มณฑลเสฉวนกับพัฒนาการอันก้าวล้ำของ Big Data
3 Dec 2018ปัจจุบัน จีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคภายในประเทศ และเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดสากล โดยเทคโนโลยีทางด้าน Big Data หรือฐานข้อมูล กำลังเป็นเรื่องที่จีนให้ความสำคัญและต้องเร่งพัฒนาเพื่อรองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคนี้
กอปรกับ เหตุผลที่ว่าจีนเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ และมีประชากรจำนวนมาก รวมถึง มีวิสาหกิจขนาดใหญ่หลากหลายประเภทอุตสาหกรรม ยิ่งทำให้ Big Data มีความจำเป็นอย่างมากต่อจีนในการบริหาร รวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้ เพื่อการยกระดับทางด้านเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดภายในประเทศและตลาดสากล รวมถึงการใช้ฐานข้อมูลประกอบการจัดการ แก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจีนกำลังเร่งหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่
มณฑลเสฉวน ศูนย์กลางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคจีนตะวันตก เป็นเมืองที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ มีฐานโครงสร้างของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ค่อนข้างสมบูรณ์ มีอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศที่ทันสมัย มีอัตราการเติบโตของฐานข้อมูลเกินกว่าร้อยละ 40 ต่อปี มีการกำหนดนโยบายพัฒนาเทคโนโลยีด้าน Big Data เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมและพฤติกรรมของผู้บริโภคภายในพื้นที่
ศูนย์วิจัยและพัฒนา Big Data ของมณฑลเสฉวน ได้กำหนดแผนการพัฒนา Big Data ประจำปี 2561 ไว้ว่า ในปี 2561 อุตสาหกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของมณฑลเสฉวนจะมีมูลค่าสูงถึง 50,000 ล้านหยวน โดยเตรียมที่จะส่งเสริมการบริหารจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การดูแลควบคุมเชิงลึกด้านตัวเลขทางเศรษฐกิจและสังคม การประยุกต์ใช้ Big Data กับปัญญาประดิษฐ์และดิจิทัลเทคโนโลยี รวมถึงการผลักดันเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจแบ่งปัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงานและวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องในการนำไปพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป
ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาของเมืองต่าง ๆ ในมณฑลเฉวนที่ภาครัฐได้นำระบบ Big Data ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ให้กับประชากรและวิสาหกิจในพื้นที่ เพื่อช่วยในการพัฒนาสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น
เหล้าขาว สินค้าโดดเด่นของมณฑลเสฉวนที่อาศัย Big Data ขยายฐานลูกค้า
เมืองหลูโจว เป็นแหล่งผลิตเหล้าขาวและสุราที่มีชื่อเสียงลำดับต้น ๆ ของจีน ในช่วงปลายปี 2558 มณฑลเสฉวนได้อนุมัติให้มีการก่อสร้าง Big Data Center ในเขตเศรษฐกิจไฮเทคโซนระดับชาติของเมืองหลูโจว โดยรัฐบาลเมืองหลูโจว ได้ประกาศแผนการพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเหล้าขาวและสุราของเมืองหลูโจว และได้อนุญาตให้วิสาหกิจในพื้นที่นำระบบข้อมูล Big Data ในส่วนของภาครัฐเข้ามาบริหารจัดการจัดเก็บข้อมูลการผลิต พฤติกรรมผู้บริโภค ยอดการจำหน่าย อีกทั้งวิเคราะห์ความต้องการของตลาดผู้บริโภค รวมถึงการใช้ระบบ Cloud Computing ในการประมวลผลและเป็นหน่วยจัดเก็บข้อมูลจากการให้บริการลูกค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผลจากการใช้เทคโนโลยี Big Data ทำให้ธุรกิจเหล้าขาวและสุราในเมืองหลูโจว รับทราบถึงการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค สามารถกำหนดปริมาณการผลิตและประเภทสินค้า ทำให้ธุรกิจเติบโตไปในทิศทางที่ดี
Big Data แก้ปัญหาความยากจนและสร้างโอกาสด้านอาชีพให้คนในชนบท
เมืองเต๋อหยาง ได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขความยากจนด้วยโมเดล “Big Data+ความยากจน” ซึ่งเป็นการร่วมมือกันของรัฐบาลเมืองเต๋อหยางกับบริษัท Big Data แห่งหนึ่งในพื้นที่ โดยได้ร่วมกันคิดค้นและออกแบบระบบที่สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูล อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ในท้องถิ่น อาทิ คณะกรรมการสาธารณสุขและการคุมกำเนิด กองการศึกษา กองกิจการพลเรือน กองแรงงานและประกันสังคม กองการประปา เป็นต้น ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกิจกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาสร้างเป็นแพลตฟอร์ม Big Data ไว้สำหรับวิเคราะห์และประเมินผล ซึ่งเมื่อมีตัวเลขและผลลัพธ์จากการวิเคราะห์ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะนำข้อมูลดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาด้านความเป็นอยู่ของประชาชน
นอกจากโมเดล “Big Data+ความยากจน” แล้ว ยังมีโมเดล “Big Data+บุคลากรชั้นยอด” โดยเป็นฐานข้อมูลที่รวบรวมระดับการศึกษา อาชีพการงาน และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ ของประชากรในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประมวลผลค้นหาบุคลากรที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยมีการคัดเลือกบุคลากรเหล่านั้นมาบ่มเพาะ เพิ่มความชำนาญในด้านต่าง ๆ และจัดหาอาชีพการงานที่เหมาะสมให้ รวมถึง การประเมินผลสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมให้ประชากรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน
พัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือเครือข่ายบรอดแบนด์ และการพัฒนาธุรกิจ IPTV แพลตฟอร์ม เพื่อลดความยากจน ณ ชุมชนหยางกง (Yanggong Community) ชุมชนเกษตรกรรม ณ หมู่บ้านหวงสุ่ย (Huangshui) เขตซวงหลิว นครเฉิงตู
บริษัท China Telecom Sichuan (หรือ Sichuan Telecom) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล และได้มอบหมายต่อให้บริษัท หัวเหวย เทคโนโลยี จำกัด พัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และธุรกิจ IPTV เพื่อ (1) ส่งเสริม E-commerce ให้แพร่หลายในชุมชนให้เกษตรกรสามารถประกาศซื้อขายสินค้า OTOP ระหว่างกันผ่านระบบ IPTV ได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง (2) ใช้ในการรับบริการทางการแพทย์ให้ประชาชนสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรแบบ face-to-face ผ่าน IPTV ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกล ที่จะได้รับคำแนะนำทางการแพทย์เบื้องต้นได้ทันการณ์ และ (3) เพื่อการติดต่อสื่อสารแบบ facetime สำหรับสมาชิกครอบครัว ที่อยู่ต่างพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์และประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับชาวจีนที่เป็นประเทศใหญ่และมีสมาชิกในแต่ละครอบครัวกระจายกันทำงานอยู่ทั่วประเทศ