ภาพรวมเศรษฐกิจฮ่องกงของปี ๒๕๖๒
4 Feb 2020ผลกระทบจากสถานการณ์ประท้วง
เศรษฐกิจฮ่องกงได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์การประท้วงที่ยืดเยื้อตั้งแต่เดือน มิ.ย. ๒๕๖๒โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาคการท่องเที่ยว บริการ และธุรกิจขายปลีก ตลอดจนภาคการเงินและการค้าระหว่างประเทศ โดยอัตราการส่งออกในเดือน พ.ย. ๒๕๖๒ ลดลงร้อยละ ๑.๔ ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องนับเป็นเดือนที่ ๑๓ ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงประเมินว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี ๒๕๖๒ จะติดลบประมาณร้อยละ ๑.๓ (IMF ประเมินติดลบร้อยละ ๑.๙) โดยการหดตัวของอัตราการบริโภคภายในครัวเรือน (private consumption) ถือเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีเศรษฐกิจนี้ ซึ่งนับเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ ๑๐ ปี อย่างไรก็ดี ดัชนีฮั่งเส็งยังคงสามารถรักษาระดับไว้ได้ โดยในเดือน ธ.ค. ๒๕๖๒ ภายหลังจากมีข่าวการบรรลุข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ดัชนีฮั่งเส็งปรับตัวดีขึ้นและปิดตลาดในระดับที่ดีกว่าเดือน ม.ค. ๒๕๖๒ เกี่ยวกับเรื่องนี้นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังเล็งเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในฐานะช่องทางในการซื้อขายสินทรัพย์ของ สปจ. และเป็นตลาดที่เป็นที่นิยมที่สุดสำหรับหุ้นใหม่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นฮ่องกงยังได้ผลในเชิงบวกจาก mega secondary listing โดย Alibaba และ IPO โดย Budweiser
๑.นโยบายด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงปี ๒๕๖๒ ได้แก่
๑.๑ การประกาศโครงร่างแผนพัฒนาโครงการอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Outline Development Plan for the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area) โดย รบ. จีน เมื่อ ก.พ. ๒๕๖๒ ซึ่งภายใต้ร่างแผนดังกล่าวฮ่องกงยังคงสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงิน การค้าและการคมนาคม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางธุรกิจสำหรับ global offshore Renminbi (RMB) และมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการบริหารจัดการสินทรัพย์และศูนย์กลางบริหารจัดการความเสี่ยงระหว่างประเทศ
๑.๒ การแถลงนโยบายประจำปีเมื่อ ต.ค. ๒๕๖๒ โดยนางแคร์รี หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ประกาศมาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ การปรับเพิ่มมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้ซื้อบ้านหลังแรกสามารถขอกู้ได้ร้อยละ ๙๐ ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยเพิ่มวงเงินเป็น ๘ ล้านดอลลาร์ฮ่องกงจากเดิม ๔ ล้านดอลลาร์ฮ่องกง การเวนคืนที่ดินสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยโดยรัฐและโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล สปจ. อย่างใกล้ชิด เพื่อดึงดูดและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ภาคเอกชนของฮ่องกงในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายของ GBA และ BRI อาทิ การลดภาษีให้บริษัทฮ่องกงที่ประสงค์จะย้ายตลาดการส่งออกต่างประเทศมาเป็นการค้าขายภายในตลาด สปจ. การให้สิ่งจูงใจและการอำนวยความสะดวกแก่บริษัทฮ่องกงที่ประสงค์จัดตั้งธุรกิจใน Mainland’s overseas Economic and Trade Co-operation Zones (ETCZs) และเพิ่มงบประมาณ ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ฮ่องกงในกองทุน Social Innovation and Entrepreneurship Development Fund เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) โดยการประยุต์ใช้ ความคิดใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในสังคม และสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม
๑.๓นโยบายด้านเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อ ปทท.
ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ๒๕๕๕ รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้เปิดตัวกองทุนพิเศษ “เพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการ สำหรับการพัฒนาแบรนด์ การยกระดับ และการขยายการขายในประเทศ (Dedicated Fund on Branding, Upgrading and Domestic Sales – Enterprise Support; มีชื่อย่อว่า BUD Fund หรือ กองทุนพิเศษ BUD)” ตามแผนยุทธศาสตร์ฮ่องกง ฉบับที่ ๑๒ เพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในฮ่องกง (SMEs) หรือกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่ต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้สามารถมีทุนทรัพย์ที่จะยกระดับธุรกิจและมาตรฐานของสินค้าของตนให้สูงขึ้น โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น ๑ พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ต่อมาในเดือน ส.ค. ๒๕๖๑ รัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้ขยายโครงการโดยเพิ่มพื้นที่สำหรับการใช้ประโยชน์กองทุนพิเศษ BUD เพื่อการลงทุนในตลาดประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งอัดฉีดเงินทุนรวม ๑.๕ พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ใน “โครงการอาเซียน” ภายใต้ “กองทุนเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการ สำหรับการพัฒนาแบรนด์ การยกระดับ และการขยายการขายในประเทศ” เพื่อสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดอาเซียน โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับเงินทุนสนับสนุนได้สูงสุด ๑ ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งโครงการดังกล่าวครอบคลุมการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ
๒.ดัชนีเศรษฐกิจที่สำคัญ
อัตราการการขยายตัวของ GDP ในปี ๒๕๖๒ ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐ ปี โดยมีตัวแปรสำคัญคือการหดตัวของอัตราการบริโภคภายในครัวเรือน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ GDP โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ ๖๘.๓ ของ GDP (ตามสถิติในปี ๒๕๖๑)
โครงสร้างเศรษฐกิจของฮ่องกงยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรง ซึ่งสะท้อนได้จากการรักษาระดับของอัตราการว่างงานได้อย่างมีเสถียรภาพ เป็นต้น
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกง โดยมีสัดส่วนเชิงมูลค่าเพิ่มต่อ GDP ร้อยละ ๔.๕ (ตามสถิติในปี ๒๕๖๑) ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการชุมนุมประท้วงที่ต่อเนื่องยาวนานติดต่อกันกว่า ๖ เดือน อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจฮ่องกงยังคงรักษาเสถียรภาพอยู่ได้ เนื่องจากฮ่องกงมีอุตสาหกรรมหลักที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่อ GDP ๓ อุตสหกรรม ได้แก่ (๑) การค้าและโลจิสติกส์ ร้อยละ ๒๑.๒ (๒) การเงิน ร้อยละ ๑๙.๗ และ (๓) ภาคบริการต่าง ๆ ร้อยละ ๑๒ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในอีกมิติหนึ่ง
๓.ดัชนีด้านการค้า
ตามสถิติในปี ๒๕๖๑ ของ WTO ได้จัดลำดับให้ฮ่องกงอยู่ลำดับที่ ๑๕ ของผู้ส่งออกภาคบริการเชิงพาณิชย์ (commercial services) และลำดับที่ ๘ ของผู้ส่งออกสินค้า (merchandise trade) ของโลก โดยมีตลาดสำคัญได้แก่ (๑) สปจ. ร้อยละ ๕๕ (๒) สหภาพยุโรป ร้อยละ ๙.๒ (๓) สหรัฐฯ ร้อยละ ๘.๖ และ (๔) อาเซียน ร้อยละ ๗.๔ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจฮ่องกงกับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้การหดตัวของมูลค่าการค้าของฮ่องกงทั้งส่งออกและนำเข้าในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. ๒๕๖๒ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากภาวะหดตัวเศรษฐกิจโลกในภาพรวมและผลกระทบจากประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับ สปจ. อย่างไรก็ดีผลกระทบดังกล่าวถือว่าไม่รุนแรงมากเนื่องจากตลาดการส่งออกหลักของฮ่องกงคือ สปจ. ซึ่งมีมูลค่ามากกว่าตลาดสหรัฐฯ กว่า ๖ เท่า และนโยบายด้านเศรษฐกิจฮ่องกงได้มุ่งส่งเสริมการค้าการลงทุนใน สปจ. มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีตลาดการส่งออกสู่สหภาพยุโรปและอาเซียนซึ่งแต่ละแห่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งในส่วนของตลาดการส่งออกด้านบริการนั้น สหรัฐฯ มิใช่ตลาดหลักของฮ่องกง
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
๔. ดัชนีด้านการลงทุน
๔.๑ ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง มีตลาดการลงทุนที่มั่นคง โดยสหรัฐฯ มิใช่กลุ่มลูกค้าการลงทุนรายใหญ่ มีสัดส่วน FDI เพียงร้อยละ ๑.๙ เท่านั้น นอกจากนี้ Société Générale S.A. ธนาคารด้านการลงทุนระหว่างประเทศสัญชาติฝรั่งเศสได้ประเมินว่าตลาดหลักทรัพย์ของ สปจ. และฮ่องกงจะแซงหน้าตลาดของสหรัฐฯ ในปี ๒๕๖๓
๔.๒ ในปี ๒๕๖๒ จำนวน regional headquarters และ offices ยังได้ขยายตัวเป็น ๔,๐๓๑ แห่ง จากเดิม ๓,๙๕๕ แห่ง ในปี ๒๕๖๒ โดยร้อยละ ๕๑.๖๑ ของ regional headquarters และ offices ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้านำเข้าส่งออกทั้งขายปลีกและขายส่ง
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
๕.ด้านการท่องเที่ยว
สนง. คกก. ทท. ฮ่องกง รายงานว่า ในปี ๒๕๖๒ จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเยือนฮ่องกงมีจำนวน ๕๕.๙ ล้านคนซึ่งลดลงถึงร้อยละ ๑๔ เมื่อเทียบกับปี ๒๕๖๑ (๖๕.๑๕ ล้านคน) โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๘๐ ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดลดลงร้อยละ ๑๔.๒ ในขณะที่นักท่องเที่ยวแบบค้างคืนเดียวซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายมากที่สุดและคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวทั้งหมดลดลงร้อยละ ๑๘.๘ ซึ่งเป็นจำนวนถึง ๒๓.๗๖ ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงเดือน ต.ค. ๒๕๖๒ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึงร้อยละ ๔๓.๗ เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันในปี ๒๕๖๑ ซึ่งนอกจากจะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่งถือเป็นการหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากที่สุดตั้งแต่ฮ่องกงได้รับผลกระทบจาก SARS ในช่วงปี ๒๕๔๖
ทั้งนี้ได้มีการพยายามออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ สนง. คกก. ทท. ฮ่องกง ได้ร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ จัด campaign ลดราคาห้องพัก อาหาร และค่าธรรมเนียมเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายใต้ชื่อว่า “Hong Kong is on” (www.hkison.com) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว
เรียบเรียงโดย
นางสาว เทิดขวัญ แผ้วสว่าง เจ้าหน้าที่ข้อมูลธุรกิจไทยในฮ่องกง
และทีมเศรษฐกิจ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง
ข้อมูลอ้างอิง
http://hong-kong-economy-research.hktdc.com/business-news/article/Market-Environment/Economic-and-Trade-Information-on-Hong-Kong/etihk/en/1/1X000000/1X09OVUL.htm