พัฒนาการด้าน ICT ของมณฑลกวางตุ้ง และโอกาสความร่วมมือกับไทย
2 Dec 2024รู้หรือไม่ว่า ‘มณฑลกวางตุ้ง’ เป็นผู้นำด้าน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ของจีนมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อปี 2566 มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่สูงถึง 6.9 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 46.41 ล้านล้านบาท) สูงเป็นอันดับที่ 1 ของจีนต่อเนื่องกันมา 8 ปี ท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดลง รัฐบาลมณฑลกวางตุ้งเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีวิสาหกิจด้าน ICT เป็นแรงขับเคลื่อน ผ่านตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในจีน ทำให้มณฑลกวางตุ้งยังคงอยู่ในเรด้าของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนและโลก ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับไทยในการสร้างความร่วมมือกับมณฑลกวางตุ้งเพื่อเร่งให้เศรษฐกิจของไทยด้าวไปสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต
อันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี ICT
มณฑลกวางตุ้งมีมูลค่าของเศรฐกิจดิจิทัลสูงที่สุดในจีนเป็นระยะเวลา 8 ปีติดต่อกัน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในจีนติดต่อกันเป็นเวลา 32 ปีอีกด้วย โดยมณฑลกวางตุ้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำคัญ เช่น โทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ที่มากเป็นอันดับที่ 1 ของจีน ขณะเดียวกัน มณฑลกวางตุ้ง
มีโครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่โดดเด่น ได้แก่ สถานีฐาน 5G มากที่สุดในจีน กว่า 320,000 แห่ง และเป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้งาน 5G มากที่สุดในจีน ด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 86.82 ล้านบัญชี ด้านอินเทอร์เน็ต มณฑลกวางตุ้งได้ติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงครอบคลุมทั้งมณฑลตั้งแต่ปี 2560 และกำลังยกระดับเป็นอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแบบ Fiber to the Home (FTTH)และ Fiber to the Office (FTTO) โดยเมื่อปี 2566 มีบัญชีผู้ใช้งาน FTTH/O 45.985 ล้านบัญชี สูงสุดในจีน
มณฑลกวางตุ้งยังมีศูนย์ข้อมูล (data center) จำนวนกว่า 230 แห่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูล ภายใต้โครงการ Eastern Data, Western Computing ที่เมืองเสากวนซึ่งทำหน้าที่เก็บและประมวลผลข้อมูลแบบ real-time กับศูนย์ข้อมูลอื่นในเขต กวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area) นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ 2 เครื่อง ได้แก่ Tianhe-2 และ Tianhe-3 โดยมีภารกิจหลักใช้ในการประมวลผลพยากรณ์อากาศ การวิจัยและพัฒนาด้านเวชศาสตร์ ปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึม การเงิน และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เป็นต้น
โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มณฑลกวางตุ้งสามารถพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและเต็มที่ และครองตำแหน่งเบอร์ 1 ของจีนมาอย่างยาวนานเกือบทศวรรษ แน่นอนว่าการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และการประยุกต์ใช้จะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่หากขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ
การสนับสนุนจากภาครัฐ
มณฑลกวางตุ้งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งด้านนโยบายและการเงิน โดยเป็นมณฑลแรกของจีนที่ออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ ‘แผนการการสร้างเขตนวัตกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล’ ที่มีเป้าหมายที่จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลให้สูง 6 ล้านล้านหยวน (40.35 ล้านล้านบาท) หรือร้อยละ 50 ของ GDP ภายในปี ๒๕๖๕ ซึ่งปัจจุบันได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว ‘แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในมณฑลกวางตุ้ง 1.0’ โดยเสนอกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลด้วยบูรณาการดิจิทัลเข้ากับภาคการผลิต และการยกระดับภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและการบริการให้เป็นดิจิทัล และ ‘แผนการดำเนินงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ประจำปี 2567’ ที่มีเป้าหมายที่จะเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูล ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทั้งรัฐบาลมณฑลและรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองต่าง ๆ ได้จัดสรรเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเมื่อปี 2566 มณฑลกวางตุ้งได้ลงทุนด้าน R&D สูงถึง 480,262 ล้านหยวน มากที่สุดในจีนต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังสนับสนุนด้านการเงินให้แก่โครงการนำร่องต่างๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในการใช้งานกับรถยนต์อัจฉริยะ และโครงการด้านการบริการด้วยดิจิทัล เป็นต้น
โอกาสความร่วมมือกับไทย
การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ICT ที่เข้มแข็งของมณฑลกวางตุ้งและการสนับสนุนจากภาครัฐ ทำให้มณฑลกวางตุ้งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐที่ต้องการเข้ามาลงทุนหรือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะในสาขาโทรคมนาคม อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูล ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวสามารถเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจดิจิทัลและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
ในช่วงที่ผ่านมา สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวได้กิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมสัมพันธ์กับภาคส่วนในมณฑลกวางตุ้งเพื่อพัฒนาลู่ทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการสนับสนุนวิสัยทัศน์ Ignite Thailand โดยนำคณะผู้แทนฝ่ายกวางตุ้งเยือนประเทศไทย เช่น สำนักงานการต่างประเทศ กรมอุตสาหกรรมและสารสนเทศ กรมพาณิชย์ สมาคมและสื่อมวลชนท้องถิ่น เป็นต้น โดย สกญ. ได้จัดให้คณะเยือนสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเพื่อทำความเข้าใจด้านนโยบายสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย พร้อมกับพบปะผู้แทนบริษัทหัวเว่ยซึ่งเป็นภาคเอกชนจากมณฑลกวางตุ้งที่เข้ามาดำเนินธุรกิจด้าน ICT ในประเทศไทยเพื่อให้คณะรับทราบสถานะการพัฒนาจากมุมของของนักลงทุนจีน
โดยภายหลังการเยือนฯ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดกิจกรรมการสัมมนาในหัวข้อ ‘Driving Thailand’s Route towards a Regional Digital Economy Hub: Thailand -Guangdong Partnership’ เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสความร่วมมือ ซึ่งมีผู้แทนจากภาคเอกชนและสมาคมที่เกี่ยวข้องสนใจเข้าร่วมแบบ online และ onsite รวมกว่า 1,300 ราย โดยการสัมมนาฯ มุ่งต่อยอดการส่งเสริมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีผู้แทนฝ่ายกวางตุ้งจาก กรมอุตสาหกรรมและสารสนเทศ และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (CCPIT) ประจำมณฑลกวางตุ้ง และผู้แทนฝ่ายไทยจาก BOI นครกว่างโจว ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ที่เข้าร่วมงาน
โครงการดังกล่าวมีส่วนทำให้คณะผู้แทนฝ่ายกวางตุ้งเข้าใจศักยภาพของประเทศไทยในหลากมิติมากขึ้น
จากเดิมที่มักมองประเทศไทยจากมุมการท่องเที่ยวและการบริการเพียงมุมมองเดียว นอกจากนี้ การเยือนฯ ยังเผยศักยภาพด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลและความเชื่อมั่นจากภาคเอกชนของมณฑลกวางตุ้งเอง โดยการขยายผลจากการเยือนฯ ผ่านการสัมมนาฯ จะยิ่งส่งผลเชิงบวกต่อความร่วมมือที่ไทยและมณฑลกวางตุ้งให้ความสำคัญร่วมกัน โดยเฉพาะกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ กรอบความร่วมมือระดับสูงไทย – มณฑลกวางตุ้ง (Thailand – Guangdong High-Level Cooperation Conference: HLCC) เป็นต้น
สรศักดิ์ บุญรอด เขียน
2 ธันวาคม 2567