ย้อนรอย 2 ด่านใหม่ ระบายทุเรียนไทยสู่ตลาดจีน – ตอนที่ 1 ด่านทางบกตงซิง
7 May 2020จัดทำโดย…นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
หลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนทางบกขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ความได้เปรียบด้านระยะทางที่สั้นและใช้เวลาน้อยกว่าทางเรือช่วยรักษาคุณภาพผลไม้ไทยและความสดใหม่ไว้ได้ยาวนานเพื่อกระจายต่อไปยังตลาดในมณฑลอื่นทั่วจีน
“เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” เริ่มเป็นที่คุ้นหูของผู้ส่งออกไทยในฐานะ “ประตูการค้า” แห่งใหม่จากไทยไปจีน โดยเฉพาะแวดวงผู้ค้าผลไม้ ปัจจุบัน เขตฯ กว่างซีจ้วงได้ก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีนแซงหน้ามณฑลยูนนาน (ทางบก) และมณฑลกวางตุ้ง (ทางเรือ) จนมีคำพูดที่ว่า “คิดส่งออกผลไม้ คิดถึงกว่างซี”
ระหว่างปี 2561-2562 ตัวเลขการส่งออกผลไม้ไทยไปจีนผ่านเขตฯ กว่างซีจ้วงมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ ด่านทางบกโหย่วอี้กวานและด่านท่าเรือชินโจวเป็นสองด่านของกว่างซีที่เบียดเข้า Top 10 ด่านนำเข้าผลไม้ของจีน โดยเฉพาะ “ด่านโหย่วอี้กวาน” ที่มีปริมาณนำเข้าถึง 5.3 แสนตัน (สัดส่วน 35.52%) ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รองลงมา คือ ท่าเรือเซินเจิ้น (23.9%) และด่านบ่อหานของมณฑลยูนนาน (21%) โดยผลไม้ไทยที่มีปริมาณส่งออกไปจีนมากที่สุด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะพร้าวน้ำหอม
ท่านรู้หรือไม่ว่า…การส่งออกผลไม้ไปจีน ไม่ใช่ว่ามีผลไม้ก็สามารถส่งออกได้เลย เงื่อนไขซ้อนเงื่อนไขที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ ทำให้เส้นทางการส่งออกผลไม้ไทยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดชนิดของผลไม้ที่สามารถส่งเข้าไปจีน (ผลไม้ไทยได้รับอนุญาตมากที่สุดถึง 22 ชนิด) ประเภทของด่านนำเข้าผลไม้จะต้องเป็น “ด่านสากล” (ด่านการค้าชายแดนไม่ได้) แถมยังต้องได้รับอนุมัติฟังก์ชันเพิ่มเติมให้เป็นด่านที่สามารถนำเข้าผลไม้และผ่านการตรวจรับรองด้านระบบกักกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC อีกด้วย
แผลเก่าจากปัญหาเรื่องโรคแมลงศัตรูพืชและการปลอมปนสินค้าอื่นระหว่างการขนส่งทางบกเข้าด่านโหย่วอี้กวานทำให้ฝ่ายจีนจำเป็นต้องคุมเข้มการส่งออกผลไม้ทางบกจากประเทศที่สาม(ไทย)เข้าสู่ประเทศจีน โดยจะต้องเป็นด่านที่อยู่ภายใต้พิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย (ด่านไทย-จีนที่ไม่ได้อยู่ในพิธีสารฯ ก็หมดสิทธิ์) ซึ่ง “ด่านโหย่วอี้กวาน” เป็น 1 ใน 3 ด่านภายใต้พิธีสารฯ ดังกล่าว
กว่า 1 ใน 3 ของผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจีนอยู่ที่ด่านโหย่วอี้กวานและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมช่วง 2-3 ปีมานี้ รถบรรทุกผลไม้ไทยจึงพบปัญหาติดค้างอยู่บริเวณด่านเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในฤดูผลไม้ ผนวกกับสถานการณ์ความไม่ปกติที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และปัจจัยแวดล้อมอื่น (จากฝั่งเวียดนาม) ส่งผลให้ความแออัดบริเวณด่านทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ผลไม้ไทยต้องบอบช้ำจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะทุเรียนที่สุกงอมก่อนถึงมือผู้บริโภค
ที่ผ่านมา ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง (BIC) ได้ติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับการเปิดด่านนำเข้าผลไม้แห่งใหม่ในเขตฯ กว่างซีจ้วงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังให้เป็นการเพิ่มช่องทางส่งออกผลไม้ไทย จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนเปิดไฟเขียวให้ 2 ด่านใหม่ของเขตฯ กว่างซีจ้วงสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้แล้ว แถมยังขยายด่านฝั่งไทยจากที่อนุญาตเฉพาะด่านมุกดาหารและด่านเชียงของ ได้เพิ่มอีก 3 ด่าน คือ ด่านนครพนม (บนเส้นทาง R12) ด่านบึงกาฬ และด่านบ้านผักกาด บทความฉบับนี้ BIC จะขอนำท่านผู้อ่านไปย้อนรอยและอัปเดตความพร้อมของ 2 ด่านใหม่ ทั้งด่านทางบกตงซิงและด่านรถไฟผิงเสียง
สำหรับ “ด่านตงซิง” (Dongxing Border Gate/东兴口岸) เป็นด่านสากลทางบกที่ตั้งอยู่ในอำเภอระดับเมืองตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง ตรงข้ามกับด่านม๊องก๋าย (Mong Cai) จังหวัดกว่างนิงห์ (Quang Ninh) ของเวียดนาม โดยมีแม่น้ำเป่ยหลุนเป็นแนวพรมแดนธรรมชาติที่ไหลออกสู่ทะเลอ่าวตังเกี๋ย พิกัดที่ตั้งอยู่ห่างจากรุงฮานอยค่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 300 กิโลเมตร (ไกลกว่าไปด่านโหย่วอี้กวานประมาณ 130 กิโลเมตร) โดย GACC อนุมัติให้ด่านตงซิงเป็นด่านนำเข้าผลไม้ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2561
ความพร้อมของ “ด่านตงซิง” กับการนำเข้าผลไม้ไทย จากการลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 (ซึ่งเป็นวันที่พิธีสารข้างต้นฉบับล่าสุดมีผลบังคับใช้) ยังไม่มีผลไม้ไทยผ่านเข้าด่านตงซิงในวันดังกล่าว และได้ทราบมาว่าเมืองตงซิงได้กำหนดช่องทางการนำเข้าผลไม้ไทยที่ “สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนเหอแห่งที่ 2” ซึ่งเป็นด่านที่ทำการแห่งใหม่ที่มีความทันสมัยและครบวงจร ส่วนด่านที่สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนเหอแห่งที่ 1 นั้นใช้เป็นด่านตรวจคนเข้าเมืองเพียงอย่างเดียว
ในทางกายภาพ ด่านตงซิงมีความพร้อมเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบและมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันกว่าเมื่อเทียบกับ “ด่านโหย่วอี้กวาน” ซึ่งมีข้อจำกัดของพื้นที่ช่องเขาแคบและไม่มีทางออกสู่ทะเล (landlock) รวมทั้งความอิ่มตัวของด่านที่ก่อให้เกิดการจราจรที่แออัดจนสินค้าสดได้รับความเสียหายอยู่บ่อยครั้ง
รัฐบาลอำเภอะระดับเมืองตงซิงได้เตรียมพื้นที่บริเวณสะพานแห่งที่ 2 ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับงานตรวจคนเข้าเมืองและงานขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยสามารถรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่หมุนเวียนเข้า-ออกได้ถึงวันละ 3,000 คัน รวมทั้งได้นำอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ในการตรวจกักกันโรคที่ทันสมัยมาใช้ อาทิ เครื่องเอ็กซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์ ลานสุ่มตรวจสินค้า ห้องตรวจตัวอย่าง ห้องตรวจวิเคราะห์ และห้องรมยาเพื่อฆ่าแมลงที่ติดมากับผลไม้ และได้นำระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อให้การตรวจปล่อยสินค้าเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
แต่ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมรองรับการตรวจสอบผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศในบริเวณสะพานแห่งที่ 2 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้การนำเข้าผลไม้ไทยขณะนี้ต้องใช้ “สะพานทุ่นลอย” ที่ตลาดการค้าชายแดนไปพลางก่อน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่เมืองตงซิงใช้ค้าขายผลไม้กับเวียดนามอยู่แล้ว โดยสะพานทุ่นลอยรับน้ำหนักรถบรรทุกได้ 120 ตัน (รถบรรทุกตู้ 40 ฟุต มีน้ำหนักประมาณ 25 ตัน) มีศักยภาพในการตรวจปล่อยสินค้าเวียดนามได้วันละ 200 คัน ทั้งนี้ คาดว่าสะพานแห่งที่ 2 จะเปิดใช้อย่างเป็นทางการภายในเดือนมิถุนายน 2563 (ปัจจุบัน เปิดทดลองเปิดใช้งานเฉพาะสินค้าขาออก)
การตรวจกักกันโรคที่สะพานทุ่นลอย เจ้าหน้าที่ใช้เวลาสุ่มตรวจสินค้าเฉลี่ยประมาณครึ่งชั่วโมง อัตราการสุ่มตรวจ 20% – 100% ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของชนิดผลไม้ เช่น แก้วมังกร มีความเสี่ยงต่ำ สามารถปล่อยออกไปได้เลย หรือทุเรียนที่มีความเสี่ยงระดับกลาง เกณฑ์สุ่มตรวจจะอยู่ที่ 40% – 80% โดยเกณฑ์ดังกล่าวยังมีความยืดหยุ่นตามช่วงเวลา เช่น ฤดูที่มีการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชจะปรับเกณฑ์สุ่มตรวจเพิ่มมากขึ้น (ขนุนในช่วงระบาดพบปัญหาถึง 60%-80%) ซึ่งแมลงศัตรูพืชที่พบบ่อย ได้แก่ เพลี้ยแป้งและด้วงผลไม้ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้คะแนนความน่าเชื่อถือของผู้ค้าในระบบศุลกากรเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาการตรวจปล่อยสินค้าด้วย หากมีระดับความน่าเชื่อถือสูง ก็สามารถปล่อยสินค้าได้ทันที
สิ่งที่น่ากังวล คือ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 รัฐบาลเมืองตงซิงได้สั่งปิดท่าเรือสินค้าข้ามฟากบริเวณตลาดการค้าสำหรับชาวชายแดน คงไว้เพียง “สะพานทุ่นลอย” ทำให้รถบรรทุกสินค้าขาเข้าต้องเปลี่ยนมาใช้ช่องทางดังกล่าว อีกทั้งปัจจัยความพร้อมด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่สมบูรณ์มากนักของด่านสะพานทุ่นลอย ทำให้เจ้าหน้าที่มีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการและระยะเวลาการสุ่มตรวจผลไม้ไทย
ความดำเนินการของผู้ส่งออกไทย ทางการจีนให้ความสำคัญกับมาตรฐานการจัดการสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุที่ต้องมีกระบวนการควบคุมและกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมทั้งปริมาณสารตกค้าง ในระยะยาว หากผลการสุ่มตรวจผลไม้ไทยสามารถรักษาคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ดี อาจช่วยให้ผลไม้ไทยมีระดับความเสี่ยงต่ำ ทำให้การดำเนินพิธีการศุลกากรมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าการเปิดด่านใหม่ทั้ง 2 แห่งข้างต้นเป็นโอกาสในการเพิ่มการนำเข้าผลไม้ไทยและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น แต่ช่วงแรกยังคงเป็นช่วงปรับตัว การนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านใหม่อาจต้องประสบปัญหาจากความไม่ลงตัวของระบบบริหารจัดการ ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรต้องเตรียมใจ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนไว้ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย (เหมือนตัวอย่างที่เกิดขึ้นตอนที่ด่านโหย่วอี้กวานเปลี่ยนระบบการผ่านด่านของรถบรรทุก จนรถบรรทุกต้องค้างด่านเมื่อปีที่แล้ว)
นอกจากนี้ การส่งผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย ผู้ส่งออกควรคำนึงถึง “ตลาดปลายทาง” ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากด่านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ไม่ว่าจะทางถนนหรือทางรถไฟก็ตาม
…ผู้อ่านสามารถเกาะติดทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในจีนได้ทางเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com…
****************************