มณฑลกวางตุ้งกับการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ทางเลือกใหม่สายสุขภาพ
15 Mar 2021ในช่วงที่ผ่านมา กระแสยาชีวภาพในจีนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการแพร่ระบาดที่คนจีนเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมไบโอเทคและสุขภาพมากขึ้น และได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนให้ความสนใจ
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2523 รัฐบาลกลางจีนได้วางแผนให้ Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area (GBA) เป็น 1 ใน 3 พื้นที่สำหรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมณฑลกวางตุ้งนับเป็นมณฑลที่มีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอย่างมากโดยเฉพาะด้านยาชีวภาพ อาทิ ไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาลในมณฑลกวางตุ้งได้ค้นพบสารทริปโทไนด์ (Triptonide) สกัดจากยาแผนจีน (Traditional Chinese Medicine: TCM) ซึ่งเป็นยาคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย โดยภายหลังการทดสอบประสิทธิภาพพบว่า สามารถคุมกำเนิดได้เกือบร้อยละ 100 และมีผลข้างเคียงน้อย
ส่วนหนึ่งที่มณฑลกวางตุ้งมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีชีวภาพอาจเนื่องจากมณฑลกวางตุ้งมีประวัติเกี่ยวข้องกับ TCM มาอย่างยาวนาน รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตและบริโภค TCM ที่สำคัญของจีน โดยมณฑลกวางตุ้งผลิต TCM มากถึงร้อยละ 20 ของผลิตผล TCM ทั้งหมดของจีน และมีพื้นที่เพาะปลูกมากถึง 3,833 ตร.กม. นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้ง ยังมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่สามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพได้ในระยะยาว เนื่องจากเป็นพื้นที่ริเริ่มการพัฒนาด้านข้อมูล และมีวิสาหกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหลายแห่งซึ่งเทคโนโลยีโดยเฉพาะด้าน deep learning เป็นประโยช์ต่อการพัฒนายาเป็นอย่างมาก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของสตาร์ตอัปเทคโนโลยีชีวภาพที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม
และเมื่อกล่าวถึงเมืองที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีชีวภาพในมณฑลกวางตุ้ง คงต้องกล่าวถึงนครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้น ซึ่ง KPMG ได้จัดอันดับวิสาหกิจชั้นนำด้านเทคโนโลยีชีวภาพ 50 แห่งใน GBA โดยเป็นวิสาหกิจจากนครกว่างโจวร้อยละ 42 และเป็นวิสาหกิจจากเมืองเซินเจิ้นร้อยละ 35 ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 นครกว่างโจวเป็นเมืองนวัตกรรมยาชีวภาพที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุดในจีน ในขณะที่รัฐบาลกลางจีนได้จัดตั้งให้เมืองเซินเจิ้นเป็นฐานอุตสาหกรรมยาชีวภาพและเป็นเขตสาธิตด้านนวัตกรรมระดับประเทศ ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีผ่านทางนโยบายด้วย เช่น การมอบสิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดแรงงานที่มีความสามารถและส่งเสริมการลงทุน และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
นอกจากนี้ รัฐบาลกลางจีนยังได้ร่วมกับบริษัท BGI หรือ Beijing Genomics Institute บริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพและทำการศึกษาจีโนม จัดตั้งธนาคารยีนที่เขตต้าเผิง เมืองเซินเจิ้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลและรวบรวมตัวอย่างทางชีววิทยาที่มีความหลากหลายและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ซึ่งตัวอย่างที่เก็บไว้มีทั้งแบบที่เป็นข้อมูล ตัวอย่างทางชีววิทยาและ DNA และตัวอย่างที่เป็นพืชและสัตว์ที่ยังมีชีวิต อีกทั้งมีแพลตฟอร์มสำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยยีนมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ระดับชาติและวิทยาศาสตร์ชีวภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการรักษาความหลากหลายทางเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งการให้การรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะ (precision medicine) ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรม
ทั้งนี้ ไทยมีความร่วมมือกับบริษัท BGI ในด้านเทคโนโลยีชีวภาพเช่นกัน โดยได้เข้ามาจัดตั้งบริษัทในไทยอีกทั้งมีความร่วมมือ เช่น การให้บริการทางการแพทย์ระดับสูง การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางโครโมโซมของทารก ในครรภ์ และการวินิจฉัยทางพันธุกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยเองก็เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านยาสมุนไพรและเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน จึงอาจขยายความร่วมมือกับจีนเพื่อนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้กับด้านดังกล่าวเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้า ทั้งนี้ เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งอาจเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของไทยที่มีมาแต่เดิมอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มาของข้อมูล
https://equalocean.com/analysis/2020012213448
https://www.nature.com/articles/d42473-018-00279-7
https://www.globaltimes.cn/page/202103/1216973.shtml
https://home.kpmg/cn/en/home/news-media/press-releases/2020/12/the-3rd-greater-bay-area-top-50-biotech-companies-announced-the-gba-biotech-innovation-companies-performed-well.html
https://www.chinadaily.com.cn/a/201801/23/WS5a66ac67a3106e7dcc13600e.html
https://www.sohu.com/a/378973434_350221
https://news.china.com/domesticgd/10000159/20160922/23611606_all.html#page_2
https://www.merckgroup.com/content/dam/web/corporate/images/country-specifics/china/st-attachment/white-paper/Guangdong-Hong%20Kong-Macao%20Greater%20Bay%20Area%20Innovation%20Ecosystem%20White%20Paper.pdf
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-china-investment-idUKKBN22Q3OE
https://finance.yahoo.com/news/chinese-biotech-sector-blowing-hot-093000351.html
https://www.brookings.edu/wp-content/uploads/2020/04/FP_20200427_china_biotechnology_moore.pdf