รายงานภาวะเศรษฐกิจจีนปี 2565
6 Feb 2023รายงานภาวะเศรษฐกิจจีนปี 2565
ที่มา: https://news.cgtn.com
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ได้ประกาศอัตราการเติบโตของ GDP จีน ในปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3 มีมูลค่า 121.02 ล้านล้านหยวน หากพิจารณาเป็นรายไตรมาสเศรษฐกิจจีนเติบโตร้อยละ 4.8 ร้อยละ 0.4 ร้อยละ 3.9 และ ร้อยละ 2.9 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 5.5 ที่ตั้งไว้ โดย NBS สรุปว่า (1) เศรษฐกิจของประเทศสามารถทนต่อแรงกดดันและกำลังก้าวขึ้นสู่ระดับใหม่ (2) รากฐานของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงขาดเสถียรภาพ (3) จีนจะยกระดับการบูรณาการด้านการประสานงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และ (4) จีนจะมุ่งการปฏิรูปและเปิดกว้างอย่างรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นของตลาด
อัตราการเติบโตในปี 2565 รายมณฑล จากการเปิดเผยภาวะเศรษฐกิจของมณฑล/มหานคร/เขตปกครองตนเองทั้งหมด 31 แห่งของจีน ในปี 2565 พบว่า (1) มณฑล/มหานคร/ เขตฯ ทุกแห่งไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย เศรษฐกิจตามที่กำหนดไว้เมื่อต้นปี 2565 เนื่องจากสถานการณ์โควิดและภัยแล้ง (2) จี๋หลินและเซี่ยงไฮ้มีอัตรา การเติบโตของ GDP ติดลบที่ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ (3) ฝูเจี้ยนและเจียงซีมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดที่ร้อยละ 4.7 โดยฝูเจี้ยนได้รับแรงกระตุ้นจากการโอนย้ายคำสั่งซื้อมาจากเมืองขนาดใหญ่ที่เผชิญสถานการณ์โควิดอย่างหนัก ขณะที่เจียงซีมีการออกนโยบายสนับสนุนการคืนภาษี การจ้างงาน และช่วยเหลือผู้ประกอบการที่สูงกว่าระดับเฉลี่ยของจีน (4) ส่านซี มองโกเลียใน และ กานซู มีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ยของจีน (ร้อยละ 3) จากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น และ (5) กุ้ยโจว ทิเบต ชิงไห่ และฉงชิ่งมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของจีน เนื่องจากนโยบายควบคุมภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น
ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน
- การบริโภค ในปี 2565 (1) ยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนอยู่ที่ 43.97 ล้านล้านหยวน ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 36.33 ของ GDP ปี 2565 ของจีน โดยมูลค่าการบริโภคสินค้าจำหน่ายปลีก และการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 39.58 ล้านล้านหยวน และ 4.39 ล้านล้านหยวน ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.5 และลดลงร้อยละ 6.3 (2) ในเดือนธันวาคม 2565 ยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนอยู่ที่ 4.05 ล้านล้านหยวน หดตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหรือ 5.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สืบเนื่องจาก ผลกระทบระยะสั้นของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในจีนภายหลังผ่อนปรนนโยบายควบคุมโควิด-19
- การค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 สำนักงานศุลกากรจีน (GACC) เผยว่า ในปี 2565 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนอยู่ที่ 42.07 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 จากปี 2564 โดย (1) มีมูลค่าการนำเข้าและการส่งออก 18.1 ล้านล้านหยวน และ 23.97 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และร้อยละ 10.5 จากปี 2564 ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออก คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 19.81 ของ GDP จีนปี 2565 เพิ่มขึ้นจากระดับประมาณร้อยละ 18.91 จากปี 2564 (2) จีนยังเป็นประเทศการค้าสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6 และนับเป็นการเติบโตที่มีเสถียรภาพจากฐานตัวเลขที่สูงในปี 2564 รวมทั้งต้องเผชิญกับความ ท้าทายต่าง ๆ (3) อาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมูลค่าการค้าระหว่าง จีน – อาเซียน อยู่ที่ 6.52 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2564 ตามด้วยสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาและ (4) มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศตามข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI) อยู่ที่ 13.83 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 (5) มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อยู่ที่ 12.95 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.5 จากปี 2564
- การลงทุนในประเทศ ปี 2565 การลงทุนสินทรัพย์ถาวรของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 จากปี 2564 โดย (1) การลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 แซงหน้าการลงทุนอุตสาหกรรม การผลิต และกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการลงทุนของจีนในภาพรวม (2) การลงทุนอุตสาหกรรมการผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ซึ่งลดลงจากระดับ 9.3 ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2565 โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลง และการปรับนโยบายโควิด-19 ทำให้มีพนักงานส่วนหนึ่งติดเชื้อและส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และ (3) การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ลดลงร้อยละ 10 ซึ่งยังเป็นปัจจัยหลักที่ชะลอการฟื้นตัวของการลงทุนของจีน ในภาพรวม ทั้งนี้การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้การลงทุนจากภาคเอกชนของจีนในปี 2565 ลดลงร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563
- การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2565 ของจีนอยู่ที่ 1.23 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.02 ของ GDP จีนปี 2565 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 โดย (1) มูลค่าการลงทุน ภาคการผลิตอยู่ที่ 3.24 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.1 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 26.3 ของการลงทุนทั้งหมด ในขณะที่มูลค่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 36.1 ของจำนวนทั้งหมด (2) เกาหลีใต้ เยอรมนีและสหราชอาณาจักรลงทุนในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.2 ร้อยละ 52.9 และร้อยละ 40.7 ตามลำดับ ในขณะที่สหภาพยุโรป ประเทศตามเส้นทางข้อริเริ่ม BRI และประเทศอาเซียนลงทุน ในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.2 ร้อยละ 17.2 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ และ (3) ภาคกลาง และ ภาคตะวันตกของจีนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 และร้อยละ 14.1 ตามลำดับ
ปัจจัยด้านแรงงาน
- การจ้างงาน ในปี 2565 มีการจ้างงานในเขตเมืองจำนวน 12.06 ล้านตำแหน่ง บรรลุเป้าหมาย 11 ล้านตำแหน่งที่ตั้งไว้ โดยผลสำรวจอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2565 ของ NBS เผยว่า อัตราการว่างงานของจีนลดลงสู่ระดับร้อยละ 5.5 จากร้อยละ 5.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดย (1) อัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานหลัก (อายุ25 – 59 ปี) อยู่ที่ร้อยละ 4.8 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 5 ในเดือนพฤศจิกายน 65 (2) อัตราการว่างงานของเมืองขนาดใหญ่ 31 แห่งในจีนอยู่ที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 6.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และ (3) อัตราการว่างงาน ของคนอายุ 16 – 24 ปี ลดลงเหลือร้อยละ 16.4 จากระดับร้อยละ 17.1
- จำนวนประชากร ณ สิ้นปี 2565 จีนมีประชากรอยู่ที่ 1,411.75 ล้านคน ลดลง 8.5 แสนคน จากสิ้นปี 2564 นับเป็นครั้งแรกที่ประชากรของจีนลดลงในรอบมากกว่า 60 ปี และทำให้ อัตราการเติบโตของประชากรติดลบร้อยละ 0.60 โดย (1) ปี 2565 จีนมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ทั้งหมด 9.56 ล้านคน ลดลงจากระดับ 10.62 ล้านคน เมื่อปี 64 และ (2) จีนมีประชากรเสียชีวิต 10.41 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากระดับ 10.14 ล้านคน เมื่อปี 2564
ที่มา: https://news.cgtn.com
การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2566
อัตราการเติบโต เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 4.3 สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศและการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ สถาบันการเงินระหว่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญจีนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากมีฐานที่ต่ำในปี 2565 โดยจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566 สืบเนื่องจากผลลัพธ์ของการยกเลิกนโยบาย zero-COVID นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2566 จากร้อยละ 4.4 เป็นร้อยละ 5.2
ท่าทีรัฐบาลจีน ตามประกาศและท่าทีทางการของจีน การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลจีนในปี 2566
- การประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 ธันวาคม 2565 ได้กำหนดจุดเน้นว่า ในปี 2566 จีนจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น โดยมีภารกิจด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ (1) การขยายอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การสร้างระบบ อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (3) การสนับสนุนเศรษฐกิจภาคเอกชน (4) การดึงดูดทุนต่างชาติ และ (5) การป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเงิน
- NBS ได้เน้นย้ำในการแถลงข่าวว่า ปี 2566 จะเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน และเป็นปีแรกที่ดำเนินการตามแนวนโยบายที่กำหนดในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 รวมทั้งอยู่ในระยะกลางของการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2564 – 2568) ตลอดจนมีภารกิจเร่งฟื้นฟูภาคการผลิตและชีวิตประชาชนให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ โดย NBS คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2566 จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากปัจจัยสนับสนุน อาทิ (1) พื้นฐานของเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่ง มีสาขาอุตสาหกรรมครบถ้วน และที่ผ่านมาจีนได้รักษาความมั่นคงด้านอาหาร พลังงาน และห่วงโซ่อุปทานในภาพรวม (2) ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ และกระบวนการยกระดับภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาความเป็นเมืองจะเป็นแรงขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (3) แรงกระตุ้นจากนโยบายส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี และ (4) การผลักดันการปฏิรูปและการเปิดประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจเอกชนและการปรับสภาพแวดล้อมการลงทุนให้ดีขึ้น
เป้าหมาย GDP ของปี 2566 รายมณฑล เมื่อวันที่ 15 มกราคม 66 มณฑล/มหานคร/เขตปกครองตนเอง ทั้งหมด 31 แห่งของจีนได้ประกาศเป้าหมาย GDP ของปี 2566 โดย (1) มี 21 แห่งได้ปรับลดเป้าหมาย GDP ของปี 2566 จากเป้าหมายในปี 2565 (2) มี 28 แห่งกำหนดเป้าหมาย GDP เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6 (3) มณฑล/เขตปกครองตนเองที่ตั้งเป้าหมายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ไห่หนาน (ร้อยละ 9.5) ทิเบต (ร้อยละ 8) เจียงซีและซินเจียง (ร้อยละ 7) และ (4) กรุงปักกิ่งตั้งเป้า GDP ในปี 2566 ให้ขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของปี 2565 (สูงกว่าร้อยละ 5)
บทสรุป
แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จีนต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ดี จีนยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยในภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังเติบโตสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และสามารถครองสัดส่วนร้อยละ 18 ของ GDP โลก โดยเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นพลังสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ด้วยการเติบโตที่ก้าวกระโดดจากมูลค่าตลาด 11 ล้านล้านหยวนในปี 2555 สู่ 45.5 ล้านล้านหยวนในปี 2564 ทำให้ในปี 2564 เศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 39.8 ของ GDP ทั้งประเทศและ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เฉลี่ยสำหรับทั้งปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2 นับเป็นระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ทั้งยังอยู่ในกรอบเป้าหมายร้อยละ 3 ที่ตั้งไว้ จึงทำให้เศรษฐกิจของจีนยังคงรักษาเสถียรภาพและขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตอกย้ำถึงจุดแข็งของจีนในเรื่องความมั่งคงทางอาหาร และภาคการผลิตของจีน แม้สถานการณ์การลงทุนข้ามชาติทั่วโลกจะอยู่ในภาวะซบเซา แต่ FDI ของจีนในปี 2565 ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 โดยสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสูงของจีน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.3
นอกจากนี้ การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ของจีนยังครอบคลุมถึงการผ่อนคลายมาตรการตรวจสอบกักกันโรคสำหรับสินค้าที่ผ่านเข้าออกจีน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย อย่างไรก็ดี กระแสการบริโภคสินค้าแบรนด์จีนและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจวงจรคู่ที่เน้นการลดการพึ่งพาและการกระจายแหล่งนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะส่งผลให้สินค้าไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เมื่อปี 2565 จีนได้จัดทำพิธีสารกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนามและฟิลิปินส์ในการนำเข้าผลไม้บางชนิด ซึ่งจะเพิ่มการแข่งขันและลดสัดส่วนทางตลาดของผลไม้ไทยในจีน ผู้ประกอบการและหน่วยงานไทยจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างแบรนด์ พัฒนาคุณภาพและบริการที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคจีนยุคใหม่เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน
ดังนั้น ในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและประเทศคู่ค้าหลักของไทย การเปิดประเทศของจีนในปี 2565 รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของคณะผู้บริหารชุดใหม่ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น จึงเป็นการเปิดประตูการค้าและการลงทุนสู่โลกอีกครั้งของจีน ซึ่งจะส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม รวมถึงจะเป็นผลบวกต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไทย – จีนในปี 2566
* * * * * * * * * *
จัดทำโดย
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ กรุงปักกิ่ง
แหล่งข้อมูล:
- 1. 中财办韩文秀:2022年经济增长与年初的预期目标存在差距
https://finance.caixin.com/2022-12-18/101979294.html
- 前三季度我国经济走出“V型复苏”曲线
https://www.cnfin.com/yw-lb/detail/20221025/3729822_1.html
- 中央经济工作会议举行 习近平李克强李强作重要讲话
http://www.gov.cn/xinwen/2022-12/16/content_5732408.htm
- 中央财办副主任:中国经济已挺过了最困难的时刻
https://www.chinanews.com.cn/cj/2022/12-24/9920740.shtml
- World Bank Cuts China Growth Forecasts on Property Slump, Reopening Complications
- 中国经济未来五年展望:“六高特征”应进一步凸现
https://www.chinanews.com/cj/2022/12-21/9919191.shtml
- 何立峰:高质量发展是全面建设社会主义现代化国家的首要任务
http://opinion.people.com.cn/n1/2022/1114/c1003-32565170.html
- ASEAN Economic Outlook 2023
https://www.aseanbriefing.com/news/asean-economic-outlook-2023/
- One year on, RCEP bears fruit for trade, industrial integration
https://english.news.cn/20230101/64cd775cbc254080876a1e0a9bfab254/c.html
- 2022年中国GDP同比增长3% 四季度增长2.9%超预期
https://economy.caixin.com/2023-01-17/101989831.html
- 2022年中国对RCEP其他14个成员国进出口12.95万亿元
http://finance.china.com.cn/news/20230113/5928725.shtml
- China’s 2022 GDP Grows 3% Amid Covid Disruptions, Second-Slowest Since 1976
- 海关总署:2022年中国与“一带一路”沿线国家进出口13.83万亿元
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1755152072731404384&wfr=spider&for=pc
- 2022年我国外贸进出口增长7.7% 总值突破40万亿元创新高
http://www.gov.cn/xinwen/2023-01/13/content_5736830.htm
- 中国人口开启负增长 2022年新生儿跌破1000万
https://www.caixin.com/2023-01-17/101989849.html
- 2022年投资累计同比增长5.1% 略高于市场预期
https://economy.caixin.com/2023-01-17/101989864.html
- 勇挑大梁拼经济 今年各省GDP增长目标普遍高于5%
http://www.stcn.com/article/detail/776064.html
- 31省份今年GDP增速目标出齐:12省份超6%,最高9.5%
http://finance.china.com.cn/news/20230116/5929787.shtml
- 国新办举行2022年国民经济运行情况新闻发布会图文实录
http://www.scio.gov.cn/xwfbh/xwbfbh/wqfbh/49421/49478/wz49480/Document/1735488/1735488.htm