่งอาหาร และสินค้าประเภทอาหารทุกชนิด และออกใบรับรอง อย. โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.) การประเมินระบบบริหารจัดการความปลอดภัยของอาหารจากประเทศที่ส่งออกแรก โดย AQSIQ ซึ่งจะดู 3 ด้าน คือ 1.อยู่ในระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ 2.ระบบสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของจีน 3.สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยของอาหาร
2.) การบริหารจัดการด้านการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจของบริษัทผู้ผลิต มีหน่วยงาน Certification and Accreditation Administration of the People’s Republic of China (CNCA) ดูแลเกี่ยวกับการควบคุมและจดทะเบียนรับรองสินค้าอาหารที่นำเข้ามายังจีน (ซึ่งมีแหล่งผลิตอยู่ในต่างประเทศ) ปัจจุบันควบคุมสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และนมเป็นหลัก
3.) ขอหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการจากประเทศที่ส่งออก
4.) กระบวนการตรวจสอบและกักกันโรคของจีน ในด้านแหล่งที่มาของสินค้าพืชและสัตว์นำเข้า อาทิ พาชนะบรรจุหรืออุปกรณ์ที่สัมผัสกับสินค้าประเภทนม เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ธัญพืช ผักผลไม้ รังนก ไข่ไก่ เป็นต้น
5.) บ. ผู้ส่งออกอาหารนำเข้าจะต้องเข้าระบบลงทะเบียนสินค้านำเข้าสำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออก (Registration System for Importers and Exporters of imported Food) จากนั้นจะต้องเอาเอกสารตัวจริงไปยื่นตรงต่อ สนง. ตรวจสอบและกักกันโรคในพื้นที่ของตน
6.) ผู้นําเข้าจะต้องแนบใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของวัสดุ/วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต โดยสินค้าอาหารนำเข้าที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ นม น้ำมันพืช อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารพิเศษที่ใช้ในทางการแพทย์ ส่วนผสมอาหารชนิดใหม่ อาหารออร์แกนิก ส่วนสินค้านำเข้าที่มีข้อจำกัดพิเศษ ได้แก่ เนื้อสัตว์ ธัญพืช สินค้าเกษตร (ผักสด) น้ำมันพืช
7.) การตรวจสอบข้อมูลเอกสารที่ยื่นไป อาทิ สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จ รายการการขนส่งตู้สินค้า ใบเสร็จและใบรับรองต่างๆ
8.) การตรวจสอบในสถานที่จริง โดยจะตรวจสอบการปนเปื้อนของภาชนะบรรจุ วัสดุที่ใช้บรรจุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่ง สถานที่จัดเก็บสินค้า ความสะอาดปลอดภัยของภาชนะบรรจุภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้ขนส่ง ใบรับรองตัวสินค้า ฉลากสินค้า วันผลิตและวันหมดอายุ ลักษณะความผิดปกติที่รับรู้ได้ทางประสาทสัมผัส (รูป รส กลิ่น) เป็นต้น
9.) การสุ่มตรวจ หากพบสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน บ. ผู้นำเข้าสินค้านั้นจะต้องไปยื่นขอใบรับรองการตรวจสอบสินค้าอีกครั้ง
10.) การตรวจสอบฉลากสินค้า จะต้องมีฉลากภาษาจีนกำกับบอกส่วนประกอบ วิธีใช้ และรายละเอียดผลิตภัณฑ์ด้วย
11.) บันทึกการนำเข้าและการจำหน่าย โดย AQSIQ จะตรวจสอบบันทึกการจำหน่ายและการนำเข้าสินค้าของ บ. ผู้นำเข้า
4. การบรรยายโดย Mr. Zheng chun (Director,Division of Drug Registration, Fujian Food & Drug Administration)
Mr. Zheng chun กล่าวว่า China Food and Drug Administration (CFDA) เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านสินค้าประเภทอาหารและยาในจีน การกำหนดนโยบาย และการอนุมัติขอขึ้นทะเบียนยา ส่วนหน่วยงงาน อย. ในระดับมณฑล จะทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพยาที่ผลิตใน ปท. ควบคุมดูแลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ตรวจสอบราคาของยา และสำหรับการจดทะเบียนสินค้าเวชภัณฑ์/ยา และเครื่องสำอาง จะอยู่ในการดูแลของกองการบริหารงานจดทะเบียนสินค้าเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง (DDR) ซึ่งจะรับผิดชอบตั้งแต่การขึ้นทะเบียน การตรวจสอบ การออกใบอนุญาต
5. การบรรยายโดย Mr. Shi Da tuo (General Manager of DTL Law Office Co.,Ltd.)
Mr. Shi Da tuo กล่าวว่า ขอบเขตสินค้าที่ CFDA ดูแล ได้แก่
– อาหาร ซึ่งจะดูแลเรื่องการจดทะเบียนอาหารเพื่อสุขภาพ การผลิตและวงจรการผลิตอาหาร การผลิตวัตถุเจือปนในอาหาร ใบอนุญาตประกอบอาหาร ซึ่งผู้สมัครจะต้องเป็น บ. ที่จดทะเบียนในจีน จะต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดเก็บสินค้า จะต้องอุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจในความปลอดภัยของอาหาร จะต้องจ้างผู้จัดการเพื่อดูแลความปลอดภัยของอาหาร จัดการดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าความปลอดภัยของอาหารในระหว่างกระบวนการทางธุรกิจ
– เครื่องสำอาง การยื่นขอจดทะเบียนต่อ CFDA มีเอกสารที่จำเป็น ได้แก่ ชื่อและภูมิหลังของชื่อสินค้า สูตรทางเคมีของผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพด้านความปลอดภัย packageสินค้า รายงานการตรวจสอบที่ออกโดยหน่วยงานที่ได้รับการแต่งตั้ง การประเมินความเสี่ยงของสารวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ใบอนุญาตการผลิตเครื่องสำอางในประเทศต้นทาง สินค้าตัวอย่าง
– ยา ขั้นตอนการสมัคร คือ 1.) แจ้งรายละเอียดของสินค้าอย่างละเอียด บ่งบอกวัสดุทางเภสัชกรรม การศึกษาด้านเภสัชวิทยาและพิษวิทยา 2.) ตรวจมาตรฐานและทดสอบ 3.) การศึกษาวิจัยทางคลินิก (Clinical study) 4.) การออกใบรับรองการจดทะเบียนสินค้า
– เครื่องมือทางการแพทย์ ดูแลเรื่องการผลิต การจดทะเบียน การนำเข้า-ส่งออก และวงจรต่างๆ
สรุป
การสัมมนาดังกล่าว เป็น Platform ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและบริการสำหรับ Cross-border-e-commence ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับทราบกฎระเบียบของการจดทะเบียนสินค้าและยื่นขอใบ อย. ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย พัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันปรับตัวด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความสอดคล้องด้านอาหารและยา ซึ่งหากสามารถยกระดับขีดความสารถได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อีกมาก ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันตามนโยบาย Thailand 4.0 โดยพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสินค้าไทยสู่นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเพื่อการส่งออกด้วย
************************************************