รู้จัก…ประตูการค้าบานใหม่ —— “ด่านทางบกหลงปัง”ของกว่างซี
11 Jan 2024
กฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
นับเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญของ “เมืองไป่เซ่อ” จากพื้นที่ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล หรือ Land lock กลับกลายมาเป็น ‘สะพาน’ เชื่อมโยงการขนส่งหรือ Land link กับบทบาทใหม่ในการเป็น “ท่าบก” (Dry Port) อย่างครบวงจร โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายและกระจายสินค้า และการแปรรูปสินค้าเพื่อการส่งออก เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (International Land and Sea Trade Corridor หรือ ILSTC) ระหว่างพื้นที่คาบสมุทรอินโดจีนกับพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนที่มีความสะดวกที่สุด

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 นางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง พร้อมด้วยนายนิติ ประทุมวงษ์ กงสุลฝ่ายพาณิชย์ ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง และนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้เข้าร่วมพิธีประกาศยกระดับ “ด่านหลงปัง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง จีน) และด่านจาลิงห์ (จังหวัดกาวบั่ง เวียดนาม)” เป็นด่านสากลระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งครอบคลุมถึงช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี (Naxi) – นา ดอออง (Nà Đoỏng) ด้วย
“ด่านหลงปัง” หรือ Longbang Border Gate (龙邦口岸) เป็น 1 ใน 5 ด่านสากลทางบกที่มีความสำคัญของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ตั้งอยู่ในเมืองระดับอำเภอจิ้งซี (Jingxi City/靖西市) ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองไป่เซ่อ (Baise City/百色市) อยู่ตรงข้ามกับด่านจาลิงห์ (Tra Linh) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ของเวียดนาม อยู่ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานของเมืองฉงจั่วประมาณ 120 กิโลเมตร เป็นด่านที่มีความโดดเด่นในการนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อการแปรรูป โดยเฉพาะถั่วเปลือกแข็ง (มะม่วงหิมพานต์) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องเทศและสมุนไพรจีน

ที่สำคัญ “ด่านหลงปัง” ยังเป็น 1 ใน 10 ด่านทางบกของจีนที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทยตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
กว่าจะมาถึงวันนี้ ต้องบอกว่า…เส้นทางความสำเร็จของด่านหลงปัง(ไม่ได้)โรยด้วยกลีบกุหลาบ เดิมที ด่านแห่งนี้เป็นด่านทวิภาคีที่ใช้สำหรับการค้าและการเดินทางเข้า-ออกของบุคคลและยานพาหนะกับประเทศเวียดนามเท่านั้น
จุดเริ่มต้นสำคัญที่ “ด่านหลงปัง” เข้าใกล้ความฝันในการยกระดับเป็นด่านสากลที่สามารถทำการค้ากับประเทศที่สามได้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เมื่อรัฐบาลจีนได้มีประกาศเห็นชอบอนุมัติให้ “ด่านหลงปัง” เป็นด่านสากล รวมทั้งขยายขอบเขตการเปิดด่านสู่ภายนอกที่ช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี (Naxi Channel/那西通道)
หลังจากที่ด่านแห่งนี้ได้ ‘ไฟเขียว’ จากรัฐบาลกลาง ด่านหลงปังต้องไปดำเนินการปรับปรุงพัฒนาและยกระดับความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ส่วนกลางกำหนด และยื่นขอรับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับมณฑล และส่วนกลางตามลำดับต่อไป

ในส่วนหลัก ๆ ด่านหลงปังได้ดำเนินการรื้อถอนและก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนหลังใหม่ทดแทนอาคารหลังเดิม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการตรวจผู้โดยสารได้ปีละ 1 ล้านคน/ครั้ง รวมถึงการก่อสร้างและปรับปรุงช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี บนพื้นที่กว่า 230,000 ตารางเมตร ซึ่งในบริเวณดังกล่าวจะมีการจัดสรรพื้นที่ปฏิบัติงานต่าง ๆ อาทิ เขตการค้าสำหรับชายแดน (พื้นที่ใหญ่ที่สุดในจีน) เขตการค้าสากล (ครอบคลุมถึงการเป็นด่านนำเข้าผลไม้สดและธัญพืช) เขตอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน (Cross-border e-Commerce) และเขตสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Zone) ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
เมื่อทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น โรคติดเชื้ออุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ได้แพร่ระบาดและยืดเยื้อนานกว่า 3 ปี ส่งผลให้ความคืบหน้าในการก่อสร้างและยกระดับด่านหลงปัง (เขตฯ กว่างซีจ้วง จีน) และด่านจาลิงห์ (จังหวัดกาวบั่ง เวียดนาม) เป็นด่านสากลระหว่างประเทศต้องชะงักงัน จนกระทั่งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 รัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณการผ่อนคลาย ‘กฎเหล็กโควิด’ อย่างค่อยเป็นค่อยไป และ ‘ปลดล็อกโควิด’ ในต้นเดือนมกราคม 2566 ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงการผลักดันงานพัฒนาด่านหลงปังที่เกี่ยวข้องด้วย
จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 คณะกรรมการตรวจรับจากส่วนกลางได้ลงพื้นที่สำรวจและประเมินความพร้อมของด่านหลงปังและช่องทางนาซี และมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้การขยายและเปิดสู่ภายนอกของด่านหลงปังผ่านการตรวจรับจากส่วนกลางอย่างเป็นทางการ
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 คณะกรรมการประชาชนจังหวัดกาวบั่ง เวียดนาม และรัฐบาลเมืองไป่เซ่อ เขตฯ กว่างซีจ้วง ได้ประชุมร่วมกันที่ด่านจ่าลิงห์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการเตรียมการในพิธีประกาศยกระดับ “ด่านหลงปัง – ด่านจาลิงห์” เป็นด่านสากลอย่างเป็นทางการ รวมถึงช่องทางขนส่งสินค้าน่าซี – ช่องทางขนส่งสินค้านา ดอออง โดยกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2566
ความโดดเด่นของ “ด่านทางบกหลงปัง” พิจารณาพบว่า ด่านแห่งนี้มี “ระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก” ที่ครบครัน ทันสมัย และเป็นสัดเป็นส่วน กล่าวคือ ด่านหลงปังที่เดิมใช้งานด้านการตรวจคนเข้าเมือง ขณะที่การนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั้งหมดจะใช้ช่องทางขนส่งสินค้าน่าซีที่มีความกว้างขวาง และเป็นสัดเป็นส่วน (4 พื้นที่ปฏิบัติงาน คือ การค้าทั่วไป การค้าชายแดน การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน และสินค้าทัณฑ์บน) ด่านแห่งนี้มีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าได้ปีละ 5 ล้านตัน สามารถรองรับรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ผ่านเข้า-ออกได้สูงสุด 1,500 คัน/วัน
นอกจากนี้ ภายในยังมีโรงงานเปล่า ซึ่งเป็นเฟสแรกที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมให้เช่า (เฟสสองอยู่ระหว่างการก่อสร้าง) และในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวตากอากาศ รวมถึงส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟจากในตัวเมืองของอำเภอระดับเมืองจิ้งซี ไปถึงบริเวณด่านหลงปังด้วย

ความล้ำสมัยของ “ด่านทางบกหลงปัง” ต้องบอกว่า… ด่านหลงปังเป็น “ต้นแบบ” ด่านทางบกอัจฉริยะของประเทศจีน กล่าวคือ ด่านแห่งนี้เป็นด่านทางบกแห่งแรกในประเทศที่ได้ยกระดับระบบสารสนเทศและการจัดการอัจฉริยะ และมีการใช้งานจริงแล้ว โดยมีรัฐวิสาหกิจ Guangxi Longbang Jianfa Developmen Co.,Ltd. (广西龙邦建发发展有限公司) เป็นผู้บริหารจัดการด่านทั้งหมด (รัฐวิสาหกิจรายนี้ได้ซื้อกิจการบริหารด่านจากเอกชนรายเดิม Guangxi Jingxi Full Rich Investment Co.,Ltd./广西靖西万隆投资有限公司)
ความอัจฉริยะของด่านแห่งนี้ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) บิ๊กดาต้า ร่วมกับอุปกรณ์อัจฉริยะในงานขนส่งตู้สินค้าบริเวณชายแดนและอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ซึ่งกระบวนการควบคุมตรวจสอบสั่งการดำเนินการผ่านห้องควบคุมกลางทั้งหมด ซึ่งช่วยให้การทำงานมีความรวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ รถบรรทุกคอนเทนเนอร์ไร้คนขับที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้า หุ่นยนต์ขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ หัวรถลากไฟฟ้าที่ใช้งานฉุกเฉิน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ อย่างไม้กั้นอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ระบุตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ใช้ในการค้าสำหรับชายแดน) และเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกแบบอิเล็กทรอนิกส์
ด้านการบริการพิธีการศุลกากร ได้นำโมเดลการดำเนินพิธีการศุลกากรแบบผสมผสานมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ เช่น การยื่นสำแดงข้อมูลเอกสารสินค้าแบบล่วงหน้า การยื่นสำแดงข้อมูลเอกสารสินค้าแบบรวมในครั้งเดียว (สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกที่แบ่งส่งหลายล็อต และสำหรับสินค้าหลายรายการที่รวมกันครั้งเดียว) ช่วยร่นเวลาในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกได้อย่างมาก
ในส่วนของความพร้อมในการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศ รวมถึงผลไม้ไทย ในพื้นที่มีผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ที่ทำการค้ากับเวียดนามเป็นทุนเดิม รวมถึงโรงงานแปรรูปผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งล้วนมีความต้องการนำเข้าผลไม้อยู่แล้ว ทั้งบุคคลตามชายแดนและบริษัทชายแดน

ต้องบอกว่า… อันที่จริง ด่านหลงปังได้ก่อสร้างอาคารตรวจสินค้าเกษตร และงานตรวจสอบกักกันโรคและแมลงศัตรูพืชที่ช่องทางขนส่งสินค้าน่าซีไว้นานแล้ว ทั้งลานสุ่มตรวจสินค้า ห้องปฏิบัติการตรวจคัดกรองศัตรูพืชชั้นต้น และห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์เชิงลึก โกดังควบคุมอุณหภูมิความเย็น 12,000 ตารางเมตร โกดังเก็บธัญพืช (ข้าว) 8,000 ตารางเมตร และโกดังแช่แข็ง 50,000 ตารางเมตร มีช่องจอดรถบรรทุก 26 ช่อง ห้องรมยา และศูนย์กำจัดสินค้าที่มีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชกักกัน
โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 เสาวรสสดของเวียดนาม น้ำหนัก 20.67 ตัน ได้นำเข้าผ่านด่านหลงปัง (รูปแบบการค้าสำหรับชายแดน) เพื่อนำไปแปรรูปเป็นไซรัปเสาวรส และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ถือเป็นเสาวรสล็อตแรกของเมืองไป่เซ่อที่นำเข้าหลังจากที่ศุลกากรแห่งชาติได้ประกาศอนุญาตให้มีการทดลองนำเข้าเสาวรสเวียดนามผ่านด่านในกว่างซีเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565
โอกาสที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทย คือ สิทธิพิเศษในการนำเข้าสินค้าอาเซียนในรูปแบบการค้าชายแดนเพื่อการแปรรูปในพื้นที่ เป็นการก้าวข้ามนิยามของคำว่า “การค้าชายแดน” ซึ่งเดิมทีอนุญาตให้เฉพาะการซื้อขายสินค้าของประเทศที่มีพรมแดนติดกันเท่านั้น
หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ผู้นำเข้าที่ด่านหลงปังสามารถนำเข้าสินค้าจากอาเซียน รวมถึงสินค้าไทย โดยใช้การขนส่งทางทะเลไปที่ท่าเรือรอบอ่าวเป่ยปู้ หรือคนไทยรู้จักในชื่ออ่าวตังเกี๋ย (จะเป็นท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง หรือท่าเรือเป๋ยไห่ก็ได้) จากนั้นลากตู้สินค้าไปปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าในรูปแบบของการค้าชายแดนที่ด่านหลงปัง เพื่อนำไปแปรรูปในพื้นที่ด่านหลงปัง (ต้องนำไปแปรรูปก่อน ห้ามนำไปขายต่อโดยตรง) ซึ่งช่วยให้ผู้นำเข้าประหยัดต้นทุนได้อย่างมาก เนื่องจากสิทธิการค้าชายแดน ผู้นำเข้าจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจีนเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 9 สำหรับสินค้าเกษตรที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป
ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนมากถึง 22 ชนิด และกำลังเจรจาเพื่อขอเพิ่มรายการผลไม้ไทยที่จะส่งออกไปยังจีน สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ คือ คุณภาพของผลไม้ไทย การดำเนินการตามมาตรฐานการผลิตปลอดภัยอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน แหล่งกำเนิดต้องผ่านมาตรฐานการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice หรือ GAP) โรงงานแปรรูปต้องผ่านมาตรฐานการรับรองคุณภาพการผลิตของผู้ผลิต (Good Manufacturing Practice หรือ GMP) เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของผลไม้ไทย เพิ่มศักยภาพของตลาดการบริโภคผลไม้ไทย ขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของผลไม้ไทยที่มีคุณภาพ และเพิ่มปริมาณการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน
สุดท้ายเป็นเรื่องของ “ระบบคมนาคมขนส่ง” ต้องบอกว่า… เมืองไป่เซ่อเป็นอีกหนึ่งเมืองสำคัญภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor หรือ NWLSC) ที่รัฐบาลจีนมุ่งเน้นการก่อสร้างเพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งสินค้าในภูมิภาคจีนตะวันตกให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ระบบคมนาคมขนส่งของเมืองไป่เซ่อถือว่ามีความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้าในทุกมิติ ในบริบทที่เมืองไป่เซ่อได้กำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์เพื่อเป็นตัวเชื่อมของหัวเมืองสำคัญในจีนตะวันตกกับอาเซียน การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก มีทางหลวงพิเศษ (Express way) จากชายแดนไปสู่เมืองต่าง ๆ ในกว่างซีและเชื่อมออกไปยังมณฑลอื่นได้หลายเส้นทางด้วยจุดเด่นที่มีระยะทางที่สั้น อย่างเช่น ระยะทางจากด่านหลงปัง-นครฉงชิ่ง ซึ่งสั้นกว่าการขนส่งผ่านด่านโหย่วอี้กวาน 200 กิโลเมตร) และเชื่อมต่อไปยังฝั่งเวียดนามได้สะดวกรวดเร็วด้วย ซึ่งปัจจุบัน ทางฝั่งเวียดนามได้เริ่มงานก่อสร้างทางด่วนเส้นทางจังหวัดดงดัง (Dong Dang) – จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) แล้ว

หากต้องการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟ หลังจากสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรที่ด่านหลงปังแล้ว จะต้องลากตู้สินค้าไปยังสถานีรถไฟขนส่งสินค้าที่อยู่บริเวณชานเมืองของเมืองไป่เซ่อ เพื่อขึ้นขบวนรถไฟไป่เซ่อ-อีฮ่าว (Baise No.1 / 百色一号) ซึ่งเป็นขบวนรถไฟ cold chain ที่ใช้ขนส่งพืชผักและผลไม้ป้อนตลาดจีนตอนเหนือเป็นประจำ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 ขบวนรถไฟดังกล่าวมีบริษัท Guangxi Baise Yihao Agriculture Development Co.,Ltd. (广西百色一号农业发展有限公司) เป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร ทั้งการขนส่งและคลังสินค้าเย็น
นอกจากนี้ เมืองไป่เซ่ออยู่ระหว่างการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมเมืองไป่เซ่อ เขตฯ กว่างซีจ้วง – อำเภอหวงถ่ง มณฑลกุ้ยโจว ซึ่งคาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2571 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น จะทำให้การขนส่งสินค้าด้วยรถไฟจากเมืองไป่เซ่อไปยังหัวเมืองเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ตอนในอย่างมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งมีระยะทางที่สั้นลง สินค้าถึงปลายทางผู้รับได้เร็วขึ้น และต้นทุนการขนส่งก็ลดลงอีกด้วย (สนใจ คลิ๊กเลย กว่างซีเตรียมเชื่อมรถไฟขนส่งสินค้าสายใหม่กับมณฑลกุ้ยโจว ขยายโอกาสสินค้านำเข้า-ส่งออกถึงมณฑลเสฉวน) และคาดว่าในปี 2567 จะเริ่มสร้างส่วนต่อขยายของเส้นทางรถไฟจากตัวเมืองจิ้งซีไปถึงด่านหลงปังด้วย
เมื่อโครงข่ายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าทั้งหมดเสร็จสมบูรณ์ การขนส่งตู้สินค้าจะสามารถเชื่อมกับโครงข่ายรถไฟจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) ช่วยให้การขนส่งสินค้าเชื่อมต่ออาเซียน จีน เอเชียกลาง และยุโรปด้วยรถไฟ สามารถทำได้แบบไร้รอยต่อ ผ่านเมืองไป่เซ่อ นครเฉิงตู นครหลานโจว นครอูรุมชี ของประเทศจีน ผ่านเมืองอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน ผ่านเข้ากรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เข้าประเทศเบลารุส ประเทศโปแลนด์ และสิ้นสุดที่ประเทศเยอรมนี
บทสรุป
ในบริบทที่พลวัตทางเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ช่วยขับเคลื่อนการบริโภคภาคครัวเรือนของจีนกับอาเซียน ส่งผลให้กิจกรรมทางการค้าระหว่างสองฝ่ายมีความถี่มากขึ้น ดังนั้น “ด่านทางบกหลงปัง” จึงเป็น “ประตูเชื่อมจีน-อาเซียน” อีกบานที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและการกระจายสินค้าที่มีศักยภาพและซื้อขายกันระหว่างจีนกับชาติสมาชิกอาเซียนในอนาคต ช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝ่าย และเป็นโอกาสใหม่ในการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดปลายทางในจีนตะวันตกได้ง่ายขึ้นด้วยมิติที่หลากหลายของการขนส่งสินค้าผ่าน “ด่านหลงปัง” ของเมืองไป่เซ่อ เขตฯ กว่างซีจ้วง
********************