ศึกษานวัตกรรม AI ในเขต YRD (ตอนที่ 3: การบูรณาการความร่วมมือ AI และโอกาสของไทย)
3 Mar 2025เขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta – YRD) ซึ่งประกอบด้วยนครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง และมณฑลอานฮุย ถือเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ของจีน โดยภาครัฐได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจด้วยการสนับสนุนจากภาควิชาการ นำ AI มาใช้พัฒนาอย่างรอบด้าน นับเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถเรียนรู้และส่งเสริมความร่วมมือด้าน AI กับ YRD
บูรณาการรอบด้าน… รัฐบาลจับมือเอกชนชั้นนำด้าน AI ยกระดับการดำเนินการในภาพรวม
ปัจจุบันภาครัฐในเขต YRD ได้สร้างความร่วมมือกับบริษัท AI ชั้นนำในท้องถิ่น เพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสให้ภาคส่วนอื่น ๆ และผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ

1. เซี่ยงไฮ้ & SenseTime
รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้ร่วมมือกับ SenseTime ซึ่งเป็นบริษัท AI ชั้นนำในการนำโซลูชัน AI มาประยุกต์ใช้ในด้านการจัดการเมือง การดูแลสุขภาพ และโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยในช่วงการระบาดของ COVID-19 เทคโนโลยี AI ของ SenseTime ถูกใช้ในการตรวจวัดอุณหภูมิและติดตามบุคคลเพื่อการตรวจสอบสุขภาพ หลังจากสิ้นสุดช่วงแพร่ระบาดฯ รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ยังคงใช้ AI ของ SenseTime ในการจัดการเมือง เช่นการจัดการการจราจร การรักษาความปลอดภัย การพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ การศึกษา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทน้องใหม่อย่าง MiniMax ในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งพัฒนา AI ที่คล้ายกับ Sora ของ OpenAI (แอปพลิเคชั่นที่ใช้สร้างวีดิโอจากการพิมพ์ข้อความลงไป) โดยล่าสุดได้เปิดตัว โมเดลAI low-cost open-source ซีรีส์ MiniMax-01 ประกอบด้วย MiniMax-Text-01 (โมเดลภาษาพื้นฐาน) และ MiniMax-VL-01 (โมเดลมัลติโมดัลที่รองรับการมองเห็น) มีเป้าหมายแข่งขันกับโมเดลชั้นนำระดับโลก โดย MiniMax มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ความรู้เฉพาะด้าน และการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเทคโนโลยีของ MiniMax ได้รับความนิยมในด้านการประมวลผลภาษาธรรมชาติ การสร้างเนื้อหาด้วย AI และการวิเคราะห์ข้อมูล คาดว่าบริษัทฯ จะเป็นผู้เล่นหลักของการร่วมมือ AI ในภูมิภาค โดยบริษัทฯ ได้นำเสนอการบริการ AI ในหลายภาคส่วนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น

2. เจ้อเจียง & Alibaba
เจ้อเจียง (หางโจว) เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ Alibaba Group ได้บูรณาการเทคโนโลยี AI ของ Alibaba ในด้านอีคอมเมิร์ซ การเงิน และบริการสาธารณะ โดยเทคโนโลยี AI ของ Alibaba มีบทบาทสำคัญในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งได้ช่วยในการจัดการห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการติดตามข้อมูลสุขภาพ หลังจากสิ้นสุดช่วงแพร่ระบาดฯ เมืองต่าง ๆ ในเจ้อเจียงยังได้ใช้เครื่องมือ AI ของ Alibaba ในการจัดการเมือง ระบบโลจิสติกส์ และบริการดิจิทัลของรัฐบาล เป็นต้น โดยเมื่อปี 2567 Alibaba ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการสาธารณะที่ใช้ AI อย่างครอบคลุมในเมืองต่าง ๆ ของเจ้อเจียง
ล่าสุด เมื่อมกราคม 2568 บริษัท DeepSeek ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพจีนที่มีสำนักงานใหญ่ที่นครหางโจวได้เปิดตัว DeepSeek-V3 ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันตัวใหม่ที่เป็นแชตบอทประสิทธิภาพสูงคล้ายกับ ChatGPT แต่ใช้ทุนพัฒนาเพียง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่ำกว่าต้นทุนการพัฒนาของบริษัทอื่น ๆ มาก จึงเป็นที่น่าจับตามองบทบาทของ DeepSeek ในระดับโลกและการแข่งขันด้านเทคโนโลยี AI กับต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

3. อานฮุย & iFLYTEK
iFLYTEK ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในนครเหอเฝย มณฑลอานฮุย ได้ร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อประยุกต์ใช้ AI ในด้านการศึกษาการดูแลสุขภาพ และการประมวลผลภาษา โดยในช่วงการระบาดของ COVID-19 เทคโนโลยี AI ของ iFLYTEK ถูกใช้ในการตรวจอุณหภูมิที่ปราศจากการสัมผัส การปรึกษาแพทย์ทางไกล และการติดตามผู้ป่วยโควิด หลังจากสิ้นสุดช่วงแพร่ระบาดฯ อานฮุยและมณฑลอื่น ๆ ยังได้ใช้บริการ AI ของ iFLYTEK เพื่อเสริมสร้างการประมวลผลภาษา โดยเฉพาะในด้านการศึกษาและบริการสาธารณะ ทั้งนี้ เมื่อปี 2567 iFLYTEK ได้เปิดตัวเครื่องมือ AI สำหรับประมวลผลภาษาและการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของอานฮุยอย่างแพร่หลายขึ้น
ความร่วมมือภูมิภาค… ต่อยอดยุทธศาสตร์ระดับชาติ
นอกจากการร่วมมือระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับบริษัท AI ยักษ์ใหญ่ในพื้นที่แล้ว ภายในเขต YRD ยังได้บูรณาการร่วมกันในด้าน AI และขยายต่อยอดไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ในจีน
1. ความร่วมมือระหว่างเมือง ตอบรับยุทธศาตร์บูรณาการ YRD
เขต YRD กำลังบูรณาการเพิ่มเติมในการพัฒนา AI ร่วมกัน โดยมุ่งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งเมืองต่าง ๆ ใน YRD กำลังทำงานร่วมกันในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน AI การแบ่งปันข้อมูล และการอำนวยความสะดวกในการหมุนเวียนของทรัพยากรและบุคลากร ภูมิภาคนี้จะกลายเป็นศูนย์กลางสำหรับการพัฒนา AI ระดับโลก โดยมีความร่วมมือระหว่างเมืองทั้งในด้านการวิจัย การพัฒนา และการใช้งานโซลูชัน AI ซึ่งจะเป็นตัวอย่างและขยายผลไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของจีนด้วย โดยเฉพาะการใช้งาน AI ในด้านการขนส่ง การดูแลสุขภาพ การผลิตและอุตสาหกรรม
2. การบูรณาการกับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI):
BRI เป็นแพลตฟอร์มสำหรับบริษัท AI จีนขยายความร่วมมือกับต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยนำเสนอเทคโนโลยีและบริการ AI ไปยังประเทศต่าง ๆ ตามเส้นทาง Belt and Road ซึ่งรวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ขับเคลื่อนด้วย AI การจัดการเมืองอัจฉริยะ และการค้าดิจิทัล เป็นต้น โดยประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และเอเชียกลางกำลังนำเทคโนโลยี AI ของจีนมาใช้อย่างแพร่หลายเพิ่มขึ้น ซึ่งมี Alibaba, iFLYTEK และ SenseTime ของเขต YRD เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่มีศักยภาพสูง อาทิเช่นในปี 2567 SenseTime ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้าน AI กับประเทศต่าง ๆ เช่น ศรีลังกา อียิปต์ และมาเลเซีย เพื่อให้บริการโซลูชันการเมืองอัจฉริยะ และสนับสนุนโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนภายใต้ BRI
YRD ก้าวหน้าด้าน AI… ไทยมีทั้งโอกาสและความท้าทาย
เทคโนโลยี AI เป็นหนึ่งในสาขาที่ไทยมุ่งส่งเสริม ด้วยเหตุนี้ YRD จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายหนึ่งที่ไทยจะสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีและดึงดูดการลงทุนไปไทย และนำ AI ไปต่อยอดการพัฒนาประเทศในหลายสาขาอาทิ การสนับสนุนการทำงานภาครัฐและให้บริการประชาชน การยกระดับของอุตสาหกรรมการผลิตและภาคธุรกิจ และการปรับปรุงระบบการศึกษาให้ทันสมัย เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การใช้ AI มีความท้าทายที่ไทยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมีการรับมืออย่างรัดกุม อาทิ
1. ความปลอดภัยข้อมูล การเพิ่มการใช้ AI และแพลตฟอร์มดิจิทัลควรให้ความสำคัญควบคู่กันกับวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสำคัญ ตลอดจนความมั่นคงทางไซเบอร์ โดยไทยจำเป็นต้องมีมาตรการและกฎหมายที่ควบคุมอย่างเหมาะสม และมีการใช้บังคับอย่างจริงจัง
2. การกำกับดูแล AI ควรกำหนดกรอบที่เหมาะสมในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ต้องมีการควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายและจริยธรรมอันดีงามของสังคม รวมถึงการป้องกันการใช้ AI เพื่อกิจกรรมหรือธุรกิจผิดกฎหมาย และการกำหนดความรับผิดชอบและความโปร่งใสในการตัดสินใจของ AI 3. ผลกระทบต่อการจ้างงาน การใช้ AI และระบบอัตโนมัติอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างงานในบางสาขาธุรกิจ เช่น การผลิต การค้าปลีก และโลจิสติกส์ โดยไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาแรงงาน เช่น การฝึกอบรมทักษะใหม่ ๆ และการต่อยอดการใช้เทคโนโลยี
YRD มีบทบาทนำ… สร้างความร่วมมือรูปธรรมกับไทย
ประเทศไทยสามารถได้รับประโยชน์จากความเป็นผู้นำด้าน AI ของจีน ผ่านการสำรวจโอกาสความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้โอกาสการฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์การทูตไทย – จีนในปี 2568 ในการผลักดันเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น:

ภาครัฐ จังหวัดและหน่วยงานไทยสามารถร่วมมือกับเขต YRD ในการใช้ AI เพื่อบริหารภาครัฐ เช่น การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการให้บริการภาครัฐแบบออนไลน์อย่างครอบคลุม
ภาคธุรกิจ บริษัทไทยสามารถร่วมมือกับบริษัท AI จีน เพื่อนำ AI มาประยุกต์ใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การผลิต เกษตรกรรม การดูแลสุขภาพ และโลจิสติกส์ ฯลฯ โดยอาจเป็นรูปแบบการถ่ายโอนเทคโนโลยี การพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน ตลอดจนการร่วมลงทุน อนึ่ง ยกตัวอย่างโครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในรูปแบบ mixed use ในใจกลางกรุงเทพมหานครที่เปิดตัวเมื่อตุลาคม 2567 กลุ่ม TCC ของไทยซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้ก็ได้ร่วมมือกับบริษัท SenseTime จากเซี่ยงไฮ้ในการใช้เทคโนโลยี AI ของบริษัทฯ เข้าสนับสนุนโครงการดังกล่าว รวมถึงการคำนวณจำนวนบุคคลเข้าพื้นที่และยอดการค้าและการทำธุรกิจ เป็นต้น
ภาคการศึกษา ไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของ YRD ในด้านการใช้ AI เพื่อปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับแต่ละบุคคล การพัฒนาผลการเรียน การเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพอย่างทั่วถึง และการกำหนดให้ AI เป็นวิชาพื้นฐานในการเรียนระดับสามัฐจนถึงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกัน
การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้าน AI ด้วย
—————-
จัดทำโดย นางสาวณัฐธิดา นิสภกุลชัย ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้
ข้อมูลอ้างอิง
(1) https://www.depa.or.th/ หัวข้อ บทวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลประเทศไทย วันที่ 28 ม.ค. 2568
(2) https://www.nectec.or.th/ หัวข้อ ส่องสถานการณ์ AI โลก และ ไทย ในวันที่ AI ไม่ใช่ทางเลือก วันที่ 7 ก.พ. 2568
(3) https://www.shanghai.gov.cn/ หัวข้อ 上咨集团与商汤科技战略合作 วันที่ 4 เม.ษ. 2567(4) https://www.scmp.com หัวข้อ Chinese AI start-up MiniMax releases low-cost open-source models that rival top chatbots วันที่ 16 ม.ค. 2568
(5) https://news.qq.com หัวข้อ 政策汇总下载:2024全国省级、市级人工智能政策大全 วันที่ 11 ก.ย. 2567