ปี 2561 ททท.เฉิงตู ยังคงผลักดันให้ไทยรักษาแชมป์แหล่งท่องเที่ยวของชาวจีนตะวันตก
30 Jan 2018
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำนครเฉิงตู ได้จัดงานเลี้ยงขอบคุณผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในมณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง และเปิดตัวแคมเปญ “Open to the New Shades of Thailand” ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้แทนหน่วยงานทีมประเทศไทย ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว สายการบินชั้นนำ สื่อมวลชน กว่า 250 คน ที่ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในจีนภาคตะวันตก และเติบโตมากขึ้น ในปี 2561
รายงานสถานกาณ์ความคืบหน้าการท่องเที่ยวของชาวเสฉวนและฉงชิ่งในช่วงปี 2560
นายจรัญ ชื่นในธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประจำนครเฉิงตู กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้พัฒนาศักยภาพเป็น “ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว” สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาท่องเที่ยวประเทศไทยให้มาท่องท่องเที่ยวไทยเป็นลำดับที่หนึ่งและสร้างรายให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ในบรรดานักท่องเที่ยวจากประเทศต่าง ๆ จีนจึงเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญมากสำหรับไทย ในปี 2560 นักท่องเที่ยวจีนถึง 9,800,000 คน เดินทางเยือนไทยสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 524,000 ล้านบาท (หรือประมาณ 104,800 ล้านหยวน) จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 2559 ร้อยละ 11.97 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.78 ในจำนวนนักท่องเที่ยวจีนดังกล่าว มีนักท่องเที่ยวจากมณฑลเสฉวน 680,000 คน และมีนักท่องเที่ยวจากมหานครฉงชิ่ง 590,000 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 10 และร้อยละ 2 ตามลำดับ
เหตุผลที่ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของชาวจีน
ประเทศไทยมีทรัพยากรทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ มีความหลากหลายของวัฒนธรรม มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงมีแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่า กอปรกับอุปนิสัยที่เป็นมิตรของคนไทยจึงส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวไทยเต็มไปด้วยการบริการที่อบอุ่น อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่สะดวกสบาย จึงทำให้ประเทศไทยได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนตะวันตก แหล่งท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ไม่ติดทะเล สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ที่ได้รับความนิยม นอกจากกรุงเทพฯ ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 แล้ว รองลงมา คือ ภูเก็ต กระบี่ เกาะสมุย และเชียงใหม่ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดนักท่องเที่ยวจีนตะวันตก คือ เกาะเต่า เกาะหลี่เป๊ะ และเชียงราย ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวใหม่เหล่านี้ได้รับการแนะนำและส่งเสริมการตลาดจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะจากสำนักงานเฉิงตู และได้รับผลการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากจีนตะวันตก โดยเฉพาะเสฉวนและฉงชิ่งเดินทางไปท่องเที่ยวไทยมากขึ้น ดังนี้
1) มีสายการบินที่บินตรงจากเฉิงตูและฉงชิ่งสู่สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายเพิ่มมากขึ้น (โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพฯ) และราคาค่าโดยสารเครื่องบินมีราคาไม่สูง มีทางเลือกในการรับบริการด้านการตรวจลงตรามากขึ้น โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ได้อนุญาตให้มีบริษัทท่องเที่ยวที่ฉงชิ่งเป็นตัวแทนนักท่องเที่ยวในการขอรับการตรวจลงตรา จำนวน 3 บริษัท เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยวจากฉงชิ่ง นอกจากนั้น นักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถมาขอรับการตรวจลงตราจากสถานกงสุลใหญ่ฯ ก็มีทางเลือกในการขอรับการตรวจลงตราที่สนามบิน (visa on arrival – จีนเป็นชาติที่ได้รับอนุญาตให้ได้รับสิทธิการตรวจลงตราประเภทนี้)
2) การบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานการท่องเที่ยวท้องถิ่นในการปรับภาพลักษณ์ผ่านการสร้างแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ควบคู่กับผลักดันการท่องเที่ยวโดยเจาะจงเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มครอบครัว กลุ่มฮันนีมูนและงานแต่งงาน กลุ่มสุขภาพและกีฬา กลุ่มผู้หญิง กลุ่มชื่นชอบอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
3) การเพิ่มช่องการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์และแอปพลิเคชั่นสนทนา Wechat Official และWeibo
4) การจัดประชาสัมพันธ์ผ่านรายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่าง เช่น “Chinese Restaurant (中餐厅)” “We are in Love (我们相爱吧)” รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านกีฬาระหว่างไทย-จีน เป็นต้น
ประเด็นท้าทายในช่วงปีที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่า การท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่ประเด็นท้าทายที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาปรับปรุง คือ 1) ความปลอดภัยในการท่องเที่ยว 2) การเก็บและรวบรวมข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงตัวเลขและสถิติด้านต่าง ๆ ให้มีความทันสมัยมาก และมีการบูรณาการสถิติระหว่างหน่วยงาน 3) คุณภาพของสินค้า และ 4) ภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว
ททท. เฉิงตู กับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวในจีนตะวันตกสำหรับปี 2561
นายจรัญฯ กล่าวว่า สำหรับปี 2561 ได้กำหนดทิศทางส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในเสฉวนและฉงชิ่ง ให้สอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “ไทยแลนด์ 40” ภายใต้แคมเปญ “Open to the New Shades of Thailand” ซึ่งแคมเปญดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นแหล่งท่องเที่ยว ยอดนิยมอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สินค้าท่องเที่ยวไทย และการขยายฐานตลาดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ อีกทั้งส่งเสริมภาพภาพลักษณ์ผ่านการสร้างแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ควบคู่กับเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพผ่านการส่งเสริมการขายต่าง ๆ และการจัด Road Show ในขณะเดียวกัน มุ่งผลักดันการบูรณาการ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องให้มากยิ่งขึ้น อนึ่ง การเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารให้รวดเร็วและทันสมัยเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวไทย โดยการใช้เทคโนโลยีประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ และโซเซียลเน็ตเวิรค์ ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์แบบ และตรงความต้องการเฉพาะกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น
ในการนี้ การกำหนดทิศทางในการผลักดันการท่องเที่ยวไทยในจีนตะวันตกตามยุทธศาสตร์ข้างต้นจะสามารถช่วยปรับแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และเพิ่มกระแสความนิยมการท่องเที่ยวทางเลือก อีกทั้งสามารถส่งเสริมการขยายตัวของตลาดการท่องเที่ยวเฉพาะทางได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน การบูรณาการท่องเที่ยวและการบริการท่องเที่ยวเพื่อการประชุมและนิทรรศการ หรือ ธุรกิจ MICE ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย เนื่องจากนักธุรกิจจีนเป็นกลุ่มที่เลือกประเทศไทย เป็นสถาน
ที่จัดประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้าจำนวนมากที่สุด ส่งผลให้จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือการแพทย์ (Health & Medical Tourism) ในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนมีการ
ขยายตัวมากขึ้นในตลาดนี้ และอีกตลากคือการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) ที่นอกเหนือจากการ เล่นกีฬากอลฟ์แล้ว ยังมีกีฬาใหม่ ๆ เพื่อมุ่งเน้นเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ อาทิ มวยไทย วิ่งมาราธอน และการปั่นจักรยาน เป็นต้น นอกจาก
นี้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้สูงอายุ ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการท่องเที่ยวแบบระยะเวลานาน ดังนั้นแหล่งท่องเที่ยวจะต้องมีความพร้อมในด้านโครงสร้าง พื้นฐาน ซึ่งนี้ก็เป็นอีก
หนึ่งโอกาสของนักธุรกิจไทยที่มีความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มสูงอายุ
ในส่วนการท่องเที่ยวในตลาดด้านอื่นๆ มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับแนวทางการท่องเที่ยวเฉพาะทางในอนาคต