ศึกษานวัตกรรม AI ในเขต YRD (ตอนที่ 1: เจาะนโยบายและเป้าหมายการพัฒนา)
20 Feb 2025ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ได้กลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่มีอิทธิพลสูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้าน AI ระดับโลกภายในปี 2030 ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลและการลงทุนจากภาคเอกชน AI ถูกนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจีน ทั้งด้านการผลิต การเงิน โลจิสติกส์ การสร้างเมืองอัจฉริยะและระบบขนส่งอัตโนมัติ ฯลฯ ความสำเร็จเหล่านี้ช่วยยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของจีนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ทั้งนี้ เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta – YRD) ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย ได้ก้าวขึ้นเป็นพื้นที่ชั้นนำด้าน AI โดยมีขนาดอุตสาหกรรม AI คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านหยวน (สถิติ ณ กันยายน 2567) คิดเป็น 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรม AI ของจีน จึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่น่าจับตา และไทยสามารถหาโอกาสขยายความร่วมมือต่อไป

เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม AI ของจีน
เดือนกรกฎาคม 2560 คณะรัฐมนตรีจีนได้เผยแพร่แผนพัฒนา AI ยุคใหม่เป็นครั้งแรก ประกอบด้วยการวางแนวทางพัฒนา เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ ภารกิจหลัก และมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับ AI ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาเป็น 3 ระยะ ดังนี้
– ภายในปี 2563 ขนาดอุตสาหกรรมหลักด้าน AI มีมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านหยวน และผลักดันให้ขนาดของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI อาทิ การผลิตอัฉริยะ การแพทย์สมัยใหม่ การศึกษาสมัยใหม่ และพลังงานใหม่ มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวน
– ภายในปี 2568 ตั้งเป้าให้มีความก้าวหน้าสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีพื้นฐานด้าน AI โดยเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้งานบางส่วนจะก้าวสู่ระดับแนวหน้าของโลก และตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมหลักด้าน AI มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านหยวน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI มีมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านหยวน
– ภายในปี 2573 ทฤษฎี เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ AI ของจีนจะก้าวสู่ระดับแนวหน้าของโลก โดยขนาดอุตสาหกรรมหลักด้าน AI จะมีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI มีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านหยวน
นโยบายอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์และเป้าหมายการพัฒนา
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2564 – 2568) พบว่า แนวทางการพัฒนา AI ได้เปลี่ยนจากการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การบูรณาการที่ลึกซึ้งในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิปประมวลผล ระบบปฏิบัติการ อัลกอริทึมสำคัญของ AI และเซ็นเซอร์ อีกทั้งเร่งการวิจัยพัฒนาทฤษฎีและวัสดุพื้นฐานให้เกิดความต่อเนื่อง

ปัจจุบัน รัฐบาลจีนมีนโยบายที่สำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรม AI อาทิ
1. สนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมในเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะด้าน AI เชิงสร้างสรรค์ และสนับสนุนการใช้งานที่เป็นนวัตกรรมในอุตสาหกรรมและสาขาต่าง ๆ
2. ส่งเสริมการบูรณาการทางอุตสาหกรรม โดยมุ่งบูรณาการ AI กับเศรษฐกิจจริง ยกระดับการเชื่อมต่อการประมวลผลข้ามภูมิภาค และเร่งสร้างระบบศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่แบบบูรณาการระดับประเทศ
3. ควบคุมการพัฒนาอุตสาหกรรม AI โดยออกมาตรการชั่วคราวสำหรับการจัดการบริการ AI ทั่วไป เพื่อควบคุมการพัฒนาอุตสาหกรรม AI และปกป้องความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์สาธารณะ
ทั้งนี้ ในส่วนของเขต YRD ก็มีการออกนโยบายสนับสนุน AI ที่สอดรับกับนโยบายภาพรวมของส่วนกลาง ได้แก่
– เซี่ยงไฮ้ กำหนดให้ AI เป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมหลักที่มุ่งพัฒนา (เซมิคอนดักเตอร์/ยาชีวภาพ/AI) โดยในปี 2563 เซี่ยงไฮ้ได้ออกกฎหมายท้องถิ่นเกี่ยวกับ AI เป็นแห่งแรกของประเทศ พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัว การประเมินหุ่นยนต์ และการประเมินความน่าเชื่อถือของโมเดลขนาดใหญ่ จึงทำให้เซี่ยงไฮ้อยู่ในฐานะแนวหน้าของการพัฒนา AI ควบคู่กับการคุ้มครองทางกฎหมายด้าน AI โดยกฎหมายฉบับนี้ยังได้ประกาศระเบียบการพัฒนาอุตสาหกรรม AI ซึ่งมุ่งเสริมสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี การบูรณาการ AI เข้ากับเศรษฐกิจและการบริหารเมือง และการสร้างกลุ่มอุตสาหกรรม AI ระดับโลก เพื่อส่งเสริมการพัฒนา AI อย่างยั่งยืนและการขยายการใช้งาน AI ในทุกด้านของวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ
– เจียงซู มีนครหนานจิงเป็นพื้นที่หลักในการพัฒนาด้าน AI โดยได้ประกาศ “แผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนา AI (ปี 2567 – 2569)” และ “นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนา AI” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างอุตสาหกรรม AI ที่มีอิทธิพลระดับชาติ และภายในปี 2569 นครหนานจิงจะพัฒนาโมเดล พื้นฐานด้าน AI ระดับโลก 1 โมเดล และโมเดล AI สำหรับอุตสาหกรรม 20 โมเดล พร้อมทั้งขยายขนาดอุตสาหกรรม AI ให้มีมูลค่าถึง 6 แสนล้านหยวน และกระตุ้นการประยุกต์ใช้ AI ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การผลิต พลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง การแพทย์ และการบริหารเมือง ฯลฯ นอกจากนี้ จะพัฒนาแอปพลิเคชันการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ โดยคัดเลือกแอปพลิเคชัน AI ที่โดดเด่น 30 ตัวอย่างต่อปี

– เจ้อเจียง มีนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม AI ด้วยการสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐภายใต้กองทุนพิเศษและใช้แนวคิด “AI+” เพื่อเสริมขีดความสามารถของหลายอุตสาหกรรม โดยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีหลัก โครงสร้างพื้นฐานด้านการคำนวณและชุดข้อมูลคุณภาพสูง พร้อมส่งเสริมการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การแพทย์ การเกษตร และการขนส่ง ฯลฯ พร้อมทั้งบ่มเพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมบูรณาการ AI ระดับหมื่นล้านหยวนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม พัฒนาโซนนำร่องการประยุกต์ใช้นวัตกรรมระดับเมือง 15 โซน พัฒนาสวนอุตสาหกรรมลักษณะเฉพาะ 100 แห่ง พัฒนาบริษัท AI กว่า 3,000 แห่ง โดยตั้งเป้าให้อุตสาหกรรม AI ในมณฑลมีรายได้กว่า 1 ล้านล้านหยวน และมีระบบนิเวศ AI ชั้นนำระดับประเทศภายในปี 2570
– อานฮุย ได้ประกาศ “แผนพัฒนานวัตกรรม AI ระยะ 3 ปี (2566 – 2568)” ซึ่งเน้นสนับสนุนบริษัทเอกชนในการวิจัยและพัฒนา การเปิดกว้างทรัพยากรข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะนครเหอเฝยที่ได้ประกาศ “นโยบายการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม AI และนวัตกรรม” เพื่อเสริมสร้างบทบาทเหอเฝยในฐานะ 1 ใน 4 “Comprehensive National Science Center” ของจีน (เซี่ยงไฮ้ เหอเฝย ปักกิ่ง และเซินเจิ้น) และเร่งพัฒนาเป็นศูนย์นวัตกรรมที่มีอิทธิพลระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยการดำเนินการหลัก 6 ด้าน ได้แก่ (1) การสร้างแพลตฟอร์มการคำนวณ (2) การเปิดกว้างในด้านทรัพยากรข้อมูลสาธารณะและข้อมูลอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพสูง (3) การพัฒนาเทคโนโลยีหลัก (4) การสนับสนุนการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ (5) การสร้างตลาดสำหรับภาคธุรกิจ และ (6) การพัฒนากฎระเบียบและการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อผลักดันให้อานฮุยกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีโมเดลขนาดใหญ่ภายในปี 2568 และเสริมสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรม AIที่มีอิทธิพลในระดับโลก

YRD เด่นกว่าใคร.. อุตสาหกรรม AI ใหญ่สุดในจีน
ปัจจุบันเขต YRD มีขนาดของอุตสาหกรรม AI คิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านหยวน (สถิติ ณ กันยายน 2567) คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรม AI ของจีน (มูลค่าเกือบ 6 แสนล้านหยวน) โดยเขต YRD มีสร้างโครงสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรม AI เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทั้งในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน อัลกอริทึมซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันอุตสาหกรรม ซึ่งได้พัฒนาความสามารถแบบก้าวกระโดดในด้านต่าง ๆ เช่น การคำนวณอัลกอริทึม การประมวลผลทางภาษาและรูปภาพ การจดจำ การรู้จำคำพูด และเทอร์มินัลอัจฉริยะ
ทั้งนี้ เขต YRD เป็นศูนย์รวมบริษัทที่จดทะเบียนด้าน AI ทั้งบริษัทมหาชนขนาดใหญ่และบริษัทยูนิคอร์นที่มีศักยภาพสูง (ธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ถึง 176 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 ของทั้งประเทศจีน (ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ 66 ราย เจียงซู 43 ราย เจ้อเจียง 42 ราย และอานฮุย 25 ราย) อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้าน AI ที่สำคัญ โดยในปี 2566 – 2567 จีนมีการลงทุนใน AI 798 โครงการ ซึ่งเป็นการลงทุนในเขต YRD 349 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 44 ของการลงทุนทั้งหมด (สูงสุดในจีน) (ไม่ปรากฏข้อมูลเชิงมูลค่า) โดยความสำเร็จนี้ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐทำให้เขต YRD กลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรม AI ที่สำคัญสำหรับจีน ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาอุตสาหกรรม
บทความตอนนี้ได้แนะนำให้เห็นถึงภาพรวมการพัฒนา AI ในเขต YRD ตลอดจนเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาในอนาคต บทความต่อไปจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI ในภาคส่วนต่าง ๆ ของเขต YRD โปรดติดตาม
—————-
จัดทำโดย นางสาวณัฐธิดา นิสภกุลชัย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
(1) www.atlanticcouncil.org หัวข้อ Assessing China’s AI development and forecasting its future tech priorities วันที่ 18 ก.ย. 2567
(2) https://mp.weixin.qq.com หัวข้อ 长三角地区人工智能产业发展现状及对策建议 วันที่ 19 ก.ค. 2567
(3) www.shanghai.gov.cn หัวข้อ 上海市促进人工智能产业发展条例 วันที่ 1 ต.ค. 2566
(4) www.nanjing.gov.cn หัวข้อ 南京发布“1+1”文件加快促进人工智能创新发展วันที่ 31 พ.ค. 2567
(5) https://fzggw.ah.gov.cn หัวข้อ 浙江省人民政府办公厅印发关于加快人工智能产业发展的指导意见 วันที่ 10 ต.ค. 2567
(6) http://fbh.anhuinews.com หัวข้อ 安徽省通用人工智能创新发展三年行动计划(2023—2025年)วันที่ 8 พ.ย. 2567