โอกาสสินค้าไทยสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross Border e-Commerce
2 Mar 2021
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
“ศึกโควิด-19” ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก จีนเป็นประเทศแรกๆ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จนกลายมาเป็นกำลังซื้อหลักของตลาดโลก ท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ นับเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้ส่งออกไทยที่จำเป็นต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ
วลีที่ว่า “Go Digital or Die” ชี้ให้เห็นถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยี หรือ digital disruption ที่กำลังมาแรง และโควิด-19 ยิ่งเป็น “ยาเร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจให้เร็วยิ่งขึ้นไปอีก แพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง และการค้าออนไลน์กลายมาเป็นเครื่องยนต์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการบริโภคในประเทศ พร้อมกับการขยายตลาดส่งออก
จีนประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดิจิทัล เป็นประเทศต้นแบบของ e-Commerce ของโลก พ่วงด้วยการก้าวขึ้นเป็นตลาด e-Commerce ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (แซงหน้าสหรัฐอเมริกา) และธุรกิจ e-Commerce ก็มีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 และเป็น “โอกาสทอง” สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพหรือ SMEs ไทยที่สามารถก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทาง Cross Border e-Commerce (CBEC) ในตลาดที่มีศักยภาพอย่าง “ตลาดจีน”
ตัวเลขที่น่าสนใจจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน (CNNIC) ระบุว่า ในปี 2563 จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Netizen) พุ่งแตะ 989 ล้านคน คิดเป็นกว่า 1/5 ของผู้ใช้งานทั่วโลก และมากกว่าประชากรไทยทั้งประเทศถึง 14.1 เท่า และ Netizen เหล่านี้มีสัดส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนสูงถึง 99.7% หรือเท่ากับ 986 ล้านคน
อะไรคือ CBEC หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นวิวัฒนาการของ e-Commerce กับพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวจีนหัวสมัยใหม่ที่รักความอินเตอร์ และพลิกคอนเซปต์ e-Commerce จากการซื้อมาขายไปภายในประเทศ (consumption upgrade) มาเป็นการการซื้อขายระหว่างประเทศ
เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานและส่งเสริม ecosystem ให้กับธุรกิจ CBEC ในประเทศจีน รัฐบาลจีนได้กางแผนที่และใช้ปากกาวงพื้นที่ที่จะให้เป็นแพลตฟอร์มรองรับการทำธุรกิจ e-Commerce ระหว่างประเทศ และเรียกพื้นที่นั้นว่า “เขตทดลองการค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนแบบครบวงจร” (Integrated Pilot Zones for Cross Border e-Commerce) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตสินค้าทัณฑ์บนของเมืองต่างๆ
ปัจจุบัน เขตทดลอง CBEC ในจีน มีจำนวน 105 แห่ง สินค้าที่ซื้อขายผ่านทางช่องทาง CBEC จะอยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนในประเทศหรือต่างประเทศ (oversea warehouse) ก็ได้เพื่อรอขาย หลังจากที่ผู้บริโภคจีนทำการสั่งซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม CBEC แล้ว คำสั่งซื้อจะถูกส่งไปยังหน่วยงานศุลกากรจีนและผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุ (courier) เพื่อนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ชำระภาษี และส่งตรงจากคลังสินค้าทัณฑ์บนถึงมือผู้บริโภคอย่างรวดเร็วภายใน 4-7 วัน ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าระหว่างประเทศผ่านระบบออนไลน์แบบปกติจะใช้เวลามากกว่า 15 วัน
ในปี 2563 รัฐบาลจีนได้กำหนดเพดานการสั่งซื้อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศผ่านช่องทาง CBEC ได้ไม่เกินคนละ 26,000 หยวนต่อปี (ครั้งละไม่เกิน 5,000 หยวน) เมื่อสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนจะต้องชำระภาษีตามข้อกำหนดพิเศษในอัตรา 9.1% สำหรับสินค้าทั่วไป และอัตรา 17.9% – 28.9% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย โดยไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซ้ำอีก
ที่สำคัญ…รัฐบาลจีนมีแนวโน้มว่าจะปรับลดอัตราภาษีพิเศษดังกล่าวอีก และปรับเพิ่มเพดานมูลค่าการสั่งซื้อสินค้าต่อคนต่อปีให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งขยายกลุ่มสินค้าที่สามารถซื้อขายผ่าน CBEC ให้มากขึ้นอีกด้วย
การค้าช่องทาง CBEC ช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคของชาวจีนในการซื้อสินค้าปลีกล็อตเล็กจากต่างประเทศด้วยตนเอง(แบบถูกกฎหมาย) เป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่าสินค้าเป็นของแท้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทรดเดอร์หรือผู้นำเข้าที่เป็นตัวกลางในการกำหนดราคา ผูกขาดตลาด ผูกขาดอำนาจการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าแบบล็อตใหญ่จากต่างประเทศ นับเป็นการจุด “พลังมด” ของนักช้อปชาวจีนให้เป็น “พลังช้าง” ในการขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศอีกทาง
ณ จุดนี้ ต้องซูฮกให้กับรัฐบาลจีนในการแก้ไขปัญหาสินค้าปลอมจากต่างประเทศและสินค้าหิ้วพรีออร์เดอร์ที่อยู่นอกระบบการจัดเก็บภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษี แถมเป็นการเสริมภาพลักษณ์ “สุภาพบุรุษ” ของจีนในเวทีเศรษฐกิจโลก แสดงให้เห็นว่าจีนมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาอุปสรรคเรื่องการกีดกันทางการค้าสินค้าจากต่างประเทศ
โอกาสของ “สินค้าไทย” ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนได้โดยตรง ผ่านช่องทาง CBEC ปัจจุบัน CBEC ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ตัวเลขจาก iiMedia Research ระบุว่า ปี 2563 นักช้อป CBEC ในจีนมีจำนวนมากกว่า 232 ล้านคน หรือมากกว่า 3.3 เท่าของประชากรไทย โดยจำนวนน้กช็อปและมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านช่องทาง CBEC มีแนวโน้มเติบโตพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงกำลังซื้อของพลังนักช้อปชาวจีนได้อย่างแท้จริง
ที่มา statista
ช่องทาง CBEC ยังเปิดโอกาสให้สินค้าต่างประเทศเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม social commerce ที่หลากหลาย อาทิ แอป Tiktok (抖音) และแอป Kuaishou (快手) ที่ผู้ใช้งานสามารถรับชมการไลฟ์สดนำเสนอสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา หากถูกใจ ก็กดปุ่มสั่งซื้อที่เชื่อมจาก app ไปยังแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ CBEC ที่เป็น fulfillment warehouse ในตัว ทำให้การค้าผ่านช่องดังกล่าวก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องพรมแดนและเวลา
แพลตฟอร์มไลฟ์สดนำเสนอขายสินค้ากำลังเป็นกระแสมาแรงในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน พฤติกรรมชอบทดลองสิ่งใหม่ และการชม-ช้อป-แชร์ ทำให้แพลตฟอร์ม social commerce กลายเป็น “เครื่องปั๊มเงิน” ให้เจ้าของสินค้า การไลฟ์สดขายสินค้าและฟังก์ชันการโต้ตอบบนแพลตฟอร์มด้วยลูกเล่นที่หลากหลาย เช่น การเล่นเกมถ่ายทอดสด การแจกส่วนลดพิเศษ การแข่งขันแย่งส่วนลด ได้สร้างทั้งความสนุกสนานและความคุ้มค่า ทำให้ประสบการณ์การซื้อสินค้าไม่น่าเบื่อ
กล่าวได้ว่า…การซื้อสินค้าของชาวจีนไม่ใช่เพียงการซื้อเพื่อตอบสนองอรรถประโยชน์ในการใช้สินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอรรถรสความบันเทิงและสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับชีวิตอีกด้วย
(ต่อภาค 2 เรียนจากผู้รู้ : โอกาสสินค้าไทยสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง Cross Border e-Commerce)