พลังงานสีเขียว: ไพ่เชิงรุกด้านพลังงานของจีนในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
18 Dec 2019มณฑลยูนนานนับเป็นมณฑลแนวหน้าของจีนด้านการผลิตพลังงานสะอาด โดยมณฑลได้กำหนดให้การพัฒนาในด้านดังกล่าวเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ “ไพ่สามใบ” ซึ่งเป็นแผนการพัฒนา “สีเขียว” ของมณฑลที่ให้ความสำคัญกับอาหารสีเขียว (Green Food) พลังงานสีเขียว (Green Energy) และจุดหมายปลายทางรักษ์สุขภาพ (Healthy Lifestyle Destination) โดยในขณะนี้ มณฑลได้เร่งขับเคลื่อน “ไพ่” ทั้งสามใบที่นับเป็นต้นทุนที่โดดเด่นของมณฑล เพื่อนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ปรับโครงสร้างและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของมณฑล
สำหรับ “ไพ่” พลังงานสีเขียวนั้น มณฑลยูนนานตั้งเป้าหมายที่จะใช้อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเป็นตัวนำการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งผลักดันให้อุตสาหกรรมพลังงานพัฒนาจนเป็นอุตสาหกรรมเสาหลักที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของมณฑล กล่าวคือ มีมูลค่ารวมคิดเป็น 1.4 แสนล้านหยวน ในปี 2563 และเพิ่มสูงขึ้นอีกเท่าตัวที่มูลค่า 2.4 แสนล้านหยวนในปี 2568 รวมทั้งมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งสูงกว่า 110 กิกะวัตต์
ในระยะสองปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมพลังงานของมณฑลยูนนานขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2560 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 26.1 ขณะที่ในปี 2561 มีอัตราขยายตัวร้อยละ 27.8 ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2561 มณฑลมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งสูงกว่า 93 กิกะวัตต์ ในจำนวนนี้ กว่าร้อยละ 84 เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานสะอาด ประกอบด้วย พลังน้ำ 66.6 กิกะวัตต์ พลังลม 8.6 กิกะวัตต์ และพลังแสงอาทิตย์ 3.3 กิกะวัตต์ โดยตลอดปี 2561 มณฑลผลิตไฟฟ้าได้ 324,360 กิกะวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.6 และร้อยละ 91 เป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด นับเป็นสัดส่วนสูงสุดในประเทศจีน และจัดอยู่ในระดับแถวหน้าของโลก
กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ของมณฑลยูนนานนอกจากจะสามารถตอบสนองความต้องการภายในมณฑลที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งพัฒนาและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว ยังนับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับมณฑลผ่านนโยบาย “ไฟฟ้าภาคตะวันตก ส่งภาคตะวันออก” ของรัฐบาลกลางจีน โดยในปี 2561 มณฑลได้ส่งไฟฟ้าไปยังมณฑลภาคตะวันออก 138,050 กิกะวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นปริมาณส่งไฟฟ้าสะสม ณ สิ้นปี 2561 รวมทั้งสิ้นกว่า 900,000 กิกะวัตต์-ชั่วโมง และเป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดทั้งหมด
ที่สำคัญ มณฑลยูนนานยังส่งออกไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยมณฑลมีการส่งออกและนำเข้าไฟฟ้ากับเมียนมา รวมทั้งส่งออกไปเวียดนาม อย่างไรก็ดี ในกรณีของลาว มณฑลหยุดส่งออกไฟฟ้านับตั้งแต่ปี 2559 จากการที่ลาวเปลี่ยนสถานะเป็นประเทศผู้ส่งออกกระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของมณฑลยูนนานที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของจีนมาหลายปี โดยเฉพาะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งมีอัตราขยายตัวที่ร้อยละ 8.8 สูงที่สุดในจีน รัฐบาลมณฑลจึงคาดการณ์ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในขณะนี้จึงอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในมณฑล การส่งไปขายยังมณฑลภาคตะวันออก และการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และอาจเกิดวิกฤตขาดแคลนกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2568 ดังนั้น รัฐบาลมณฑลได้วางแผนและเร่งก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ลม และแสงอาทิตย์เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำจินซา ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแยงซีเกียง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอูตงเต๋อ กำลังผลิต 10.2 กิกะวัตต์ ที่จะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2564 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไป๋เฮ่อทาน กำลังผลิต 16 กิกะวัตต์ ที่จะใหญ่เป็นอันดับสองของจีน รองจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสามโตรกเท่านั้น และจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี 2565
นอกเหนือจากการเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก มณฑลยูนนานยังจัดระบบการบริหารจัดการไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพด้วยการจัดตั้ง “ศูนย์การแลกเปลี่ยนพลังงานนครคุนหมิง” (Kunming Power Exchange Center) ตั้งแต่ปี 2559 โดยศูนย์ดังกล่าวนับเป็นเวทีกลางในการซื้อ-ขายไฟฟ้า ทั้งแบบโดยตรงหรือการโอนสิทธิภายในมณฑล ระหว่างมณฑล และระหว่างประเทศ โดยตลอดปี 2561 ศูนย์ดังกล่าวมีการซื้อ-ขายไฟฟ้าจำนวน 589 ครั้ง คิดเป็นปริมาณไฟฟ้ารวม 85,100 กิกะวัตต์-ชั่วโมง และในจำนวนดังกล่าวเป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสูงถึงร้อยละ 97
ศูนย์การแลกเปลี่ยนพลังงานนครคุนหมิงทวีความสำคัญยิ่งขึ้นหลังจากรัฐบาลจีนอนุมัติการจัดตั้งเขตทดลองการค้าเสรีมณฑลยูนนาน (China (Yunnan) Pilot Free Trade Zone) เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 โดยรัฐบาลมณฑลยูนนานกำหนดให้ศูนย์การแลกเปลี่ยนพลังงานแห่งนี้มีบทบาทเป็นผู้เชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านพลังงานโดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) การยกระดับศูนย์การแลกเปลี่ยนพลังงานนครคุนหมิงเป็นเวทีความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) การพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานใหม่ (3) อุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานใหม่ และ (4) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด พลังงานอัจฉริยะ และการประหยัดพลังงาน
โดยรวมแล้ว ยุทธศาสตร์พลังงานสีเขียวของมณฑลยูนนานสามารถสะท้อนถึงการที่จีนกำลังเล่น “ไพ่” เชิงรุกด้านพลังงานต่อภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง ในแง่หนึ่ง ความสำเร็จของการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของมณฑลยูนนานนับเป็นต้นแบบที่ดีในประเด็นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่นับเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ อย่างไรก็ดี ในอีกแง่หนึ่ง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็กำลังส่งเสริมการเพิ่มบทบาทของจีนด้านความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่หลังบ้านของจีน ดังนี้แล้ว พัฒนาการดังกล่าว จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศในภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหินในสัดส่วนสูง ที่สามารถเรียนรู้แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของจีนในการพึ่งพาพลังงานสะอาด รวมทั้ง เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเร่งกระจายสัดส่วนการพึ่งพิงแหล่งพลังงานและคิดค้นนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มระดับโลกที่ให้ความสำคัญกับ “การเติบโตสีเขียว” อันจะทำให้ภูมิภาคมีความยั่งยืนทางด้านพลังงานและสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับการผงาดขึ้นของจีนในฐานะประเทศผู้นำด้านพลังงานสะอาดได้อย่างสร้างสรรค์
*************************************************
จัดทำโดย นายโกสินทร์ บุณยวัฒโนภาส
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง