ยูนนาน…แหล่งนำเข้าผลไม้ไทยผ่านทางบกอันดับหนึ่งของจีน
8 Feb 2024มณฑลยูนนานตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีเมืองเอกคือ นครคุนหมิง และมีชายแดนติดกับสามประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว เวียดนาม และเมียนมา ยูนนานจึงมีความสำคัญในฐานะเป็น “ประตูของจีนที่เปิดสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” รวมถึงประเทศไทย และมีด่านโม่ฮาน (ชายแดนจีน-ลาว) ตั้งอยู่ห่างจากด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประมาณ 250 กิโลเมตร กลายเป็นมณฑลของจีนที่ใกล้ไทยที่สุด เชื่อมโดยเส้นทาง R3A แม่น้ำโขง และรถไฟจีน-ลาว
ด้วยภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้กัน ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของมณฑลยูนนานเรื่อยมา โดยในปี 2566 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของยูนนาน ซึ่งเท่ากันกับปี 2565 รองจากเมียนมา ซาอุดีอาระเบีย เวียดนาม และ สปป.ลาว
สำหรับการค้ายูนนาน-ไทยในปี 2566 มีมูลค่ารวม 1,927 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 15.6 แบ่งเป็นมูลค่าการนำเข้าจากไทยของยูนนาน 1,315 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 และมูลค่าการส่งออกไปไทยของยูนนาน 612 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 46.6 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าถึง 703 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นปีแรกที่ไทยได้ดุลการค้ายูนนานในรอบสิบปี
สินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างมณฑลยูนนานกับไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักและผลไม้ (ภายใต้พิกัดศุลกากร 07 และ 08) มีมูลค่ารวม 1,497 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือครองสัดส่วนถึงร้อยละ 78 ของมูลค่าการค้ายูนนานและไทย โดยสินค้าที่ยูนนานส่งออกไปไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผัก (กะหล่ำปม คะน้า พริก บล็อกโคลี ผักกาดหอม กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี) ผลไม้ (องุ่น ส้ม ลูกพลับ) ปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต เคมีภัณฑ์ และผักแปรรูป ส่วนสินค้าที่ยูนนานนำเข้าจากไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด ลำไย ส้มโอ ขนุน) ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง เคมีภัณฑ์ เครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวาน และชิ้นส่วนเครื่องมือไฟฟ้าแบบพกพา

ในด้านช่องทางการนำเข้าผลไม้ไทยของมณฑลยูนนาน ด่านโม่ฮาน (ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-สปป.ลาว) ถือเป็นช่องทางที่มีการนำเข้าผลไม้ไทยมากที่สุดในบรรดาด่าน 5 แห่งที่ยูนนานสามารถนำเข้าผลไม้ไทยได้ในขณะนี้ ซึ่งประกอบด้วย (1) ด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิง (2) ด่านโม่ฮาน (3) ด่านรถไฟโม่ฮาน ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-สปป.ลาว (4) ด่านเหอโข่ว ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม และ (5) ด่านเทียนเป่า ด่านทางบกบริเวณชายแดนจีน-เวียดนาม ซึ่งทั้งหมดได้ผ่านการรับรองให้เป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” จากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) รวมถึงเป็นด่านที่ระบุในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทยกับจีน ยกเว้นด่านท่าอากาศยานนานาชาติฉางสุ่ยนครคุนหมิงซึ่งเป็นการขนส่งโดยตรงโดยไม่ผ่านประเทศที่สาม
ขณะเดียวกัน ด่านรถไฟโม่ฮานซึ่งเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจ โดยหลังจากสิบเดือนแรกที่ GACC อนุมัติให้ด่านรถไฟโม่ฮานเป็น “ด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าผลไม้” ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ด่านรถไฟโม่ฮานได้นำเข้าผลไม้ 66,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลไม้จากลาวและไทย ขณะเดียวกันได้ส่งออกผักและผลไม้ 16,000 ตัน รวมมีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกผักและผลไม้มากกว่า 2,000 ล้านหยวน
ตลอดปี 2566 มณฑลยูนนานนำเข้าผลไม้ไทยคิดเป็นมูลค่า 1,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 และครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 88 ของมูลค่าที่ยูนนานนำเข้าสินค้าจากไทยทั้งหมด โดยทุเรียนครองสัดส่วนถึงร้อยละ 65 หรือคิดเป็นมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 ตามมาด้วยมังคุด ลำไย ส้มโอ และขนุน ส่งผลให้ยูนนานกลายเป็นมณฑลที่นำเข้าผลไม้ไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง (ขนส่งโดยผ่านทางเรือ) โดยมีมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยราวครึ่งหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง และครองสัดส่วนร้อยละ 16.3 ของมูลค่าการนำเข้าผลไม้ไทยของจีน รวมถึงยังเป็นมณฑลที่นำเข้าผลไม้ไทยผ่านทางบกอันดับ 1 ของจีน
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการนำเข้าทุเรียนสดของจีน สิ่งที่น่ากังวลคือ ไทยยังต้องเผชิญความท้าทายท่ามกลางการแข่งขันในตลาดจีน โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างเวียดนาม แม้ตลาดทุเรียนไทยในจีนมีการเติบโตอย่างมาก โดยจากปี 2562 (ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ที่มีมูลค่าการนำเข้า 1,604 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มเป็น 4,566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า แต่ตลาดทุเรียนเวียดนามในจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายเป็นคู่แข่งที่ไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ เนื่องจากเวียดนามใช้เวลาเพียงแค่สามปีก็สามารถทำยอดส่งออกทุเรียนไปจีนให้เติบโตราวครึ่งหนึ่งของยอดส่งออกทุเรียนไทย โดยเฉพาะในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยจากปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม 188 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 2,137 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับการนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามของมณฑลยูนนานที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเช่นกัน โดยจากปี 2565 ยูนนานนำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนาม 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 212.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนว่า มณฑลยูนนานยังเป็นช่องทางนำเข้าผลไม้ไทยที่มีศักยภาพ และเป็นแหล่งนำเข้าผลไม้ไทยผ่านทางบกอันดับหนึ่งของจีน อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมตลาดการแข่งขันของผลไม้ไทยในจีน สิ่งสำคัญคือ การเน้นย้ำด้านคุณภาพของผลไม้ไทย รวมถึงการเพิ่มการรับรู้และความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจีน เช่น การสร้างแบรนด์ การตรวจสอบย้อนกลับ การจดทะเบียนรับรองเป็นผลไม้ปลอดสารพิษ และการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อให้ผลไม้ไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง
*************************************
แหล่งข้อมูล
– เว็บไซต์สำนักงานศุลกากรจีน http://www.customs.gov.cn
– เว็บไซต์สำนักงานศุลกากรนครคุนหมิง http://kunming.customs.gov.cn
– https://baijiahao.baidu.com/s?id=1777026366051974883&wfr=spider&for=pc