พัฒนาการของโม่ฮานในช่วงสองปี หลังอยู่ภายใต้การดูแลของนครคุนหมิง
8 Nov 2024ตำบลโม่ฮานตั้งอยู่ที่อำเภอเหมิ่งล่า เขตปกครองตนเองชนชาติไทลื้อ สิบสองปันนา มีขนาดพื้นที่ 803 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรราว 30,000 คน มีพรมแดนติดกับ สปป. ลาว โดยมีความยาวชายแดน 174 กิโลเมตร ตำบลโม่ฮานมีความสำคัญต่อมณฑลยูนนานโดยเป็นที่ตั้งของด่านโม่ฮานและด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งเป็นด่านชายแดนระหว่างจีนและ สปป. ลาว ที่เชื่อมต่อไปยังประเทศไทยได้
หลังจากรถไฟจีน-ลาว (นครคุนหมิง-ด่านโม่ฮาน เขตฯ สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน-ด่านบ่อเต็น สปป.ลาว-เวียงจันทน์) ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ 28 เมษายน 2565 รัฐบาลมณฑลยูนนานได้ประกาศให้ตำบลโม่ฮานในเขตฯ สิบสองปันนาเข้าไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนครคุนหมิง ส่งผลให้พื้นที่ชายแดนจีน-ลาวที่ห่างจากนครเอกราว 700 กิโลเมตรแห่งนี้ กลายเป็นส่วนหนึ่งของนครคุนหมิง และทำให้นครคุนหมิงกลายเป็นเมืองเอกเพียงแห่งเดียวจาก 31 มณฑลของจีนที่มีพื้นที่ในความดูแลติดชายแดน เป็นเหตุให้สายตาของนักลงทุนต่างมุ่งความสนใจมายังนครคุนหมิงและตำบลโม่ฮานกันมากขึ้น

ต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน 2565 โม่ฮานซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนครคุนหมิงได้รับการคัดเลือกให้เข้าอยู่ในรายการ “การก่อสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติ” (National-level Logistics Hubs) ประจำปี 2565 ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนร่วมกับกระทรวงคมนาคมแห่งชาติจีน กลายเป็นโครงการด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญของจีนโดยมีรูปแบบเป็นเขตโลจิสติกส์ด่านชายแดนทางบก (昆明-磨憨陆港型 (陆上边境口岸型)) นอกจากนี้ ภายในเดือนเดียวกัน ด่านโม่ฮานยังได้เปิดดำเนินการตลาดชายแดนแห่งใหม่ ซึ่งมีพื้นที่ 125.6 หมู่ (ประมาณ 53 ไร่) ขนาดใหญ่กว่าของเดิม 2.5 เท่า และได้วางเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 ตลาดชายแดนแห่งนี้จะมีมูลค่าการค้ามากกว่าหมื่นล้านหยวนต่อปีด้วย
เรื่องราวของศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติคุนหมิง-โม่ฮานยังไม่จบแค่นั้น หลังจากนั้นหนึ่งปี ในเดือนธันวาคม 2566 รัฐบาลนครคุนหมิงได้ประกาศ “แผนดำเนินการก่อสร้างศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติคุนหมิง-โม่ฮาน สามปี (ปี 2566-2568)” โดยมีเป้าหมายหลักว่า ภายในปี 2568 การขนส่งสินค้าของศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติคุนหมิง-โม่ฮานจะมีขนาดถึง 65 ล้านตันต่อปี รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายกับศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติอื่น ๆ พร้อมกับการพัฒนาความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ตามยุทธศาสตร์ของจีน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ในภูมิภาค

สิ่งสำคัญ ก่อนหน้านั้น รัฐบาลมณฑลยูนนานยังได้ประกาศ “แผนดำเนินการพัฒนาท่าบกนานาชาตินครคุนหมิง” (中国·昆明国际陆港建设实施方案) เพื่อบูรณาการบทบาทหน้าที่ของเขตโลจิสติกส์และเขตเศรษฐกิจพิเศษในนครคุนหมิงร่วมกับพื้นที่ตำบลโม่ฮาน โดยมีเขตโลจิสติกส์อานหนิง และเขตท่าด่านโม่ฮานเป็นพื้นที่หลัก ทั้งนี้ เขตโลจิสติกส์อานหนิงประกอบด้วย เขตท่าขนส่งสินค้า “สถานีเถาฮัวชุน-สถานีเฉ่าพู่” เมืองอานหนิง ซึ่งจะมีบริการเสมือนด่านชายแดน การขนส่งหลากหลายรูปแบบ “รถ+ราง” และการค้านานาชาติ ในส่วนของเขตท่าด่านโม่ฮานประกอบด้วย ด่านโม่ฮานและด่านรถไฟโม่ฮาน สถานีขนส่งสินค้าทางถนนและทางราง ศูนย์โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน และเขตแปรรูปสินค้านำเข้าและส่งออก โดยด่านโม่ฮานและด่านรถไฟโม่ฮานจะถูกยกระดับระบบอัจฉริยะในการตรวจปล่อยสินค้าเข้า-ออก เพื่อเป็นด่านนานาชาติเชื่อมโยงกับ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากพื้นที่หลักทั้งสองแห่ง ท่าบกนานาชาตินครคุนหมิงยังเพิ่มพื้นที่สนับสนุนอีก 2 ส่วน เพื่อช่วยส่งเสริมให้พื้นที่หลักดำเนินงานได้อย่างราบรื่น ได้แก่ (1) เขตโลจิสติกส์หวังเจียหยิง ซึ่งเป็นศูนย์คอนเทนเนอร์รถไฟ 1 ใน 18 แห่งของจีนที่จะเชื่อมตลาดภายในประเทศจีนและต่างประเทศ หรือเป็นจุดเชื่อมโยงรถไฟจีน-ยุโรป กับรถไฟจีน-ลาว-ไทย และเขตโลจิสติกส์จิ้นหนิง ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าบกนานาชาติเถิงจวิ้นที่มุ่งเน้นให้บริการด้านโลจิสติกส์ คลังสินค้า และการค้าแบบครบวงจร (2) เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่งในพื้นที่นครคุนหมิงและตำบลโม่ฮาน ได้แก่ เขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนานพื้นที่ย่อยนครคุนหมิง เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีนครคุนหมิง เขตพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงนครคุนหมิง เขตทัณฑ์บนนครคุนหมิง และเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน (โม่ฮาน)-ลาว (บ่อเต็น) เพื่อสนับสนุนด้านการผลิต การค้า และการลงทุน
ปัจจุบัน ด่านโม่ฮานมีจำนวนคนเข้า-ออกด่านโดยเฉลี่ยวันละกว่า 9,500 คน และจำนวนยานพาหนะเข้า-ออกโดยเฉลี่ยวันละกว่า 2,200 คัน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ด่านโม่ฮานมีสินค้านำเข้า-ส่งออก 5.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.6 รวมมูลค่าสินค้า 25,861 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 จำนวนคนเข้า-ออกด่านรวมกว่า 1.36 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 โดยเป็นนักเดินทางที่มาจาก 90 ประเทศทั่วโลก และมีจำนวนยานพาหนะเข้า-ออก 306,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 ทั้งจำนวนคนและยานพาหนะเข้า-ออกด่านต่างสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ในส่วนของด่านรถไฟโม่ฮาน ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ด่านรถไฟโม่ฮานได้รับอนุมัติจากสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ให้เป็นด่านจำเพาะเพื่อการนำเข้าสินค้า 3 ประเภท ได้แก่ ผลไม้ สินค้าประมงแช่เย็น และธัญพืช ปัจจุบันสามารถนำเข้าและส่งออกสินค้าได้ราว 3,000 ชนิดจากช่วงเริ่มต้นที่มีเพียงไม่กี่ชนิด ขณะเดียวกัน ปริมาณการขนส่งสินค้าของรถไฟจีน-ลาวก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ขยายการเดินรถเพิ่มเป็นวันละเกือบ 20 เที่ยวจากในช่วงเริ่มแรกของการดำเนินงานที่มีเพียงวันละ 2 เที่ยว และปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มจากช่วงเริ่มต้นที่มีเพียง 41,000 ตันต่อเดือน เป็นมากกว่า 400,000 ตันต่อเดือน สำหรับสถิติด้านการขนส่งผลไม้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 รถไฟจีน-ลาวขนส่งผลไม้รวมกว่า 100,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 119.85 ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าทุเรียนไทยกว่า 60,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 115.4 คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,280 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 140.9 กลายเป็นช่องทางที่มณฑลยูนนานนำเข้าทุเรียนไทยมากที่สุด ด้านการขนส่งผู้โดยสาร จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารแล้วกว่า 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นผู้โดยสารของขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศซึ่งเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2566 จำนวน 282,000 คน จาก 101 ประเทศ นอกจากนี้ รถไฟจีน-ลาวยังได้เปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถไฟด่วนล้านช้าง-แม่โขง (Lancang-Mekong Express) ไปยังเมืองหรือมณฑลสำคัญต่าง ๆ เป็นการเฉพาะมากยิ่งขึ้น เช่น มณฑลกวางตุ้ง มหานครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลหูหนาน ส่งผลให้ด่านรถไฟโม่ฮานกลายเป็นด่านรถไฟอันดับ 1 ของจีนที่มุ่งสู่อาเซียน
สำหรับเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน (โม่ฮาน)-ลาว (บ่อเต็น) สถิติในปี 2566 มีโครงการลงทุนในเขตดังกล่าว 87 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 3,158 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 370 โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรรวมสะสมในช่วงสองปี (ปี 2565-2566) ที่ตำบลโม่ฮานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนครคุนหมิงมีมูลค่ามากกว่าการลงทุนในช่วง 6 ปีแรกของการจัดตั้งเขตความร่วมมือฯ กว่า 6 เท่า
จะเห็นได้ว่า การที่นครคุนหมิงได้รับมอบหมายให้กำกับบริหารพื้นที่ตำบลโม่ฮานซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านโม่ฮานและด่านรถไฟโม่ฮาน ช่วยส่งเสริมให้นครคุนหมิงและโม่ฮานต่างได้รับ “ประโยชน์ซึ่งกันและกัน” นครคุนหมิงสามารถสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ตำบลโม่ฮานได้อย่างเต็มที่ทั้งการเชื่อมโยงทางกายภาพผ่านเส้นทางคมนาคมและการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางการลงทุนเพื่อนำมาต่อยอดในการปรับปรุงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระดับการบริการสาธารณะ และการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับตำบลโม่ฮาน รวมถึงเพิ่มการกระชับความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบายส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านโครงข่ายคมนาคมทางถนน ราง อากาศ และน้ำ นับเป็นการส่งเสริมบทบาทซึ่งกันและกันเพื่อให้พื้นที่ตำบลโม่ฮานและนครคุนหมิงมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนยังช่วยส่งเสริมบทบาทของนครคุนหมิงในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยงภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างดียิ่ง
********************
แหล่งข้อมูล
http://sg.km.gov.cn/c/2024-05-17/4861002.shtml
https://www.yn.gov.cn/ztgg/zdszjjpcynjsd/xwjj/202312/t20231207_291325.html
https://www.hubpd.com/detail/index.html?contentId=8070450532250998639
http://dfjrjgj.yn.gov.cn/html/2022/jr_zx_df_1116/15641.html
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1803517067239406183&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1801569986497043627&wfr=spider&for=pc
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1807887693822759612&wfr=spider&for=pc
http://yn.yunnan.cn/system/2024/10/02/033253528.shtml