ย้อนรอย 2 ด่านใหม่ ระบายทุเรียนไทยสู่ตลาดจีน ตอนที่ 2 – ด่านรถไฟผิงเสียง
23 May 2020จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
การที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้ผงาดขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางหลักของผู้ส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ทำให้ผลไม้ไทยจำนวนมากหลั่งไหลเข้าที่ด่านชายแดนกว่างซีจนเกิดการจราจรแออัด รถบรรทุกผลไม้ค้างเติ่งอยู่บริเวณด่านโหย่วอี้กวาน บทความ ย้อนรอย 2 ด่านใหม่ ระบายทุเรียนไทยสู่ตลาดจีน ตอนที่แล้ว ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC) ได้นำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับ “ด่านทางบกตงซิง” ของเมืองฝางเฉิงก่าง ประตูการค้าบานใหม่ที่รัฐบาลจีนได้เปิดให้กับผลไม้ไทยกันไปแล้ว
ในส่วนของบทความนี้ BIC ขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับอีกด่านในกว่างซีที่รัฐบาลจีนเปิดให้นำเข้าผลไม้ไทยได้ ที่สำคัญ ด่านแห่งนี้ยังได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ฉีกกฎการส่งออกแบบเดิมๆ ที่เคยใช้ทางรถบรรทุก ทางเรือ และทางเครื่องบิน นั่นก็คือ “ด่านรถไฟผิงเสียง”
จริงๆ แล้ว “ด่านรถไฟผิงเสียง” เปิดใช้งานมากว่า 70 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2493) เป็นด่านรถไฟระหว่างประเทศเพียงแห่งเดียวที่รถไฟสามารถวิ่งเข้า-ออกระหว่างจีนกับอาเซียน(เวียดนาม) เริ่มแรกใช้บริการขนส่งผู้โดยสาร ต่อมา ได้พัฒนาเพิ่มให้มีบริการขนส่งสินค้าด้วย (ด่านผู้โดยสารกับด่านสินค้าตั้งแยกกัน 2 จุด) จนกลายเป็นจุดสำคัญในเส้นทางระเบียงการค้าระหว่างประเทศเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor-ILSTC) ที่เชื่อมจีนกับอาเซียน
ชื่อด่านแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งที่ตั้งของด่านอยู่แล้ว ใช่ครับ…ด่านแห่งนี้ตั้งอยู่ใน “ศูนย์โลจิสติกส์ด่านรถไฟผิงเสียง” ในอำเภอระดับเมืองผิงเสียงของเมืองฉงจั่ว ห่างจากด่านทางบกโหย่วอี้กวานราว 14 กิโลเมตร สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้อนุมัติให้ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นด่านนำเข้าผลไม้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และได้อนุมัติให้นำเข้าผลไม้ไทย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2563 (หากใครจำไม่ได้ว่า…ทำไมต้องอนุมัติซ้ำซ้อน ลองย้อนกลับอ่านบทความตอนที่ 1 ดูนะครับ) นับเป็นอีกหนึ่งด่านที่ได้รับโอกาสจากวิกฤต COVID-19 ในการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้ไทย
ศูนย์โลจิสติกส์ด่านรถไฟผิงเสียง เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนกันยายน 2559 และก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสถานีรถไฟผิงเสียง (สำหรับผู้โดยสาร) มีพื้นที่ 179 ไร่ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ได้เริ่มเปิดบริการขนส่งตู้สินค้าระหว่างประเทศในเส้นทางเมืองผิงเสียง-กรุงฮานอย (เที่ยวประจำทุกวันจันทร์และพฤหัสของสัปดาห์) ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง โดยมีศักยภาพรองรับงานขนส่งได้ปีละหลายล้านตัน
![]() |
![]() |
ทางเข้าลานสินค้ารถไฟ | ลานขนถ่ายสินค้าทางรถไฟ |
ส่วนที่ได้เปิดใช้งานแล้ว ภายในมีรางขนส่งสินค้า 2 ราง (รองรับตู้สินค้าได้คราวละ 30 โบกี้) โกดังสินค้า 1 หลัง ลานสุ่มตรวจสินค้า 1 หลัง ลานพักสินค้าพื้นที่ 20,000 ตร.ม. พื้นที่ชาร์ทไฟให้ตู้คอนเทนเนอร์เย็น และอาคารที่ทำการศุลกากร และกำลังอยู่ระหว่างการขยายพื้นที่เฟสสอง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการปฏิบัติงานตรวจและกักกันโรคพืชสำหรับผลไม้ และโกดังเย็น ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (ประมาณเดือนสิงหาคม 2563)
รูปแบบการขนส่งจะเป็น “รถ+ราง” โดยรถหัวลากออกจากภาคอีสานของไทย ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่เวียดนาม และวิ่งขึ้นเหนือผ่านกรุงฮานอยเพื่อไปจอดที่สถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) ในจังหวัดลางเซิน แล้วยกตู้สินค้าขึ้นรถไฟข้ามแดนเข้าไปที่ด่านรถไฟผิงเสียงของกว่างซีด้วยระยะทางเพียง 17 กิโลเมตร (ใช้เวลาขนส่ง 1 ชั่วโมง)
ปัจจุบัน รถไฟเส้นทางด่งดัง-ผิงเสียงให้บริการวันละ 6 เที่ยว (ตารางเวลาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าในแต่ละช่วงเวลา) และสามารถเพิ่มรอบได้ หากมีสินค้าปริมาณมาก แต่ละเที่ยวสามารถลากตู้สินค้าได้ 20-25 ตู้ (ตู้คอนเทนเนอร์เย็นหนึ่งตู้บรรจุผลไม้ได้ 20-26 ตัน) และในอนาคตมีแผนจะขยายเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าไปถึงนครโฮจิมินห์
![]() |
![]() |
ลานพักตู้สินค้า | ลานพักตู้สินค้า |
โอกาสของผู้ส่งออกผลไม้ไทย ด่านรถไฟผิงเสียงเป็นอีก “ทางออก” ในการระบายผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการที่รถบรรทุกต้องรอคิวที่ด่านโหย่วอี้กวาน พูดง่ายๆ คือ ไม่ต้องรอคิวนานแถมยังขนตู้สินค้าได้คราวละมากๆ แม้ว่าโมเดล “รถ+ราง” จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ารถบรรทุกเล็กน้อย แต่คุ้มค่ากับการควักกระเป๋าจ่ายเพื่อซื้อเวลา
หลังจากผ่านพิธีการศุลกากรแล้ว การส่งผลไม้ไปจำหน่ายในหัวเมืองต่างๆ ทั่วจีน ผู้ส่งออกสามารถเลือกการขนส่งทางรถไฟ อาทิ นครเซี่ยงไฮ้ใช้เวลา 45 ชั่วโมง กรุงปักกิ่งใช้เวลา 70 ชั่วโมง หรือส่งไปไกลถึงเอเชียกลางและยุโรปผ่าน China-Europe Railway Express ใช้เวลา 7-10 วัน (ทางเรือใช้เวลา 1 เดือน) หรือจะเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุก (ยกตู้จากรถไฟขึ้นรถหัวลาก) ก็ได้
แล้วจะเลือกขนส่งต่อไปยังไง…รถไฟมีความได้เปรียบในการขนส่งระยะทางไกล จึงเหมาะกับการใช้กระจายสินค้าไปที่หัวเมืองภาคตะวันออก/ภาคเหนือ หากเป็นการขนส่งระยะสั้น ควรใช้การขนส่งทางรถบรรทุก เช่น หากส่งผลไม้ไปยังนครกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง รถบรรทุกใช้เวลาเพียง 1-2 วัน สามารถประหยัดเวลาได้มากกว่าทางรถไฟที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 4 วัน
ข้อจำกัดของการขนส่งด้วยรถไฟ ตัวจ่ายไฟสำหรับตู้คอนทนเนอร์เย็น (Reefer) ของหัวรถลากกับหัวรถจักรไม่เหมือนกัน ใช้ด้วยกันไม่ได้ หมายความว่า ตู้ผลไม้ไม่สามารถทำความเย็นระหว่างการขนส่งทางรถไฟ แต่ยังโชคดีที่เป็นแค่ช่วงสั้นๆ โดยด่านรถไฟผิงเสียงได้เตรียมแท่นชาร์ทไฟไว้ให้ตู้ผลไม้ใช้ทันทีที่ตู้ผลไม้มาถึงด่าน ในเวลาเดียวกัน ผู้ให้บริการหัวรถจักรกำลังปรับปรุงระบบจ่ายไฟให้สามารถใช้งานได้ขณะที่มีการขนส่งทางรถไฟอยู่
![]() |
![]() |
ตู้ Reefer ทางรถไฟ | ตู้ Reefer ทางรถบรรทุก |
การเตรียมตัวของ “ผู้ค้าไทย” ความท้าทายของผู้ส่งออกไทยอยู่ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าเป็นฮาร์ดแวร์ (สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ตรวจและกักกันโรคพืช) และซอฟท์แวร์ (ประสบการณ์ของบุคลากร การเชื่อมระบบศุลกากร) ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งอาจส่งผลให้การปฏิบัติงานของด่านรถไฟในช่วงแรกเกิดความล่าช้า โดยคาดว่าทุกอย่างน่าจะเข้ารูปเข้ารอยได้ในไม่ช้า
![]() |
![]() |
บริเวณหน้าลานสุ่มตรวจสินค้า |
อาคารสุ่มตรวจสินค้า |
บทสรุป การเปิดด่านนำเข้าผลไม้แห่งใหม่ในกว่างซี ทั้งด่านทางบกตงซิงและด่านรถไฟผิงเสียง ช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ส่งออกไทยในการระบายผลไม้ไทยไปจีนและช่วยลดอุปสรรคการขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้มากขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า…การนำเข้าผลไม้ไทยผ่านด่านใหม่ในระยะแรกอาจต้องประสบปัญหาจากความไม่ลงตัวของระบบบริหารจัดการ ซึ่งผู้ส่งออกไทยควรเตรียมใจ ติดตามสถานการณ์ และวางแผนไว้ล่วงหน้าด้วย รวมทั้งควรคำนึงถึง “ตลาดปลายทาง” ว่าอยู่ที่ไหน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากด่านเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ไม่ว่าจะทางถนนหรือทางรถไฟ
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกต้องตระหนักถึงปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชและการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผลไม้ที่ส่งออกไปจีน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีการสุ่มตรวจผลไม้อย่างเข้มงวด ต้องรักษาคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะหากพบปัญหาเดิมซ้ำ ไม่แน่ว่า…ประตูการค้าบานใหม่นี้อาจถูกปิดลงสักวันก็เป็นได้
…ผู้อ่านสามารถเกาะติดทุกสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงในจีนได้ทางเว็บไซต์ www.wordpress-348433-3180049.cloudwaysapps.com…