รู้จัก Pudu Robotics หุ่นยนต์บริการชั้นนำระดับโลก อนาคตของอุตสาหกรรมบริการ
13 Mar 2023หุ่นยนต์วิ่งลัดเลาะเพื่อเสิร์ฟอาหาร หรือแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าที่เดินผ่านไปมาในร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้า เป็นภาพที่ไม่ใช่สิ่งแปลกตาในจีนอีกต่อไป ปัจจุบัน หุ่นยนต์ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมเกษตร ไปจนถึงอุตสาหกรรมบริการ การใช้งานเพื่อความบันเทิงส่วนตัวในครัวเรือน หรือหุ่นยนต์วิชาชีพอย่างหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและพัฒนาการของหุ่นยนต์ในทิศทางนี้ทำให้ผู้บริโภคในปัจจุบันสามารถเข้าถึงการใช้หุ่นยนต์ได้ง่ายกว่าในอดีต รวมถึงอิทธิพลจากปัจจัยอื่น เช่น จำนวนแรงงานที่ลดลง อัตราค่าแรงที่สูงขึ้น หรือการเข้าสู่สภาวะสังคมผู้สูงอายุ ต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในจีน
ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นนับว่ามีอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของจีน โดยเมื่อปี 2564 มีจำนวนคำขอสิทธิบัตรสะสมด้านหุ่นยนต์รวม 40,024 รายการ มากที่สุดในจีน และยังเป็นที่ตั้งของบริษัทหุ่นยนต์ระดับโลก อย่างบริษัท DJI บริษัท UBTECH บริษัท Makeblock เป็นต้น ในวันนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว จะมาแนะนำบริษัทหุ่นยนต์ startup น้องใหม่อีกรายที่เพิ่งได้รับเงินทุน ระดับ Series C กว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังฮอทฮิตในอุตสาหกรรมการบริการของจีนและต่างประเทศ ซึ่งหากลองสังเกตดี ๆ ผู้อ่านอาจจะเคยเห็นหน้าคร่าตาหุ่นยนต์ Pudu ที่ให้บริการในร้านอาหารในประเทศไทยด้วยบ้างแล้ว
รู้จัก ‘Pudu Robotics’
Pudu Robotics คือบริษัทเทคโนโลยีผู้ผลิตหุ่นยนต์บริการที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน (รองจาก Keenon Robotics) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 โดยมุ่งเน้นการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา การผลิตและการจัดจำหน่ายหุ่นยนต์บริการเชิงพาณิชย์ พร้อมด้วยพันธกิจที่จะใช้หุ่นยนต์ยกระดับการใช้ชีวิตของมนุษย์ ปัจจุบัน หุ่นยนต์บริการของ Pudu มีตั้งแต่หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร หุ่นยนต์ทำความสะอาด ไปจนถึงหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ ทั้งยังสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย เช่น ร้านอาหาร โรงพยาบาล อาคารสำนักงาน สถานีรถไฟใต้ดิน ฯลฯ
บริษัท Pudu เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศนับตั้งแต่ปี 2563 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจครอบคลุม 600 เมืองในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก โดยความต้องการหุ่นยนต์ในตลาดต่างประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเมื่อปี 2562 รายได้จากตลาดต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 8 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ขณะที่ปัจจุบันสถิติดังกล่าวขยายตัวเป็นร้อยละ 80 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทฯ ส่งออกหุ่นยนต์แล้วกว่า 56,000 ตัว ล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 บริษัท Pudu ยังได้รับเงินจากการระดมทุนระดับ Series C กว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก Puhua Capital บริษัทธุรกิจร่วมทุน (venture capital) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นในการพัฒนาธุรกิจในอนาคตของ Pudu ได้เป็นอย่างดี
(หุ่นยนต์) แมวที่ยอมให้คุณลูบหัว
กลุ่มผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันของ Pudu Robotics ประกอบด้วยหุ่นยนต์ส่งของในที่ร่ม เช่น PuduBot BellaBot KettyBot HolaBot และ SwiftBot หุ่นยนต์ส่งของในอาคาร FlashBot หุ่นยนต์ทำความสะอาด PUDU CC1 และ PUDU SH1 ตลอดจนหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Puductor ในจำนวนนี้ โมเดลหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารระดับไฮเอนด์อย่าง BellaBot คือรุ่นที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับโลก โดยนอกจากฟังก์ชันที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างการนำทางลูกค้าสู่โต๊ะ การเสิร์ฟอาหาร หรือระบบตรวจจับสิ่งกีดขวาง 3 มิติแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถโต้ตอบกับ BellaBot ที่มาพร้อมจอแสดงผลหน้าแมว ดึงดูดเหล่าทาสแมวผ่านเสียงหรือการสัมผัส ซึ่งหากผู้ใช้ลูบศีรษะเหนือหน้าจอ หุ่นยนต์เจ้าของรางวัล Good Design Award 2022 จาก Japan Institute of Design Promotion (JDP) ตัวนี้ก็จะโต้ตอบด้วยการเปลี่ยนสีหน้าอีกด้วย
หุ่นยนต์รุ่น BellaBot ให้บริการลูกค้ามาแล้วทั่วโลก โดยกลุ่มธุรกิจร้านอาหารยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Skylark มีคำสั่งซื้อหุ่นยนต์รุ่นดังกล่าวถึง 3,000 ตัวสำหรับใช้งานในร้านอาหารกว่า 2,100 แห่ง นอกจากนี้ ในร้าน McDonald ก็ใช้ BellaBot เพื่อแบ่งเบาภาระงานพนักงานในสโลวีเนีย หรือในประเทศไทยอย่างร้าน You & I Premium Suki Buffet และ Black Canyon ก็มีการใช้งานหุ่นยนต์รุ่นดังกล่าวด้วย โดยผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า นอกจากหุ่นยนต์จะช่วยทุ่นแรงแล้ว ยังช่วยเสริมความบันเทิงให้แก่ลูกค้าอีกด้วย
ความร่วมมือระหว่าง Pudu Robotics กับประเทศไทยไม่ได้หยุดอยู่แต่เพียงเท่านี้ ในปี 2565 Pudu Robotics ยังได้จับมือกับบริษัท โอโซนเน็ตเวิร์ค อินทิเกรชั่น จำกัด บริษัทผู้ให้บริการด้านการปรึกษาการออกแบบและติดตั้งระบบ Network & IT Solutions ให้กับองค์กรในภาคเหนือของไทย จัดกิจกรรมแนะนำผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นด้านหุ่นยนต์บริการให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม และคาเฟ่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือของไทย โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจด้านหุ่นยนต์บริการให้แก่ลูกค้า
แน่นอนว่า Pudu Robotics ไม่ใช่ผู้เล่นเดียวในตลาดหุ่นยนต์บริการของจีนแต่อย่างใด บริษัทจากเซี่ยงไฮ้ Keenon Robotics ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2553 และเริ่มผลิตหุ่นยนต์เสิร์ฟแบบจำนวนมาก (mass production) เมื่อปี 2560 โดยข้อมูลจากบริษัทวิจัยสัญชาติอเมริกัน IDC เมื่อปี 2564 ระบุว่า Keenon มีส่วนแบ่งในตลาดหุ่นยนต์บริการร้านอาหารของจีนกว่าร้อยละ 49 อีกทั้งไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2564 หุ่นยนต์ของ Keenon ที่คอยเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าทั่วโลกมีอยู่ราว 35,000 ตัว ซึ่งในจำนวนนั้น ราว 10,000 ตัวหรือเกือบร้อยละ 30 ของจำนวนทั้งหมด คือหุ่นยนต์ที่อยู่ในตลาดต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป อเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากหุ่นยนต์บริการสู่โลกอนาคต
ในยุคหลังโควิด-19 ที่เศรษฐกิจและสังคมแบบไร้สัมผัส (contactless) ได้รับความนิยมมากขึ้น โลกของบริการแบบไร้สัมผัสเองก็เป็นที่แพร่หลายยิ่งขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อความต้องการของหุ่นยนต์บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics: IFR) คาดการณ์ว่า ในปี 2566 ตลาดหุ่นยนต์บริการทั่วโลกจะมีขนาดราว 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
IFR ยังได้คาดการณ์ 5 แนวโน้มการพัฒนาหุ่นยนต์ในปี 2566 ได้แก่ (1) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) (2) การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศต้นทาง (Reshoring) (3) หุ่นยนต์ที่ใช้งานง่ายขึ้น (Robots easier to use) (4) ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติแบบดิจิทัล (Artificial Intelligence (AI) and digital automation) และ (5) ต่อชีวิตใหม่แก่หุ่นยนต์อุตสาหกรรรม (Second life for industrial robots)
หนึ่งในความสนใจหลักของ Pudu อยู่ที่การวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยทางบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเฉพาะของตนและผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ด้วยตนเอง ในอนาคต Pudu ตั้งเป้าที่จะทำให้หุ่นยนต์บริการเชิงพาณิชย์ของบริษัทใช้งานได้ในสถานการณ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งยังตั้งใจผลักดันสมรรถภาพด้านการวิจัยและพัฒนาไปข้างหน้าเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุด
ปัจจุบัน หุ่นยนต์บริการกำลังเป็นที่จับตามองของผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน ต้นทุนการผลิตที่ลดลงและการเข้าถึงที่ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้หุ่นยนต์บริการไม่ใช่สิ่งไกลตัวของใครอีกต่อไป ส่งผลให้หุ่นยนต์สามารถเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบริการของไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และเป็นการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวทางการพัฒนา Thailand 4.0
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง