ว่าด้วยเรื่องของ ‘มัน’ — โอกาสและความท้าทายของมันสำปะหลังไทยในจีน
11 Mar 2022
เขียนโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
บทความฉบับนี้ บีไอซีจะมาพูดถึงเรื่องของ ‘มัน’ มันที่ว่าก็คือ ‘มันสําปะหลัง’ พืชเศรษฐกิจที่สําคัญของประเทศไทย ที่พบการปลูกทั่วไปในทุกภาค โดยเฉพาะในภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ
หากจะพูดถึงประเทศไทยในในเวทีการค้ามันสำปะหลังของโลก วลีที่ว่า “ประเทศไทย… ไม่แพ้ชาติใดในโลก” เห็นจะอธิบายได้ชัดเจนที่สุด ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นผู้นําในการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกมันสําปะหลังของโลก ที่สำคัญ ไทยเรามีผลผลิตมันสำปะหลังมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และ ‘ยืนหนึ่ง’ ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลก
ไทยเราเป็นเบอร์หนึ่งผู้ส่งออก แล้วมันสำปะหลังไทยเราส่งออกไปไหน เชื่อว่า…ท่านผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ‘จีนแผ่นดินใหญ่’ ตลาดเป้าหมายการส่งออกของไทย
ท่านทราบหรือไม่ว่า…. ‘จีน’ เป็นประเทศผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดในโลก ที่ผ่านมา ‘ประเทศไทย’ เกาะเก้าอี้ประเทศแหล่งนำเข้ารายใหญ่ของจีนอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอด แม้ว่ามันสำปะหลังจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีน (รองจากอ้อย) แต่การผลิตมันสำปะหลังในจีนส่อแววหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิต โดยพื้นที่จีนตอนใต้อย่าง ‘เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง’ ถือเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังและแอลกอฮอล์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ คิดเป็นราวๆ 60% ของทั้งประเทศ โดยโรงงานแปรรูปมันสำปะหลังส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่นครหนานหนิง เมืองชินโจว เมืองเป๋ยไห่ เมืองกุ้ยก่าง และเมืองฉงจั่ว และมีการนำเข้าจากเมืองท่าเป๋ยไห่ เมืองท่าชินโจว (นำเข้าจากไทย) และเมืองกุ้ยก่าง ซึ่งมีท่าเรือแม่น้ำเชื่อมจากนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน แอลกอฮออล์ และอาหารสัตว์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดจีนขาดแคลนวัตถุดิบเป็นจำนวนมาก ข้อมูลที่น่าสนใจ พบว่า ช่วงหลายปีมานี้ กำลังการผลิตแป้งสตาร์ชของจีนลดลงเฉลี่ยมากกว่า 30% และมีการนำเข้าเฉลี่ยปีละกว่า 2 ล้านตัน
ความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศที่ ‘พุ่ง’ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวมันสด มันเส้น รวมถึงแป้งดิบและแป้งดัดแปร หรือโมดิฟายด์สตาร์ช สวนทางกับปริมาณผลผลิตในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง นำมาซึ่ง ‘โอกาส’ ของผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย
สถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของประเทศจีน ในปี 2564 ที่ผ่านมา มีดังนี้
การนำเข้ามันสำปะหลังแห้ง (พิกัด 07141020) หรือพวกมันเส้น ปริมาณ 5.51 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,918 ล้านหยวน
- 5 มณฑลที่นำเข้ามันสำปะหลังแห้งมากที่สุด ได้แก่ มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู มณฑลอันฮุย เขตฯ กว่างซีจ้วง และกรุงปักกิ่ง
- 5 แหล่งนำเข้ามันสำปะหลังแห้งที่สำคัญ ได้แก่ ไทย (มูลค่านำเข้า 8,780 ล้านหยวน สัดส่วน 88.48%) เวียดนาม กัมพูชา อินโดนีเซีย และแทนซาเนีย
การนำเข้าสตาร์ชจากมันสำปะหลัง (พิกัด 11081400) ปริมาณ 3.48 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 10,820 ล้านหยวน
- 5 มณฑลที่นำเข้าสตาร์ชจากมันสำปะหลังมากที่สุด ได้แก่ มณฑลฝูเจี้ยน กรุงปักกิ่ง มณฑลเจ้อเจียง มณฑลเจียงซู และมณฑลซานตง
- 5 แหล่งนำเข้ามันสำปะหลังที่สำคัญ ได้แก่ ไทย (มูลค่านำเข้า 7,977 ล้านหยวน สัดส่วน 73.72%) เวียดนาม อินโดนีเซีย สปป.ลาว และกัมพูชา
ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า… จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล แล้วทำไมไม่ปลูกเอง นั่นก็เพราะว่าการปลูกและเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำ (ต้นทุนค่าแรงสูง แรงจูงใจต่ำ) ไม่สามารถใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน (เกษตรกรจึงนิยมหันไปปลูกผลไม้ ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงกว่า) การใช้ประโยชน์จาก ‘ของเหลือ’ ในกระบวนการผลิตมันปะหลังยังทำได้ไม่สมบูรณ์แบบและก่อมลพิษสูง (ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ กากเหลือทิ้ง เศษฝุ่นละออง น้ำเสียจากกระบวนการผลิต) รวมถึง ‘ภาษีศูนย์’ จากความตกลง China-ASEAN FTA (แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT อยู่ในอัตรา 9% สำหรับหัวมันดิบและมันเส้น และอัตรา 13% สำหรับแป้งสตาร์ช) ทำให้จีนเน้นนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก
โอกาสย่อมมากับความท้าทาย โจทย์หนึ่งที่ชวนให้ธุรกิจมันสำปะหลังไทยต้องครุ่นคิดและติดตามสถานการณ์ในตลาดจีน คือ “เรา…จะรักษาฐานที่มั่นในตลาดจีนไว้ได้นานแค่ไหน” (defending market share) เมื่อ ‘พระรอง’ อย่างเวียดนามและกัมพูชาอยากจะขยับชั้นมาเป็น ‘พระเอก’ ในตลาดจีน สถานการณ์ที่เพื่อนบ้านเดินเกมรุก ชิงส่วนแบ่งในตลาดจีน “จะทำอย่างไร… เมื่อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของผู้ท้าชิงกำลังตีตื้นทั้งในเรื่องคุณสมบัติและราคาที่ใกล้เคียงหรืออาจจะถูกกว่าผู้นำตลาดอย่างเรา”
อย่างเมื่อปีที่แล้ว กัมพูชาได้ชูธงนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อกระตุ้นการผลิตและส่งออก โดยตั้งเป้าขยายการส่งออกไปตลาดจีนเพิ่มขึ้นด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มบริษัท Guangxi Rural Investment Group (广西农村投资集团) กับบริษัทเกษตรของกัมพูชา เพิ่งปิดดีลสั่งซื้อมันสำปะหลังเส้นของกัมพูชา ปี 2565 ที่จำนวน 4 แสนตัน คิดเป็นมูลค่าเกือบ 700 ล้านหยวน ซึ่งเป็นดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการกระชับความร่วมมือทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างกรมพาณิชย์กว่างซีกับสำนักงานส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา
แถม “จีนเองก็คิดจะเป็น ‘ผู้เล่น’ ในตลาดมันสำปะหลังด้วย” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมของตนมากยิ่งขึ้น อันที่จริงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว State Farm ผู้เล่นยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของกว่างซี(จีน) ได้เริ่มเข้าไปลงทุนโปรเจกต์มันสำปะหลังและแป้งสตาร์ชในเวียดนาม ยังมีบริษัทจีนรายใหญ่รายน้อยที่เข้าไปทำ contract farming และส่งนักวิจัยออกไปร่วมปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังในเวียดนาม สปป.ลาว และอินโดนีเซียด้วย
นอกจากสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนำเข้าจากกรอบ China-ASEAN FTA แล้ว ความได้เปรียบจากการเป็นประเทศเพื่อนบ้านระหว่างจีน(กว่างซีและยูนนาน)กับเวียดนาม ทำให้ช่องทาง ‘การค้าชายแดน’ เป็นอีกความท้าทายของการส่งออกสินค้ามันสำปะหลังไทย เพราะอัตราภาษีการค้าชายแดน (ที่ต่ำกว่าภาษี VAT) หอมหวนดึงดูดใจสำหรับผู้นำเข้าจีนไม่น้อย อย่างในจุดผ่อนปรนตลาดการค้าชายแดนในอำเภอระดับเมืองตงซิง (ตรงข้ามกับจังหวัด Quang ninh เวียดนาม โดยมีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ) ในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนเกิดโควิด-19 แต่ละวันจะเห็นการลำเลียงแป้งสตาร์ชเป็นกระสอบๆ ด้วยเรือหางยาวข้ามฝากและรถบรรทุกข้ามสะพานทุ่นลอยจากฝั่งเวียดนามมาขึ้นที่เมืองตงซิงเป็นจำนวนมาก
อย่างที่ทราบกันดีว่า…มันสําปะหลังเป็นสินค้าเกษตรที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูงมาก การดำเนินนโยบาย “Go Green” ของรัฐบาลจีน เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทย ในปี 2563 ท่าเรือในจีนเริ่มกวดขันเรื่องรูปแบบการขนส่งมันสำปะหลังมากขึ้น (อาจใช้ไม้แข็งในอนาคต) โดยแนะให้ผู้ค้าเปลี่ยนมาใช้ตู้คอนเทนเนอร์แทนการขนส่งแบบสินค้าเทกอง (bulk) ซึ่งการขนส่งดังกล่าวจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น การที่หัวมันดิบและมันเส้นของไทยมักพบปัญหาการปะปนของดินหินและฝุ่นละอองจำนวนมาก จีนเคยประกาศห้ามการนำเข้ามันเส้นจากไทยมาแล้ว ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวทำให้ผู้นำเข้าจีนบางส่วนหันไปนำเข้ามันเส้นสับมือจากกัมพูชาและเวียดนามซึ่งมีฝุ่นละอองน้อย และมีมาตรการทำความสะอาดที่ดีกว่า
ดังนั้น เกษตรกรไทยควรเร่งหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลัง เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต และลดฝุ่นละออง รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์มันสําปะหลังแปรรูปให้มีความหลากหลายในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสของสินค้าในตลาดจีนมากขึ้น และช่วยลดแรงปะทะจากการแข่งขันด้านราคาและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดส่งออกมันสําปะหลังและแป้งสตาร์ชของไทย
นอกจากนี้ นักลงทุนไทยสามารถมองหาลู่ทางพัฒนาความร่วมมือด้านการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลังกับนักลงทุนจีนในประเทศไทยเพื่อป้อนตลาดจีน หรือนักลงทุนไทยเลือกขยายฐานการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรและแรงงานถูกเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปจีนก็ได้เช่นกัน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับ “ระเบียบและหลักเกณฑ์การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแป้งสตาร์ชไปประเทศจีน”
สำหรับการส่งออก “ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง”
- ผู้ส่งออกต้องเป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน ต้องมีใบรับรองมาตรฐานสินค้ากำกับการส่งออกทุกครั้ง และต้องขออนุญาตส่งออกทุกครั้ง
- การส่งออกไปยังประเทศจีน ภายใต้กรอบความตกลง ASEAN-China FTA ต้องยื่นขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่เรียกว่า Form E ให้ผู้นำเข้าจีนใช้เป็นเอกสารประกอบพิธีการศุลกากรนำเข้า
- ผู้ส่งออกจะต้องติดตามและศึกษาระเบียบกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้แต่ละปีเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตให้ส่งผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังออกไปนอกราชอาณาจักร
สำหรับการส่งออก “แป้งมันสำปะหลัง”
- ผู้ส่งออกต้องเป็นผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐาน การส่งออกสินค้าต้องมีใบรับรองมาตรฐานสินค้ากำกับทุกครั้ง
- การส่งออกไปยังประเทศจีน ภายใต้กรอบความตกลง ASEAN-China FTA ต้องยื่นขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่เรียกว่า Form E ให้ผู้นำเข้าจีนใช้เป็นเอกสารประกอบพิธีการศุลกากรนำเข้า
ขอบคุณที่มา กรมการค้าต่างประเทศ
ยิ่งในช่วงสถานการณ์ความไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต แปรรูป และส่งออกสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จะต้องยกระดับมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในสินค้าเกษตรส่งออกให้มีความเข้มงวดรัดกุม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการถูกปฏิเสธที่ด่านปลายทางในประเทศจีน
โอกาสมีไว้สำหรับ ‘ผู้พร้อม’ เสมอ‘
ติดตามทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในจีน ผ่านทางเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com
***************