มณฑลหูหนานใช้วิทยาศาสตร์การเกษตรพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ สนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของจีน
9 Jan 2024มณฑลหูหนานตั้งอยู่ทางตอนกลางของจีน แม้จะเป็นดินแดนที่ไม่ติดทะเล (Landlock) แต่ก็มีแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ตั้งของทะเลสาบต้งถิงซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน และมีแม่น้ำสำคัญ 4 สายพาดผ่าน ได้แก่ เซียงเจียง หยวนเจียง จือสุ่ย และหลีสุ่ย โดยไหลไปรวมกันที่ทะเลสาบต้งถิง ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำฉางเจียงหรือแม่น้ำแยงซีซึ่งพาดผ่านเมืองเยว่หยางที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของมณฑลหูหนาน และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำผนวกกับการเป็นมณฑลแห่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจีน หูหนานจึงได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “แหล่งผลิตข้าวและปลาน้ำจืดของจีน” และ “แหล่งคลังธัญพืชของจีน”
มณฑลหูหนานในฐานะเป็นมณฑลแห่งเกษตรกรรมที่สำคัญของจีนได้ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตรมาพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ ซึ่งถือเป็น “หัวใจ” และรากฐานสำคัญของการเกษตรทันสมัย ปัจจุบัน มณฑลหูหนานสามารถดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชและการเพาะพันธุ์สัตว์จนเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้มีปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid Rice) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าหนึ่งใน 3 ของปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมของทั้งประเทศ เมล็ดพันธุ์พริกมีสัดส่วนคิดเป็นหนึ่งใน 4 ของปริมาณเมล็ดพันธุ์พริกของทั้งประเทศ และปริมาณลูกสุกรมีสัดส่วนคิดเป็นหนึ่งใน 10 ของปริมาณลูกสุกรทั้งประเทศ
สำหรับบทบาทการเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ที่สำคัญของจีน มณฑลหูหนานได้พัฒนาหน่วยงานและบุคลากรด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมณฑลหูหนานได้บ่มเพาะบริษัทพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจรวม 6 ราย บริษัทเพาะพันธุ์ปศุสัตว์และสัตว์ปีกชั้นนำระดับมณฑลขึ้นไป 159 ราย และบริษัทเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ 420 ราย ในด้านบุคลากร มีนักวิจัยมืออาชีพที่เชี่ยวชาญด้านการเกษตรเป็นพิเศษในระดับศาสตราจารย์จำนวน 8 คน และนักวิจัยด้านการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชและการเพาะพันธุ์สัตว์ราว 4,000 คน เพื่อตอบสนองงานวิจัยและพัฒนาการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ของมณฑลให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมการเพาะพันธุ์พืชและสัตว์ของมณฑลหูหนานถือว่ามีพื้นฐานที่ดีและได้รับการพัฒนาเรื่อยมา โดยมีสวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงหลงผิง และศูนย์ปฏิบัติการเยว่ลู่ซาน เป็นตัวขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรเป็นหลัก สำหรับสวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสูงหลงผิง ตั้งชื่อตามชื่อของนายหยวน หลงผิง ผู้ได้สมญาว่า “บิดาแห่งพันธุ์ข้าวลูกผสม” ก่อตั้งเมื่อปี 2540 ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 2,800 ราย และมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรกว่า 1,000 คนจากองค์กรและมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรกว่า 30 แห่ง เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมแห่งชาติจีน สถาบันวิจัยนิเวศวิทยาการเกษตรกึ่งเขตร้อนของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มณฑลหูหนาน สถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรมณฑลหูหนาน และ วิทยาลัยอาชีวศึกษาชีวภาพและเครื่องกลไฟฟ้ามณฑลหูหนาน
สำหรับศูนย์ปฏิบัติการเยว่ลู่ซานเป็นห้องทดลองมาตรฐานระดับประเทศ เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2565 แบ่งเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มณฑลหูหนาน พื้นที่หลงผิง พื้นที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป่าไม้จงหนาน และพื้นที่เมืองวิทยาศาสตร์เยว่ลู่ มูลค่าการลงทุนกว่าหมื่นล้านหยวน คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จทั้งหมดในปี 2567 และจะกลายเป็นแหล่งรวมของผู้มีความสามารถด้านนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์และการเพาะพันธุ์สัตว์ระดับสูงกว่า 1,000 คน มุ่งเน้นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และจุลินทรีย์ โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ที่โดดเด่นของมณฑลหูหนาน เช่น ข้าว พริก ชา ปลาน้ำจืด สุกร สมุนไพรจีน และพืชน้ำมัน อาทิ ชาน้ำมันหรือคามิเลีย (Camellia) เรพซีด (Rapeseed)
ที่ผ่านมา มณฑลหูหนานประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพันธุ์ข้าว จนสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวทนดินเค็ม (Sea-rice) พันธุ์ “เชายิวเชียนห้าว” (超优千号) เป็น 802 กิโลกรัมต่อหมู่ (2.4 หมู่ เท่ากับ 1 ไร่) และข้าวลูกผสมมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นทำลายสถิติเป็นประวัติการณ์โดยให้ผลผลิตสูงสุดถึง 1,603.9 กิโลกรัมต่อหมู่ รวมถึงสามารถเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมได้ราว 80 ล้านกิโลกรัมต่อปี สูงติดลำดับต้น ๆ ของประเทศ
ในด้านสถิติของธัญพืชและข้าว มณฑลหูหนานมีผลผลิตธัญพืชติดอันดับ 10 ของจีน ในแต่ละปีสามารถผลิตธัญพืชราว ๆ 30,000 ล้านกิโลกรัม และให้ผลผลิตธัญพืชรวมมากกว่า 30,000 ล้านกิโลกรัมติดต่อกันเป็นปีที่สี่ (ปี 2563-2566) ขณะเดียวกัน มณฑลหูหนานยังเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวสูงเป็นอันดับ 1 ของจีน และให้ผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลเฮยหลงเจียง จนมีการกล่าวกันว่า “ในข้าวสวยทุก ๆ 9 ถ้วยของจีน จะมีข้าวสวยจากมณฑลหูหนาน 1 ถ้วยอยู่ในจำนวนนั้น”
นอกจากนี้ มณฑลหูหนานยังเป็นแหล่งส่งออกข้าวเปลือกเมล็ดยาวใช้สำหรับการเพาะปลูก (ภายใต้พิกัดศุลกากร 10061021) ที่สำคัญของจีน โดยในช่วงสิบเอ็ดเดือนแรกของปี 2566 หูหนานส่งออกข้าวเปลือกเมล็ดยาวที่ใช้เพื่อการเพาะปลูก 5,616,575 กิโลกรัม รวมมูลค่า 26.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลอันฮุย และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.9 โดยมูลค่าราวร้อยละ 66 ส่งออกไปฟิลิปปินส์ ร้อยละ 28 ส่งไปปากีสถาน และร้อยละ 5 ส่งไปยังเวียดนาม
ส่วนการพัฒนาพันธุ์พืชชนิดอื่น มณฑลหูหนานสามารถพัฒนาพืชให้น้ำมันเรพซีด เช่น พันธุ์เฟิงหยิว 730 (丰油730) และพันธุ์เฟิงหยิว 320 (沣油320) เติบโตเร็วขึ้นจากที่เคยใช้เวลา 210 วัน ลดเหลือ 185 วัน พืชชาน้ำมันหรือคามิเลียได้รับการพัฒนาพันธุ์จนให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์พื้นเมือง 10 เท่า และให้ผลผลิตน้ำมันสกัดจากเมล็ดคามิเลียต่อหมู่ถึง 75.5 กิโลกรัม กลายเป็นแหล่งชาน้ำมันที่สำคัญของจีน โดยสถิติในปี 2565 มณฑลหูหนาน มีพื้นที่เพาะปลูกชาน้ำมัน 22.8 ล้านหมู่ (ประมาณ 9.5 ล้านไร่) และผลผลิตน้ำมันสกัดจากเมล็ดคามิเลีย 450,000 ตัน พื้นที่เพาะปลูกชาน้ำมันและผลผลิตน้ำมันสกัดฯ ล้วนสูงเป็นอันดับหนึ่งของจีน
สำหรับด้านการพัฒนาพันธุ์สัตว์ มณฑลหูหนานมีสุกรสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการพิจารณาในระดับชาติ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ หมูเซียงซา (湘沙猪配套系, Xiangsha Pig synthetic line) และ หมูดำเซียงชุน (湘村黑猪) โดยหมูดำเซียงชุนมีแม่พันธุ์เป็นสุกรพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอเถาหยวน เมืองฉางเต๋อ มณฑลหูหนาน (Taoyuan black pig) และพ่อพันธุ์คือสุกรพันธุ์ดูร็อค (Duroc) ปัจจุบัน หมูดำเซียงชุนถือเป็นแบรนด์เนื้อสุกร Top5 ของจีน และมณฑลหูหนานยังกลายเป็นแหล่งสุกรที่สำคัญของจีน โดยสถิติปี 2565 มณฑลหูหนานผลิตสุกรมีชีวิต 62.5 ล้านตัว สูงเป็นอันดับ 2 ของจีน รองจากมณฑลเสฉวน ขณะเดียวกัน หูหนานยังพัฒนาพันธุ์ปลาลูกผสมพันธุ์ใหม่กว่า 10 ชนิด เช่น ปลาเยว่หลี่ (岳鲤) และปลาเซียงหยุน (湘云鲫、湘云鲤) จนทำให้ในปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงของมณฑลหูหนานได้เข้าสู่อุตสาหกรรมระดับแสนล้านหยวน และสถิติปี 2565 หูหนานมีผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ 2.7 ล้านตัน กลายเป็นมณฑลเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอันดับ 5 ของจีน
จากการดำเนินการพัฒนาวิทยาศาสตร์การเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมณฑลหูหนาน มีบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรชั้นนำระดับมณฑลเกือบ 1,000 ราย และบริษัทด้านการเกษตรที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์รวม 22 ราย สูงเป็นอันดับหนึ่งในภาคกลางของจีน รวมถึงในปี 2565 มีรายได้จากการแปรรูปสินค้าเกษตร 2.1 ล้านล้านหยวน สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ขณะเดียวกัน รายได้เฉลี่ยต่อคนของประชากรในชนบทก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2566 มณฑลหูหนานมีรายได้เฉลี่ยต่อคนของประชากรในชนบท 14,766 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 สูงกว่าอัตราการเติบโตของรายได้เฉลี่ยต่อคนของประชากรในเขตเมืองซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.1
อาหารการกินถือเป็นเรื่องใหญ่โดยเฉพาะกับประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคนอย่างจีน รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศนโยบายเร่งฟื้นฟูชนบทและมุ่งสู่เกษตรทันสมัยหลังจากประสบความสำเร็จจากนโยบายการขจัดความยากจน ซึ่งเห็นได้จากสโลแกนด้านการพัฒนาการเกษตรของจีนที่ทยอยออกมามากมาย เช่น “จะสร้างจีนให้เป็นประเทศที่แข็งแกร่งจำเป็นต้องเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการเกษตรก่อน” (强国必先强农) และ “การเกษตรแข็งแกร่ง ประเทศก็จะแข็งแกร่ง” (农强国强) อย่างไรก็ดี การเกษตรที่แข็งแกร่งต้องเริ่มต้นตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ มณฑลหูหนานสามารถใช้วิทยาศาสตร์การเกษตรพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ จนกลายเป็นมณฑลด้านการเกษตรที่สำคัญของจีนในหลายด้าน เช่น แหล่งเพาะปลูกพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ทำลายสถิติผลผลิตต่อหมู่สูงที่สุดในโลก แหล่งผลิตสุกรมีชีวิตอันดับ 2 ของจีน มณฑลอันดับ 1 ด้านชาน้ำมันของจีน และ แหล่งเมล็ดพันธุ์พริกและปลาน้ำจืดอันดับต้น ๆ ของจีน ขณะเดียวกัน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การเกษตรของมณฑลหูหนาน ยังมีส่วนส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารของจีน ทำให้มีอาหารคุณภาพที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และลดการพึ่งพาต่างประเทศ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างรายได้ให้เกษตรกร และช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการตลาดในระดับโลกได้ ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาให้จีนเป็น “ประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านการเกษตร” (农业强国)
*************************************
แหล่งข้อมูล
https://www.hunan.gov.cn/hnszf/hnyw/sy/hnyw1/202311/t20231109_31818609.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1771948347418187632&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1778345391081398594&wfr=spider&for=pc
https://www.sohu.com/a/529106764_100180399
https://www.hunan.gov.cn/hnszf/hnyw/sy/hnyw1/202312/t20231225_32608608.html