มณฑลเจียงซีและมณฑลฝูเจี้ยนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดวันแรงงาน สูงเป็นอันดับ 1 และ 6 ของจีนตามลำดับ
15 May 2020โดยศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดวันแรงงานประจำปี 2020 ของจีน
- ในช่วงวันหยุดวันแรงงานของจีนระหว่างวันที่ 1 – 5 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันหยุดยาวครั้งแรกของชาวจีนหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งในจีนกลับมาคึกคักอีกครั้ง การคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทะเลและอากาศ รวมถึงไปรษณีย์ทั่วประเทศดำเนินงานอย่างปกติ โดยในช่วงวันหยุดยาวดังกล่าว มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทั่วประเทศ 121 ล้านเที่ยว และจำนวนการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศทั้งหมด 115 ล้านครั้ง สร้างรายได้กว่า 4.76 หมื่นล้านหยวน แม้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวดังกล่าวลดลงร้อยละ 41 และเกือบร้อยละ 60 ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนคนในแต่ละสถานที่ท่องเที่ยวและมาตรการป้องกันโรคที่ยังคงดำเนินอยู่ แต่ถือว่าการท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าวได้ช่วยกระตุ้นการเดินทางและการบริโภคในระยะฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนภายหลังโรคระบาด
- ก่อนหน้าวันหยุดยาวแรงงาน รัฐบาลท้องถิ่นในหลายมณฑลออกมาตรการกระตุ้นการอุปโภคบริโภคของประชาชนเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมค้าปลีกส่ง เช่น การแจกคูปองเงินสดและคูปองส่วนลดสินค้าครอบคลุมตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคประจำวันไปจนถึงรถยนต์ ทั่วประเทศรวม 170 เมือง 28 มณฑล คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านหยวน
จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงวันหยุดแรงงานในช่วงปี 2016-2020 (ล้านคน)
รายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วประเทศจีนในช่วงวันหยุดแรงงานปี 2016-2020 (หมื่นล้านหยวน)
มณฑลที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับแรกของจีนในช่วงวันหยุดแรงงานปี 2020 (ล้านหยวน)
แหล่งที่มา สำนักข่าว people.cn
- ในช่วงวันแรงงานปี 2020 มณฑลที่มีมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวทะลุ 1 หมื่นล้านหยวน และสูงสุด 3 อันดับแรกของจีน ได้แก่ เจียงซี (1.53 หมื่นล้านหยวน) หูหนาน (1.41 หมื่นล้านหยวน) และกวางตุ้ง (1.03 หมื่นล้านหยวน) สำหรับมณฑลที่มีมูลค่ารายได้การท่องเที่ยวต่ำสุด 3 อันดับ ได้แก่ เทียนจิน (654 ล้านหยวน) เสฉวน (86 ล้านหยวน) และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (28 ล้านหยวน) ขณะที่มณฑลที่รับจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เจียงซี (28.95 ล้านคน) กุ้ยโจว (23.09 ล้านคน) และหูหนาน (19.73 ล้านคน) สำหรับมณฑลที่รับจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยสุด 3 อันดับ ได้แก่ เทียนจิน (1.67 ล้านคน) ไห่หนาน (1.34 ล้านคน) และเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย (7.4 แสนคน) ทั้งนี้ ในช่วงวันหยุดแรงงานของปี 2019 จีนมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด 195 ล้านคน และสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่ากับ 1.18 แสนล้านหยวน โดยมณฑลที่มีมูลค่ารายได้การท่องเที่ยวทะลุ 2 หมื่นล้านหยวน และสูงสุด 3 อันดับแรกของจีน ได้แก่ เสฉวน (3.83 หมื่นล้านหยวน) เจียงซี (2.39 หมื่นล้านหยวน) และเหอหนาน (2.3 หมื่นล้านหยวน) และมณฑลที่รับจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เสฉวน (42.23 ล้านคน) ฉ่านซี (41.05 ล้านคน) และชานซี (39.84 ล้านคน)
มณฑลที่รับนักท่องเที่ยวจำนวนสูงสุด 10 อันดับแรกของจีนในช่วงวันหยุดแรงงานปี 2020 (ล้านคน)
แหล่งที่มา สำนักข่าว people.cn
- การแพร่ระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการท่องเที่ยวและวิถีการใช้ชีวิตในการท่องเที่ยว จากการสำรวจของสถาบันวิจัยการท่องเที่ยวแห่งชาติรายงานว่า ในช่วงวันหยุดแรงงาน นักท่องเที่ยวเลือกที่ขับรถยนต์ส่วนตัวเพื่อท่องเที่ยวมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 64.1 ของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดในประวัติการณ์ การจองนัดหมายเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวผ่านระบบออนไลน์ล่วงหน้าและการแยกภาชนะรับประทานอาหารกลายเป็นแนวปฏิบัติใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวร้อยละ 77.4 เลือกที่จะจองนัดหมายเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวผ่านระบบออนไลน์ล่วงหน้า และร้อยละ 74.1 ชื่นชมและแสดงออกถึงประสบการณ์ที่ดีต่อวิธีการนัดหมายสถานที่ท่องเที่ยวล่วงหน้า ขณะที่นักท่องเที่ยวร้อยละ 59.9 เลือกใช้ตะเกียบกลางและช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน และนิยมรับประทานอาหารที่ร้านอาหารหรือโรงแรมที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและสะอาดแม้ว่าราคาแพง โดยจำนวนครั้งการค้นหาโรงแรมระดับสูงผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200 ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลยังส่งเสริมบริษัททัวร์ OTA (Online Travel Agency) โรงแรม ที่พัก เขตสถานที่ท่องเที่ยว และวิสาหกิจการท่องเที่ยวอื่น ๆ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและความเป็นอัจฉริยะเพื่อยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวให้สูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อคำนึงถึงแง่อายุของนักท่องเที่ยวในช่วงวันแรงงาน ปีนี้ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนสูงสุดอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 26-35 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ลำดับถัดมาคือ นักท่องเที่ยวอายุระหว่าง 18-25 ปี (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21) นักท่องเที่ยวอายุระหว่าง 36-45 ปี (คิดเป็นร้อยละ 17) และนักท่องเที่ยวอายุมากกว่า 45 ปี (คิดเป็นร้อยละ 11) ขณะที่ชาวเมืองที่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ หนานจิง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น กว่างโจว หางโจว เสิ่นหยาง เทียนจิน ฮาร์บิน และอู่ฮั่น และเมืองที่รับนักท่องเที่ยวจำนวนสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ปักกิ่ง หางโจว ลี่เจียง เฉิงตู อู่ซี ซานย่า ฉางโจว ซีอาน ซูโจว และชิงต่าว
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดวันแรงงานประจำปี 2020 ของมณฑลเจียงซี
- ในช่วงวันแรงงานปี 2020 มณฑลเจียงซีรับนักท่องเที่ยวจำนวนทั้งหมด 28.95 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 1 ของจีน คิดเป็นจำนวนร้อยละ 72.7 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (39.82 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 4 ของจีน) ขณะที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 1.53 หมื่นล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 1 ของจีน คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 64.3 ของรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (2.39 หมื่นล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน) โดยเจียงซีเป็นแหล่งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีชื่อเสียงของจีนมาโดยตลอด มีความโดดเด่นด้านระบบนิเวศ และมีความได้เปรียบด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โดยอยู่ติดกับมณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง ฝูเจี้ยน และหูหนาน และอยู่ใกล้กับเจียงซูและเซี่ยงไฮ้ ซึ่งล้วนเป็นมณฑลที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวรายใหญ่และมีกำลังซื้อสูง นอกจากนั้น การคมนาคมภายในมณฑลและระหว่างเจียงซีกับมณฑลอื่น ๆ มีความเชื่อมโยงทั่วถึงและสะดวกสบาย แต่ละเมืองของมณฑลเจียงซีต่างมีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่น เช่น ภูเขาซานชิง (ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 2008 และได้รับสมญานามว่าเป็นหนึ่งในภูเขาป่าที่สวยงามที่สุด 5 แห่งของจีน) อำเภออู้หยวน (ได้รับสมญานามว่าเป็นอำเภอโบราณสวยงามที่สุดของจีน) ภูเขาหลู่ (ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี 1996 และรับการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีวิทยาโลกกลุ่มแรกในปี 2004) เป็นต้น
- มณฑลเจียงซียังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ในยุคปฏิวัติที่สำคัญ เป็นฐานที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีชื่อเสียง รัฐบาลเจียงซีใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบดังกล่าวสร้าง “เส้นทางการท่องเที่ยววัฒนธรรมสีแดง” ซึ่งกลายเป็นตัวอย่างของการท่องเที่ยววัฒนธรรมสีแดงทั่วประเทศ โดยเฉพาะเมืองก้านโจวเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยววัฒนธรรมสีแดงสำคัญของทั้งมณฑลเจียงซีและประเทศจีน ในปี 2019 เมืองก้านโจวรับนักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยวตามเส้นทางวัฒนธรรมสีแดงทั้งหมด 59.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของเมืองก้านโจว มีมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยววัฒนธรรมสีแดงเท่ากับ 5.65 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.1 ของมูลค่ารายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของเมืองก้านโจว
ภูเขาซานชิงตั้งอยู่เมืองซ่างเหร่า เป็นภูเขาลัทธิเต๋า สถานที่ท่องเที่ยวระดับ AAAAA ของจีน และเป็นอุทยานธรณีวิทยาโลก
อำเภออู้หยวนตั้งอยู่เมืองซ่างเหร่า ฐานการปฏิวัติจิ่งกางซานของเมืองก้านโจว
- ความสำเร็จในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเจียงซีให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้ได้จริงของชาวเมืองของเจียงซีในปี 2019 คิดเป็น 36,546 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 รายได้เฉลี่ยสุทธิของชาวชนบท 15,796 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ประกาศสำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมมณฑลเจียงซีว่าด้วยการปรับปรุงเงินเดือนขั้นต่ำสุดล่าสุด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2018 ทั่วมณฑลเจียงซีแบ่งเงินเดือนขั้นต่ำสุดแตกต่างกันตามพื้นที่ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1,680 หยวน 1,580 หยวน และ 1,470 หยวน ขณะที่เงินรายได้ต่อชั่วโมงสำหรับงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดแบ่งเป็น 3 ระดับแตกต่างกันตามพื้นที่เช่นกัน ได้แก่ 16.8 หยวน 15.8 หยวน และ 17.4 หยวน
- อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดวันแรงงานประจำปี 2020 ของมณฑลฝูเจี้ยน
- ในช่วงวันหยุดแรงงานปี 2020 มณฑลฝูเจี้ยนรับนักท่องเที่ยวจำนวนทั้งหมด 11.53 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 7 ของจีน คิดเป็นจำนวนร้อยละ 66.3 ของนักท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (17.37 ล้านคน สูงเป็นอันดับ 12 ของจีน) ขณะที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด 8.3 พันล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 6 ของจีน คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 61.4 ของรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (1.35 หมื่นล้านหยวน สูงเป็นอันดับ 12 ของจีน) มณฑลฝูเจี้ยนมีความโดดเด่นด้านทิวทัศน์ธรรมชาติและระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยมีป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50.42 ล้านไร่ (ในปี 2019 ปลูกป่าไม้เพิ่มขึ้นอีก 446,666 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 66.8 ของพื้นที่มณฑลทั้งหมด สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันมากว่า 40 ปี โดยมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างมณฑลในช่วงวันหยุดแรงงาน เช่น เขตถนนซานเจียชีฟัง/นครฝูโจว (รับจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 1.16 แสนคน) ภูเขาชิงยูน/นครฝูโจว (รับจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 1.15 หมื่นคน) และเกาะกู่ล่างหยวี่/เมืองเซี่ยเหมิน (รับจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 4.96 หมื่นคน) เป็นต้น
ภูเขาอู่อี๋ซาน เมืองหนานผิง ภูเขากู๋ซาน นครฝูโจว
รับนักท่องเที่ยวกว่า 7.07 หมื่นคนในช่วงวันหยุด รับนักท่องเที่ยวกว่า 1.52 แสนคนในช่วงวันหยุด
- การเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวฝูเจี้ยน โดยรายได้เฉลี่ยที่นำไปใช้ได้จริงของชาวเมืองในปี 2019 คิดเป็น 45,620 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 รายได้เฉลี่ยสุทธิของชาวชนบท 19,568 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ประกาศสำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคมมณฑลฝูเจี้ยนว่าด้วยการปรับปรุงเงินเดือนขั้นต่ำสุด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2020 ทั่วมณฑลฝูเจี้ยนแบ่งเงินเดือนขั้นต่ำสุดแตกต่างกันตามพื้นที่ออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1,800 หยวน 1,720 หยวน 1,570 หยวนและ 1,420 หยวน มาตรฐานเงินเดือนขั้นต่ำสุดแต่ละระดับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับมาตรฐานเงินเดือนขั้นต่ำสุดของปีก่อนหน้า ขณะที่เงินรายได้ต่อชั่วโมงของงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดแตกต่างกันตามพื้นที่แบ่งเป็น 4 ระดับเช่นกัน ได้แก่ 18.5 หยวน 18 หยวน 16.5 หยวนและ 15 หยวน มาตรฐานเงินรายได้ต่อชั่วโมงของงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีเขตพื้นที่ 6 เขตที่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสุดระดับ 1 และเงินรายได้ต่อชั่วโมงของงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดระดับ 1 คือ 1,800 หยวนและ 18.5 หยวน โดยทั้ง 6 เขตดังกล่าวล้วนอยู่ที่เมืองเซี่ยเหมิน ได้แก่ เขตซือหมิง หูหลี่ จี๋เหมย ไห่ชาง ถงอาน และเสียงอาน ขณะที่อีก 24 เขตและอำเภอกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสุดระดับ 2 และเงินรายได้ต่อชั่วโมงของงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดระดับ 2 คือ 1,720 หยวนและ 18 หยวน ได้แก่ เขตจิ้นอาน เมืองฝูชิง อำเภอสื่อซือ เมืองหนานอาน และเขตการทดลองอเนกประสงค์ผิงถาน เป็นต้น และมี 32 เขตและอำเภอกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำสุดระดับ 3 และเงินรายได้ต่อชั่วโมงของงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดระดับ 3 คือ 1,570 หยวนและ 16.5 หยวน ได้แก่ เมืองหลงไห่ อำเภอจางผู่ อำเภอตงซาน เมืองจางผิง เมืองฝูอาน และอำเภออานซี เป็นต้น และมี 22 อำเภอดำเนินเงินเดือนขั้นต่ำสุดระดับ 4 และเงินรายได้ต่อชั่วโมงของงานนอกเวลาขั้นต่ำสุดระดับ 4 คือ 1,420 หยวนและ 15 หยวน ได้แก่ อำเภอกู่เถียน อำเภอต้าเถียน อำเภอหมิงซี และอำเภอฉ่างติง เป็นต้น
**********
เว็บไซต์ ข้อมูลอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของจีน
http://www.cinic.org.cn/xw/cjxw/805124.html
http://www.iygw.cn/html/2020/xinwen_0509/86693.html
รัฐบาลมณฑลเจียงซี
http://lushan.jiujiang.gov.cn/home/index.php
http://rst.jiangxi.gov.cn/ldgx/1814.jhtml
http://www.jiangxi.gov.cn/art/2020/4/7/art_399_1730424.html
รัฐบาลมณฑลฝูเจี้ยน
http://jtyst.fujian.gov.cn/fjjtgczj/zcjd/201912/t20191205_5144999.html
สนข. people.cn
http://capital.people.com.cn/n1/2020/0507/c405954-31699466.html
รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน
http://www.gov.cn/xinwen/2019-05/05/content_5388711.htm
สนข. มณฑลฝูเจี้ยน