รั้วรอบขอบสนาม : กว่างซีอัปไซซ์ด่านเดิม เพิ่มเติมด่านใหม่ รอรับผลไม้ไทย
3 Apr 2024
นายกฤษณะ สุกันตพงศ์ เขียน
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
เมื่อไม่นานมานี้ บีไอซี มีโอกาสได้ติดตามคณะกรรมการบริหาร (ทีมประเทศไทย) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง ไปลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน และด่านสากลทางบกสุยโข่ว ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฉงจั่ว เพื่อเตรียมการนำเข้าผลไม้ไทยในช่วงฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงนี้
ทำความรู้จัก… เมืองฉงจั่ว (Chongzuo City) —- “ประตู” บานสำคัญที่จีนใช้เปิดสู่ภายนอก (Opening up)
เมืองฉงจั่ว (崇左市) เป็น 1 ใน 3 เมืองชายแดนของเขตปกครองตนเองกว่างซีที่มีพรมแดนติดกับประเทศเวียดนาม (อีกสองเมือง คือ เมืองไป่เซ่อ และเมืองฝางเฉิงก่าง) และมีหน้าที่กำกับดูแลเมืองระดับอำเภอผิงเสียง (Pingxiang City/凭祥市) ซึ่งเป็นเมืองการค้าชายแดนและเป็นที่ตั้งของด่านสากลสำคัญของกว่างซี(จีน)
หลายท่านอาจไม่รู้ว่า… “ฉงจั่ว” เป็นเมืองที่มีด่านชายแดนจำนวนมากที่สุดในจีน และมีมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดในจีน ทั้งด่านระดับชาติประเภทที่ 1 (ด่านสากลทวิภาคีและด่านสากลระหว่างประเทศ) จำนวน 5 แห่ง ด่านประเภทที่ 2 (ด่านประเพณี ระดับมณฑล) จำนวน 2 แห่ง และจุดผ่อนปรนตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดนอีกจำนวน 14 แห่ง
ที่สำคัญ!!! ด่านสากลระหว่างประเทศ 3 ใน 5 ด่านของเมืองฉงจั่ว เป็นด่านที่ได้รับการบรรจุในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ ด่านโหย่วอี้กวาน ด่านรถไฟผิงเสียง และด่านสุยโข่ว
เมืองแห่งนี้มีพลวัตทางเศรษฐกิจและการค้าชายแดนมากขนาดไหน สะท้อนได้จาก มูลค่าการค้าต่างประเทศที่ ‘ยืนหนึ่ง’ ในกว่างซีเป็นเวลา 15 ปีซ้อน เป็นเมืองเดียวของกว่างซีที่มีมูลค่าการค้าต่างประเทศมากกว่า 100,000 ล้านหยวนติดต่อกัน 10 ปี ติดโผ 100 เมืองการค้าต่างประเทศชั้นนำของประเทศจีนติดเนื่องกัน 9 ปี และเป็นเมืองที่มีมูลค่าการค้าชายแดน ‘นัมเบอร์วัน’ ของจีน (ราว 1/3 ของมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างจีนกับเพื่อนบ้าน 14 ประเทศ)
ในแง่ความสัมพันธ์กับประเทศไทย แม้ว่าเมืองฉงจั่วกับภาคอีสานไทยจะตั้งอยู่ไกลกันเกือบ 1,000 กิโลเมตร (พอๆ กับการขับรถจากสงขลา-กรุงเทพฯ) แต่ ‘ระยะทาง ไม่ใช่อุปสรรค’ เมืองฉงจั่วกับประเทศไทย มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในหลายมิติ ชาวจ้วง (ใต้) มีรากภาษาดั้งเดิมที่ใกล้เคียงกับภาษาไทย มีการสถาปนาความสัมพันธ์เป็น “เมืองพี่เมืองน้อง” กับจังหวัดมุกดาหาร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 นับเป็นการริเริ่มกลไกเมืองพี่เมืองน้องกับต่างประเทศคู่แรกของเมืองฉงจั่ว ในด้านการลงทุน กลุ่มน้ำตาลมิตรผลเป็น ‘เจ้าสัวใหญ่’ ที่ปักธงธุรกิจหลายสาขาในเมืองฉงจั่ว ในด้านการศึกษา วิทยาลัยครูชนชาติกว่างซี (广西民族师范学院) มีความร่วมมือกับ 7 มหาวิทยาลัยในไทย ปัจจุบัน มีนักเรียนไทยที่ศึกษาแลกเปลี่ยนที่วิทยาลัยแห่งนี้ ประมาณ 300 คน นอกจากนี้ เมือง ฉงจั่วยังมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าอย่างภาพเขียนสีผาแต้มฮัวซาน (花山) ที่คล้ายกับที่จังหวัดอุบลราชธานี
ด้านการค้า ปี 2566 เมืองฉงจั่วกับประเทศไทยมีมูลค่าการค้ารวม 28,090 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยร้อยละ 97.9 เป็นการค้าของเมืองระดับอำเภอผิงเสียงกับประเทศไทย ทั้งนี้ ระหว่างปี 2561 – 2566 การค้าระหว่างเมืองผิงเสียงกับไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 41 โดยเพิ่มขึ้นจาก 4,988 ล้านหยวนในปี 2561 เป็น 27,500 ล้านหยวนในปี 2566
อัปไซซ์ด่าน อัปเกรดเทคโนโลยี —- ด่านสากลทางบกโหย่วอี้กวาน
เชื่อว่า…ในแวดวงผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ส่วนใหญ่ต้องรู้จักชื่อของ “ด่านโหย่วอี้กวาน” (Youyiguan Border Gate/友谊关口岸)เพราะเป็นด่านทางบกที่มีปริมาณการนำเข้าผลไม้(ไทย)มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน ด่านแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองระดับอำเภอผิงเสียง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเมืองฉงจั่ว อยู่ตรงข้ามกับด่านหูหงิ (Huu Nghi) จังหวัดลางเซิน (Lang Son) ประเทศเวียดนาม
“ด่านโหย่วอี้กวาน” เป็นด่านที่มีบทบาทสำคัญในการค้ากับประเทศไทย ในปี 2566 การค้ากับประเทศไทยผ่านด่านโหย่วอี้กวานมีมูลค่า 62,060 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.2 เป็นการส่งออกไปไทย 31,910 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.4 และการนำเข้าจากไทย 30,150 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 99
สินค้านำเข้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าในพิกัดศุลกากร หมวด 16 เครื่องจักร เครื่องกล อุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 84 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร และอื่นๆ และตอนที่ 85 เครื่องจักรเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ)
ในส่วนของ “ผลไม้ไทย” ที่นำเข้าผ่านด่านในเมืองระดับอำเภอผิงเสียง (ด่านโหย่วอี้กวาน และด่านรถไฟผิงเสียง) มีน้ำหนักรวม 335,400 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 142.2 คิดเป็นมูลค่ารวม 11,513 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 151.7 ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน (297,900 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 147.9) มังคุด ลำไย มะพร้าว และส้มโอ
หลังจากโควิด-19 สิ้นสุด ด่านโหย่วอี้กวานสามารถรับมือกับปัญหารถสินค้าติดขัดได้เป็นอย่างดี หากมองจากสถิติ พบว่า ปีที่แล้ว (ปี 2566) ด่านโหย่วอี้กวานมีรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกมากถึง 423,000 คันครั้ง หรือตกเฉลี่ยวันละ 1,159 คันครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 126 เป็นรถสินค้าขาเข้า(จีน)ร้อยละ 40 ในจำนวนนี้ เป็นรถบรรทุกผลไม้นำเข้าร้อยละ 90 ขณะที่สินค้าส่งออกผ่านด่านโหย่วอี้กวาน ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยคิดเป็นร้อยละ 65 ของสินค้าทั้งหมด และร้อยละ 5 เป็นของใช้ประจำวันที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross Border e-Commerce
“ด่านโหย่วอี้กวานกล่าวว่า…ตัวด่านมีศักยภาพรองรับปริมาณรถบรรทุกผ่านเข้า-ออกได้วันละ 1,500 ครั้งคัน แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบัน ด่านโหย่วอี้กวานยังสามารถรองรับรถสินค้าได้อีกพอสมควร”
อย่างไรก็ดี ด้วยสถานการณ์การค้าที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด่านโหย่วอี้กวานกำลังเดินหน้าแบบเต็มสูบเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบซอฟแวร์สู่ ‘ความเป็นอัจฉริยะ’
ในระหว่างการลงพื้นที่ที่ด่านโหย่วอี้กวาน พบเห็นรถแบคโฮกำลังขุดภูเขาและปรับระดับผิวหน้าดินกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อขยายผิวหน้าจราจรบริเวณพื้นที่กันชน (Buffer zone) จีนกับเวียดนาม จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4 ช่องจราจร เป็น 6 ช่องจราจร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวและขยายปริมาณรองรับรถบรรทุกผ่านด่านทั้งสองได้เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตมีแผนขยายช่องทางเดินรถระหว่างจีนและเวียดนามเป็น 14 ช่องจราจร (7 เข้า 7 ออก)
ในส่วนของรถบรรทุกขาเข้า(จีน) หลังจากที่ขับผ่านพื้นที่กันชน จะพบกับ “อาคารประตูไม้กั้น” ซึ่งใช้ตรวจสอบรถบรรทุกสินค้าและคนขับ (ทั้งขาเข้าและขาออก) ปัจจุบัน อาคารประตูไม้กั้นมีอยู่ 2 อาคาร โดยอาคารฝั่งซ้ายมือเป็นอาคารเก่าที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน (6 ช่องจราจร ‘เข้า 3 ออก 3’) และอาคารฝั่งขวาเป็นอาคารหลังใหม่ (6 ช่อง ‘เข้า 3 ออก 3’ เช่นกัน) ซึ่งอยู่ระหว่างการรอตรวจรับจากส่วนกลาง คาดว่าจะผ่านการตรวจรับในเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ เมื่ออาคารประตูไม้กั้นหลังใหม่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ จะช่วยเสริมสภาพคล่องด้านการจราจรของรถบรรทุกที่จะผ่านเข้า-ออกด่านโหย่วอี้กวานได้อีกมาก (เมื่อรวมกับอาคารไม้กั้นหลังเดิม จะมีช่องจราจาเข้า-ออก 12 ช่อง ‘เข้า 6 ออก 6’)
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ด่านโหย่วอี้กวานได้เริ่มโครงการพัฒนาด่านสู่ “ความเป็นอัจฉริยะ” (Smart Border Gate) ร่วมกับฝ่ายเวียดนามแล้ว โดยทางฝั่งด่านโหย่วอี้กวานใช้เงินลงทุนราว 1,062 ล้านหยวน โดยมี “ช่องทางพิเศษเฉพาะรถบรรทุกสินค้าไร้คนขับ” เป็น Key Project ซึ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สมัยใหม่ ทำให้รถบรรทุกสินค้าสามารถผ่านด่านได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำการ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะช่วยให้ศักยภาพการผ่านด่านของรถบรรทุกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
เทคโนโลยีบางอย่างที่ได้นำมาใช้งานแล้ว อาทิ ระบบการรู้จำเลขทะเบียนรถยนต์ ระบบการรู้จำลายนิ้วมือ ระบบการรู้จำใบหน้า และการระบุตัวต้นของวัตถุด้วยสัญญาณแบบไร้สาย (Radio-frequency Identification – RFID)
เทคโนโลยีใหม่ในโครงการ Smart Border Gate ประกอบด้วยเครือข่ายสัญญาณ 5G ยานพาหนะขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ไร้คนขับ (AGV) อุปกรณ์เครนยกที่ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ระบบตรวจสอบตู้สินค้า ระบบดาวเทียมนำทางและระบุตำแหน่งเป๋ยโต่ว (The BeiDou Navigation Satellite System ในการติดตามและตรวจสอบรถบรรทุกไร้คนขับตลอดเส้นทาง (เส้นทางเดินรถเป็นระบบควบคุมวงปิด หรือ Closed-loop Control) และแพลตฟอร์มควบคุมอัจฉิรยะในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับเวียดนาม
อีกประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้ส่งออกไทย คือ มาตรการการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรของด่านโหย่วอี้กวาน (Green lane) ด่านแห่งนี้เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 – 19.00 น. หากพบว่าด่านมีปริมาณรถบรรทุกติดค้างเป็นจำนวนมาก ด่านฝั่งจีนและเวียดนามมีกลไกการประสานงานเพื่อขยายเวลาการทำงานไปถึง 22.00 น. จนถึงเที่ยงคืนของวัน
สำหรับรถบรรทุกผลไม้ที่ผ่านเข้าด่านโหย่วอี้กวาน จะได้รับการตรวจเป็นลำดับแรก (First Priority) แบบ ‘ผ่านด่านก่อน ตรวจก่อน ปล่อยก่อน’ ตามนโยบายการอำนวยความสะดวกให้สินค้าที่มีความอ่อนไหว และเน่าเสียง่าย โดยสินค้าผลไม้นำเข้าของไทยจะถูกสุ่มตรวจในอัตราร้อยละ 30 (ในขณะที่ เวียดนามถูกตรวจร้อยละ 100 ตามข้อกำหนดของระบบศุลกากรแห่งชาติจีน) ภายในลานตรวจสินค้าจะมีช่องตรวจจำนวน 72 ช่อง และสำรองให้เฉพาะสำหรับตรวจสินค้าทุเรียนไทย และเวียดนาม จำนวน 10 ช่อง
นอกจากนี้ ศุลกากรโหย่วอี้กวานได้นำมาตรการใหม่ ‘แกะกล่อง’ ที่เรียกว่า “ออกของได้แบบมีเงื่อนไข” มาใช้สำหรับผู้นำผลไม้ที่ถูกระบบสุ่มตรวจ สามารถรับสินค้าออกจากด่านศุลกากรได้แบบมีเงื่อนไข
กล่าวคือ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลไม้เพื่อส่งตรวจแล้ว ผู้นำเข้าสามารถนำสินค้าออกจากด่านโหย่วอี้กวานไปพักไว้ที่คลังสินค้าเย็นของตนเพื่อรอผลตรวจ (จากเดิมที่ตู้สินค้าจะต้องรออยู่ภายในบริเวณด่านศุลกากรเพื่อรอผล) หลังจากที่ผลตรวจไม่พบปัญหา ผู้นำเข้าสามารถจำหน่ายได้ทันที ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณ ความแออัดของรถบรรทุกภายในด่านได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น และผลไม้คงความสดใหม่
สุดท้ายเป็นเรื่องการพัฒนากลไกการติดต่อประสานงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนที่ใกล้ชิดและมีช่องทางที่หลากหลาย เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและเข้าใจสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการนำเข้าในช่วงฤดูกาลผลไม้ เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการขนส่งสินค้าตามสถานการณ์ด่าน และเจ้าหน้าที่ด่านก็สามารถวางแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินในกรณีที่ปริมาณนำเข้าพุ่งสูงขึ้นรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างหลักประกันให้กับการนำเข้าผลไม้แบบ ‘ไม่ต้องรอ ไม่ดีเลย์’ ‘ถึงปุ๊บ ตรวจปล่อยปั๊บ’
เพิ่มเติมด่านใหม่ พร้อมรับ “ผลไม้ไทย” เร็วๆ นี้ —— ด่านสากลทางบกสุยโข่ว
ท่านผู้อ่านอาจจะยังไม่คุ้นชื่อ ด่านสุยโข่ว หรือ Shuikou Border Gate (水口口岸) อันที่จริง ด่านสุยโข่ว เป็น 1 ใน 5 ด่านทางบกของเขตฯ กว่างซีจ้วงที่ได้รับอนุมัติจากส่วนกลางให้เป็น “ด่านนำเข้าผลไม้ไทย” ในพิธีสารฯ ที่รัฐบาลไทยกับจีนได้ลงนามเพื่อขยายด่านเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564
ด่านสุยโข่ว ตั้งอยู่ในอำเภอหลงโจว เมืองฉงจั่ว ห่างจากนครหนานหนิง 218 กิโลเมตร ฝั่งตรงข้ามเป็นด่านต่าลุง (Tà Lùng) จังหวัดกาวบั่ง (Cao Bang) ประเทศเวียดนาม มีแม่น้ำต้งกุ้ยเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติ
“สุยโข่ว” กำลังจะเป็นอีกหนึ่งด่านที่แยกจุดให้บริการของด่านตรวจคนเข้าเมืองกับด่านศุลกากรออกจากกันเหมือนกับด่านสากลทางบกแห่งอื่นในกว่างซี โดยกำหนดให้ (1) ด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 1 เป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Checkpoint) และ (2) ด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 2 เป็นด่านศุลกากร (Customs) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอตรวจรับจากส่วนกลาง ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2567
ด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 1 เปิดใช้งานตั้งแต่ปี 2536 ปัจจุบัน เป็นทั้งด่านตรวจคนเข้าเมือง (Immigration) และด่านศุลกากร (Customs) เนื่องจากด่านสะพานแห่งที่ 1 มีสภาพเก่าและมีขนาดเล็ก (2 ช่องจราจร รับน้ำหนักได้ 30 ตัน รองรับการขนถ่ายสินค้าได้เพียงวันละ 100 ตู้) ซึ่งไม่สามารถตอบสนองต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าของอำเภอหลงโจวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างสะพานแห่งที่ 2 เพื่อแบ่งเบาภาระของสะพานแห่งเดิม และเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าให้สูงมากขึ้น
“ปี 2566 การนำเข้าผลไม้เวียดนามผ่านด่านสุยโข่ว จำนวน 3,827 ล็อต น้ำหนัก 92,000 ตัน อาทิ ขนุน ทุเรียน มะม่วง เสาวรส และแก้วมังกร”
ด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 417 ไร่ เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2558 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา เฟสแรก มีเนื้อที่ 250 ไร่ เงินลงทุน 405 ล้านหยวน พื้นที่สิ่งปลูกสร้างราว 60,000 ตร.ม. สิ่งปลูกสร้างสำคัญ อาทิ ตัวสะพาน (ความยาว 90 เมตร มีช่องเดินรถ 4 ช่องจราจร) ประตูไม้กั้น อาคารอำนวยการและตรวจสอบสินค้า ห้องควบคุมและช่องตรวจสอบตู้สินค้าด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ H986 โรงกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการอบและรมยา เขตกำจัดและทำลายศัตรูพืช โรงพักสินค้าที่มีการยึดอายัด ลานตรวจสินค้า คลังสินค้าเย็น หน้าร้านสำหรับการค้าสำหรับชาวชายแดน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ในอนาคต ด่านสะพานแห่งที่ 2 จะเป็นด่านศุลกากรที่ใช้สำหรับการค้าสากล และการค้าชายแดน ตัวอาคารประตูไม้กั้นมี 14 ช่องจราจร (‘เข้า 9 ออก 5’ ในจำนวนนี้ เป็นช่องไม้กั้นสำหรับรถสินค้า ‘เข้า 8 ออก 4’) เป็นด่านทางบกที่มีจำนวนช่องไม้กั้นมากที่สุดในกว่างซี (ส่วนด่านสะพานแห่งที่ 1 จะเป็นด่านตรวจคนเข้าเมือง)
ในส่วนของพื้นที่ลานสินค้ามีช่องจอดรถบรรทุกเพื่อสุ่มตรวจสินค้า จำนวน 20 ช่อง ลานสินค้ามีศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าปีละ 20 ล้านตัน (ปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกวันละ 1,500 คัน) โดยแผนงานระยะไกล จะมีการขยายพื้นที่ลานสินค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการขนถ่ายสินค้าให้ได้ปีละ 36 ล้านตัน (ปริมาณรถบรรทุกสินค้าผ่านเข้า-ออกวันละ 2,500 คัน)
เจ้าหน้าที่ของอำเภอหลงโจว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณด่านสุยโข่วมีพื้นที่พร้อมสำหรับการลงทุนจัดตั้งธุรกิจ/โรงงาน ก่อนหน้านี้ มีภาคเอกชนแสดงความสนใจในการสร้างตลาดซื้อขายทุเรียนปีละ 300,000 ตัน รวมถึงโครงการนำเข้าและแปรรูปเนื้อทุเรียน โดยด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 2 ตั้งเป้าหมายว่าจะยกระดับประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกด้านการนำเข้าผลไม้ไทยให้มีความรวดเร็ว และประหยัดต้นทุน
ในแง่ของการอำนวยความสะดวกทางศุลกากรของด่านสุยโข่ว กล่าวได้ว่า…แนวปฏิบัติมีลักษณะคล้ายคลึงกับด่านสากลทางบกแห่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นพิธีการศุลกากรแบบนัดหมายล่วงหน้า 7 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง การยื่นสำแดงเอกสารล่วงหน้า มาตรการสำแดงเอกสารสองขั้นตอน (Two-Step Declaration) โดยยื่นเอกสารหลักเพื่อรับสินค้าออกจากเขตอารักขาศุลกากรก่อน และส่งเอกสารเพิ่มเติมตามไปทีหลัง รวมถึงออกของได้แบบมีเงื่อนไขตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับด่านโหย่วอี้กวาน จุดแข็งของด่านสุยโข่วคงเป็นเรื่องของ “สภาพภูมิประเทศ” เป็นที่ราบ มีพื้นที่ใช้สอยอีกมาก (ด่านโหย่วอี้กวานเป็นภูเขาและช่องเขาแคบ) และ “ความคล่องตัวของสินค้าเข้า-ออก” ที่มีช่องตรวจรถบรรทุกสินค้าเข้า-ออกจำนวนมาก และการเป็นด่านแห่งใหม่ จึงมีปริมาณสินค้าเข้า-ออกไม่มาก และใช้เวลาสั้นกว่าในการตรวจปล่อยสินค้า
หากพิจารณาจากระยะทางการขนส่งจากภาคอีสานไทย เนื่องจากด่านสุยโข่วตั้งอยู่ลึกไปทางตอนเหนือของด่านโหย่วอี้กวาน ดังนั้น รถสินค้าต้องวิ่งต่อจากจังหวัดลางเซิน (ที่ตั้งของด่านหูหงิ – ด่านโหย่วอี้กวาน) ไปยังด่านต่าลุง – ด่านสุยโข่ว เป็นระยะทางอีกราว 100 กิโลเมตร (ระยะทางจากกรุงฮานอย – ด่านโหย่วอี้กวานมี ระยะทางราว 173 กิโลเมตร ขณะที่กรุงฮานอย – ด่านสุยโข่ว มีระยะทาง 273 กิโลเมตร)
อย่างไรก็ดี เวียดนามกำลังเร่งรัดการก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน (Expressway) ระยะทาง 93 กิโลเมตร ที่วิ่งไปยังด่านชายแดนสำคัญทางตอนเหนือของเวียดนาม ทั้งด่านหูหงิ (จ.ลางเซิน ตรงข้ามด่านโหย่วอี้กวาน) ผ่านด่านต่าลุง (จ.กาวบั่ง ตรงข้ามด่านสุยโข่ว) ไปถึงด่านจ่าลิงห์ (จ.กาวบั่ง ตรงข้ามด่านหลงปัง) ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2569
หลังจากสินค้าผ่านเข้าด่านสุยโข่ว และด่านโหย่วอี้กวาน เพื่อมุ่งหน้าไปยังนครหนานหนิง มีระยะทางต่างกันเพียง 4 กิโลเมตร กล่าวคือ ด่านสุยโข่ว ห่างจากนครหนานหนิง 218 กิโลเมตร ขณะที่ด่านโหย่วอี้กวานห่างจากนครหนานหนิง 214 กิโลเมตร (ด่านตงซิงห่างจากนครหนานหนิง 187 กิโลเมตร และด่านหลงปัง ห่างจากนครหนานหนิง 296 กิโลเมตร)
การเปรียบเทียบโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ด่านต่างๆ ในกว่างซีมีลักษณะแข่งขันกันเอง แม้ว่าด่านสุยโข่ว สะพานแห่งที่ 2 ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่จะมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ยังขาดระบบนิเวศทางธุรกิจเมื่อเทียบกับเมืองระดับอำเภอผิงเสียง (ที่ตั้งด่านโหย่วอี้กวาน) ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจนำเข้า ตลาด/คลังกระจายสินค้าผลไม้ และโรงงานแปรรูปในพื้นที่ ซึ่งเมืองผิงเสียงถือว่ามีความพร้อมมากกว่าอำเภอหลงโจว
บีไอซี เห็นว่า ด้วยจุดแข็งของด่านสุยโข่วที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าด่านแห่งนี้จะเป็น “ตัวเลือกใหม่” ที่น่าสนใจสำหรับการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน และด้วยระยะทางที่ห่างจากด่านโหย่วอี้กวานไปอีกเพียง 100 กิโลเมตร จึงน่าจะมีบทบาทเป็น “ตัวช่วย” ในการระบายรถบรรทุกในช่วงที่ด่านโหย่วอี้กวานมีปริมาณรถสินค้าแออัดได้ไม่มากก็น้อย
********************