บทบาทของฮ่องกงภายใต้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation) ของประเทศจีน
7 Jul 2021ที่มาของภาพ : news.microsoft.com/en-hk/2020/02/18/microsoft-hong-kong-mobilizes-its
Dual Circulation หรือ ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน เป็นแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของคณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Chinese Communist Party) ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๔ ระยะเวลา ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๔-๒๕๖๘) และได้วางเป้าหมายไปถึงปี พ.ศ ๒๕๗๘ เพื่อหนทางการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศจีนในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับหลักการ“การหมุนเวียนภายในประเทศ (Domestic Circulation)” เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในประเทศ และลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศเป็นแกนหลัก ในขณะเดียวกันก็มี“การหมุนเวียนภายนอกประเทศ (International Circulation)” เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาดส่งออก และการไหลเวียนของเงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเสรีควบคู่กัน
มีความสำคัญต่อฮ่องกงอย่างไร?
ฮ่องกงมีความได้เปรียบภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งพร้อมด้วยประสบการณ์และศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ จึงทำให้ฮ่องกงเปรียบเสมือนประตูสำคัญที่เชื่อมจีนแผ่นดินใหญ่กับโลก รวมทั้งรัฐบาลฮ่องกงได้ชูบทบาทการเป็น “ตัวกลาง” ในการส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนการหมุนเวียนระหว่างประเทศ (International Circulation) ภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าว
ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างฮ่องกงกับประเทศจีนที่สำคัญ
๑. การเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ
รัฐบาลกลางของประเทศจีน ยังคงให้การสนับสนุน และยกระดับการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ ของฮ่องกง โดยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกับเมืองเซี่ยงไฮ้ และเมืองเซินเจิ้น ซึ่งจะส่งผล ให้มีการขยายตัวทางธุรกิจอีกมากมาย และมีการเข้าถึงตลาดทางการเงินระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จะมีการแจ้งกฎระเบียบใหม่โดยเฉพาะกลุ่มบริษัท Biotechnology และมีการเร่งดำเนินการโครงการ “การจัดการความมั่งคั่งข้ามพรมแดน” ในพื้นที่การพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area: GBA) อีกด้วย
๒. การพัฒนาฮ่องกงเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
รัฐบาลกลางไม่เพียงตระหนักถึงบทบาทดั้งเดิมของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางการเงินและการให้บริการทางวิชาชีพ แต่ยังเล็งเห็นความสำเร็จในการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของฮ่องกง พร้อมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างฮ่องกงกับเซินเจิ้นในการพัฒนาสู่ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีโครงการสำคัญ อาทิ เขตความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ระหว่างเมืองเซินเจิ้นกับฮ่องกง(Hong Kong-Shenzhen Innovation and Technology Park) ในเขต Lok Ma Chau เพื่อสร้างศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก โดยอุทยานแห่งนี้จะสามารถขยายระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ของฮ่องกงให้ใหญ่ขึ้น รวมทั้งรวบรวมผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลกไว้ด้วยกัน ซึ่งจะยกระดับให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์ระดับสากล และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทด้านการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกสามารถใช้ข้อได้เปรียบด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเซินเจิ้นและฮ่องกง ในการเข้าสู่ตลาดของประเทศจีน ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการ ในชั้นนี้ รัฐบาลเมืองเซินเจิ้นและเมืองฮ่องกง จึงร่วมกันสำรวจความเป็นไปได้ในการอนุมัติให้ Hong Kong Science and Technology Park Corporation เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในพื้นที่บางส่วนของ Innovation and Technology Zone เขตฝูเถียน เมืองเซินเจิ้น ในเบื้องต้นก่อน อนึ่ง ฮ่องกงได้เปิดตัวโครงการ Global STEM Professional Scheme มูลค่า ๒ พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง(๘ พันล้านบาท) เพื่อดึงดูดผู้ที่มีทักษะและความชำนาญที่โดดเด่นในด้านการวิจัยและการพัฒนาจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัย และพัฒนาในฮ่องกง
๓. การพัฒนาด้านธุรกิจ การพาณิชย์ และรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
รัฐบาลฮ่องกงได้ขยายขอบเขตกองทุนการตลาดเพื่อการส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นเวลา ๒ ปี เพื่อให้สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ สามารถขยายช่องทางการค้าทั้งทางระบบออนไลน์ และออฟไลน์ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณจำนวน ๕๐ ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (๒๐๐ ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการบริการทางวิชาชีพ และยกระดับด้านการประชาสัมพันธ์บุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงในพื้นที่ GBA และต่างประเทศ นอกจากนี้ สภาพัฒนาการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) จะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์ม “GoGBA” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างฮ่องกงกับมณฑลกวางตุ้งและสภาหอการค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลการตลาดใน GBA การให้คำปรึกษาด้านนโยบาย การจัดฝึกอบรมและบริการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อช่วยให้องค์กรในฮ่องกงสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มการพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ของประเทศจีน อีกทั้ง HKTDC จะใช้เครือข่ายทางกายภาพในประเทศจีน เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจขององค์กรของฮ่องกงในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะด้านการจัดการปัญหาในการปฏิบัติงาน อาทิ ใบแจ้งการนำเข้า โลจิสติกส์ และการชำระเงิน เป็นต้น
๔. ศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศ
การท่าอากาศยานเมืองฮ่องกง มีโครงการความร่วมมือกับท่าอากาศยานจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ในการลงุทนเพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบทางการบิน เพื่อมุ่งเป็นศูนย์กลางทางการบินระดับโลก รวมทั้งการพัฒนาและขยายพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกงเพื่อเน้นการให้บริการระหว่างประเทศ ขณะที่บทบาทของท่าอากาศยานจูไห่ จะเน้นการให้บริการภายในประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มความได้เปรียบด้านการบินโดยรวมของ GBA ซึ่งจะยกระดับให้ธุรกิจการบินของฮ่องกงมีบทบาทสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ทั้งนี้ สำนักงานบริหารการบินพลเรือนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Civil Aviation Administration of China) ได้อนุมัติให้มีบริการบินข้ามเขตระหว่างมณฑลกวางตุ้งกับฮ่องกงโดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์พาณิชย์ซึ่งจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของ GBA ให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
ความเห็นจากภาครัฐบาล และภาคเอกชน
นางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง กล่าวระหว่างการแถลงนโยบายประจำปี(Policy Address) เกี่ยวกับยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานว่า เนื่องจากฮ่องกงมีเศรษฐกิจในระบบกลไกตลาดภายใต้หลักนิติธรรม (Rule of Law) จึงมีโอกาสมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ภายใต้แบบแผนการพัฒนาใหม่ของชาติอย่างชัดเจน ซึ่งฮ่องกงสามารถเสริมสร้างบทบาทการเป็น “ตัวกลาง” ในแผนการหมุนเวียนภายนอกประเทศ โดยใช้ความได้เปรียบจากการอยู่ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (One Country Two System) นอกจากนี้ ฮ่องกงยังสามารถใช้โอกาสภายใต้การพัฒนาใน GBA เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการเป็น “ผู้เข้าร่วม” ในแผนการหมุนเวียนภายในประเทศ และ “ผู้อำนวยความสะดวก” ในแผนการหมุนเวียนภายนอกประเทศ ซึ่งการแสดงบทบาททั้งสองจะช่วยส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของฮ่องกงได้อย่างต่อเนื่อง
นายพอล ชาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง ได้แถลงระหว่างการรายงานงบประมาณต่อสภานิติบัญญัติฮ่องกงว่า ด้วยเครือข่ายที่หยั่งลึกและเหนียวแน่นกับตลาดโลก ฮ่องกงจะยังคงเป็นฐานการดำเนินเศรษฐกิจ และเป็นประตูการค้าระหว่างแผ่นดินใหญ่กับประชาคมโลกที่สำคัญ โดยฮ่องกงจะใช้ GBA เป็นช่องทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมในหลักการการหมุนเวียนภายในประเทศ กอปรกับการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการวางแผน การประสานงานและการส่งเสริมนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา GBA
นอกจากนี้ ฮ่องกงจะใช้จุดแข็งในฐานะศูนย์กลางทางการเงินระดับโลกในการให้บริการทางการเงินแก่โครงการโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ข้อริเริ่มโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ ๒๑ หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ตลอดจนสร้างความเชื่อมโยงกับองค์กรและสมาคมอุตสาหกรรมของแผ่นดินใหญ่ เพื่อร่วมกันแสวงหาตลาดใหม่ และส่งเสริมบทบาทของฮ่องกงในฐานะเวทีและจุดเชื่อมโยงที่สำคัญของ BRI ต่อไป
นายชาน เปิดเผยว่า ในปี ๒๕๖๔ มูลค่าการทำธุรกรรมผ่านโครงการ Stock Connect ระหว่างเซี่ยงไฮ้ กับฮ่องกง เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปีก่อนหน้า รวมถึงการดำเนินงานต่าง ๆ ของโครงการดำเนินอย่างราบรื่น ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฮ่องกงสามารถมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน
ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของแผ่นดินใหญ่จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อให้ฮ่องกงสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ขณะที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักลงทุนระหว่างประเทศได้ โดยได้มีการยกร่างพิมพ์เขียวการพัฒนา รวมทั้งจัดทำข้อเสนอและมาตรการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสนอต่อรัฐบาลกลางจีนต่อไป
รองศาสตราจารย์ Li Chen จากศูนย์จีนศึกษา (Center of China Studies) และนาย Lau Chor Tak, Institute of Global Economics and Finance มหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kongแสดงความเห็นว่า ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนทัศน์ของโครงสร้างอำนาจของโลกปัจจุบัน ฮ่องกงจำเป็นต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศของจีนภายใต้บทบาท super-connector เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของเมือง โดยรองศาสตราจารย์ Chen เห็นว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายการหล่อหลอมความเห็นพ้องทางสังคม (forging social consensus) และการเสริมสร้างศักยภาพในการปกครองเป็นรากฐานในการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ใหม่สำหรับการพัฒนาฮ่องกงในอนาคต โดยทั้ง “แผนการหมุนเวียนภายในประเทศ” และ “แผนการหมุนเวียนระหว่างประเทศ” สามารถสร้างโอกาส ในการยกระดับฮ่องกง แต่ฮ่องกงจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมและปรับเปลี่ยนหลายด้านเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศโดยใช้จุดแข็งของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว ควบคู่กับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ได้เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า
(๑) ฮ่องกงจำเป็นต้องแสวงหานวัตกรรมเชิงนโยบายและโมเดลธุรกิจด้านบริการทางการเงิน กฎหมาย และการค้า เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจของแผ่นดินใหญ่ ในขณะเดียวกันต้องแสวงหาหนทางในการสร้างช่องทางใหม่ สำหรับนักลงทุนระหว่างประเทศให้สามารถมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน
(๒) ฮ่องกงควรแสวงหาวิธีการส่งเสริมมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยตลอดจนผู้มีความสามารถ (Talent) ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนและขับเคลื่อนเชิงนวัตกรรม ตลอดจนร่วมมือกับภาคธุรกิจของแผ่นดินใหญ่ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยใช้จุดแข็งของตลาดแผ่นดินใหญ่
นาย Liu Hong นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) วิเคราะห์บทบาทของฮ่องกงภายใต้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ระบุว่า ฮ่องกงสามารถแสดงบทบาทที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ GBA ซึ่งจะทำให้ฮ่องกงสามารถพัฒนาขีดความสามารถของตนได้อีกมาก โดยฮ่องกงสามารถสนับสนุน ๓ แผนงานสำคัญ ภายใต้ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน ได้แก่
(๑) แผนการหมุนเวียนภายในประเทศ ฮ่องกงสามารถสนับสนุนการขยายอุปสงค์ภายในประเทศเพื่อสนับสนุนแผนการหมุนเวียนภายในประเทศ โดยการขยายปริมาณการขายสินค้าชั้นนำของฮ่องกงขยายธุรกิจการกระจายการนำเข้า และส่งเสริมการปรับปรุงการคุ้มครองผู้บริโภคในแผ่นดินใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เน้นการพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศ และสามารถแข่งขันกับขนาดของตลาดสหรัฐฯ ได้
(๒) แผนพัฒนาด้านนวัตกรรม ฮ่องกงสามารถสนับสนุนจีนพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แผนการหมุนเวียนภายในประเทศ เนื่องจากฮ่องกง มีความสามารถด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ในระดับแนวหน้าของโลก และมีศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีมหาวิทยาลัยชั้นนำ ๕ แห่ง ที่อยู่ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ๑๐๐ แห่ง ของโลก นอกจากนี้ ฮ่องกงยังมีนโยบายและโครงการสนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เปิดกว้างและเป็นสากล การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และอุตสาหกรรมการบริการด้านการเงิน และสภาพแวดล้อม ทางธุรกิจระดับโลก ซึ่งทำให้ฮ่องกงสามารถดึงดูดปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนานวัตกรรมชั้นสูง อาทิ ผู้มีความสามารถพิเศษ และผู้มีขีดความสามารถสูง ขณะที่จีนแผ่นดินใหญ่มีจุดแข็งโดยมีตลาดขนาดใหญ่ จึงมีศักยภาพในการสนับสนุนและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติและใช้ในกระบวนการผลิตขั้นสูงได้ ดังนั้น ฮ่องกงจึงสามารถแสดงบทบาทสำคัญของตน โดยเฉพาะใน GBA ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมาก และสนับสนุนให้เกิดเป็น “ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน”
(๓) แผนการหมุนเวียนภายนอกประเทศ ฮ่องกงสามารถแบ่งปันประสบการณ์ โดยการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรมในด้านการค้าเสรี การบริการจัดการธุรกิจ การหมุนเวียนเงินตราต่างประเทศ การเคลื่อนย้ายของแรงงาน และการไหลเวียนของข้อมูลในระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม การสร้างระบบกฎหมาย และธุรกิจระดับโลกเพื่อส่งเสริม “การเปิด” ประเทศของจีน ประกอบด้วยขยายการส่งออกและเพิ่มศักยภาพของเขตการค้าเสรี ๑๘ แห่ง และท่าเรือปลอดภาษี ๑ แห่งในแผ่นดินใหญ่ การเชื่อมโยงกับตลาดโลกผ่านเงินทุนระหว่างประเทศ และการเปิดตลาดการเงินผ่านกลไก stock connect เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของประเทศจีน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม Hong Kong Session of China Development Forum 2021 เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๔ นางแครี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญกับยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานตอนหนึ่งว่า “อนาคตของฮ่องกงขึ้นอยู่กับการผนวกเข้ากับเศรษฐกิจของประเทศจีน” พร้อมทั้งกล่าวว่า ฮ่องกงจะสนับสนุนให้ธุรกิจของฮ่องกงเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดประเทศจีน ในขณะเดียวกัน จะส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ และส่งเสริมการขยายสู่ตลาดโลกของธุรกิจของประเทศจีน ในฐานะที่เป็นเมืองที่มีระบบกลไกตลาดและมีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ฮ่องกงจะเป็น “ผู้มีส่วนร่วม” ที่แข็งขันในแผนการหมุนเวียนภายในประเทศ และ “ผู้อำนวยความสะดวก” ที่แข็งขันในแผนการหมุนเวียนระหว่างประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
เรียบเรียงโดย
นางสาวเทิดขวัญ แผ้วสว่าง
เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทย ณ เมืองฮ่องกง
ที่มา/ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.policyaddress.gov.hk/2020/eng/index.html
https://www.info.gov.hk/gia/general/202011/25/P2020112500153p.htm
http://www.chinadailyhk.com/article/153405
https://www.bochk.com/dam/investment/bocecon/SY2020023(en).pdf