รู้จักเมืองเจียงเหมิน กับการพัฒนาด้านพลังงานและวิทยาศาสตร์
9 Mar 2023อาคารสูงตระหง่านคล้ายหอคอยสร้างจากหิน อิฐ และคอนกรีต ตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมคงเอกลักษณ์ โดดเด่นซึ่งการผสานอิทธิพลตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน ‘เตียวโหลว’ (Kaiping Diaolou and Villages) คือร่องรอยวัฒนธรรมตลอดจนหนึ่งในเครื่องบ่งบอกความมั่งคั่งในช่วงทศวรรษที่ 19 – 20 ที่ชาวจีนโพ้นทะเลนำกลับสู่บ้านเกิดจากแดนไกลอย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสตราเลเซีย (Australasia) และอเมริกาเหนือ เตียวโหลวตั้งอยู่ที่อำเภอไคผิง เมืองเจียงเหมิน เป็นตึกหลายชั้นตกแต่งปูนปั้นสไตล์จีนผสมตะวันตก เป็นทั้งบ้านและป้อมปราการที่ปกป้องผู้อยู่อาศัยจากอุทกภัยและโจรผู้ร้าย โดยเตียวโหลวได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO เมื่อปี 2547 หลงเหลืออยู่ราว 1,800 หลัง จากเดิมมีมากกว่า 3,000 หลัง ปัจจุบัน เตียวโหลวได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเจียงเหมิน
รู้จักเมืองเจียงเหมิน
เมืองเจียงเหมินได้รับสมญานามว่าเป็น ‘เมืองหลวงของชาวจีนโพ้นทะเล’ (Capital of Overseas Chinese) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง มณฑลกวางตุ้ง เมืองแห่งนี้เป็นภูมิลำเนาของชาวจีนโพ้นทะเลกว่า 4 ล้านคนที่ย้ายถิ่นฐานไปอาศัยใน 104 ประเทศทั่วโลก
ในด้านเศรษฐกิจ เมืองเจียงเหมินมีประชากรกว่า 4.8 ล้านคน มีอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมหลัก เมื่อปี 2565 เมืองเจียงเหมินมี GDP 3.77 แสนล้านหยวน (56,101 ดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวกว่า ร้อยละ 3.3 และมีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศ 26,354 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมืองเจียงเหมินยังเป็นหนึ่งใน 9 เมืองของมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ภายใต้กรอบแผนพื้นที่อ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงความร่วมมือกับชาวจีนโพ้นทะเลและดำเนินโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมเพื่อเชื่อมกับเมืองรอบด้านภายใต้แนวคิด ‘วงแหวนเศรษฐกิจหนึ่งชั่วโมง’
จากธุรกิจ “เครื่องดื่มชา” ถึง อุตสาหกรรม”หน้าจอแสดงผล”
เมืองเจียงเหมินเป็นแหล่งจัดหาสินค้าเกษตรที่สำคัญหนึ่งในบริเวณสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง ฮ่องกง และมาเก๊า รวมทั้งเป็นที่ตั้งของเขตนำร่องความร่วมมือด้านเกษตรกับไต้หวันแห่งแรกในมณฑลกวางตุ้ง อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการเกษตรแล้ว เมืองเจียงเหมินยังเป็นบ้านเกิดของธุรกิจในอุตสาหกรรมอันหลากหลายอีกด้วย ตั้งแต่บริษัทเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ Heytea ที่มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินธุรกิจจนสามารถมีหน้าร้านมากกว่า 800 สาขาในเวลาไม่ถึงทศวรรษ บริษัท Vinda International ผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ที่ใหญ่ที่สุดในจีน บริษัท Jiangmen Dachangjiang ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์รายหลักในจีนนับแต่ปี 2551 ไปจนถึงบริษัทผู้ผลิตวัสดุแม่เหล็กและจอแสดงผลให้บริษัท Apple เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบริษัท Guangdong IVL PET Polymer จำกัด ซึ่งถูกบริษัทอินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกของไทย เข้าซื้อกิจการเมื่อปี 2554 ปัจจุบันทำธุรกิจผลิต PET โพลีเมอร์ เม็ดพลาสติกสำหรับแผ่นฟิล์มโพลีเอสเตอร์ เส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นด้ายอุตสาหกรรมที่สำคัญในมณฑลกวางตุ้งด้วยกำลังการผลิต 522,000 ตันต่อปี โดยมุ่งรองรับตลาดภายในจีนและเป็นฐานการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกไกลและตลาดอื่นๆ
เมืองเจียงเหมินมีสาขาอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การทำกระดาษ ต่อเรือ อาหาร วัสดุบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ห้องน้ำและสุขภัณฑ์ การพิมพ์ และเครื่องกลไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเมื่อปี 2564 มีสินค้าส่งออกสำคัญ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 5.8 ขณะที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่เชิงยุทธศาสตร์ อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ อุปกรณ์ให้ความสว่างใหม่ วัสดุใหม่ การผลิตอุปกรณ์ระดับไฮเอนด์ ตลอดจนเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
การพัฒนาด้านพลังงานและวิทยาศาสตร์
เมืองเจียงเหมินเป็นที่ตั้งของโครงการด้านพลังงานและวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของจีน ได้แก่
(1) โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไถซาน (Taishan Nuclear Power Plant) ซึ่งเป็น 1 ใน 4[1] ของโรงงานนิวเคลียร์ของมณฑลกวางตุ้งและเป็นแห่งที่เปิดใช้งานล่าสุด ตั้งอยู่ที่เมืองเจียงเหมินห่างจากนครกว่างโจว 140 กม. และฮ่องกง 130 กม. เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท China General Nuclear Power Group รัฐวิสาหกิจจีนถือหุ้นร้อยละ 70 กับบริษัท EDF รัฐวิสาหกิจฝรั่งเศส ถือหุ้นร้อยละ 30 มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง ได้แก่ เครื่องหมายเลข 1 เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือน ธ.ค. 61 และหมายเลข 2 เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือน ก.ย. 62 กำลังผลิตไฟฟ้า 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าของประชากรราว 5 ล้านคน อีกทั้งยังเป็นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของโลกที่ใช้เทคโนโลยีรุ่นที่ 3+ (Generation III + reactor) และใช้เทคโนโลยีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ European Pressurized Water Reactor (EPR)
(2) โครงการทดลองอนุภาคนิวทริโนในห้องปฏิบัติการใต้ดิน (Jiangmen Underground Neutrino Observatory: JUNO) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือสำคัญระดับโลกระหว่างสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ 71 แห่งจาก 16 ประเทศทั่วโลก ในภารกิจตรวจจับและศึกษา ‘อนุภาคนิวทริโน’[2] โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะวิจัยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมวลของอนุภาค (Neutrino Mass Ordering) การสั่นของนิวทริโน (Neutrino oscillation) ตลอดจนคุณสมบัติอื่น ๆ เกี่ยวกับอนุภาคมูลฐานนี้ โดยนำข้อมูลจากการตรวจจับนิวทริโนไปประยุกต์ใช้ในการระบุที่ตั้งของเทหวัตถุ (space object) ในอวกาศ รวมถึงแหล่งที่มาของรังสีคอสมิกซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดอนุภาคนิวทริโน
โครงสร้างหลักของเครื่องตรวจจับอนุภาคประกอบด้วยโครงสแตนเลสทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 41 เมตร ตั้งอยู่กลางบ่อน้ำลึกราว 44 เมตรซึ่งถูกสร้างลึกลงไปใต้ดิน 700 เมตร โดยโครงดังกล่าวจะรองรับภาชนะบรรจุอะคริลิคทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 35.4 เมตร หนักกว่า 600 ตัน เพื่อใช้บรรจุสารสำหรับตรวจจับนิวทริโน Liquid scintillators น้ำหนัก 20,000 ตัน ในการประชุมความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งที่ 21 ของ JUNO (21st International Cooperation Meeting of the JUNO) ซึ่งจัดขึ้นที่อำเภอไคผิง เมืองเจียงเหมิน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 6-10 ก.พ. 2563 หวัง อี้ฟาง (Wang Yifang) โฆษกและผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลังงานสูงแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (director of the Institute of High Energy Physics, Chinese Academy of Sciences) ระบุว่า คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานในปี 2567
ความร่วมมือกับไทย
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามจัดตั้งภาคีความร่วมมือไทย – จูโน (Thai-JUNO Consortium) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน และร่วมกันออกแบบและก่อสร้าง EMF shielding สำหรับการทดลอง JUNO ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านแม่เหล็กไฟฟ้าของไทยในโครงการดังกล่าว ซึ่งนับเป็นความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระหว่างไทยกับจีนที่สำคัญ และจะเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ของไทยในระดับสากลอีกด้วย
ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เพื่อบรรลุ “เป้าหมายคาร์บอนคู่” หรือเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนในระดับสูงสุด (Carbon Emission Peak) ในปี ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยที่มุ่งเน้นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งนี้ ในการพบหารือระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2565 ในวาระการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุฉันทามติว่าด้วยการสร้างประชาคมจีน-ไทย ที่มีอนาคตร่วมกันอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยหนึ่งในเนื้อหาสำคัญคือการเห็นพ้องให้ทั้งทั้งสองฝ่ายมีการขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงด้วย
[1] ปัจจุบัน มณฑลกวางตุ้งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4 แห่ง ประกอบด้วยเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวม 14 เครื่อง ซึ่งจัดว่ามีจำนวนมากที่สุดในจีน ได้แก่ (1) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Daya Bay Nuclear Power Plant เมืองเซินเจิ้น เริ่มผลิตไฟฟ้าเมื่อปี 2537 มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง (2) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Ling-ao Nuclear Power Plant เมืองเซินเจิ้น มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 เครื่อง เริ่มผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2545 – 2554 (3) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Yangjiang nuclear power plant เมืองหยางเจียง มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 เครื่อง เริ่มผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2557 – 2532 โดยทั้วสามแห่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบน้ำความดันสูง (Pressurized Water Reactor: PWR)และ (4) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไถซาน Taishan nuclear power plant เมืองเจียงเหมิน มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่อง
[2] นิวทริโน เป็นอนุภาคมูลฐานที่ไม่มีประจุ และตรวจจับได้ยากเนื่องจากมีมวลน้อย ซึ่งปัจจุบันยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอนุภาคดังกล่าวไม่มากนัก
พรีรษา โฆษิตวิชญ เขียน
สรศักดิ์ บุญรอด เรียบเรียง