มาเลเซียปั่นกระแสทุเรียนปัง ทุเรียนไทยต้องระวังเสียแชมป์
11 Oct 2020จัดทำโดย นายกฤษณะ สุกันตพงศ์
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (BIC)
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
“ทุเรียน” ได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ (King of Fruit) และเป็นหนึ่งในผลไม้เศรษฐกิจที่เชิดหน้าชูตาให้กับประเทศไทย ยิ่งในสังคมยุคดิจิทัลที่ช่วยให้การส่งออกทุเรียนไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความต้องการของตลาดผู้บริโภคชาวจีน อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้ตลาดทุเรียนไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้วางหมากและเดินเกมรุกตลาดทุเรียนในจีน
ในปี 2562 “ทุเรียน” ขึ้นแท่นผลไม้นำเข้าอันดับ 1 ของจีน ด้วยมูลค่ารวม 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (+47%) แซงหน้า เชอร์รีสด (1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ +7%) ได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ปัจจุบัน รัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนได้จากประเทศไทยและมาเลเซีย แต่ได้ข่าวแว่วมาว่า…เวียดนามและฟิลิปปินส์กำลังเร่งเจรจากับจีนในการทำความตกลงการส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย หากรัฐบาลจีนจะเซย์เยส เพราะจีนมองว่าเป็นการสร้างสมดุลให้กับตลาดทุเรียน เหมือนที่จีนได้เปิดไฟเขียวให้มาเลเซียส่งออกทุเรียนสดแช่แข็งทั้งลูกเข้าจีนแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 แต่สำหรับประเทศไทย นั่นหมายความว่า ที่ที่เราเคยครองตลาดเพียงรายเดียว เรากำลังจะมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น
จากการคาดการณ์ของสถาบันเกษตรศาสตร์แห่งชาติจีน (Chinese Academy of Agricultural Sciences) ชี้ว่า ปริมาณการบริโภคผลไม้ของชาวเมืองและชาวชนบทในจีนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ปริมาณการบริโภคโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 93.9 กิโลกรัม มูลค่าตลาดจะพุ่งแตะระดับ 3.24 ล้านล้านหยวน ซึ่งทุเรียนมีอัตลักษณ์ที่ผลไม้อื่นไม่สามารถทดแทนได้ และยังมีศักยภาพการเติบโตได้ดีในตลาดจีน
ณ วันนี้ “ทุเรียนมาเลย์” เป็นคู่ปรับรายใหญ่บนสังเวียนการค้า หลายคนอาจมองว่าเป็น “มวยคนละชั้น” แต่ดูเหมือนมาเลเซียมีทีท่าพร้อมจะ “ขึ้นชกข้ามรุ่น” ที่ผ่านมา มาเลเซียได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในการประชาสัมพันธ์เพื่อตอกย้ำกระแสทุเรียนมาเลย์ให้เป็นที่รู้จักมักคุ้นของหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ล่าสุด เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา มาเลเซียปลุกกระแสความนิยมทุเรียนมาเลย์ในตลาดจีนอีกระลอก ด้วยการขนทุเรียนพันธุ์ Musang King และเนื้อทุเรียนรวมกว่า 1,000 ตันเข้าร่วม “เทศกาลทุเรียนมาเลเซีย 2020” ที่จัดขึ้นพร้อมกันบริเวณหน้าห้าง Hangyang City ในนครหนานหนิง และที่เมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจและสังคมแบบดุลยภาพใหม่ (New Normal) การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของภาคธุรกิจ ทั้งการทำตลาดออฟไลน์+ออนไลน์ การทำโฆษณาผ่านสื่อหลายช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะบัญชีทางการของวีแชท (Wechat Official Account) สื่อแนวใหม่ หน้าแรกบนเว็บไซต์ e-Commerce รายใหญ่ และแพลตฟอร์มไลฟ์สด (Live Streaming) โดยเครื่องมือทางการตลาดที่กำลังมาแรงที่สุด ได้แก่ นักไลฟ์สดตัวท็อป (Key Opinion Leader-KOL) และกิจกรรมที่ถูกจริตผู้บริโภคชาวจีน เช่น ชิมฟรี ชิงฟรี และเปิดประมูลทุเรียนเริ่มต้นที่ 1 หยวน ทำให้ทุเรียนมาเลย์กลายเป็นกระแสดังติดตลาดจีน ทำยอดขายทุเรียนภายในงานได้ 3.4 แสนลูก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 70 ล้านหยวน
นอกจากการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ทุเรียนสดแล้ว ที่ผ่านมา งานดังกล่าวยังเป็นแพลตฟอร์มธุรกิจที่ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการมาเลเซียในการนำสินค้าแปรรูปอื่นๆ มาหยั่งเสียงตอบรับของผู้บริโภคในตลาดจีนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียนอบแห้งด้วยกรรมวิธีอบแห้ง (dehydrated) เฟรนช์ฟรายทุเรียน เครื่องดื่มและขนม/ของว่างที่มีส่วนผสมของทุเรียน เช่น กาแฟ น้ำเต้าหู้ เหล้า บิสกิต เครปเค้ก ขนมไหว้พระจันทร์ ไอศกรีม ขนมโมจิ สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการมาเลเซียมีความเข้าใจในวัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมการบริโภคหรือความนิยมชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน
ได้เวลาตื่นแล้ว…ทุเรียนไทย ที่ผ่านมา ประเทศไทยนั่งเก้าอี้ผู้ส่งออกทุเรียนสดรายใหญ่ที่สุดในตลาดจีนมาโดยตลอด โดยตลาดนำเข้าหลักอยู่ที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงและมณฑลกวางตุ้ง แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า เทรนด์การบริโภคทุเรียนในจีนกำลังเปลี่ยนไป ทุเรียนหมอนทองอาจไม่ใช่ตัวเลือกเดียวในใจผู้บริโภคชาวจีนอีกต่อไป มาเลเซียกำลังระดมกำลังเพื่อส่งทุเรียนพันธุ์อื่นบุกตลาดจีน โดยเฉพาะพันธุ์ Musang King หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “มาวซานหวัง” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Hermes แห่งวงการทุเรียน”
จากข้อมูลพบว่า 5 ปีมานี้ ราคาขายทุเรียน Musang King พุ่งขึ้นกว่า 3 เท่า การที่จีนเปิดตลาดทุเรียนสดแช่แข็งทั้งลูกให้กับมาเลเซีย ส่งผลให้ราคาทุเรียนมาเลเซียพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้ว เดิมทีราคารับซื้อทุเรียนในฤดูที่หน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 8-10 ริงกิต ในปีนี้ ราคารับซื้อดีดตัวพุ่งไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-40 ริงกิต ซึ่งทุเรียนพันธุ์ที่มีการวางตำแหน่งทางการตลาดระดับพรีเมียมอย่างพันธุ์ Musang King (D197) พันธุ์ Ochee (D200) และพันธุ์ Sultan (D24) ถูกกว้านซื้อไปจนหมดเกลี้ยง
…..เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด ทางการมาเลเซียได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนหันมาปลูกทุเรียนในพื้นที่ใหญ่ คาดการณ์ว่า ในปี 2573 ปริมาณการส่งออกทุเรียนจะเพิ่มขึ้น 50% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณการผลิตทุเรียน Musang King จะเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า และมาเลเซียได้วางแผนเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนจาก 50% ให้เป็น 75% ในอนาคตอันใกล้นี้…..
ข้อมูลจาก Index.toutiao (头条指数) ชี้ว่า ปี 2562 ผู้บริโภคชาวจีนให้ความสนใจและติดตามทุเรียนตัวท็อปของมาเลเซียอย่างทุเรียน Musang King มากกว่าทุเรียนหมอนทองของไทย สะท้อนได้จากดัชนีความนิยมที่มีต่อทุเรียน Musang King มีค่าดัชนีมากกว่า 16 ล้าน ขณะที่ทุเรียนหมอนทองมีค่าดัชนี 9.16 ล้าน
โดยผู้บริโภคทุเรียนส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ค่าดัชนีการเจาะตลาด (Market Penetration Index-MPI) ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นเพศหญิงที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับทุเรียนอยู่ที่ 0.865% ขณะที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เป็นเพศชายอยู่ที่ 0.098% ดังนั้น การออกแบบผลิตภัณฑ์และแผนการตลาดสำหรับผู้บริโภคเพศหญิงจึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการทุเรียน
หากแบ่งตามช่วงอายุ พบว่า ผู้บริโภคทุเรียนส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น โดยกลุ่มช่วงอายุ 24-30 ปี ให้ความสนใจเกี่ยวกับทุเรียนมากที่สุด ค่าดัชนี MPI อยู่ที่ 0.554% รองลงมาได้กลุ่มช่วงอายุ 31-40 ปี ค่าดัชนี MPI อยู่ที่ 0.248% และกลุ่มช่วงอายุ 18-23 ปี ค่าดัชนี MPI อยู่ที่ 0.224% ดังนั้น การประชาสัมพันธ์และช่องทางการจำหน่ายทุเรียนต้องคำนึงถึงความชอบและกำลังซื้อของกลุ่มบริโภควัยรุ่นด้วย
หมอนทอง ปะทะ มูซังคิง ศึกนี้ใครรุ่งใครร่วง หลายปีมานี้ ทุเรียน Musang King เป็น “คำค้นหายอดฮิต” บนแพลตฟอร์ม e-Commerce ตามคำบอกเล่าของคุณซือ หาว (Si Hao/思豪) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหาร พืชผัก ผลไม้ และของเย็นของ T-mall กล่าวคือ “ทุเรียน” เป็นสินค้ายอดนิยมในการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย สะท้อนให้เห็นว่า นักช้อปออนไลน์มีความสนใจในตัวสินค้า hi-end และสินค้าที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการซื้อ นอกจากนี้ ทุเรียนยังเป็นสินค้าที่มีอัตราการออกอากาศสูง ในการไลฟ์สดขายสินค้าของนักไลฟ์มืออาชีพ
จากคำยืนยันของคุณซือฯ ชี้ว่า ที่ผ่านมา ผู้ค้าทุเรียนใน T-mall ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง (มากกว่า 80% ในตลาดจีน) และชะนีของไทย คำสั่งซื้อค่อนข้างเยอะจนบางครั้งถึงกับสินค้าขาดตลาด แต่หลังจากที่ทุเรียนมาเลเซียเริ่มเข้ามาบนตลาดออนไลน์ ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องฤดูกาลทุเรียนโดยการใช้เทคนิคการแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวที่ช่วยยืดอายุทุเรียนจาก 5 วันเป็น 18 เดือน โดยทุเรียนไม่สูญเสียกลิ่นและรสชาติดั้งเดิม (แต่กระบวนดังกล่าวจำเป็นต้องมีห่วงโซ่ความเย็นและเงื่อนไขด้านการเก็บรักษาที่ดี ทั้งสถานที่เก็บรักษาและอุปกรณ์ทำความเย็น) ทำให้การทำธุรกิจทุเรียนออนไลน์โตขึ้นเกือบ 100% และตลาดเมืองรองมีแนวโน้มขยายตัวสูงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมืองระดับ 4 ลงไปมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 210%
บทสรุป
แม้ขณะนี้มาเลเซียจะมีผลผลิตทุเรียนน้อยกว่าประเทศไทย แต่เศรษฐกิจจีนที่ดีขึ้นเรื่อยๆ และกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น พฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่นิยมบริโภคทุเรียนแบบสุกแล้วมากกว่าที่จะรอให้สุกหรือเพิ่งสุกแบบทุเรียนไทย รวมทั้งความโดดเด่นด้านรสชาติหวานปนขม ลักษณะเนื้อทุเรียนสีเหลืองทองที่เป็นเนื้อครีมละมุน และกลิ่นที่ค่อนข้างแรง ทำให้ทุเรียนมาเลเซียตอบโจทย์ชาวจีนที่พร้อมควักกระเป๋าจ่ายเพื่อแลกกับของดีมีคุณภาพ
ความเคลื่อนไหวนี้เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนให้ผู้ส่งออกไทยตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาผลผลิตและหาวิธีการเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนไทย เช่น การสร้างกิมมิกให้ทุเรียนไทยว่าอุดมไปด้วยแร่ธาตุ หรือสารอาหารใดๆ ก็ตามในปริมาณที่สูง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) เหมือนอย่างที่จีนกำลังปั่นกระแสสินค้าเกษตรที่มีธาตุอายุวัฒนะอย่างแร่ธาตุเซเลเนียมอยู่นั่นเอง หรือการสร้างเรื่องราวให้กับพันธุ์ทุเรียนหรือการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างความต่างที่เหนือกว่าทุเรียนคู่แข่ง
การเสริมสร้างภาพลักษณ์และคุณภาพของทุเรียนไทยให้สม่ำเสมอในสายตาผู้บริโภคชาวจีนเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขบคิด การพัฒนามาตรฐาน การบริหารจัดการสวน และกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ด้วย QR Code รวมถึงการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกนอกฤดูกาลเพื่อให้ได้ผลผลิตและสามารถส่งออกทุเรียนได้ตลอดปี จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านคุณภาพและภาพลักษณ์ของทุเรียนไทย เพื่อให้ทุเรียนไทยมีที่ยืนที่มั่นคงและยั่งยืนในตลาดจีน
นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากทุเรียน Musang King ด้วยการเริ่มต้นเปิดโลกทัศน์ใหม่ของผู้บริโภคจีนที่มีต่อทุเรียนพันธุ์อื่นของไทย นอกจากหมอนทอง และจุดกระแสแชร์ให้ปังอย่างต่อเนื่อง ย้ำว่า..ต้องต่อเนื่อง อย่าให้เหมือนกับสินค้าไทยที่เข้าร่วมงาน China-ASEAN Expo ที่จัดขึ้นปีละครั้งเป็นประจำทุกปี สินค้าไทยควรทำตลาดต่อเนื่อง ไม่ใช่รอแค่เข้าร่วมงานเพียงครั้งเดียว เพราะเดี๋ยวคนก็ลืม
การดำเนินงานเชิงรุกของมาเลเซียในการส่งเสริมสนับสนุนสินค้าเกษตรที่เป็นจุดแข็งของตนเพื่อขยายตลาดในจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “สินค้าทับซ้อน” กับของไทยนั้น อาจส่งผลกระทบกับฐานสินค้าเกษตรไทยในประเทศจีนได้ไม่น้อย อย่างที่ปัจจุบัน ตลาดข้าวหอมของไทยก็กำลังเผชิญความท้าทายจากข้าวหอมกัมพูชาในตลาดจีนเช่นเดียวกัน
หากทุกภาคส่วนของไทยยังคงนิ่งนอนใจ และไม่เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเสริมความแข็งแกร่งของสินค้าไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว สินค้าเกษตรไทยก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งได้ในไม่ช้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรด้วยการพัฒนานวัตกรรมสินค้าเกษตรเพื่อรุกตลาดจีน (รุกก่อนย่อมได้เปรียบ) ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ต้องการสินค้าคุณภาพและมีความแปลกใหม่เหนือสินค้าท้องถิ่น เพื่อตอกย้ำคุณภาพ Made in Thailand