รู้จัก IMBCAMS ผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 เชื้อตายรายแรกของยูนนาน
16 Aug 2021ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มณฑลยูนนานพบการระบาดซ้ำของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อยู่หลายระลอก เนื่องจากการลักลอบเข้ามาของผู้ติดเชื้อตามแนวชายแดนของมณฑลซึ่งมีความยาวถึง 4,060 กิโลเมตร และติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ลาว และเวียดนาม จนรัฐบาลมณฑลต้องยกระดับมาตรการป้องกันการลักลอบข้ามแดนอย่างเข้มงวด ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน การเดินทางและการขนส่งข้ามแดน รวมไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของมณฑล
อย่างไรก็ตาม ช่วงกลางปี 2564 มีข่าวดีเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้เป็นผลสำเร็จรายแรกของมณฑลยูนนาน ซึ่งมีชื่อว่า “เคอเหวยฝู” (科维福) โดยทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยชีววิทยาการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน (Institute of Medical Biology, Chinese Academy of Medical Sciences: IMBCAMS) ในมณฑลยูนนาน
วัคซีนป้องกันโควิด-19 “เคอเหวยฝู”
พัฒนาโดยสถาบันวิจัยชีววิทยาการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน ในมณฑลยูนนาน
IMBCAMS ผู้มีประสบการณ์ด้านวัคซีนมากว่า 60 ปี
IMBCAMS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2501 ตั้งอยู่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ดำเนินงานหลักด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เช่น ไวรัสวิทยาทางการแพทย์ ภูมิคุ้มกันวิทยา อณูชีววิทยา พันธุศาสตร์การแพทย์ และระบาดวิทยาระดับโมเลกุล รวมถึงการผลิตวัคซีน ผลิตภัณฑ์เสริมภูมิคุ้มกัน และผลิตภัณฑ์จากพันธุวิศวกรรม โดยที่ผ่านมาสามารถคิดค้นวัคซีนที่สำคัญหลายชนิด เช่น วัคซีนโรคโปลิโอ วัคซีนโรคมือเท้าปาก และวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ
จุดเด่นด้านการพัฒนาวัคซีนของ IMBCAMS ประการแรกคือ การเป็นแหล่งวิจัยและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอที่สำคัญของจีน โดยสามารถคิดค้นวัคซีนโปลิโอได้สำเร็จเป็นรายแรกของจีน 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดเม็ดผสมน้ำตาล ในปี 2503 ชนิดหยอด ในปี 2527 และชนิด Sabin Strain Based Inactivated Polio Vaccine (sIPV) ในปี 2558 นับว่ามีส่วนสำคัญในการควบคุมและกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไปจากแผ่นดินจีน
จุดเด่นอีกประการคือ IMBCAMS ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71: EV71) รายแรกของจีน โดยได้รับอนุมัติให้ผลิตในเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนธันวาคม 2558 และเริ่มฉีดให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 ถือเป็นการป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและการสูญเสียที่ตามมา เพราะตามปกติโรคมือเท้าปากมักไม่ร้ายแรง แต่หากเกิดจากการติดเชื้อ EV71 อาจทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ประการสุดท้ายที่ต้องกล่าวถึง คือ IMBCAMS เป็นผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated vaccine) รายแรกของมณฑลยูนนานและลำดับที่ 4 ที่ออกสู่ตลาดภายในประเทศจีน ต่อจากวัคซีน BBIBP-CorV ซึ่งผลิตโดยบริษัท Beijing Institute of Biological Product วัคซีน WIBP-CorV ที่ผลิตโดยบริษัท Wuhan Institute of Biological Product ซึ่งทั้งสองบริษัทอยู่ภายใต้เครือของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) หรือ China National Pharmaceutical Group (CNPG) และวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ที่ผลิตโดยบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech)
พัฒนาการของวัคซีนเคอเหวยฝู และบทบาท “กำลังเสริม” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
วัคซีนเคอเหวยฝูได้รับการอนุมัติจากสำนักงานบริหารและกำกับดูแลเวชภัณฑ์แห่งชาติจีนให้เริ่มทดลองทางคลินิกได้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 หลังได้รับอนุมัติเพียง 2 วัน IMBCAMS ได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ที่โรงพยาบาลหัวซีแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยเสฉวน (West China Second University Hospital of Sichuan University) โดยนำวัคซีนไปใช้ทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุ 18-59 ปี จำนวนเกือบ 200 คน
ต่อมา ในวันที่ 20 มิถุนายน 2563 ได้เริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 ที่เมืองหมีเล่อและเมืองเก้อจิ้วของเขตปกครองตนเองชนชาติฮาหนีและชนชาติอี๋ หงเหอ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของมณฑลยูนนานที่มีพรมแดนติดกับเวียดนาม ผลการรักษาในระยะที่ 1 และต่อเนื่องกันไปในระยะที่ 2 เป็นที่น่าพอใจ โดยวัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างรวดเร็วหลังการฉีดวัคซีนครบสองเข็ม
สำหรับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินประสิทธิผลเพิ่มเติมนั้น IMBCAMS ตั้งเป้าหมายให้อาสาสมัครจำนวน 34,000 คนจากทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปเข้าร่วมการทดสอบ โดยเริ่มต้นครั้งแรกกับกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 3,000 คนที่ประเทศมาเลเซียเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ประเทศบราซิลได้อนุมัติให้วัคซีนของ IMBCAMS เข้าไปทดลองทางคลินิกกับกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 7,992 คน
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ในระหว่างการทดลองทางคลิกนิกระยะที่ 3 วัคซีนเคอเหวยฝูได้รับการอนุมัติให้นำไปใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยล็อตแรกได้มอบให้กับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคมณฑลยูนนาน และหลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ได้นำไปฉีดให้กับประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในหลายพื้นที่ของนครคุนหมิง เช่น อำเภอสวินเตียน เขตตงชวน และอำเภอซงหมิง โดยฉีดจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง 2-4 สัปดาห์ นับเป็นอีกหนึ่งกำลังเสริมในยามวิกฤตเพื่อสู้รบกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนของมณฑล
ในส่วนของฐานการผลิต IMBCAMS มีโรงงานผลิตวัคซีนเคอเหวยฝูตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมวัคซีนหม่าจินพู่ในเขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหม่าจินพู่ เขตเฉิงก้ง นครคุนหมิง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายโรงงานเพื่อให้มีกำลังการผลิตวัคซีนเพิ่มเป็นปีละ 500-1,000 ล้านโดส คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564
วัคซีนเคอเหวยฝู “กองหนุน” แผนดำเนินงานฉีดวัคซีนของยูนนาน
แม้ผู้คนในมณฑลยูนนานจะกลับมาใช้ชีวิตตามปกติหลังฟื้นคืนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางภายในประเทศมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 หลังจากมีเหตุการณ์ระบาดระลอกใหม่ตามแนวชายแดนหลายครั้งและยูนนานกลายเป็นมณฑลที่พบผู้ติดเชื้อนำเข้ามากที่สุดในลำดับต้น ๆ ของจีน ก็ดูเหมือนว่าการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครบตามเป้าหมายที่วางไว้จะทวีความสำคัญมากขึ้น
ก่อนเดือนมิถุนายน 2564 รัฐบาลมณฑลยูนนานได้รณรงค์เร่งให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มสองโดยเร็วหลังจากฉีดเข็มแรกครบ 21 วันแล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและ “ความอุ่นใจ” ให้กับประชาชน เนื่องจากยังมีผู้ที่ไม่ได้ฉีดเข็มที่สองเป็นจำนวนมาก โดยจากสถิติจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 พบว่ามีประชาชนที่ฉีดเข็มแรกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64 ของจำนวนประชาชนทั้งหมดของมณฑล หรือ 30,198,000 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.5 หรือ 8,613,000 คน ทำให้ในช่วงวันที่ 9-30 มิถุนายน รัฐบาลมณฑลยูนนานได้สั่งหยุดการฉีดวัคซีนเข็มที่หนึ่ง และเร่งนำหน่วยแพทย์ที่เกี่ยวข้องไปรองรับจำนวนประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนเข็มสอง
สำหรับในปี 2564 คาดว่า IMBCAMS จะสามารถผลิตวัคซีนเหวยเคอฝูได้ราว 80 ล้านโดส โดยจะใช้เป็น “กองหนุน” ต่อจากวัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์ม เพื่อให้แผนการดำเนินงานฉีดวัคซีนระยะที่สองของมณฑลยูนนานบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งตั้งเป้าว่า ภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 ประชาชนทั่วไปที่พร้อมฉีดวัคซีนจะได้รับวัคซีนสองเข็มจนครบถ้วนทุกคน หลังจากนั้นจะดำเนินงานในระยะที่สามต่อไป ซึ่งจะมุ่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ห่างไกลที่มีการคมนาคมขนส่งไม่สะดวก เช่น พื้นที่ชนบท และพื้นที่ภูเขา ดังนั้น ในอนาคต หากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีนเคอเหวยฝูเสร็จสิ้น เราอาจได้เห็น “กองหนุน” มีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
****************************************
แหล่งข้อมูล
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1702138455861863387&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1666852344711792773&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1702084976134186651&wfr=spider&for=pc
https://www.sohu.com/a/471533087_121119270
https://www.sohu.com/a/473256971_121124527
http://www.km.gov.cn/c/2021-06-10/3972855.shtml
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1670172792004803759&wfr=spider&for=pc
https://new.qq.com/rain/a/20201128A046R900
https://www.sohu.com/a/477569545_139908
https://www.sohu.com/a/472395519_121123791?ivk_sa=1024320u