มณฑลหูหนานเดินหน้า Smart Transportation หลังรัฐบาลกลางคลอดนโยบายคมนาคมใหม่
20 Nov 2019หลังเปิดประเทศ จีนได้พัฒนาการคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง และเติบโตอย่างชนิดที่เรียกว่า “ผิดหูผิดตา” โดยในปี 2563 จะเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (2559-2563) สำหรับการวางรากฐานคมนาคมให้มั่นคงแล้ว ดังนั้น เพื่อเดินหน้าระบบคมนาคมของจีนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้น คณะรัฐมนตรีจีน (State Council) จึงได้ประกาศยุทธศาสตร์การคมนาคมของจีนออกมาใหม่เมื่อเดือนกันยายน 2562 และได้เผยแพร่เอกสาร “ร่างการสร้างชาติให้มีระบบคมนาคมที่เข้มแข็ง” (Outline for the Construction of Nation with a Strong Transportation System) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบคมนาคมของจีนช่วงปี 2564 ถึง 2593 ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 กระทรวงคมนาคมและขนส่งของจีนได้เปิดตัว “พื้นที่นำร่องเพื่อสร้างชาติให้มีระบบคมนาคมที่เข้มแข็ง” ใน 13 มณฑล/เขต ได้แก่ เขตพัฒนาใหม่สงอานของมณฑลเหอเป่ย มณฑลเหลียวหนิง มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลซานตง มณฑลเหอหนาน มณฑลหูเป่ย เขตฯ กว่างซี เขตฯ ซินเจียง นครฉงชิ่ง เมืองเซินเจิ้น มณฑลกุ้ยโจว และมณฑลหูหนาน ซึ่งเป็นไปตามโมเดลการพัฒนาของจีนที่เมื่อรัฐบาลกลางประกาศแผนโดยรวมแล้วก็จะให้พื้นที่ที่มีความได้เปรียบดำเนินการพัฒนานำร่องไปก่อน ก่อนนำแผนปฏิบัติที่เห็นผลจริงขยายไปทั่วประเทศต่อไป
นโยบายการพัฒนาระบบคมนาคมของจีนใน 30 ปีข้างหน้าจะมุ่งเน้นระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Transportation) การเชื่อมต่อและการเชื่อมโยงเครือข่าย โดยแบ่งแผนพัฒนาเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ช่วงปี 2564-2578 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ (1) เดินทาง 1 ชั่วโมงในเขตเมือง 2 ชั่วโมงระหว่างเมืองใกล้เคียง และ 3 ชั่วโมงระหว่างเมืองใหญ่ในประเทศ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้โดยสาร (2) จัดส่งสินค้าภายใน 1 วันทั่วประเทศจีน 2 วันสำหรับการจัดส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ 3 วันในเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งจะเอื้อต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซของจีนที่กำลังเติบโตอย่างมาก และช่วงปี 2579-2593 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ ระบบคมนาคมของจีนมีคุณภาพและทันสมัยจนอยู่ในแนวหน้าของโลก
มณฑลหูหนานและพื้นที่นำร่องทั้งหมดจึงมีภารกิจสำคัญที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายส่วนกลาง คือ (1) จัดวางโครงสร้างพื้นฐานและเชื่อมต่อเครือข่ายคมนาคมที่หลากหลายทั้งระบบราง ถนน ทางน้ำ อากาศ ท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พัสดุไปรษณีย์ และสารสนเทศให้สมบูรณ์ รวมถึงการสร้างเครือข่ายคมนาคมในชนบทให้ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง (2) ยกระดับอุปกรณ์คมนาคมให้เป็นขั้นสูง (มีความอัจฉริยะ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และทันสมัย) ที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์และควบคุมได้ เช่น รถยนต์อัจฉริยะ รถยนต์ไร้คนขับ เรือเดินทะเลอัจฉริยะ ท่าอากาศยานอัจริยะ รถไฟที่รองรับน้ำหนักระดับ 30,000 ตัน รถไฟบรรทุกสินค้าที่ล้อและรางรองรับความเร็ว 250 กม./ชม. (3) ยกระดับการบริการการขนส่งให้มีความสะดวก รวดเร็ว และคุ้มค่า รวมถึงสนับสนุนการท่องเที่ยวที่ผนวกด้านคมนาคมไว้ด้วยกัน เช่น การท่องเที่ยวทางรถไฟ ล่องเรือชมวิว ร่มร่อน (Paragliding) การท่องเที่ยวด้วยรถบ้านและขับรถท่องเที่ยวเอง (4) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีพลวัตสูงและชาญฉลาด โดยใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า อินเตอร์เน็ตปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน และซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ผนวกเข้าไปในธุรกิจคมนาคม เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เช่น ระบบรถไฟแม็กเลฟความเร็ว 600 กม./ชม. ระบบรถไฟสำหรับผู้โดยสารความเร็ว 400 กม./ชม. และ Vacuum Tube Train (5) ยกระดับความปลอดภัยและการตอบสนองที่รวดเร็ว เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ (6) พัฒนาตามแนวทาง “สีเขียว” คาร์บอนต่ำ และประหยัดพลังงาน (7) สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก (8) พัฒนาบุคลากรด้านคมนาคมและขนส่งให้มีความเชี่ยวชาญมากขึ้น (9) ปรับปรุงและเพิ่มความสามารถในการบริหาร เช่น ปฏิรูปหน่วยงานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาด
นายจ้าว ผิง รองอธิบดีกรมคมนาคมขนส่งมณฑลหูหนาน กล่าวว่า จีนจะเปลี่ยนจากประเทศที่มีระบบคมนาคมขนาดใหญ่เป็นประเทศที่มีระบบคมนาคมที่เข้มแข็งและทันสมัย จึงเป็นโอกาสของมณฑลหูหนานที่จะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศในการยกระดับการพัฒนาระบบคมนาคมหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุปกรณ์ขนส่ง และการบริการขนส่งที่ดี นอกจากนี้ หูหนานยังมีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้ง โดยเป็นศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญทางภาคกลางของจีน การเป็นพื้นที่นำร่องจะทำให้หูหนานสนับสนุนยุทธศาสตร์ BRI ของประเทศในการเชื่อมโยงโลกกับเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และ Greater Bay Area ของจีน
ที่ผ่านมา มณฑลหูหนานมีการวางรากฐานการคมนาคมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางถนน หูหนานมีทางหลวงเชื่อมโยงทั้งในเมืองและชนบทระยะทาง 240,000 กม. มากเป็นอันดับ 6 ของจีน และมีทางด่วนยาว 6,725 กม. ติดอันดับ 4 ของจีน พื้นที่ในระดับอำเภอที่มีอยู่ 122 แห่ง (ยกเว้นอำเภอสือเหมินเพียงอำเภอเดียว) สามารถเดินทางเพียงครึ่งชั่วโมงเพื่อใช้บริการทางด่วนได้ ทางน้ำ หูหนานมีท่าเรือเย่วหยางซึ่งเป็นท่าเรือภายในประเทศบนแม่น้ำแยงซีเกียงที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งของจีน โดยในแต่ละปีมีการขนส่งสินค้าเข้าออกกว่า 100 ล้านตัน อากาศ มีท่าอากาศยาน 8 แห่ง จาก 14 เมืองของมณฑล และมีเที่ยวบินไปต่างประเทศ 57 เส้นทางใน 22 ประเทศ เช่น ลอสแอนเจลิส แฟรงค์เฟิร์ต ซิดนีย์ เมลเบิร์น มอสโก ลอนดอน และไนโรบี รวมถึงพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติหวงฮัวฉางซาให้มีเครือข่ายเส้นทางบินในระยะ 4 ชั่วโมงเพื่อขยายเส้นทางท่องเที่ยวไปยังหลายประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินไปยัง 14 ประเทศ/พื้นที่แล้ว เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึง 10 ประเทศในอาเซียน และมีแผนเพิ่มเที่ยวบินอีก 6 เส้นทางภายในปี 2564 ได้แก่ เกาหลีเหนือ มองโกเลีย อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล และมาเก๊า รถไฟ หูหนานมีระยะทางรถไฟที่สร้างเสร็จแล้ว 5,069 กม. โดยเป็นรถไฟความเร็วสูง 1,730 กม. สูงเป็นอันดับ 4 ของจีน เกือบจะทุกเมืองของมณฑลมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน และยังเป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางสำคัญ คือ รถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-ฉางซา-กว่างโจว และรถไฟความเร็วสูงคุนหมิง-ฉางซา-เซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้ นครฉางซายังเป็นเมืองที่ 2 ของจีน (ต่อจากนครเซี่ยงไฮ้) ที่มีรถไฟแม็กเลฟให้บริการ ขณะเดียวกัน Hunan-Europe Railway Express ยังเป็นเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปที่มีศักยภาพ 1 ใน 5 เมืองของจีน ปัจจุบันมีขบวนเดินรถกว่า 10 เส้นทางในหลายประเทศ เช่น Hamburg (เยอรมนี) Tashkent (อุซเบกิสถาน) Moscow (รัสเซีย) Minsk (เบลารุส) Malaszewicze และ Warsaw (โปแลนด์) Budapest (ฮังการี) Teheran (อิหร่าน) และ Tiburg (เนเธอร์แลนด์)
ในด้านเทคโนโลยี เมืองจูโจวของมณฑลหูหนาน (อยู่ห่างจากนครฉางซาประมาณ 70 กม.) ได้ฉายาว่าเป็น “เมืองแห่งหัวรถจักรไฟฟ้า (electric locomotive) ของจีน” และเป็นแหล่งของบริษัทผลิตรถไฟและอุปกรณ์รถไฟที่ครบวงจรทั้งการวิจัย ผลิต จำหน่าย และบริการหลังการขาย รวมกว่า 400 บริษัท อุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งทางรางของเมืองจูโจวมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านหยวนมาตั้งแต่ปี 2558 และในปี 2561 มีมูลค่าสูงถึง 125,000 ล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 40 ของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งทางรางของจีน เมืองจูโจวยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัท CRRC Zhuzhou ที่มีสัดส่วนตลาดหัวรถจักรไฟฟ้าในประเทศถึงร้อยละ 60 และยังเป็นผู้พัฒนามอเตอร์ลากจูงแม่เหล็กถาวร (TQ-800 motor) ที่จะทำให้รถไฟความเร็วสูงมีความเร็วถึง 400 กม./ชม. เป็นผลสำเร็จเครื่องแรกของจีน และมอเตอร์เชิงเส้นสเตเตอร์แบบยาวที่เพิ่มความเร็วรถไฟแม็กเลฟให้สูงถึง 600 กม./ชม. อีกด้วย รวมไปถึงรถรางอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติแบบไร้คนขับ ซึ่งใช้ระบบเซ็นเซอร์นำทาง (ได้แก่ กล้องที่มีความคมชัดสูง ระบบ GPS และเรดาร์) และวิ่งบนเลนถนนตามแนวเส้นประสีขาว 2 เส้น หรือรางเสมือน (Virtual Track)
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากระบบราง หูหนานยังให้ความสำคัญกับการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ โดยได้ก่อสร้างพื้นที่ทดสอบยานยนต์เครือข่ายอัจฉริยะแห่งชาติ (National Intelligent Connected Vehicle (Changsha) Testing Zone) ซึ่งมีสัญญาณ 5G ครอบคลุมเต็มพื้นที่ เพื่อให้บริการทดสอบรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแก่องค์กรต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีบริษัทที่มีชื่อเสียงเข้ามาใช้บริการจำนวนไม่น้อย เช่น ความร่วมมือกับบริษัท Huawei เพื่ออาศัยข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของ Huawei เช่น ระบบคลาวน์ และเทคโนโลยี C-V2X [1] มายกระดับพื้นที่ทดสอบยานยนต์ เช่น เขตสาธิต 5G-V2X และการทดสอบแท็กซี่ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Robotaxi) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Baidu กับบริษัทผลิตรถยนต์ Hongqi ของจีน รวมไปถึงบริษัท Alibaba, Jingdong, CRRC, FAW, Sany, CiDi (สถาบันการขับขี่อัจฉริยะนครฉางซา) และ Inceptio (บริษัทดำเนินงานเครือข่ายรถบรรทุกขับเคลื่อนอัจฉริยะ) ต่างนำรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ เช่น รถบรรทุก รถทำความสะอาดถนน เข้ามาทดลองในพื้นที่ทดสอบยานยนต์
นอกจากนี้ ในด้านบริการและความปลอดภัย หูหนานยังผลักดันให้เมืองต่าง ๆ ของมณฑลรวมถึงชนบทมีรถเมล์ 2 หยวนตลอดสายให้บริการเฉกเช่นเดียวกับในตัวเมืองของเมืองเอก (นครฉางซา) และอำนวยความสะดวกให้ชนบทมีรถบัสวิ่งบริการมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้รถบัสท่องเที่ยวและรถบัสข้ามอำเภอติดตั้งระบบติดตามและระบบตรวจสอบพฤติกรรมของพนักงานขับรถแบบเรียลไทม์
30 ปีที่แล้ว กว่าจะได้ตั๋วนั่งบนรถไฟสักหนึ่งที่นั่งถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับชาวจีนทั่วไป แต่ทุกวันนี้กลับสามารถเดินทางไปธุระหรือประชุมในเมืองที่ห่างออกไป 1,000 กม. ไป-กลับได้ภายในวันเดียว แถมยังสามารถเลือกวิธีการเดินทางว่าจะไปเครื่องบินหรือไปรถไฟความเร็วสูง และในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้า ระบบขนส่งของมณฑลหูหนานจะชาญฉลาดมากขึ้น เชื่อมต่อกับระบบสื่อสาร 5G และเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งหลากหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) แบบไร้รอยต่อ ทำให้เกิดความสะดวก ความรวดเร็ว และประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของอุปกรณ์ขนส่งให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นควบคู่ไปกับนโยบาย “ลดมลพิษ ประหยัดพลังงาน” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านคมนาคมระดับแนวหน้าของโลกในอนาคต
*********************************************************
[1] C-V2X (Cellular vehicle to everything) เป็นเทคโนโลยีด้านการสื่อสารสำหรับส่งผ่านข้อมูลจากยานพาหนะไปยังสิ่งต่าง ๆ เช่น ระหว่างยานพาหนะด้วยกันเอง ไฟสัญญาณจราจร และเสาไฟให้แสงสว่างบนท้องถนน โดยมีพื้นฐานมาจากระบบ 5G Automotive ประโยชน์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะสามารถช่วยในการตัดสินใจเพื่อเลือกใช้เส้นทาง หรือการแจ้งเตือนเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่มีปัญหา ทำให้การจราจรคล่องตัวและลดอุบัติเหตุ
แหล่งข้อมูล
http://www.askci.com/news/chanye/20190920/0850261152943.shtml
https://www.icswb.com/h/100046/20190916/620920.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1587138873519059010&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1625616340348803442&wfr=spider&for=pc
https://www.icswb.com/h/100046/20190613/608185.html
https://www.eet-china.com/news/201612211527.html